ประเทศไทยประสบปัญหามลพิษสาธารณะที่รุนแรงเรื่อยมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มลพิษทางอากาศ หรือการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การปนเปื้อนสารหนูในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติจากเหมืองดีบุกและวุลแฟรม ที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือการปนเปื้อนแคดเมียม จากเหมืองแร่สังกะสี ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมถึงการรั่วไหลของตะกั่วสู่ลำห้วยคลิตี้ หรือความเสื่อมโทรมทางนิเวศวิทยาอื่น ๆ ที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยง และรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง เยียวยา ชดเชย รักษา และติดตาม หรือใช้ต้นทุนทางสังคมอื่น ๆ ในการฟื้นฟู
การฟื้นฟู ระบบนิเวศ -สังคม-สุขภาพ ระดับชุมชนท้องถิ่น และระดับชาติ
แนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาสังคม (Social Ecological Systems Restoration-SOER) อธิบายความจำเป็นของการฟื้นคืนระบบนิเวศทีเสื่อมโทรม ทั้งจากการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติ ซึ่งจะเห็นว่าความสัมพันธ์ของระบบสังคมและระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคน จนต้องฟื้นฟูทั้งสังคมและระบบนิเวศขึ้นมา โดยใช้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) เทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงระบบนิเวศพร้อมกับปฏิบัติการทางสังคมที่จะสร้างคุณค่าร่วมกันในการปรับปรุงความเสียหายให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ขณะที่มิติทางนิเวศสุขภาวะ (Eco-Health) จะเห็นว่าระบบนิเวศที่ดีเอื้อต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ จึงต้องฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อป้องกันความสูญเสีย ความตาย ความทุกข์ทรมาน ซึ่งการรักษาสุขภาพของระบบนิเวศคือกุญแจสำคัญในความยั่งยืนของชีวิต
คุณเล่าเราขยาย โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนสนทนากับ คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และ คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เพื่อขยายถึงแนวคิดแบบ Restorative Culture ว่าคืออะไร และเราจะมีวิธีการปฏิบัติแบบไหนเพื่อพาสังคมไทยให้ก้าวไปสู่การฟื้นฟู ระบบนิเวศ สังคม สุขภาพ อย่างจริงจัง หลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหามลพิษสาธารณะที่รุนแรงเรื่อยมา
Restorative Culture อะไร
วัฒนธรรมการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ หรือ Restorative Culture แนวคิดเหล่านี้ในปัจจุบันถูกขยายการปฏิบัติไปทั่วโลก เพราะวิกฤตทางนิเวศและสังคม ที่มนุษย์เผชิญอยู่ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติมลพิษ ฯลฯ จึงจำต้องมีปฏิบัติการฟื้นฟูระบบนิเวศ (Ecosystem Restoration) เพื่อหยุดความเสียหาย และมุ่งให้เกิดวัฒนธรรมการฟื้นฟู (Restorative Culture) ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับสากล ซึ่ง บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ได้อธิบายถึงแนวคิดนี้ว่า
“กรอบคิดสากลเรื่องการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ ของสมาคมสากลว่าด้วยการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ เขาบอกว่าการฟื้นฟูนั้นมันต้องอยู่ที่การลดผลกระทบก่อน จริง ๆ แล้วในวัฒนธรรมการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ หรือ restorative culture ทุก ๆ การบริโภคของเรา ทุก ๆ การดำเนินธุรกิจของเรา ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและป้องกันไม่ให้เกิด
ถ้ามันเกิดแล้วต้องลดผลกระทบของมัน แล้วก็กำจัดผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะเยียวยาความเสียหาย หยุดกระจายมลพิษ ฟื้นฟูสภาพให้มันกลับคืนมาให้มันเป็นนิเวศ และคืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิมได้ ก็คือการทำธุรกิจหรือดำเนินชีวิตเพื่อที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจริง ๆ หลักการสากลก็คือ ถ้าคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนประกอบกิจการได้ อันนี้มันคือความหมายของการลดการฟื้น หรือไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูด้วยซ้ำ”
