สะป๊ะผีตี้ล้านนา

สะป๊ะผีตี้ล้านนา

ภาพ ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal

หากพูดถึง #ฮาโลวีน เทศกาลเกี่ยวกับผี ๆ ของต่างชาติประเทศทางฝั่งตะวันตก แต่ภาคเหนือของไทยเราก็มีวันปล่อยผีคล้าย ๆ กัน ซึ่งในภาคเหนือก็มีวัน #ฮาโลวีนล้านนา คือ สิบสองเป็ง วันปล่อยผี ฮาโลวีนล้านนา เป็นประเพณีล้านนาที่มีความเชื่อเกี่ยวกับความตาย ชีวิตหลังความตาย และความเชื่อว่าวิญญาณสามารถกลับมายังโลกมนุษย์ของไทยเรา

ประเพณีเดือนสิบสองเป็ง” แม้จะผ่านมาเมื่อเดือนที่ผ่านมาแล้ว แต่สิบสองเป็ง หรือประเพณีเดือน 12 เป็ง คือการทำบุญในวันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวไทยล้านนา หากจะนับเดือนแบบภาคกลางก็ตรงกับเดือนสิบเพ็ญ หรือเดือนสิบ ขึ้น 15 ค่ำ คนล้านนาเชื่อว่าวันนี้เป็นวันที่ยมบาล ปล่อยเปรต ปล่อยผี ออกจากนรก ที่ไม่เคยได้รับส่วนบุญกุศุลก็จะมารับได้ในวันนี้ ซึ่งประเพณีนี้ชาวไทยโดยทั่วไปเรียกว่า ประเพณีสารท ชาวไทยทุกภาค ก็มีประเพณีทำบุญอุทิศให้กับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับในลักษณะนี้เหมือนกันแต่อาจจะเรียกชื่อต่างกัน เช่น ภาคใต้ชื่อประเพณีชิงเปรต ภาคอีสานชื่อประเพณีบุญข้าวประดับดิน

ผีล้านนา

วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีตนั้น เกิดจากการผสมผสานของความเชื่อที่มาจากแหล่งความเชื่อใหญ่ ๆ 2 แหล่ง คือความเชื่อเรื่องผีแบบดั้งเดิม กับความเชื่อเรื่องบุญกรรมของพระพุทธศาสนา

แต่เดิม ศาสนาและความเชื่อของชาวล้านนานั้นมีพื้นฐานของความเป็น ‘พุทธ’ และ ‘ผี’ ผสมผสานกันอยู่ เกิดเป็นรูปแบบของวัฒนธรรมที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ซึ่งเรื่องผีของชาวล้านนานั้นไม่ใช่เรื่องราวของการหลอกหลอนหรือมีแรงอาฆาตติดตามหมายเอาชีวิตผู้คน แต่เป็นเหมือนสิ่งเหนือธรรมชาติที่คอยคุ้มครองดูแลผู้คนในสังคมให้ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ

ความเชื่อเรื่องผีมีมาก่อนฝังแน่นมานาน จนแม้เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาความเชื่อแบบพุทธก็ไม่อาจกลืนความเชื่อเรื่องผีได้โดยสิ้นเชิง เกิดการผสมผสานกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิต เรียกกันว่าวิถีล้านนา

ข้อมูลจาก มช.ทูเดย์ ปั๊ดเมือง เรื่องล้านนา | เรื่อง ‘ผี’ ของชาวล้านนา พูดถึงความหมาย ‘ผี’ ในความเชื่อของชาวล้านนา ที่มาที่ไปอย่างไร และมีผลต่อวิถีชีวิตอย่างไรบ้าง คุยกับ อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ

ผีบ้านล้านนา ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นเพราะไม่ได้ออกมาแลบลิ้นปลิ้นตา ส่วนใหญ่เป็นผีเข้าสิง ในพื้นที่ห่างไกลของล้านนารากลึกของความเชื่อเรื่องผียังคงฝังแน่น ผีคือความกลัว ผีคือสภาพหรือปรากฏการณ์ที่เราอธิบายไม่ได้ ผีคืออำนาจเหนือเรา ทั้งนี้ในอดีตเรื่องผีมีคุณประโยชน์อย่างมากในท้องถิ่นและชุมชน เพราะมีส่วนขัดเกลาให้ผู้คนอยู่กันอย่างมีขนบธรรมเนียม ศีลธรรม ความเชื่อเรื่องผีต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระเสียทีเดียว ‘สรรพผี’ ตามความเชื่อของคนล้านนาจึงมีมากมาย เช่น ผีสือ ผีโพรง ผีกะ ผีพราย

