ถกการเมืองภาคประชาชนชน การเลือกตั้ง และการทำให้เป็นประชาธิปไตย

ถกการเมืองภาคประชาชนชน การเลือกตั้ง และการทำให้เป็นประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556  ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน การเลือกตั้ง และการทำให้เป็นประชาธิปไตย”  มีนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยและผู้สนใจแลกเปลี่ยน

โดยในช่วงการเสวนาเรื่อง  “สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันกับการเลือกตั้ง”   วิทยากรได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์หลายหลาย

20132812213731.jpg

ดร.สุชาติ ใจภักดี ผู้อำนวยการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นการแก้ปัญหาเพื่อหามติมหาชน แต่สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เกิดความเห็นต่างสุดขั้ว หลายคนไม่ยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง ปัญหาของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือจะทำอย่างไรให้เกิดการเลือกตั้งที่ทุกคนยอมรับได้ ระบอบประชาธิปไตยของไทยกำหนดว่า เมื่อมีการยุบสภาแล้ว ไม่มี ส.ส. รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้มีการเลือกตั้ง  เว้นแต่มีกฎหมายมายกเลิก หรือมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่มายกเลิกพระราชกำหนดการยุบสภา

อย่างไรก็ตาม กรณี กกต.ออกแถลงการณ์กังวลเรื่องการเลือกตั้ง  เนื่องจาก เกรงว่าถ้าจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์ขัดแย้งจะทำให้เกิดความรุนแรง วุ่นวายได้  จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันก่อน แล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง  ซึ่งบางบอกว่า กกต.ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจกกต.เลื่อนการเลือกตั้ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็เห็นว่าให้ กกต.เสนอรัฐบาลออก พ.ร.ก.อีกฉบับ เพราะในสถานการณ์นี้ต้องตีความกฎหมายให้เป็นคุณกับบ้านเมือง ซึ่งในส่วนของ กกต.เชียงใหม่ ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด  

ดร.สุชาติ กล่าวว่า เราต้องประคับประคองให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ คือ ทำอย่างไรจะนำมาสู่เวทีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน สิ่งที่ต้องวิตกกังวลคืออำนาจนอกระบบที่ซึ่งมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะบทบาทของทหาร ซึ่งการทำรัฐประหารจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้น

ดร.สุชาติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า  ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะรับผิดชอบในการจัดการการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมี 10 เขตเลือกตั้ง จะมีการรับสมัคร สส.แบบแบ่งเขต ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2556  ถึง วันที่ 1 มกราคม 2557 ที่ศูนย์การแสดงสินค้านานานชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนม์พรรษา อ หลังจากปิดรับสมัครแล้วจะตรวจสอบคุณสมบัติ แล้วหลังจากนั้นก็จะดำเนินการเตรียมวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งบุคคล ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่เราได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว

20132812215717.jpg

อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น กล่าวว่า ปัญหาในปัจจุบันเกิดจากการดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบลักหลับ ที่คิดว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรก็ได้ กลายเป็นโดมิโนและเหตุการณ์เขม็งเกลียวมาเรื่อยๆ การชุมนุมของกปปส.ที่ตนไปสังเกตการณ์พบว่า สิ่งที่พูดบนเวทีเป็นเรื่องจริงแต่เป็นความจริงที่พูดไม่หมด พูดให้ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับเวทีทางการเมืองทั่วไป อย่างไรก็ดีที่ กปปส.เรียกร้องแล้วไม่ประสบผล คือ ทหารไม่ทำรัฐประหาร เพราะทหารเขาก็ได้ทุกอย่างอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญก็เป็นคนร่าง พ.ร.บ.กลาโหมก็เป็นของเขา รัฐไม่สามารถล้วงลูกโยกย้ายข้าราชการทหารได้ เพราะเสียงของฝ่ายการเมืองมีไม่กี่เสียง อัตราส่วนแบ่งงบประมาณของกระทรวงกลาโหมก็มาก เมื่อกปปส.ยกประเด็นสภาประชาชนขึ้นมา รัฐบาลแก้ลำโดยการเสนอสภาปฏิรูป หลายคนด่า แต่ตนมองว่าฉลาด ที่เอา ผบ.สูงสุด  เอาหอการค้ามา  เป็นมาตรการโดดเดี่ยว กปปส.  อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เหตุการณ์ลุกลามมาถึงขนาดนี้ ทำให้ตนคิดว่าวันที่ 2  กพ.2557 อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง เพราะมันเลือกไม่ได้  เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นตอนนี้ คือการที่ ปชป.ไม่ลงเลือกตั้ง เขาต้องทำให้ไม่เกิดการเลือกตั้ง เพราะถ้ามีการเลือกตั้งมันเสี่ยงต่ออนาคตของพรรค   ซึ่งเราต้องประคับประคองและใช้สติ ไทยเฉย และไทยอดทนอย่าไปหมดความอดทนเรียกร้องให้ทหารออกมายุติม็อบ กปปส. ทหารออกมาก็เข้าทาง กปปส.