เมื่อโลกเราต้องก้าวสู่ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ
“UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030” หรือทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ ค.ศ. 2021 – 2030 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่โลกของเราต้องการการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียหายมากที่สุด ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการคุกคามจากการดำรงชีวิตของมนุษย์
“จริง ๆ แล้ว ทุก ๆ การบริโภคของเราก็คือการทำลายอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกิจการเมืองแร่เป็นต้น มันเห็นชัดเจนเลยว่าเราต้องขุดที่ดินหายไป เสียภูเขาเป็นลูก ๆ เพื่อให้ได้ทองคำซัก 5 กรัม 10 กรัม เพราะฉะนั้นการฟื้นคืนมันก็เลยยิ่งยากยิ่งซับซ้อน มันมีทั้งมิติเรื่องผลกระทบทางมลพิษ และผู้คนที่อยู่ในนิเวศนั้น ๆ
ซึ่งแนวคิดการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาสังคมมันเป็น Framework สากลที่เขายอมรับทั่วโลก ซึ่งทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศตามที่ UN ได้ประกาศไว้ ก็เลยเป็นมิติใหม่ของโลกในยุคหน้าว่า การทำอะไรก็แล้วแต่จะทำยังไงเพื่อให้ผลคืนมาต่อธรรมชาติในเชิงบวก ก็เลยกลายเป็นแนวคิดหลักของการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนในทศวรรษต่อไป เพราะเราจะอยู่ในอากาศที่มันเป็นพิษ ในน้ำที่มันปนเปื้อน ในแผ่นดินที่มันปนเปื้อนมลพิษ ต่อไปไม่ได้” บำเพ็ญ ไชยรักษ์
EIA การประกอบกิจการในไทยเพียงพอหรือไม่ ในทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ
ในยุคที่ทุกคนให้ความสำคัญการการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประบกอบกิจการต่าง ๆ ในไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ มนุษย์ สังคม จะต้องมีการทำ EIA ขณะเดียวกันก็เป็นคำถามใหญ่ว่ากับแนวทางการทำ EIA ในไทยนั้น สอดรับกับสถานการณ์การฟื้นฟูสังคและระบบนิเวศหรือไม่ ซึ่ง คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเสริมแนวคิดของทศวรรษแห่งการพื้นฟู และกรอบคิดสากลในการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ กับแนวทางการทำ EIA ในการประกอบกิจการต่าง ๆ ในอนาคตว่า
“จริง ๆ กรอบคิดสากลในการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ มันควรเข้าไปอยู่ในธรรมาภิบาลของการประกอบธุรกิจเลย ณ ปัจจุบันนี้เรากำลังใช้แผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระยะที่ 2 แล้ว เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 พอถึงที่สุด การประกอบธุรกิจมันจะต้องไปด้วยกันกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่สำคัญที่เราเห็นจากประเด็นเรื่องเหมือง ก็คือว่า เวลาเราคิดเรื่องเหมือง มันก็ต้องทำ EIA ซึ่งเราไปพึ่งพิงกับ EIA ไว้เยอะมาก โดยการไปมองว่า EIA จะเป็นเหมือนตายามสำหรับเรา ในการที่จะมองว่า ถ้าโครงการไหนมี EIA แล้วก็ผ่าน แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่
ซึ่งการมี EIA ดี แต่ปัญหาก็คือว่า EIA ณ ปัจจุบันมันสอดรับกับสถานการณ์ไหม และเรื่องการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศ restorative culture การฟื้นฟูแบบนี้มันเคยถูกเอาไปใช้ในการพิจารณาเรื่อง EIA หรือป่าว ก็จะกลับไปสู่การมองที่ระบบว่า แล้วระบบ EIA จริง ๆ ของเรา มันควรที่จะเป็นระบบแบบไหน EAI ในไทย มีหลักการฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศเข้าไปในการบวนการไหม”
“EIA ศึกษาผลกระทบเหมืองแร่ ก็จะมีส่วนหนึ่งที่ต้องบอกว่าคุณจะฟื้นฟูอย่างไร แต่ถ้าเราลองมองการทำเหมืองแร่ มันไม่ได้กระทบเฉพาะแค่ในเขตเหมือง มันขยายผลกระทบในระบบนิเวศ ในคนที่มีความสัมพันธ์กับภูเขา แม่น้ำ และอะไรอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรายังไม่เห็นในมิติการฟื้นฟูก็คือ มิติการฟื้นฟูมุมกว้าง อันนี้คือคุณพยายามแค่จะไม่ให้ผลกระทบมันกระจายไป คืออยู่แค่ขั้นแรกมาก ๆ เลยใน EIA ของสังคมไทย