◆ ผีสือ ◆

ในแง่ของการออกหากินตอนกลางคืน แต่ไม่ได้ถอดหัวออกไปเห็นตับไตใส้พุง และผีสือในภาคเหนือเป็นผู้ชาย สะพายดาบด้วย ตามตำนานที่เล่ามาเป็นผู้ชาย

สมัยเด็ก ผีโพง ตามคำบอกเล่าเป็นผีที่น่ากลัวที่สุด ผีโพงออกหากินกลางทุ่งนาไปกินเมือกกบ เขียด มีแสงเหมือนกระสือ ข้อสังเกตุสมัยก่อนคือ คนไหนจมูกแดงเป็นผีโพรงแน่นอน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง พี่โพงถ้าเข้าสิงคนไม่ได้จะไปเข้าสิงแมว

◆ ผีโพง ◆

เป็นผีชนิดหนึ่งที่แฝงอยู่กับคน ชอบกินของคาวโดยเฉพาะของคาวที่เป็นเมือกคาวจากตัวเขียด จึงออกหากินตามทุ่งนาในยามค่ำคืน เวลาออกหากินจะมีแสงไฟออกจากปลายจมูกเป็นแสงสีขาวปนเขียววูบวาบสำหรับส่องสว่างหาเหยื่อ

คนที่ถูกผีโพงแฝงอยู่ จะถูกเรียกว่าเป็น ‘ผีโพง’ สาเหตุของการเป็นผีโพงมีอยู่ลายกระแสบ้างว่าสืบมาจากตระกูลของบรรพบุรุษ บ้างว่าเป็นเพราะรับของจากผีโพงและบ้างก็ว่าเป็นเพราะผลกรรมจากชาติปางก่อน

◆ ผีกะ ◆

แต่เดิมคนที่เริ่มนำมาเผยแพร่ คือพวกลิเก หรือพวกนักดนตรี ที่แสดงการละเล่น เรียกว่าผีกะพระ-นาง ผีกะชนิดนี้มีลักษณะคล้ายวอกหรือค่าง ตัวเล็ก ๆ สองตัว มักจะนั่งบนบ่าคนเลี้ยง ผีกะชนิดนี้มีคุณประโยชน์ตรงที่ หากใครเลี้ยงไว้ไม่ว่านักแสดงจะขี้เหร่แค่ไหน พอตกกลางคืนมันจะเลียหน้า ทำให้ยิ่งดึกยิ่งงดงาม การเลี้ยงผีกะจึงเป็นแฟชั่นของนักแสดงทางภาคเหนือในช่วงหนึ่งและเริ่มแพร่หลายสู่ภาคเหนือในจังหวัดต่าง ๆ จนกระทั่งแยกเป็นหลายชนิด ผีกะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ หากใครเลี้ยงไม่ดี ปล่อยให้ผีกะอด ๆ อยาก ๆ มันก็จะทำให้เจ้าของกลายสภาพเป็นกึ่งคนกึ่งภูติ ชอบสิงสู่ชาวบ้านกินตับไตไส้พุง ต้องหาหมอผีมาไล่ออกไปเป็นประจำ

ผีกะมีสัตว์พาหนะคือนกเค้าแมวเรียก ‘นกเก๊าผีกะ’ เมื่อได้เห็นนกชนิดนี้ที่ไหนใกล้ ๆ บริเวณนั้นจะต้องมีผีกะ หนุ่ม ๆ เวลาไปแอ่วสาวบ้านใดตามประเพณีแอ่วสาวยามค่ำคืน ก่อนจะขึ้นเรือนหรือตอนขากลับ มีเสียงนกเค้าแมวร้องส่ง สาวบ้านนั้นชวนสงสัยว่าเป็นผีกะ

เรื่องราวของผีกะมีเรื่องเล่าขานมากมาย ผิดแผกแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น แต่เมื่อประมวลจากการรวบรวมและเปรียบเทียบจะมีเรื่องราวหลัก ๆ ที่คล้ายคลึงกันทั้งที่มีลักษณะ การเลี้ยงดู การสืบทอด สัตว์ที่เกี่ยวข้อง การเข้าสิงและขับไล่ เป็นต้น 

