รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
จากความเดือดร้อนการถูกแย่งยึดทรัพยากรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชุมชนในส่วนของภาคอีสาน และในสถานการณ์ปัจจุบันความเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายได้เกิดขั้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีแนวโน้มก่อผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างรุนแรงในอนาคต
จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการทนายความและนักสิทธิมนุษยชน (ภาคอีสาน) เรื่อง ยุทธศาสตร์ในงานคดีที่ดินและป่าไม้ ในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.พ. 2559 ณ ห้องอินทนิล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จัดโดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ Asian Institute for Human Rights (AIHR) หรือ สถาบันเอเชียเพื่อสิทธิมนุษยชน
นักสิทธิมนุษยชนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งประเมินสถานการณ์ เพื่อร่วมกำหนดการทำงานเชิงยุทธศาสตร์บทบาทของนักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน โดยใช้กลไกทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในการสนับสนุนเพื่อปกป้องสิทธิ และสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในภาคอีสาน อาทิ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความ นายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ และ ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสารคาม และตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
สมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ชี้แจงว่า จากสภาพปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น ล้วนมีมูลเหตุสำคัญมาจากโครงสร้างรัฐที่ได้กำหนดการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผ่านกลไกหลักต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ระเบียบกฎเกณฑ์ กฎหมาย ข้อบังคับ ทั้งจากนโยบายต่างๆ เช่น แผนแม่บทป่าไม้ฯ นโยบายทวงคืนผืนป่า ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน กระทั่งเกิดเป็นปัญหาคดีความขึ้นมา
จากสถิติที่เป็นทนายความทำคดีให้กับชาวบ้านในภาคอีสาน พบว่าผู้ได้รับผลกระทบถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นชาวบ้านที่ถูกข้อพิพาทในเรื่องที่ดินทำกิน โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนและชุมชน
“จากที่ได้มีการวิเคราะห์ร่วมกัน คาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนมากขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดเวที ยุทธศาสตร์ในงานคดีที่ดินและป่าไม้เป็นการรวมตัวของทนายความ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นต่างๆของแต่ละพื้นที่ ในการที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายเข้าไปหนุนเสริมการทำงาน ยกระดับการดำเนินงานกับชาวบ้านในพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ในด้านกฎหมาย ทันต่อสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในด้านคดีความที่เกิดขึ้น”
สมนึก เพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังจะเป็นการพัฒนาคุณภาพไปสู่การเป็นอาสาสมัครของนักศึกษา รวมทั้งนักกฎหมายรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ในการเข้ามาร่วมกันศึกษา เกิดความเข้าใจถึงปัญหาคดีความ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ นอกจากเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิ์แล้ว ยังจะได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยใช้กลไกทางกฎหมายและหลักด้านสิทธิมนุษยชนในการสนับสนุน ถือเป็นบทบาทสำคัญในอีกช่องทางหนึ่งของทนายความ นักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนักศึกษา และนักกฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่จะมาร่วมกันปกป้องสิทธิ และร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนต่อไป