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในนักวิชาการสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) กล่าวว่า หนทางเดียวจะเดินหน้าปฏิรูปอย่างสันติคือการเลือกตั้งเท่านั้น ด้วยเงื่อนไขปัจจุบันยังไม่มีเหตุอันควรว่าจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทั้งในแง่ของกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ สิ่งสำคัญที่จะต้องคิดต่อไป คือ บทบาทของกกต.จะทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุจริตใจ และตรงตรงมาหรือไม่  เรามีคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม  แต่สิ่งที่ กกต.ทำตอนนี้ คือ ความพยายามผลักดันทางเลือกที่แคบมากที่สุด เพราะกกต.แสดงความไม่มั่นใจในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ทั้งๆ ได้ให้สัตยาบรรณไว้แล้ว   การเมืองบนท้องถนนยังเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตย มีการตั้งศาลเตี้ยขึ้นมา ทำร้ายคนบนท้องถนน สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความตีบแคบที่องค์กรอิสระร่วมกันผลักดันให้สังคมไทยเข้าไปสู่จุดนั้น

“ต้องตั้งคำถามกับ กกต. ว่า ท่านได้ทำหน้าที่สมกับเกียรติยศกับการรับเงินเดือนหรือไม่ ในขณะที่เราต้องตั้งคำถามไปยังกสม.ด้วยว่า ในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทีเพียงโล่และกระบอง และถูกทำร้ายเช่นนี้ ท่านยังจะเรียกว่านี่เป็นการชุมนุมโดยสันติได้อย่างไร รวมถึงขอตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญเช่นกันว่า การจัดตั้งสภาประชาชน โดยมีสมาชิกที่มาจัดการคัดเลือกของกปปส.100 คน จะไม่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงล้มโครงสร้างอำนาจรัฐกระนั้นหรือ ดร.เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า นี่คือยุคของสงครามการเมือง จากปี 48 เป็นต้นมา เราปะทะกันมาหกครั้ง มีคนบาดเจ็บล้มตายของประชาชนทั้งสองฝ่าย สภาวะแบบนี้เราต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า ทางเดียวที่จะยุติคือการไปเลือกตั้ง

ผศ.ดร.บัณฑิต มองว่า ข้อสนอของ กปปส.ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน นโยบายปฏิรูปตำรวจ คอร์รัปชั่น เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง ข้อเสนอนี้พื้นมากๆ จนไม่เข้าใจ เพราะคนที่เสนอล้วนแล้วแต่เป็นปฏิเสธอำนาจการเลือกตั้ง ถ้าจะเล่นเกมปฏิรูป ก็ต้องมีพิมพ์เขียว จะปฏิรูปอะไรก็ว่ามา อย่าขายความฝันที่เป็นนามธรรม  ถ้าจะเป็นการปฏิรูปต้องเป็นอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนเท่านั้น ต้องผ่านการเลือก และไปแก้ไขมาตรา 291 จึงจะเป็นการปฏิรูปที่ยั่งยืน  ในส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องมีการปฏิรูป โดยเฉพาะการนำไพรมารี่โหวตมาใช้ การปฏิรูปนี้ไม่สามารถปฏิรูปได้ภายใน 30 วันที่เหลือ ซึ่งเราต้องรีบจัดตั้งรัฐบาลที่มีความชอบธรรม แม้ว่าจะมีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้ง ก็สามารถเลือกตั้งได้  ขึ้นอยู่กับ กกต.ที่จะดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม  

