ชายแดนที่เปลี่ยนไป กับ สายน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลง

ชายแดนที่เปลี่ยนไป กับ สายน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลง

This image has an empty alt attribute; its file name is ปกเวบ-1-1024x576.jpg

“แม่น้ำโขง” สายน้ำที่มีความสำคัญในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ “Mekong Subregion” 6 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนระหว่างกันในหลายมิติ มีความสำคัญต่อประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำและพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการเลี้ยงชีพ ตลอดระยะทาง 5,000 กิโลเมตร

ซึ่งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก

น้ำโขงไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร

This image has an empty alt attribute; its file name is 377228190_3585971081616215_6311690652647919434_n-1-1024x162.jpg

ส่วนที่ผ่าน จังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของไทย มีระยะทาง 84 กิโลเมตร ที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น ก่อนเข้าสู่ สปป.ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง และไหลผ่านเป็นพรมแดนไทย-สปป.ลาว อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย พื้นที่ชายแดนเหนือสุดของประเทศไทย เชื่อมต่อใน 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ที่มีพื้นที่ติดกับ 2 ประเทศ คือ เมียนมา และ สปป.ลาว

จากการสำรวจของกลุ่มรักษ์เชียงของ พบว่าระดับน้ำโขงได้ดึงน้ำจากลำน้ำสาขาให้ลดลงด้วย ปัจจุบันประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง โดยปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง เขื่อนไซยะบุรี-ลาว และเขื่อนดอนสะโฮง-ตอนใต้ลาว โดยทั้งสองแห่งขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้ากัมพูชา นอกจากเขื่อนที่สร้างแล้ว มีแผนกำลังสร้างเขื่อนไฟฟ้าที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วในปี 2566 คือ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนปากแบง ซึ่งในอนาคตอาจมีการสร้างเพิ่มอีก 9 แห่ง ทั้งในประเทศลาวและกัมพูชา

ความน่ากังวลคือลาวมีนโยบายตั้งตัวเองเป็น ”แบตเตอรี่แห่งเอเชีย”

MRC หรือคณะกรรมธิการแม่น้ำโขง พบว่าการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำโขง จะทำให้ปริมาณตะกอนที่ไหลไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงถึง 97% คาดการณ์กันว่าชีวมวลด้านการประมงในแม่น้ำโขงจะลดลงถึง 40-80% ในปี 2583

จริง ๆ แล้วนอกจากเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขงแล้ว

ชายแดนที่เปลี่ยนไป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขงเปลี่ยน

จังหวัดเชียงรายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมต่อไปยังตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ หรือทาง R3A ไทย ลาว จีน ซึ่งพรมแดนสายน้ำของนี้มีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง

This image has an empty alt attribute; its file name is 371449649_332296076185109_3200736370276994454_n-1024x162.jpg

ย้อนทวนเหตุการณ์สำคัญการพัฒนาบนพื้นที่ริมฝั่งโขง ที่จังหวัดเชียงราย

  • นับตั้งแต่ปี ปี 2536 นโยบาย “แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า”ของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 17 รูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ อยู่ริมแม่น้ำโขงในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยนักลงทุนจากจีนบริษัทดอกงิ้วคำ ตั้งแต่ปี2550

มีการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนบน เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งส่งผลต่อประเทศท้ายน้ำเรื่อยมา ทั้งต่อวิถีผู้คนและระบบนิเวศ

•ทางบก มีการสร้างถนน R3a ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา มาถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว

•ทางน้ำ มีการส่งเสริมกิจการพาณิชย์นาวีในแม่น้ำโขง เปิดให้เรือสินค้าสามารถวิ่งขึ้น-ล่องในแม่น้ำโขงได้อย่างเสรี ตั้งแต่ท่าเรือซือเหมา ท่าเรือเชียงรุ่ง ท่าเรือกวนเหล่ย

ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน ผ่านลาว เมียนมา ลงมาถึงท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