◆ ผีต๋าวอด ◆

หรือบางท้องถิ่นเรียก ‘ผีบ้าตาวอด’ คำเรียกทั้งสองอาจตีความได้สองความหมาย กล่าวคือ ผีตาวอดตามความเชื่อดั้งเดิมคือคนที่ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นครึ่งครึ่งผีหรืออมนุษย์จำพวกยักษ์ อวัยวะสวนที่เป็นตาของมันนั้นดูแล้วอาจเห็นว่าตาบอด แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถมองเห็นได้ดี มิได้ตาบอดแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่มีแววตาอันเป็นคุณสมบัติของอมนุษย์จำพวกยักษ์ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปและผีตาวอดนี้ จะมีถุงหรือย่ามขนาดใหญ่เท่ากระสอบข้าวสารประจำกายอยู่เสมอ

ผีตาวอด เด็ก ๆ มักจะกลัวกันมากมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่าผีตาวอดชอบลักพาเอาเด็กที่มักเล่นอยู่ตามลำพัง ฤดูกาลที่ผีตาวอดชอบลักพาเด็กมากที่สุดคือในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ดอกทองกวาวและดอกงิ้วบานสะพรั่งอวดสีส้มสดและสีแดงเพลิงที่ร่วงหล่นอยู่ตามทุ่งนาหรือไร่สวนที่ไร้ผู้คนสัญจร อันเป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักออกไปเล่นในที่ไกลตา เชื่อกันว่าผีตาวอดมักจะถือโอกาสแอบมาลักพาเด็กโดยการจับเด็กมัดเท้าใส่ถุงแล้วแบกขึ้นบ่าไป

◆ ผีสองนาง ◆

เป็นอมนุษย์ประเภทรุกขเทวดาหรือนางไม้ มีวิมานทิพย์สำหรับสถิตบนต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีลักษณะแตกกิ่งออกกลายเป็นสองลำต้นใหญ่คู่แฝดกันขึ้นจากพื้นดิน และที่สำคัญจะต้องเป็นต้นไม้ที่ขึ้นเฉพาะบริเวณหรือมีลักษณะเฉพาะ

ในลักษณะของผีสองนาง กล่าวกันว่าเป็นเด็กสาวสองคนมีผมยาวประบ่า รูปร่างสวยงามมาก หากมีชายหนุ่มรูปงามเดินผ่านบริเวณที่นางสิงสถิตและเป็นที่พึงพอใจของนางทั้งสอง ก็จะปรากฏกายให้เห็น โดยเฉพาะในคืนวันขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ เมื่อปรากฏกายแล้วจะสะกดให้ชายหนุ่มลุ่มหลงอยู่ในอำนาจ ด้วยปรารถนาเอาเป็นสามี ชายใดขาดสติเข้าร่วมอภิรมย์เสพสมอยู่กับนางจะได้รับการบำรุงบำเรอเอาอกเอาใจทำให้เกิดความลุ่มหลงจนลืมทุกอย่าง ทุกเวลาจะนอนนั่งเพ้อคลั่งอยู่บริเวณโคนต้นไม้นั้นรอวันที่จะมีคนมาพบและพากลับบ้าน หากไม่มีคนพบเห็น ชายโชคร้ายจะสิ้นใจตายด้วยผ่ายผอมและอ่อนเพลียในที่สุด 

◆ ผีม้าบ้อง ◆

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบทอดกันมาว่า มีผีชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นคนลำตัวเป็นม้าเรียกขานกันว่า ‘ผีม้าบ้อง’ ผีชนิดนี้ชอบออกหากินในเวลากลางคืนโดยออกขโมยกินไข่ไก่ ไข่เป็ดของชาวบ้าน บางทีก็หากินซากสัตว์ตามทุ่งนา ซากสัตว์ที่ชอบมักเป็นซากสัตว์แห้ง และเป็นซากที่มีกลิ่นสาบสาง เวลาหากินบางครั้งแปลงกายเป็นม้าขาวบ้าง ม้าดำบ้าง และมีบางครั้งจะมีนัยน์ตาลุกเป็นไฟ โดยเฉพาะเวลาโกรธเมื่อมีคนไปพบเห็นพฤติกรรมเข้า ดังนั้นใครก็ตามไปพบผีม้าบ้องจะถูกไล่ทำร้าย หากไล่ทันมันจะทำร้ายทั้งโขกและกัด คืนไหนถ้าได้ยินเสียงม้าร้อง ม้าวิ่ง คนโบราณจะไม่ลงจากเรือนไปไหน