ดร.เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า   ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบอบการเมืองที่หยุดนิ่ง ต้องเป็นระบบที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะดึงคนทุกคนเข้ามาได้ แม้ว่าเขาจะไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมาก่อน นอกจากนี้ประขาธิปไตยยังมีเรื่องของความเป็นชาติด้วย ปัญหาชายแดนภาคใต้ ปัญหาชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ถูกรวมเข้ามาเป็นชาติด้วย ทั้งที่เขาเป็นแรงงานในสังคมนี้ มีส่วนในการสร้างความมั่งคั่งของเมือง เราจะรวมคนเหล่านี้ได้อย่างไรก็ไม่มีการพูดถึงมากนัก   ดังนั้นเมื่อมีพลังใหม่เข้ามา ก็ต้องมีการปรับตัวของพลังทางสังคม หรือสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะระบอบการเมือง ซึ่งระบอบการเมืองที่มีประสิทธิภาพคือระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาช่วยกันนิยาม ออกแบบกลไกสถาบันต่างๆ เพื่อให้พลังต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมได้เท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีการปรับดุลอำนาจเสมอ

20132812214054.jpg

“อยากชวนให้ดูตัวเลขคนที่อยู่ในประกันสังคมมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2554 มีอยู่สิบกว่าล้านคน หมายความว่าเรามีแรงงานอยู่ระบบอยู่ประมาณสิบล้าน พอมาดูตัวเลขความเหลื่อมล้ำ จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าประเทศจีนและอินเดียด้วยซ้ำ ข้อมูลชุดต่อมา ส่วนแบ่งของรายได้ของคนที่ทำงานในระบบสิบล้านคนในรอบ 30  ปี พบว่า ลดลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต่อให้เศรษฐกิจไทยโตแค่ไหน รายได้ของแรงงานก็ลดลงตลอดเวลา คือรายได้แรงงานรวมกันทั้งหมดยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสัดส่วนจีดีพี หมายความว่า กำไรและส่วนที่เศรษฐกิจโตไปอยู่ที่นายทุน แรงงานทำงานหนัก แต่รายได้ก็ลดลง สังคมไทยกำลังขูดรีดแรงงานอย่างหนัก คนที่ไปม็อบแล้วแต่ได้เปรียบกับระบบเหล่านี้ 

สถานการณ์เศรษฐกิจสังคมไทยปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำอย่างมาก รายได้จริงลดลงในขณะที่อัตรากำไรของทุนเพิ่มขึ้น การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมา ดึงคนชั้นล่างเข้าเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ  ที่ผ่านคนชั้นบนกับชนชั้นกลางสะสมความมั่งคั่งและเลื่อนชั้นของตนเอง ผ่านโครงสร้างทางการเมืองแบบเก่าที่เป็นมรดกมาตั้งแต่สงครามเย็น การที่โครงสร้างทางการเมืองแบบเก่าสนับสนุนความมั่งคั่งของคนจำนวนหนึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการถกเถียงกันระบอบทางการเมืองเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของคนที่ชนชั้นบนและชนชั้นกลางซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้จึงเป็นอุปสรรคที่กีดกันการพัฒนาประชาธิปไตยที่เปิดให้คนส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม จะเห็นว่าเราอยู่ภายใต้สภาวะบางอย่างที่เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย และที่เป็นรากของความขัดแย้ง คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งความเหลื่อมล้ำแบบนี้มันเดินไปได้ด้วยโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นเผด็จการซึ่งคนส่วนน้อยกำหนดอำนาจรัฐได้ คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงอำนาจรัฐยกเว้นการเลือกตั้ง