แต่ว่าถ้าเราไปมองที่ยุทธศาสตร์แร่ เขาจะมีนโยบายแร่ มียุทธศาสตร์การทำเหมืองแร่ เขาจะมียุทธศาสตร์อยู่ 3-4 อย่าง แต่ในนั้นไม่มียุทธศาสตร์การฟื้นฟู ถ้าคุณคิดจะพัฒนาอุตสาหกรรมเมืองแร่ในประเทศไทยให้เป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อการพัฒนาประเทศแล้วนั้น ถ้าไม่คิดถึงมติการฟื้นฟูเลยก็นับว่าล้มเหลวตั้งแต่การกำหนดนโยบาย คือมันไม่สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติได้
การดำเนินธุรกิจที่ทำลายล้างอย่างเดียวนั้น มันหมดยุคสมัยแล้ว เพราะฉะนั้นยุคสมัยต่อไปที่เราจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ผู้คนยอมรับการทำลายธรรมชาติไม่ได้นั้น ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสังคมและระบบนิเวศควรเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์เหมืองแร่ด้วย ซึ่งอันนี้ยกตัวอย่างเป็นกรณีเหมืองแร่โดยเฉพาะ
แต่ในยุทธศาสตร์เมืองแร่ของไทยทั้งหมดยังไม่มี เรายังไม่เห็น ซึ่งยุทธศาสตร์เหมืองแร่ จะมีการแก้ไขทุก ๆ ปี เราหวังว่าใน 5 ปีข้างหน้าเขาจะใส่ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูระบบนิเวศและสังคมเข้าไป” บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กล่าวเสริม
กิจการเหมืองแร่ในไทย มีแค่กฎหมายแร่ และกองทุนฟื้นฟูเยียวยา เพียงพอไหม?
“แผนแม่บทที่จะต้องมีการกำหนดพื้นที่เหมืองนั้น ยังไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปอยู่ในนั้นเลย เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไป เพื่อที่จะบอกว่าปัจจุบันนี้พื้นที่เหมืองมันควรที่จะเป็นแบบไหน ซึ่งมี wording keyword ของกฎหมายแร่ เช่น ถ้าเป็นแหล่งน้ำซับซึม จะไม่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งแร่
แต่ปัจจุบันนี้คำขอประทานบัตรทุกคำขอทับแหล่งน้ำซับซึมหมดเลย และพอพูดถึงเรื่อง EIA ปัญหาคือ EIA ในปัจจุบันนี้ มันยังไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคมและมนุษย์ เพราะคำนึงแค่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมและมนุษย์มันคืออะไร การฟื้นฟูเยียวยามันจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากเรามีการป้องกันมันย่อมดีกว่าการแก้ไข ป้องกันดีกว่าฟื้นฟู
เราจะทำอย่างไรให้มันมีบรรทัดฐานก่อนที่จะมีการอนุมัติหรืออนุญาต ต้องมีการสำรวจค่ามาตรฐานของพื้นที่นั้นก่อน มันจะได้ไม่ต้องมาเถียงกันว่าสิ่งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่ ณ ปัจจุบันมันเกิดจากธรรมชาติหรือเกิดจากการที่เหมืองเข้าไปประกอบกิจการ” ส.รัตนมณี พลกล้า
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
หากจะมีโครงการใด ๆ เกิดขึ้น การตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ อย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อฐานทรัพยากร เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ใช้สรรพกำลัง เวลา น้อยกว่าการฟื้นฟูหลังเกิดผลกระทบ การรับฟังและคุยกันบนฐานข้อมูล มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคนในสังคม ซึ่ง บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ได้เสนอแนวทางและสิ่งที่ควรทบทวนก่อนจะมีการประกอบกิจการ หรือธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพของมนุษย์ เพื่อส่งไปยังผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ว่า
“ขอเสนอแนะให้นำหลักคิดสากลอย่างที่บอก un decade on ecosystem restoration หรือ ทศวรรษแห่งการฟื้นฟู เข้าไปรวมอยู่ในนโยบายที่ท่านจะดำเนินการ หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่จะเข้าไปดำเนินการ เพราะฉะนั้นจะต้องไม่คิดแค่การลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องคิดไปถึงว่าหลังลงทุนคุณจะทำอะไร หลังแผ่นดินที่ปนเปื้อนจากการทำเหมืองแล้วคุณจะทำอะไร คุณจะทำวิธีการไหนเพื่อให้ธรรมชาติผู้คนกลับคืนมาสุขภาพดี ทั้งธรรมชาติและผู้คน ขอเสนอให้ Framework สากลนี้เข้าไปอยู่ในการกำหนดนโยบาย”
