แพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือกเป็นศาสตร์ในการดูแลสุขภาพที่อยู่คู่กับเรามายาวนานแล้วค่ะ อย่างช่วงโควิด19 ก็มีการนำสมุนไพรหลายมาใช้ดูแลสุขภาพและรักษาอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ในเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยก็สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศ และยังเป็นโอกาสในการก้าวสู่ Medical Hub และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่สถานการณ์ปัจจุบันของแพทย์แผนไทยยังไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมแพทย์แผนปัจจุบัน
ฟังเสียงประเทศไทยพาลงพื้นที่ไปที่จังหวัดเชียงใหม่หนึ่งในจังหวัดที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราอยู่กันที่ คลินิกแพทย์แผนไทยอบอุ่น โรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่นี่มีระบบจองบริการแพทย์แผนไทย บริการนวด ประคบสมุนไพร เพื่อการบำบัดรักษาโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ บริการตรวจรักษาทางการแพทย์แผนไทย เพื่อชวนไปฟังเสียงของหมอพื้นบ้าน บุคลากร และแพทย์แผนไทยว่าตอนนี้เขากำลังเผชิญอะไรอยู่
นายรักศักดิ์ อิทธิเดช ประธานการแพทย์แผนไทยล้านนา: มองว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่ในอนาคตอาจจะพัฒนาศักยภาพขึ้นมาเป็นการแพทย์ที่ควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันได้ มีชาวต่างชาติหลายคนที่ต้องการเลี่ยงยาเคมีหันมารับการรักษา มาเรียนรู้ องค์ความรู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยเราอย่างมากเลย ไม่เฉพาะมาเรียนนวด มีด้านสมุนไพร ด้านองค์ความรู้จากตำราปั๊บสา คัมภีร์โบราณเขาก็มาเอาของเราไป คิดว่าอนาคตจะทวีความสำคัญมากขึ้น
วาสนา เกิดงาม อุปนายกสมาคมแพทย์แผนไทยเชียงใหม่: เห็นด้วยกับการที่เปิดให้มีการคุยเรื่องแพทย์แผนไทย คิดว่าอนาคตจะต้อวพัฒนาก้าวหน้าไปกว่านี้ เราก็เป็นคนที่สอนชาวต่างชาติมาโดยตลอด ก็เลยได้มีโอกาสสอนสมุนไพรบางอย่างหรือการดูเรื่องอาการของโรค สื่อสารให้เขารู้ว่าคนไทยเรามียาสมุนไพรที่สามารถดูแลเขาได้ มีองค์ความรู้อยู่
พท.รัตนะ เสือศรี กรรมการสมาคมการแพทย์แผนไทย จ.เชียงใหม่: อนาคตที่จะเป็นไปได้คือการเอาศาสตร์ด้านแพทย์แผนไทยสู่กระบวนการดูแลรักษาตัวเอง โดยมีนโยบายให้กับผู้ที่เข้าสู่ขอบข่ายผู้สูงอายุนำสมุนไพร นำภูมิปัญญาของเรามารักษาตัวเราเองได้
สมพงศ์ เชิญวิริยะกุล ศาสนาจารย์สอนศาสนาและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณ: เล่าถึงร่างกายของมนุษย์ในเชิงการแพทย์แผนไทยว่าจะมี หนึ่งเชิงจิตวิญญาณ และสองคือร่างกานเนื้อที่เรารักษากันอยู่ ซึ่งฝ่ายจิตวิญญาณเป็นต้นเหตุการณ์เกิดโรคบางอย่าง เช่น ความเครียด ซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย เกิดจากจิตวิญญาณที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์ทรุดโทรมหรือมีปัญหาอย่างมาก ผมก็เป็นผู้ศึกษาชุดแรก ๆ เกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณที่จะมาสัมพันธ์กับฝ่ายร่างกาย และที่ผมศึกษาเรื่องการรักษาด้วยการตอกเส้นรักษาโรคปวดต่าง ๆ ร่างกายไม่สมดุลต่าง ๆ คิดว่าแพทย์แผนไทยในอนาคตมันจะยังทรงๆแบบปัจจุบัน เพราะว่าการที่จะเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย ทางสื่อต่าง ๆ ยังมีน้อย คนส่วนใหญ่ก็ยังรับทราบน้อย ซึ่งแพทย์แผนไทยมีความสำคัญกับระดับล่างมาก เพราะไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนมากไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ
ปิยะพงษ์ ลีลาวิเวศ โรงเรียนนวดไทยลีลาวดี : อยากให้ภาครัฐสนับสนุนแพทย์แผนไทย การดูแลสุขภาพแผนไทยด้วยการมีงบประมาณลงมามากขึ้น ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้ภาครัฐอาจจะช่วยน้อยไปนิดหนึ่ง มีเพียงโรงพยาบาลที่มีกำลังผลักดันวิชาชีพไปได้ เราจะเห็นว่าในแต่ละปีมีคนที่สอบผ่านแพทย์แผนไทยและมีใบประกอบวิชาชีพค่อนข้างเยอะ หรือไปอยู่ในคลินิก ถ้าเป็นไปได้อยากให้กระทรวงสาธารณสุขนำระบบประกันสังคมมาใช้ คือทุกวันนี้ถ้าเข้าโรงพยายาลข้าราชการเบิกได้ แต่ข้าราชการเป็นคนจำนวนน้อยมาก ถ้าประกันสังคมสามารถเบิกได้ผ่านทางคลินิก มันก็จะทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ต้องใช้จ่ายมากขึ้น แต่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้
รับฟังข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/thaithenorth/videos/1165705321056634