“การเลือกตั้ง แม้ไม่พอสำหรับการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ว่าการเลือกตั้งเป็นป้อมปราการสุดท้ายที่คนชั้นล่างมีในการต่อรองอำนาจ ความขัดแย้งทางการเมืองวันนี้คือการกีดกันคนชั้นล่างไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะกลัวว่าการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชั้นล่าง หรือการปรับโครงสร้างทางการเมือง หรือแม้แต่การพัฒนาประชาธิปไตยจะนำไปสู่การถ่วงดุล หรือปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ลดความเหลื่อมจนนำไปสู่ลดความสามารถในการสะสมทุน  ดังนั้นถ้าเราจะปฏิรูป คือ การจัดการความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะมันคือรากของความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคม ชนชั้นล่างมีเพียงอย่างเดียวที่จะสู้ได้ คือเอาระบอบประชาธิปไตยไว้เพื่อใช้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการปฏิรูปจึงไม่ใช่แค่การมีสภาประชาชน มันต้องพูดถึงหลักว่า เราจะกระจายความร่ำรวยให้คนอื่นได้อย่างไรบ้าง”

ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกคนมีอธิปไตยของตัวเองถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือทำให้ลดน้อยลงได้เลย   คนจำนวนมากและเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ที่ลำบาก ขาดแคลนทรัพยากรและต้นทุนต่างๆ ในการดำรงชีวิต   คนเหล่านี้แต่เดิมได้รับความช่วยเหลือจากชนชั้นนำ การขยายตัวของทุนโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้เชื่อว่าเขาก็มีชีวิตเช่นกัน ทำงานหนัก เสียภาษี ในขณะที่คนในชนบทได้ประโยชน์จากนโยบาย ผ่านการขยายตัวของทุนโลกาภิวัฒน์ การขยายตัวของรัฐหรือแม้แต่ทุนไทยในสมัยหลังนี่เอง ถึงแม้จะประสบปัญหาเรื่องความยุติธรรมเรื่องแรงงาน ค่าแรง สวัสดิการ หรือสาระประโยชน์อื่นๆ ที่น้อยกว่าคนในเมืองหลวง   สำหรับในชนบทคนที่ถูกตราหน้าหน้าว่าโง่ จน เจ็บ แต่เขาไม่สนใจ และต่างก็มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองที่เห็นเป็นรูปธรรมเฟื่องฟูได้ชัดเจน ในขณะที่ชนชั้นกลางใหม่ในเขตเมืองต่างดำรงชีวิตด้วยความหว้าเหว่  ไม่มั่นคง  ไม่ได้สุขสบาย แต่คนที่เข้าร่วมม็อบของ กปปส.ต่างพึ่งพาสถานะพิเศษ หรือความมีอภิสิทธิ์ที่เป็นมรดกของ ชนชั้นนำ หรือพลังจารีตอนุรักษ์นิยม ปราศจากอภิสิทธิเหล่านี้คนชั้นกลางเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้

ยกตัวอย่างเรื่องเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา  ที่สำคัญ เขาคิดว่ามีเสรีภาพการบริโภคที่ไร้ขอบเขต เป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาแล้ว พวกเขาเกรี้ยวกราด เรียกหาการใช้อภิสิทธิ์ ที่เขาคิดว่ามีในทุกที่ แต่นั้นเป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพที่ไร้ขอบเขตและอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น  เขามักจะมีนิสัยยกตนข่มท่าน ทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นอภิมนุษย์ที่สูงส่งกว่าคนอื่นๆ และนั้นเป็นที่มาของระบบคุณธรรมจอมปลอมที่จำกัดคับแคบนำไปสู่การกำหนดตีกรอบสิทธิในการดำรงชีวิตของผู้อื่น  

ดร.ทัศนัย กล่าวต่อว่า ถ้าไม่สามารถมีการเลือกตั้งครั้งนี้ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้สิ่งที่ตามมาคือการล่มสลายของระบบคุณค่าในทุกมิติ ซึ่งเราได้เห็นแล้วคืออ้างหลักธรรมผิดๆ โดยพระสงฆ์มาเรียกร้องคนให้มาใช้ความรุนแรงในนามของความดี หรือการนำหลักวิชาการมาบิดเบือนเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของกปปส.  