การพัฒนามีความจำเป็น แต่ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม
“ต้องบอกว่าเราไม่ต่อต้านการพัฒนา เพราะการพัฒนามีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตแล้วก็เศรษฐกิจสังคม และการมีอยู่ของประชาชน แต่การพัฒนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการรับฟังความคิดเห็น มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ต้องรับฟังเขาก่อนว่าเขาเจอปัญหาอะไร โดยเฉพาะพื้นที่ไหนที่มีการคัดค้านกันอยู่อย่าพึ่งไปบอกว่าต้องทำแล้วทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านยังค้านอยู่ ต้องรอ ต้องฟัง และก็จริง ๆ รวมถึงข้อมูลอย่างรอบด้านที่ต้องฟัง มันไม่ช้าเกินไปหรอกค่ะ สำหรับการพัฒนา ถ้าหากการพัฒนานั้น อยู่ภายใต้การยอมรับภายใต้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และที่สำคัญก็คือประเทศนั้น ได้มีการพัฒนาถึงขั้นรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เอาหลักการเหล่านั้นมาใช้ หลักการเรื่องของการปกป้อง เคารพ เยียวยา
ที่สำคัญที่สุด คือรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้อง และทำให้เกิดการเคารพ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐคงจะต้องกลับไปทบทวนใหม่ ชะลออะไรที่กำลังจะประกาศหรือกำลังจะอนุมัติ อนุญาต แล้วหันมาฟังเสียงประชาชน เพราะตอนนี้ GDP มันอาจจะไม่ได้สำคัญแล้ว มันเป็นเรื่องความสุขของประชาชนมากกว่าที่สำคัญ เพราะฉะนั้นหากรัฐจะสร้างการพัฒนาก็ต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง” ส.รัตนมณี พลกล้า กล่าว
การพัฒนาที่เป็นธรรม ควรจะมีภาพเป็นแบบไหน
“การพัฒนาที่เป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะเป็นธรรมต่อคนในชุมชนเท่านั้น แต่ต้องเป็นทำต่อธรรมชาติด้วย ถ้าเราคิดถึงภาวะที่ธรรมชาติมันถูกเบียดเบียนเต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่สัมพันธ์อยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายในแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ มักจะถูกกด ถูกทับ ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในสังคมเรา เพราะฉะนั้นต้องคืนความเป็นธรรมทางสังคมและระบบนิเวศ และก็ต้องฟื้นคืนกลับไปที่ธรรมชาติด้วยมันหมดยุคที่จะทำลายล้างแล้ว” บำเพ็ญ ไชยรักษ์
นอกจากนี้ ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ยังกล่าวเสริมถึงแนวคิดการพัฒนาอย่างเป็นธรรมว่า
“จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนนี้มันมีเทรน Environment Justice and Human right มันคือความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรื่องกระบวนการยุติธรรม มันคือความเป็นธรรมในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร ที่มีมนุษย์ มีระบบนิเวศ แล้วก็มีสังคมอยู่ด้วยกัน ที่จะทำอย่างไรให้ทุกคนให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราคงจะต้องมาช่วยกัน แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือนโยบายรัฐบาล ต้องเป็นนโยบายรัฐบาล ที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และที่สำคัญก็คือตอนนี้สิ่งแวดล้อมก็เป็นสิทธิมนุษยชน”
ท่ามกลางโจทย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องมีความเป็นธรรมในทุกมิติ และที่สำคัญต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเวลามีโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ผู้คนในสังคมก็จะมีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและกลุ่มที่เห็นด้วย ซึ่งโจทย์คือการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านให้เห็นตรงกัน และอาศัยทิศทางนโยบายของภาครัฐที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วน และหากเรารับฟังกันมากขึ้น อาจจจะทำให้การเดินหน้าของโครงการขนาดใหญ่หลังจากนี้ลดผลกระทบได้