30 พ.ย.2558 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีครั้งแรก คดีที่ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีก 4 แห่ง กรณีลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว มิชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องเปิดเผยข้อมูลรับฟังความคิดเห็น ประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินการตามสิทธิชุมชน โดยตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นให้ยกฟ้อง ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลปกครองจะนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวันเวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านจาก 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นำโดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว พร้อม กลุ่มทนายความ เข้าฟังการพิจารณา ที่ตัวแทนชาวบ้าน 37 คน ยื่นฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 จากข้อกังวลเรื่องกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผู้ฟ้องได้ฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้มีคำสั่งใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ยกเลิกมติ กพช.ที่อนุญาตให้ กฟผ.ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีได้ 2.ให้ยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.และบริษัทไซยะบุรี เพาเวอร์ เพราะไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิชุมชน รวมทั้ง กฟผ.ยังฝ่าฝืนข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ต้องแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบก่อนการดำเนินการ 3.ให้ผู้ถูกฟ้องเปิดเผยข้อมูลรับฟังความคิดเห็น ประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินการตามสิทธิชุมชน
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดรับพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ 3 เท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ มติ กพช.เป็นมติภายในที่ยังไม่มีผลทางกฎหมายกระทบสิทธิภายนอก และได้ส่งเรื่องกลับมายังศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาต่อไป
อ่าน: คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คส.8/2557 ลงวันที่ 17 เมษายน 2557 คดีเขื่อนไซยะบุรี (ฉบับเต็ม)
อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติม: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
มติชนออนไลน์ รายงานว่า ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมกฎหมาย และตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า หน่วยงานรัฐละเลยหน้าที่ ไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ก่อนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า นั้น ตุลาการผู้แถลงคดีมองว่า มิใช่โครงการของรัฐ เป็นการตกลงระหว่างประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว
2.อีเอชไอเอ เป็นของเจ้าของโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง มองว่าหน่วยงานรัฐไทยไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ 3.กระบวนการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรี และกระบวนการตามระเบียบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พีเอ็นพีซีเอ หรือขั้นตอนข้อตกลงเกี่ยวกับการทำโครงการใดๆ ในลุ่มน้ำโขงนั้นจะต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งล่วงหน้ากับประเทศสมาชิก 2.ปรึกษาหารือว่าจะทำ และ 3.ทำข้อตกลงร่วมกันว่าทำได้หรือไม่ก่อน ซึ่งทั้งหมดได้ทำเรียบร้อยแล้วตามขั้นตอนแล้ว และมิได้กำหนดให้ทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน
นอกจากนี้ เอกสารข้อมูลโครงการทั้งหมดมิใช่ข้อมูลของหน่วยงานรัฐไทย ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของโครงการก่อน ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงแนะนำให้มีคำสั่งยกฟ้อง
น.ส. ส.รัตนมณี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงกระบวนการของศาลปกครอง ยังมิใช่คำพิพากษา จึงต้องรอให้มีการพิพากษาต่อไป โดยศาลจะนัดมาฟังคำพิพากษาอีกที ชาวบ้านยืนยันว่า แม้คำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบอย่างไรก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด
ด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า ดูเหมือนว่าช่องทางกฎหมายตามไม่ทันการจัดการสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อย ไม่สามารถที่จะร้องขอความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรได้ ขั้นตอนของ พีเอ็นพีซีเอ เป็นเพียงตรายาง ไม่ได้ฟังเสียงความเดือดร้อนของชาวบ้านลุ่มน้ำโขง ประเทศอาเซียนยังขาดกลไก ข้อบังคับ ในการจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดนร่วมกัน
ขณะที่เพจ หยุด เขื่อนไซยะบุรี(stop Xayaburi Dam) รายงานว่า การพิจารณาคดีดังกล่าว นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้แถลงโดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงที่เชียงราย ได้เผชิญความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงที่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรในประเทศจีน ที่สร้างไปแล้วถึง 6 แห่ง โดยเฉพาะความผันผวนของระดับน้ำที่ขึ้นๆ ลงๆ ผิดธรรมชาติและส่งผล
โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีการก่อสร้างคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สามารถปิดกั้นลำน้ำโขงให้ผ่านช่องคอนกรีต ซึ่งกินพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของลำน้ำโขง และคาดว่าอีกไม่นานก็คงก่อสร้างสำเร็จ และส่งไฟฟ้าขายให้ไทยตามที่วางแผนไว้
ในขณะที่การศึกษาและวางมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่ง แวดล้อมและสังคม กลับยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะและผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่ อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ใครตอบได้บ้างว่ามีครอบครัวคนหาปลา ครอบครัวเกษตรกร ครอบครัวคนขับเรือ คนร่อนทอง คนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยทรัพยากรเแม่น้ำโขงเพื่อเลี้ยงชีพ มีสักกี่หมื่นกี่แสน ครอบครัวที่จะต้องเดือดร้อนจากเขื่อนแห่งนี้ที่ไทยเรารับซื้อไฟฟ้า
เขื่อนไซยะบุรี ในฐานะเขื่อนแห่งแรกที่ก่อสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งแม่น้ำสายนี้เป็นลำน้ำนานาชาติ ขณะนี้คดีนี้เป็นกรีณีตัวอย่างที่อาจจะนำมาสู่แบบปฏิบัติ ของเขื่อนอื่นๆ ต่อมา
คุณค่าของคดีนี้อยู่ที่การสร้างมาตรฐานกฎหมายของภูมิภาค เป็นการสร้างความรับผิดชอบข้ามพรมแดน เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างรับผิดชอบแม้จะเป็นโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ เขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ห่างจากหลวงพระบางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร ขนาดความสูง 48 เมตร ยาว 800 เมตร กั้นขวางแม่น้ำโขง มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งกฟผ.ลงนามรับซื้อไฟฟ้า 95% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หรือราว 1,220 เมกะวัตต์ และเงินลงทุนก่อสร้างโครงการมาจาก 6 ธนาคารสัญชาติไทย