20132812214528.jpg

ต่อกรณี “การเมืองภาคประชาชน” นั้น   รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่าการเมืองภาคประชาชนว่า ในทศวรรษ 2530-2540  การเมืองภาคประชาชน หมายถึง มีการสร้างเครือข่าย กลุ่มองค์กร หรือจะเป็นชาวบ้านก็ได้ หรือกลุ่มองค์กรทางสังคมต่าง ๆ สร้างกันเป็นเครือข่ายขึ้น แล้วก็ดันประเด็นของตน อย่างเช่น กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายชุมชนแออัด แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันต่างไป มันน่าจะเป็นการเมืองมวลชน เพราะว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดจากเครือข่ายอะไร แต่มันเป็นในแง่ของผู้นำทางการเมืองเป็นคนชี้ หรือเป็นคนนำมวลชนทั้งหมด โดยที่มวลชนไม่สามารถเข้ามาต่อรอง หรือเข้ามาเจรจาแลกเปลี่ยนความคิดและผลักดันได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของความเคลื่อนไหวที่ขึ้นอยู่กับผู้นำค่อนข้างสูง ซึ่งแตกต่างไปจากการเมืองภาคประชาชน ถ้าในอดีตผมคิดว่ามีการเจรจาต่อรอง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งผมคิดว่าแบบนั้นมันเป็นสิ่งที่ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า derivative democracy คือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และมันน่าจะเป็นมากกว่า

20132812214603.jpg

นายจิรกิตติ์ แสงลี : นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน ว่าอยากจะให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องไปบอกคนอื่นว่าคนอื่นไม่มีสิทธิที่จะพูด เพราะว่าเราจะต้องฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง  เพราะว่าปัจจุบันนี้บางคนคิดเห็นไม่เหมือนเรา เราก็จะไปตัดสิทธิความคิดเห็นเขา เพราะว่าทุกเสียงของประชาชนมีคุณค่าสำหรับประชาธิปไตย

ส่วนการจะทำให้เข้าถึงประชาธิปไตยนั้น นายนายจิรกิตติ์มองว่าจะต้องเรียนรู้เจตนารมณ์ จุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยคืออะไร ถ้ารู้ตรงนี้แล้ว สิทธิเสรีภาพของประชาชนมีไว้เพื่ออะไร ประชาธิปไตยนั้น หลักการสำคัญต้องการอะไรจากประชาชน ผมว่าถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในประชาธิปไตยมาก ๆ ผมว่าผลประโยชน์ หรือว่าสิ่งที่ควรค่าที่จะได้รับมันก็จะตกอยู่กับประชาชน

20132812214901.jpg

อ.ดร.ปิยะบุตร แสงกนกกุล : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวเรื่องแนวทางการปฏิรูปการเมืองไทยในปัจจุบันว่า  ที่ทาง กปปส.เสนอขึ้นมาเห็นว่าอาจจะมีปัญหานิดนึง ตรงที่ผมไม่แน่ใจว่าเขามีความตั้งใจอยากจะขอปฏิรูปการเมืองจริงหรือไม่ เพราะว่าวาระนี้เพิ่งขึ้นมาทีหลัง หรือว่าเขาต้องการเอาคำนี้ขึ้นมาเพื่อไม่อยากให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กันแน่ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปจริง ๆ ซึ่งตนคิดว่ามีความจำเป็น แต่อย่างไรเสียก็ต้องไปดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน แล้วค่อยดำเนินกระบวนการปฏิรูปการเมืองต่อไป แต่การเมืองในรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป สภาปฏิรูป โดยใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ตนคิดว่ามันเป็นการผูกขาดของคนหน้าเดิม ๆ ที่อยู่ในแวดวงที่ตั้งชื่อว่าให้เป็นอุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นกลุ่มเดิมตลอด ที่จะมากำหนดวาระในการปฏิรูปตลอดเวลา  

ตอนนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ละคนคิดไม่ตรงกัน มีวาระไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะอยากปฏิรูปนักการเมือง อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะอยากปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปองค์กรอิสระก็ได้ เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดมันจะต้องไปเลือกตั้งเพื่อจะให้ได้รัฐบาล ได้รัฐสภาที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมาก่อน แล้วจึงเดินหน้าปฏิรูป โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแล้วก็ถ้าวันหนึ่งถึงท้ายที่สุดจำเป็นต้องหาฉันทามติร่วมกันของคนทั้งประเทศก็อาจจำเป็นต้องหาฉันทามติตอนขั้นตอนสุดท้ายก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นต้น การปฏิรูปแบบนี้เป็นการปฏิรูปที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้งไม่ใช่ถูกขาดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