  • ปี 2537 ไทย จีน เมียนมา ลาว ลงนามความตกลงเดินเรือเสรีเปิดให้เรือแต่ละชาติเข้าเทียบท่าของกันและกันได้
  • ปี 2543-2548 จีนเริ่มระเบิดเกาะแห่งในแม่น้ำโขงบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา และเมียนมา-ลาว เพื่อล่องเรือ 500 ตัน ผ่านไทยไปหลวงพระบาง
  • ปี 2545 ครม.ไทยอนุมัติรายงานอีไอเอโครงการระเบิดแก่ง (เตรียมฉบับร่างโดยจีน)
  • ปี 2546 หยุดการระเบิดแก่ง ครม.มีมติชะลอโครงการหลังชาวบ้านริมฝั่งและกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นคัดค้าน ซึ่งฝั่งไทยเริ่มมีการสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ คือ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 1
  • ปี 2552 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยเปิดท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ในปี 2554
  • ปี 2556 เปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมต่อกับเส้นทาง R3A
  • 2557 รัฐบาลลาวปรับปรุงสัญญาสัมปทาน ขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำขึ้นเป็น 2,173 เฮคต้า(13,581 ไร่) ปรับรูปแบบโครงการเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอีก 1 เมือง ภายในเมืองใหม่ นอกจากกาสิโนแล้ว ยังมีการสร้างศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ โรงแรม สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล โรงเรียน วัดฯลฯ
  • ปี 2560 เขื่อนน้ำอ้าวที่กำลังก่อสร้างในแขวงเชียงขวาง แตกน้ำท่วม เวลานั้นเองภาคประชาชนเห็นตัวอย่างเขื่อนแตกในลาวมีความกังวล จึงเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนอย่างต่อเนื่อง
  • ปี 2561 สปป.ลาว มีนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย
  • ปี 2562 เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แล้วเสร็จ

ปัจจุบันแม่น้ำโขงตอนล่างมีเขื่อนที่ใช้งานแล้ว 2 แห่ง คือเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง และยังมีอีก 3 โครงการ คือเขื่อนปากแบง เขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ราว 97 กิโลเมตร และเขื่อนปากลาย นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการที่กำลังจ่อตามมาคือเขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม(สาละวัน) และภูงอย ที่มีแผนดำเนินการ

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงปี พ.ศ. 2564-2573

คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากประเทศกัมพูชา, สปป.ลาว, ไทย, และเวียดนาม ได้รับรองยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 5 ประการ คือ

1. การพัฒนาหน้าทีเชิงระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเพื่อให้เกิดสิงแวดล้อมทีดีและชุมชนที่อุดมสมบูรณ์

2. การพัฒนาการเข้าถึงและการใช้น้ำและทรัพยากรทีเกี่ยวข้องเพื่อสุขภาวะทีดีของชุมชน

3. การ พัฒนาอย่างยังยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทีทั่วถึงและครอบคลุม

4. ความสามารถในการปรับตัวต่อ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและความเสียงต่อภัยพิบัติ

5. การยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาค จากมุมมองของทั้งลุ่มน้ำ

ภาพบางส่วนของความเปลี่ยนแปลงบนสายน้ำโขง การพัฒนาบนแผ่นดินไทยหรือแม้ไม่ได้อยู่บนผืนแผ่นดินไทย แต่ผลกระทบข้ามพรมแดนนั้นยากจะหลีกเลี่ยง

สายน้ำโขงระบบนิเวศ : โขงผันผวนไคร้ยืนต้นตาย

จากชายแดนที่เปลี่ยนไป รูปธรรมที่เป็นผลจากระดับน้ำผันผวนฤดูกาลขึ้นลงผิดปกติ ผลจากความเปลี่ยนของระบบนิเวศแม่น้ำโขง คือ “ต้นไคร้” พืชน้ำและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งได้รับความเสียหายและยืนต้นตายจากน้ำโขงที่ขึ้นลงผันผวนในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างตลิ่งที่กระทบกับพื้นที่ริมฝั่ง

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับนักวิจัยไทบ้าน ถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติซึ่งเป็นอีกตัวชี้วัดคุณภาพและสุขภาพของแม่น้ำในระบบนิเวศริมฝั่งโขง บริเวณศาลาลั้งหาปลา บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

การเก็บข้อมูลสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ผ่านงานวิจัยชาวบ้านอย่างน้อยในพื้นที่ 10 ชุมชนลุ่มน้ำโขง จ.เชียงราย ยังได้เห็นถึงประวัติศาสตร์นิเวศน์วัฒนธรรม เกษตรริมโขง ปลา ไก และนกน้ำ ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2564 ถึงธันวาคม 2565 โดยมีพี่เลี้ยงจากกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง และสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้หลายคนได้เข้าใจสถานการณ์แม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น