ชวนอ่านและร่วมโหวตภาพอนาคตเพิ่มเติม
ภาพอนาคตที่ 1 สังคมไม่รูู้จัก-ภาครัฐไม่ส่งเสริม
ภาพนี้คาดการณ์ว่าคนจะให้ความสนใจระบบการเเพทย์แผนไทย การเเพทย์ทางเลือกมากขึ้นเพราะมองว่าคือทางรอด และจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาโดยรวม ช่วยให้ผู้คนมีความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการทางการเเพทย์แผนไทย การเเพทย์ทางเลือก มากขึ้น แต่ยังเฉพาะกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งก่อให้เกิดการเเเข่งขันในการบริการโดยเฉพาะภาคเอกชนที่เห็นโอกาสหลายส่วนจึงพยายามปรับตัวให้เท่าทันกับการแข่งขัน ส่วนของภาครัฐเห็นโอกาสจากความนิยม แต่ภายใต้ข้อจำกัดของนโยบายที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่บ่อย งบประมาณ กฎระเบียบราชการ และบุคลากร จึงยังปรับตัวได้ช้า ไม่สามารถให้บริการ ได้ครอบคลุม ขณะที่การส่งเสริมเพิ่มทักษะหมอแผนไทยให้เป็นมืออาชีพเป็นไปได้ช้า ไม่ทันต่อความต้องการ และยังขาดเชื่อมโยงเครือข่ายแพทย์แผนไทยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน อย่างเป็นระบบ แต่ขณะที่ภาคการเกษตร ด้านสมุนไพรกลับเติบโตมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่มีสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปร ส่งผลต่อพืชสมุนไพร ที่มีผลผลิตไม่คงที่ |
ภาพอนาคตที่ 2.พึ่งพาตนเอง-ลดความเหลื่อมล้ำ
ภาพนี้ยึดโยงกับนโยบายใหญ่ ของระบบสาธารณะสุข ที่การเเพทย์แผนไทย การเเพทย์ทางเลือกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือการกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์สู่ท้องถิ่นและเขตสุขภาพ ส่งผลให้สิ่งสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบการหนุนเสริม สามารถส่งต่อเข้าถึงทุกชุมชนได้มากขึ้น จึงหนุนนำให้คนในท้องถิ่นช่วยกันลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการระบบการเเพทย์แผนไทย การเเพทย์ทางเลือกมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพประชาชนอย่างง่าย ไม่เป็นเพียงแค่แพทย์ทางเลือก แต่จะเป็นแพทย์ทางหลักที่คนไทยใช้รักษาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ภาครัฐมุ่งเน้นการเสริมระบบภูมิคุ้มกัน การป้องกันมากกว่าปล่อยไปสู่ ระบบการรักษา ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเลือกและเข้าถึงได้ ภาคการเกษตร ด้านสมุนไพรกลับเติบโตมีรายได้เพิ่มขึ้น สมุนไพรไทย และการแพทย์แผนไทย มีชื่อเสียงและขยายการยอมรับเป็นวงกว้าง มีการผลักดันให้สมุนไพรไทยและแพทย์แผนไทยทั้งระบบเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในแถบประเทศสมาชิกอาเซียน มีการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยตามหลักภูมิปัญญาไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล แต่การผลิตบุคคลากรอาจจะไม่ทันต่อความต้องการ |
ภาพอนาคตที่ 3.สร้างนวัตกรรม-นำเงินตราเข้าประเทศ
ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากมาเป็นลำดับต้นๆ ทุกคนมีความเข้าใจพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย สามารถเลือกการรักษา โดยการเเพทย์แผนไทย การเเพทย์ทางเลือก โดยมีการสร้างระบบดูแลรักาษที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ไปจนถึงการรักษาฟื้นฟู ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะภาครัฐมีการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะในแง่บุคลากร งบประมาณ ที่สอดคล้อง มีแนวทางเพิ่มทักษะหมอแผนไทยให้เป็นมืออาชีพด้วยการอบรม, การฝึกทักษะอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงเครือข่ายแพทย์แผนไทยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน มีการส่งเสริมให้เกิดคุณภาพและการเลือกใช้ตำรับยาไทย ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่มีสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปร ส่งผลต่อพืชสมุนไพร ที่มีผลผลิตไม่คงที่ มีส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยตามหลักภูมิปัญญาไทย ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล โดยมียุทธศาสตร์ จัดการรวบรวมองค์ความรู้จากศาสตร์แพทย์แผนไทยที่กระจัดกระจาย ทั้งแพทย์พื้นบ้าน โรงพยาบาล คลินิก หรือ สภาบัน และอื่นๆ นำมาวิเคราะห์แยกจัดหมวดหมู่ จัดตั้งสถาบันเพื่อให้มีการถ่ายทอด สืบทอด องค์ความรู้หมอพื้นบ้านอย่างเป็นระบบทำการประเมินหมอพื้นบ้าน เป็น แพทย์พื้นบ้านตามข้อบังคับ |