ความจริงแล้วกล่าวกันว่า ผีม้าบ้องเป็นคนธรรมดานี่เองแต่ถูกวิญญาณม้าเข้าสิ่งในเวลากลางคืน โดยปรกติคนที่ถูกสิงก็มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป เมื่อออกหากินกลางคืนจึงแปลงเป็นม้า ใกล้สว่างก็กลายร่างเป็นคนกลับไปนอนที่บ้าน และเชื่อว่าหากกลับบันไดบ้านจากด้านบนเป็นด้านล่าง คนที่เป็นผีม้าบ้องจะขึ้นบ้านไม่ได้และจะต้องตายเมื่อฟ้าสาง

อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ กล่าวถึงผีอีกประเภทหนึ่งที่คนภาคเหนือนับถือ เช่น

◆ ผีบ้านผีเมือง ◆

เป็นผีบรรพบุรุษเนื่องจากชาวล้านนา ในทุกวันนี้สืบทอดมาจากบรรพชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ดังนั้นจึงมีผีที่มีชื่อเรียก และประเพณีพิธีกรรมที่อยู่ในประเภทผีบรรพบุรุษอยู่หลายกลุ่ม แต่โดยทั่วไปแล้วชาวล้านนาจะรู้จักและยอมรับว่าบรรพบุรุษของตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจาก ปู่แสนย่าแสนไส้ หรือบางทีก็เรียก ปู่แถนย่าแถน ทั้งนี้ในโลกทัศน์ของชาวล้านนาเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนนับตั้งแต่ปู่แถนย่าแถนเป็นต้นมาจนถึง ปู่ ย่า ตา ทวด หรือบิดามารดาของตนนั้น เวลาตายไปแล้วก็ตายไปเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนดวงวิญญาณอันเป็นหลักใหญ่ของชีวิตนั้นมิได้หายสาบสูญไปไหน หากแต่มีความอาลัยอาวรณ์ผูกพันอยู่กับพวกเขาตลอดไป คอยติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลูกหลาน สิงสถิตอยู่บริเวณที่ที่ลูกหลานอาศัยอยู่ เช่นอยู่ตามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ วิญญาณบรรพบุรุษเหล่านี้แสดงบทบาทในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รักษาปกป้องคุ้มครองลูกหลานภายในครอบครัวและภายในชุมชน คอยสอดส่องความเป็นอยู่และควบคุมความประพฤติของลูกหลานอีกด้วย ผีบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับชาวล้านนาในทุกวันนี้จะมีชื่อเรียกและระดับของการควบคุมดูแลลูกหลานอยู่ในสังคมหลายอย่าง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการเป็นผีบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่แตกต่างกันทางเชื้อสายเผ่าพันธุ์ดังที่กล่าวมาแล้ว

หากแยกกล่าวในรายละเอียดของผีต่างๆที่จัดอยู่ในกลุ่มผีบรรพบุรุษที่อยู่ในสังคมของชาวล้านนาตามอื่น ๆ ยังมี ผีเจ้าบ้าน ผีเจ้าเมือง ผีเจ้านายต่าง ๆ

ผีปู่ย่า เป็นผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผีประจำตระกูลที่มีการนับถืออยู่ในวงศ์ญาติเดียวกัน โดยจะมีบทบาทและหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติ ทำให้มีการแก้ไขปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งในหมู่เครือญาติได้ การนับถือผีปู่ย่านั้นจะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการสืบเชื้อสายและการนับถือเครือญาติ เรียกว่าเป็นกลุ่มผีเดียวกัน ซึ่งเป็นการสืบทอดทางสายมารดา ดังนั้นการนับถือผีปู่ย่าจะมีการถ่ายทอดผ่านทางผู้หญิงเท่านั้น เชื่อกันว่าคติการนับถือผีปู่ย่านั้นจะเป็นแบบแผนวัฒนธรรมของชาวล้านนามาแต่โบราณ แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ได้พบว่า นอกเหนือจากชาวล้านนาและไทลื้อที่สิบสองพันนาที่มีการนับถือผีปู่ย่าด้วยแล้ว ยังมีชาติพันธุ์เผ่าไทอีก ๗ เผ่า คือ เผ่าไทหย่า ไทยั้ง ไทจุ่ง ไทลาย ไทเหนือ ไทดำ และไทน้ำ ล้วนมีการนับถือผีปู่ย่าด้วยกันทั้งสิ้น ตระกูลหรือญาติที่เป็นผีเดียวกันกลุ่มหนึ่งๆ จะมีหอตั้งผีอยู่ที่บ้านต้นตระกูลหรือบ้านเก๊าผีตั้งอยู่บริเวณหัวนอนหรือที่แจ่งมุมของเขตรั้วบ้าน แต่บางบ้านอาจไม่มีหอผีจะมีแต่หิ้งผีปู่ย่าตั้งไว้ภายในบ้านที่หัวนอนในห้องของเจ้าของบ้าน มีเก๊าผีคือ ผู้หญิงที่มีอาวุโสเป็นผู้สืบทอดประกอบพิธีกรรมบูชาเซ่นสรวงและมักจะเป็น ม้าขี่ หรือ ร่างทรง ด้วย