จากการเก็บข้อมูลวิจัยของชาวบ้านริมโขงจังหวัดเชียงรายพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงใน 5 ประเด็น

1.ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง

2.ความเชื่อมโยงระหว่างนิเวศกับวัฒนธรรมชาวบ้าน

3.ปัญหาของระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่กระทบต่อความสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงและคนริมโขง

4.การใช้ภูมิปัญญาและความรู้ในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด

5.ความรู้ภาคพลเมืองที่สะท้อนความเป็นอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ “โขงรวน”

อีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลง คือ

เสียงแม่หญิงน้ำโขง การพึ่งพาสายน้ำโขง ท่ามกลางวิกฤติการพัฒนา

บทบาทของผู้หญิงในการพึ่งพาแม่น้ำโขงที่มีบทบาทการพึ่งพาแม่น้ำโขงต่างจากผู้ชาย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ศึกษาสถานการณ์แม่น้ำโขงที่ส่งผลต่อผู้หญิงในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง รวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นพันธุ์สัตว์น้ำ พืชอาหารและการหาปลาของกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อให้ได้ชุดองค์ความรู้ภูมิปัญญาของผู้หญิงในการพึ่งพาแม่น้ำโขง และผลกระทบความเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ในมิติบทบาทผู้หญิงกับการพึ่งพาแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย และสถานการณ์การพัฒนาทีส่งผลต่อผู้หญิงลุ่มน้ำโขงจังหวัดเชียงรายรายงานการศึกษาแม่หญิงน้ำโขง:การพึ่งพาสายน้ำท่ามกลางวิกฤติการพัฒนา

This image has an empty alt attribute; its file name is 25-1024x1024.jpg
นางอรพิน วุฒิกร ชื่อเล่นอร อายุ 55 ปี บ้านเวียงดอนชัย ม.12 ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

“เกิดมาอยู่กับน้ำของเลย พ่อทำสวนริมฝั่งแม่น้ำของแถวบ้านดอนมหาวัน และก็หาปลาด้วย แต่ก่อนพ่อไปหาปลา ไปไจเบ็ดค่าวก็จะได้ตลอดทุกครั้ง พ่อจะพาไปด้วยไปไจเบ็ดก็จะได้ปลามากิน กินปลาตลอดจะปอเบื่อ ได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าฤดูไหน พ่อแกจะไปนอนอยู่ที่สวนริมฝั่งน้ำหาปลาตลอดทั้งปี พ่อหาปลาที่เหลือทำสวนผักรอ ทำสวนข้าวโพด กะหล่ำ ได้ปลามาเยอะกับแม่ก็จะเอาไปขาย ได้เยอะนะ เราได้กินปลาดีๆ ทั้งนั้น ตอนนั้นเราเบื่อปลาเพราะกินตลอด มาปัจจุบันรู้ว่าเป็นปลาที่ดี ราคาแพง พวกปลาเนื้ออ่อน ปลาค้าว ปลาหวาน ปลาดังแดง ตอนนั้นเราไม่รู้ แต่ตอนนี้ราคาแพงมาก เราได้กินของดี”

“ตอนนี้มันไม่มีปลาแล้ว น้ำขึ้นๆลงๆ ไม่เป็นแบบนี้แต่ก่อนช่วงน้ำขึ้น ฝนตกน้ำนองน้ำก็จะขึ้นๆอย่างเดียว หน้าแล้งน้ำถึงจะลงๆ เป็นเด็กหน้าแล้งจะได้เล่นน้ำของ หน้าฝนอันตรายก็หยุดเล่น มาปัจจุบันน้ำมันเปลี่ยน เดือนเมษายนหน้าแล้งแต่น้ำท่วมจะให้ทำอย่างไร ปกติ เมษา มกรา กุมภา น้ำแห้งจะได้กินไก ปลายิ่งไปกันใหญ่ไม่มีเลยไม่เหมือนแต่ก่อน”

“อย่างครอบครัวเราทำถั่วงอกตอนล้างถั่วงอกปลาจะมากินเศษถั่วแต่ปีนี้ไม่เห็นมีปลามากินถั่วงอกเลยมันเป็นอะไรปลามันไม่มีเลยปีนี้ หรือว่าเป็นเพราะน้ำมันขึ้นเร็วลงเร็วหรือเปล่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมีผลกระทบเยอะก็ 5 ปีที่ผ่านมา หน้าแล้งน้ำท่วม หน้าฝนน้ำลด ปลามันน่าจะสะดุ้งน้ำ ปีนี้มันผิดปกติกก่อนที่น้ำมันจะแห้งน้ำมันจะขุ่นก่อน พอน้ำแห้ง น้ำเริ่มใสสักพักน้ำก็ขึ้นอีกแล้วไกก็หลุดหมดไม่ได้กินแล้ว ปกติไกออกทุกที่แถวท่าถั่วงอกก็มีนะ เห็นมันออกอยู่ช่วงปลายเดือนมกราคมช่วงอากาศเย็นๆ ตอนนี้ไม่มีแล้วหายไปหมดละ”

This image has an empty alt attribute; its file name is 22-1024x1024.jpg
นางทอง บุญมี อายุ 58 ปี บ้านหัวเวียง ม.1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

“แม่เกิดใหญ่กับน้ำของตั้งแต่น้อย แต่ก่อนก็หากินง่าย ปลูกผักปลูกไม้ตามริมฝั่งน้ำของตลอดทั้งปี ปลูกทุกอย่าง ครอบครัวป้าแต่ก่อนก็พ่อหาปลา ช่วงหลังเป็นน้องชายหาปลาแล้วป้าเป็นคนเอามาขาย”

“ ตอนนี้หาปลาก็หาไม่ได้ หากุ้งก็หาไม่ได้ เหลือปลูกผักนิดหน่อย จกไกก็ได้น้อยวันนั้นได้ไกมา 3-4 กิโลกรัม อีกวันได้แค่พอกิน น้ำมันขึ้นแรงขึ้นเอาขึ้นเอา แต่ก่อนไม่เป็นแบบนี้ แต่ก่อนเดือนมกราคม กุมภาพาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมเดือนเมษายน เก็บไกขายได้เป็นหมื่นสองหมื่น แค่จะกินก็ยังเกือบไม่มี มีปี 2566 พอเก็บได้เยอะช่วงเดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคม ปีนี้ไกกำลังออกน้ำมาไกก็หลุด ไกกำลังออกน้ำมามาไกก็หลด”

“ปีนี้น้ำมันไม่เป็นธรรมชาติไกมันจะดำกว่าทุกปี ทุกปีไกออกมาจะสีเขียวปีนี้ไกออกมาดำหมดเลย ปีหน้าไม่รู้ว่าไกจะเป็นอย่างไรน้ำมันเริ่มเสีย คนจีนทำสวนกล้วยที่ลาวเยอะมากไม่รู้ว่าน้ำโขงจะเป็นอย่างไร”

“น้ำโขงเป็นเหมือนชีวิตคนบ้านเราเพราะเราหากินกับน้ำโขงมาตลอด เลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า หน้ากุ้งเราก็ไปซ้อนกุ้ง หน้าเก็บไกเราก็ไปเก็บไก ตอนนี้ไม่รู้จะไปหากินเอาอะไรจากแม่น้ำของ ถ้าแต่ก่อนเป็นแบบนี้ไม่รู้จะเอาอะไรมาเลี้ยงครอบครัว แต่ก่อนตามริมน้ำเหล่านี้มีแต่ต้นไคร้น้ำ แค่เอาหิงไปตักตามต้นไคร้ก็เหลือกินแล้ว ตอนนี้ต้นไคร้ต้นหนึ่งก็ไม่มี มีแต่หินที่เรียงอยู่ริมฝั่ง ที่ปลูกผักก็เหลือแค่นี้ ที่ดินป้ากลายเป็นสวนสาธารณะเป็นที่เรียงหินริมตลิ่งหมดแล้วไม่รู้จะทำอะไรอีกแล้ว”

This image has an empty alt attribute; its file name is 2222-768x1024.jpg
นางอร บุตรดี ชื่อเล่นอร อายุ 32 ปี บ้านปากอิงใต้
หมู่ 16 ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

“ชีวิตเกิดมาก็อยู่ริมฝั่งแม่น้ำของ ได้พึ่งพาแม่น้ำตั้งแต่น้อยมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องการใช้น้ำ การเก็บไก การหาปลา ปลูกผักริมฝั่งก็ใช้น้ำจากแม่น้ำของมารดผัก แม่น้ำของถือเป็นผู้ให้ชีวิตเลยก็ว่าได้”