ย่อยลงมี ผีเจ้าที่ เจ้าแดน เจ้าแห่ง เจ้าหน ผีปู่ดำย่าดำ

และด้วยแต่ก่อนสังคมภาคเหนือเป็นสังคมเกษตร ก็จะมีความเชื่อ ผีขุนน้ำรักษาต้นน้ำ ผีฝาย ผีเหมือง ผีทุ่งนา ผีขุนหลวงวิลังคะ

ภาพ วันที่ 18 มิถุนายน 2560 ที่ บริเวณพื้นที่หน้าเหมืองฝายพญาคำ ถนนเชียงใหม่ – ลำพูน ต.วัดเกตุ อ.เมืองเชียงใหม่ตัวแทนผู้ใช้น้ำ 8 ตำบล ลุ่มน้ำเหมืองฝายพญาคำ ได้นำเครื่องเซ่นเครื่องบูชา เพื่อทำพิธีไหว้ผีเหมืองฝายพญาคำ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี ในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณเหมืองฝายที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนผู้ใช้น้ำ

พิธีเลี้ยงผีฝาย “ฝายพญาคำ”

ซึ่งส่วนใหญ่ผีที่คนเหนือนับถือจะมีกุศโลบายมาเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกษตรเรื่องของการเคารพบูชาการเคารพบรรพบุรุษของตัวเอง และบรรพบุรุษของชุมชน

บ้านแม่ขนิลเหนือ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ชาวชุมชนประกอบพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำที่ลำห้วยแม่ขนิน เป็นประเพณีตามคติล้านนาวิถีเกษตรกรรมที่ทำสืบทอดต่อกันมาในทุกปี
ชาวล้านนาเชื่อว่าแม่น้ำลำธารแต่ละสายมี “ผี” หรือในความหมายของอารักษ์ซึ่งคอยคุ้มครองดูแลประจำต้นน้ำ ต้นฤดูฝนหากปีไหนฝนไม่มามากเพียงพอสำหรับการทำการเกษตร หรืออย่างปีนี้ที่ฝนมาเร็วแต่ทิ้งช่วง

เรื่องผีในภาคเหนือความเชื่อเรื่องผีช่วยหล่อหลอมคนภาคเหนือได้อย่างไร ?

ผีสามารถเข้ามาควบคุมพฤติกรรมของชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขได้นอกจากธรรมะของศาสนากฎหมาย และใส่ความเชื่อเรื่องผีเข้าไปแทรกด้วยถ้าสมมติว่าประพฤติตัวไม่ดีจะมีผีมาลงโทษ เพราะฉะนั้นชุมชนต้องมีส่วนร่วมที่จะเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ด้วยเพราะฉะนั้นแล้วเราจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้ดีผีก็จะได้คุ้มครอง

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมสังคมนับถืออะไรชื่ออะไรก็ไม่ควรไปขัด แล้วแต่ความเชื่อและความศรัทธาอยู่ด้วยกันไปและจะได้มีความสุขด้วยกัน

อ้างอิง

สนั่น ธรรมธิ. (2559). ผีในความเชื่อล้านนา (พิมพ์ครั้งที่1). เชียงใหม่: บริษัท สุเทพการพิมพ์แอนด์มีเดีย จำกัด.

มาลา คำจันทร์. (2551). ผีในล้านนา (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: บุ๊คเวิร์ม

ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่-City Heritage Centre Chiang Mai Municipal

CMU Lanna House Museum พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. 

มช.ทูเดย์

NETCET

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