“ช่วงนี้ก็เก็บไกขาย มีเยอะก็ทำไกแผ่น แผ่นละ 80-120 บาท เก็บไว้กินบ้างไว้ขายบ้าง ช่วงไกก็จะเป็นช่วงมีรายได้เกือบทุกวัน วันละ200-500 บาท แล้วแต่ไกที่เก็บได้”

“หลายปีผ่านมาน้ำขึ้นๆลงๆ บางปีไม่มีไกก็ไม่มีรายได้ ตอนนี้ไม่ได้ทำเกษตรริมโขงแล้วเพราะตลิ่งพังมีการถมหินทำตลิ่ง เหลือแต่หาปลาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายไปหา ผู้หญิงก็จะเก็บไก ถือว่าเป็นแหล่งรายได้เดียวของแม่หญิงในตอนนี้”

This image has an empty alt attribute; its file name is 678-768x1024.jpg
นางวัน ธรรมตาล ป้าวัน อายุ 58 ปี บ้านเชียงแสนน้อย
ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

“แม่เป็นละอ่อนก็ใหญ่มากับน้ำโขง ตักน้ำกินน้ำอาบเอามาจากแม่น้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่มีน้ำประปาเหมือนตอนนี้ น้ำขุ่นก็ตักขึ้นมาใช้สารส้มแกว่งให้น้ำใส กินน้ำจากแม่น้ำโขงกันทุกหลังคาเลย เป็นเด็กเล่นน้ำโขงปุ้นนะ หาปลาทั้งในแม่น้ำกก และแม่น้ำโขง โดยการตั้งจ๋ำ ซ้อนหิงบ้าง ตามหลงกกบ้างมีสุ่มแหมอันที่แม่หญิงใช้กัน สุ่มใช้ตามหนองที่น้ำตื้น ครอบครัวแม่เป็นคนหาปลาทั้งครอบครัว”

“แต่ตอนนี้นานๆ สามีจะไปทอดแหที ปลาไม่ค่อยมี น้ำของไม่ไปหาปปลามันลึกแม่กลัว ตอนนี้น้ำกกก็ไม่ได้หาละ หาแต่ในหนอง ในหลงหมู่บ้านเท่าอั้น ไกตอนนี้ออกในแม่น้ำโขง แต่แม่เขากลัวน้ำมันลึก ต้องไปด้วยกัน 3-4 คน ตลิ่งมันสูงเอายาก เอามาก็ขายม่วนมันหายาก แต่เสี่ยงหน่อยไม่เหมือนก่อนทำตลิ่ง คนกลัวน้ำของ แต่ก่อนน้ำไม่ได้เชี่ยวแบบนี้ คนเดินลงไปริมฝั่งได้ตอนนี้อันตรายใครจะไปหากินริมฝั่งแม่น้ำโขง”

“ผักก็ไม่ค่อยมีแต่ก่อนริมฝั่งน้ำมีผักกูด ผักหนาม ผักหลายอย่างไปหาปลาไปเก็บผักด้วย ช่วงนี้มีแต่ดอกงิ้ว แม่ก็เก็บเอามาตากแห้งไว้ใส่กับข้าว ตอนนี้ไม่มีเลยผักหายไปจากริมฝั่ง หาปลาก็หาที่น้ำน้อยๆ อย่างเดียว”

“ปัญหาของการหาปลาคือปลาไม่ค่อยมี น้ำมันไม่ท่วมหน้าฝน หลายปีมาแล้วน้ำกกไม่เอ่อท่วมหนอง หลง ปีไหนน้ำท่วมปลามันจะเข้ามาอยู่ในหลง ในหนอง ทำให้มีปลาเยอะ แต่ก่อนน้ำนองตั้งจ๋ำตามริมฝั่งน้ำล้นได้ปลาเยอะขนาด ปีนี้น้ำไม่ท่วม หนองไม่ค่อยมีปลา”

“ไกตอนนี้ออกในแม่น้ำโขง แต่แม่เขากลัวน้ำมันลึก ต้องไปด้วยกัน 3-4 คน ตลิ่งมันสูงเอายาก เอามาก็ขายม่วนเพราะมันหายาก แต่เสี่ยงหน่อยไม่เหมือนก่อนทำตลิ่ง คนกลัวน้ำของ แต่ก่อนน้ำไม่ได้เชี่ยวแบบนี้ คนเดินลงไปริมฝั่งได้ตอนนี้อันตรายใครจะไปหากินริมฝั่งแม่น้ำโขง ผักก็ไม่ค่อยมีแต่ก่อนริมฝั่งน้ำมีผักกูด ผักหนาม ผักหลายอย่างไปหาปลาไปเก็บผักด้วย ตอนนี้ไม่มีเลยผักหายไปจากริมฝั่ง หาปลาก็หาที่น้ำน้อยๆ อย่างเดียว”

“เขาทำพนังกันตลิ่งมันสูงหาปลายาก พื้นน้ำมีลวดเหล็กอีก ตั้งจ๋ำไม่ได้ทำให้แม่หญิงกลัวน้ำของ แต่ก่อนน้ำไม่ได้เชี่ยวแบบนี้ คนเดินลงไปริมฝั่งได้ตอนนี้อันตรายใครก็ไม่ไปหากินริมฝั่งแม่น้ำของ ผักก็ไม่ค่อยมีแต่ก่อนริมฝั่งน้ำมีผักกูด ผักหนาม ผักหลายอย่างไปหาปลาไปเก็บผักด้วยตอนนี้ไม่มีเลยผักหายไปจากริมฝั่ง หาปลาก็ไม่ได้ หาที่น้ำน้อยๆ ตามหนองอย่างเดียว”

“ยามหน้าแล้งชาวบ้านจะพากันไปหากินที่ท่าริมฝั่ง หน้าไกออกก็ไปจกไก ผ้องก็ร่อนทอง แม่เคยไปเอาเขียด หน้าแล้งมันจะไปอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หลบอยู่ใต้ก้อนหิน เวลาจับก็ค่อยหงายก้อนหินเขียดตัวแอบซ่อนตัวใต้หินก็จับเอา ตอนนี้ไม่มีแล้ว ตั้งแต่มีการเรียงหินทำพนังกันตลิ่งพัง”

“ปัญหาของการหาปลาคือปลาไม่ค่อยมี น้ำไม่ท่วมหน้าฝน หลายปีมาแล้วน้ำกกไม่เอ่อท่วมหนอง หลง ปีไหนน้ำท่วมปลามันจะเข้ามาอยู่ในหลง ในหนอง ทำให้มีปลาเยอะ แต่ก่อนน้ำนองตั้งจ๋ำตามริมฝั่งน้ำล้นได้ปลาเยอะขนาด ปีนี้น้ำไม่ท่วม หนองไม่ค่อยมีปลา น่าจะเขื่อนจีนที่เขาปิดเปิดน้ำขึ้นๆลงๆนะแม่ว่า”

เพราะในทุกลุ่มน้ำมีวิถีชีวิต มีชุมชน และผู้คน เช่นเดียวกับแม่น้ำโขงในฝั่งไทย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จึงยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วมตัดสินใจ และมากไปกว่าโจทย์ของแหล่งทรัพยากรสำคัญในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศ แม่น้ำโขงสายน้ำนานาชาติ ยังสะท้อนการมีส่วนร่วมปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ชวนพูดคุย พี่โบว์ คุณศิริลดา ผิวหอม นักวิชาการสิทธิมนุษยชนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงแนวทางดำเนินการของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

This image has an empty alt attribute; its file name is 1727184238791.jpg

Q : แม่น้ำโขงเชื่อมหลายประเทศมากอย่างน้อยก็ 6 ประเทศ คําถามคือ เมื่่อรัฐชาติขีดเส้นไว้และว่าพรมแดนฉันพรมแดนเธอแต่ในความเป็นจริงของพื้นที่มีนเป็นทรัพยากรร่วมกัน หลักการสิทธิมนุษยชนจะเข้าไปช่วยอย่างไร ?

A : ในมุมของสิทธิมนุษยชน เรามองที่เรื่องของคนเป็นหลัก ดังนั้นไม่ว่าโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ทั้งที่เป็นโครงการของประเทศอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันมีผลกระทบกลับมาต่อผู้คน หรือวิถีชีวิตต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่สิทธิมนุษยชนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ในเรื่องนี้เอง คณะกรรมการสิทธิได้มีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอยู่หลายกรณี ที่เกี่ยวกับเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนไม่ว่าจะเป็นในกรณี บุคคลสัญชาติไทยไปลงทุนในต่างประเทศและเกิดการละเมิดสิทธิ์ หรือ โครงการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วมีผลกระทบเข้ามาที่ฝั่งไทยถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การดําเนินธุรกิจที่มีผลกระทบหรือการดําเนินการลงทุนของเอกชน ทางกรรมการสิทธิ์จะนําหลักการเรื่องอาหลักการของสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เราเรียกกันว่าหลัก United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights มาปรับใช้ในกระบวนการตรวจสอบ เป็นหลักที่มาจากพันธกรณีระหว่างประเทศ ดังนั้นอาจจะไม่ได้มองแค่เรื่องอาณาเขตแต่ถ้าคนของเราไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับโครงการที่อาจมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน กรรมการสิทธิก็จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้

Q : สมมุติขั้นตอนพอตรวจสอบพบว่าธุรกิจบางอย่างไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเอาเฉพาะธุรกิจของทุนไทยละกัน  หลักการขั้นตอนต่อไป จะมีการกํากับดูแลโทษหรือว่าต้องไปบอกอย่างไร ใครเป็นคนดูแล ?

A : ถ้ากําหนดโทษ อาจจะยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะหลักการยังเป็นในภาคสมัครใจ แต่จริงๆ แล้วกรรมการสิทธิก็นํามาขับเคลื่อน เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง รวมถึงรัฐบาลเองสามารถวางมาตรการในการที่จะไปกํากับการลงทุน เช่นเรามีความร่วมมือกับการดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้มีธรรมาภิบาล และมีการประเมิน นําหลักเรื่องการประเมินสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านไปปรับใช้กับการดําเนินธุรกิจให้มีธรรมาภิบาล

พูดกันอย่างง่าย ๆ ถ้าไม่ทําตาม เสียหน้าแน่นอนเพราะว่าหลักสากลเค้าให้ความสําคัญกับเรื่องนี้

บางกรณี มีบางกรณีที่บริษัทที่ถูกร้องเรียน ถ้าสมมุติว่าเป็นข่าวออกไป หรือทางกรรมการสิทธิชี้ว่ามีการละเมิดสิทธิ การไปลงทุนหรือการค้าในในต่างประเทศเขาให้ความสําคัญกับเรื่องนี้ ก็คงจะเป็นมาตรการทางสังคมทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง

Q : เหมือนการใช้สังคมโลกกดดันสังคมไทย ฟิลลิ่งมันประมาณนั้น ทีนี้ขั้นตอนตรงประชาชนทั่วไปหรือผู้ได้รับผลกระทบจะเข้าไปส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง

สามารยื่นเรื่องร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิ์ก็ได้ ในปัจจุบันเองรัฐบาลก็เริ่มให้ความสําคัญ มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับเรื่องธุรกิจ เป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติ อยู่ในระยะที่ 2 เราขับเคลื่อน มี 4 ประเด็นหลักด้วยกันซึ่งการลงทุนข้ามพรมแดนกับบรรษัทข้ามชาติ เป็นหนึ่งในประเด็นหลัก 4 ประเด็นหลักในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งกําลังพัฒนากลไกอาจจะมีช่องทางของการรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิเอง กระบวนการในการตรวจสอบของเรา เราเน้นเรื่องการที่จะให้ข้อมูลและการที่จะให้มีส่วนร่วมของประชาชนอยู่แล้ว อย่างเช่นเราจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปให้ข้อมูลประชาชนในระดับพื้นที่ กรรมการสิทธิก็จะพาหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้อง พบปะ พาไปพบประชาชน เค้าก็จะได้สื่อสารกันแล้วก็สร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สรุป คือ ตอนนี้กรรมการสิทธิ์เป็นกลไกกลาง ทุนสัญชาติไหนชาติ ก็ต้องไปกํากับดูแล

Q : ยกตัวอย่างกรณีที่ผลกระทบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแล้ว คือ กรณีเขื่อนปากแบง ให้ความเห็นในการลดผลกระทบแล้ว เข้าไปแก้มันยังไงเรื่องสิทธิมนุษยชน

A : เรื่องเขื่อนปากแบง กรรมการสิทธได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2559   ช่วงนั้น เป็นช่วงที่โครงการเพิ่งเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PMPCA ตามกรอบความตกลงของแม่น้ำโขง ในขณะนั้นเองกรรมการสิทธิ์ก็ได้มีข้อเสนอแนะไปที่รัฐบาล ว่าโครงการนี้ ถ้าถึงในขั้นตอนที่จะต้องมีการรับซื้อไฟ ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาให้รอบด้านแล้วก็นําหลักการเรื่อง United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights ไปปรับใช้เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

ซึ่งตอนนั้นเองเราเสนอแนะไปอย่างนั้นแต่ในที่สุดแล้ว โครงการก็มีการลงนามสัญญาซื้อไฟไปเมื่อเดือนกันยายน2566 แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลต่าง ๆ จากโครงการมันยังไม่ค่อยชัดเจนทางกรรมการสิทธิก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอีกครั้งหนึ่งเหมือนกัน มีการพิจารณาโดยเร่งด่วน ในที่สุดทางกรรมการสิทธิเองก็ได้มีหนังสือกราบเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ท่านทบทวนเรื่องการลงนามสัญญาเพราะเราเห็นว่าข้อมูลด้านต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน ประชาชนยังไม่รู้เลย ว่าโครงการนี้จะเกิดผลกระทบอย่างไร บ้างรัฐจะแก้ไขอย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทหนึ่งที่เราก็พยายามทําเร่งด่วน

นอกเหนือจากนั้น เราก็ได้รับเรื่องเรียนเขื่อนสารคามที่ยิ่งมีความน่าห่วงกังวลมากขึ้นอีก เพราะว่าอยู่ประชิดกับชายแดนไทยประมาณแค่ 2 กิโลเมตร ถ้าสร้างเขื่อนจริง ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนร่องน้ำลึกซึ่งเป็นแนวเขตในการปักเขตแดน เรื่องตลิ่งพัง เรื่องเกษตรริมโขง พื้นที่เกษตรริมโขงน่าจะหายไปเยอะพอสมควร ทางกสมก็เลยคิดว่า การที่จะเค้าจะผลิตไฟ ก็มีส่วนสําคัญกับนโยบายการรับซื้อไฟของไทยเองด้วย กสม.เลยมีแผนที่จะทําการไต่สวนสาธารณะเรื่องแผน PDP เพื่อที่จะหาคําตอบให้สังคมว่าจริง ๆ แล้ว  ปริมาณไฟสํารองของประเทศ ควรจะเป็นอย่างไร แล้วจําเป็นจริงหรือไม่ที่ไทย จะต้องรับซื้อไฟจากเขื่อนและแม่น้ำโขง

Q : ความสะอาดเขื่อนเป็นพลังงานสะอาดหรือเปล่า ในขณะที่มันกระทบต่อระบบนิเวศและละเมิดสิทธิมนุษยชน ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อต่ออุตสาหกรรมลักษณะนี้ พลังงานแบบนี้ ต้องมองอย่างไร ต้องทําอย่างไร แก้อะไร

A : ถ้ามองแค่ว่าตัวน้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิต ก็อาจจะมองว่าสะอาดจริง แต่ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ถูกนํามาประเมิน ในการที่เราตรวจสอบเราก็เห็น เพราะว่าหน่วยงานก็พยายามที่จะบอกว่า มันเป็นไฟที่จะรับซื้อพลังงานสะอาดแล้วก็ได้ในราคาถูก เราซื้อไปในราคาถูกก็จริง

ถ้าอนาคตมันเกิดผลกระทบ สิ่งที่รัฐต้องจ่ายเท่าไหร่งบประมาณในการฟื้นฟูไหนจะแทนทรัพยากรที่สูญเสียไป รายได้ของประชาชนที่หายไป สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ถูกนํามาคิด ถ้านํามาคิดต้นทุนแล้ว เราอาจจะจ่ายไฟแพงอย่างมากกว่าสิ่งที่เรารับทราบก็ได้

นี่เป็นเพียงบางเรื่องราวที่กำลังเผชิญกับชะตากรรมการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ในมิติชายแดน ระบบนิเวศ และชาวบ้านที่พึ่งพิงสายน้ำโขง รวมถึงข้อเสนอส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และแม่น้ำโขงสายน้ำนา ๆ ชาติ

ชวนคนริมโขงและคนที่สนใจประเด็น เติมข้อมูลและบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงหรือความพยายามในการดูแลน้ำโขง ผ่าน App C-SITE

This image has an empty alt attribute; its file name is 1727188338732-1024x467.jpg
https://www.csitereport.com/mekongriver

ขอบคุณ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต / สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