เสวนา “นวัตกรรมการจัดการเหมืองฝายพญาคำ : จากอดีตสู่ปัจจุบัน”

เสวนา “นวัตกรรมการจัดการเหมืองฝายพญาคำ : จากอดีตสู่ปัจจุบัน”

กิจกรรม #ไหว้ผีเหมืองฝายพญาคำ วันที่ 14 มิถุนายน 2563
ณ บริเวณพื้นที่หน้าเหมืองฝายพญาคำ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ต.วัดเกตุ อ.เมืองเชียงใหม่

กลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มฝายพญาคำ ร่วมกันจัดกิจกรรม “ปลุกใจเหมืองฝายพญาคำเพื่อปลุกใจเมืองเชียงใหม่” ในงานไหว้ผีเหมืองฝายพญาคำเพื่อให้เกิดความศรัทธา ร่วมมือ สามัคคี และช่วยเหลือกันในชุมชนลุ่มน้ำฝายพญาคำ

            เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 14 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา นาย คมสันต์ สุวรรณอาภา  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมเลี้ยงผีฝายพญาคำ เป็นประธานในพิธี ตามโครงการปลุ๋กใจ๋เหมืองพญาคำเพื่อปลุกใจเมืองเชียงใหม่ จุดประกายฝันการสร้างแหล่งเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้เหมืองฝายพญาคำสู่อนาคต จุดประกายฝันการสร้างแหล่งเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดการความรู้ เหมืองฝายพญาคำสู่อนาคต ภายใต้กิจกรรมไหว้ผีเหมืองฝายพญาคำ ซึ่งได้กำหนดให้ตรงกับ วันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี

            การจัดกิจกรรมนี้ เกิดจากการรวมตัวของภาคการศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ลุ่มแม่น้ำฝายพญาคำ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แก่ฝาย แก่เหมือง กลุ่มเด็กเยาวชนในพื้นที่ 8 ตำบล เชื่อมต่อสองจังหวัดเชียงใหม่ -ลำพูน ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการบูรณาการภูมิปัญญาล้านนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำฝายพญาคำและผู้สนใจ โดยเฉพาะการพื้นฟูภูมิปัญญระบบเหมืองฝายพญาคำ อันเป็นสายที่เก่าแก่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นฝ่ายที่ผันน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าสู่ล้ำเหมืองพญาคำ เพื่อหล่อเลี้ยงการเกษตรของประชาชนทั้งในอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี และอำเภอเมืองลำพูน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่ควรค่าแก่การสืบสานภูมิปัญญา การจัดการเหมืองฝายของคนรุ่นหลังให้คงอยู่สืบต่อไป

            ภายในงานมีกิจกรรมทั้งการเสวนาสนทนา โดยดำเนินการเสวนา โดย อ.นฤมล วันทนีย์  Spark U Lanna ในบทความนี้จึงอยากจะชวนทุกท่าน อ่านบทการเสวนาในวันไหว้เหมืองฝายพญาคำ เรื่อง  “นวัตกรรมการจัดการเหมืองฝายพญาคำ : จากอดีตสู่ปัจจุบัน”

พัฒนาการจัดการน้ำจากอดีตถึงปัจจุบัน และการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย โดยกำนันวรเดช  เทียมดี ประธานเหมืองฝายพญาคำ

การจัดการน้ำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นอย่างไร ?

ในอดีตที่ผ่านมาแก่เหมืองแก่ฝาย สมัยก่อนถึงช่วงเวลาหน้าแล้งแก่เหมืองแก่ฝายจะมีการไปตีฝาย  โดยบอกกล่าวเชิญชวนพี่น้องชาวบ้านไปช่วยกันทำความสะอาดเหมือง ตีฝาย ซึ่งประธาน แก่น้ำแต่ละหมู่บ้านจะทำหน้าที่บอกกับลูกบ้านว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง เช่น เตรียมหลัก(ไม้รวก) นำมาคนละสองเล่มสามเล่ม สมัยก่อนรถยนต์ยังไม่มีต้องใช้จักรยานปั่นมาตั้งแต่สารภี เอาหลักไม้สำหรับมาตีฝาย  เตรียมฝางมัดท้ายรถมา ชาวบ้านเขาจะมากันเป็นตำบล  ตามจำนวนบ้านว่ามีผู้ใช้น้ำกี่คน กำนันและแก่ฝายก็จะเป็นคนพามาช่วยตีหลักตีฝายกัน ผลัดกันมาในแต่ละตำบลตามวันที่กำหนดไว้มาลงแรงกันจริง ๆ   แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนี้แล้วถึงแม้จะมีคนมาตีหลักตีฝาย แต่ไม่ถึงครึ่งวันก็กลับกันหมดและมีแต่คนรุ่นเก่า ๆ ที่ยังมาทำกันอยู่ ส่วนเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้เรื่องเหมืองเรื่องฝายกันเลย

            ส่วนตัวเองในฐานะประธานเหมืองฝาย ทำหน้าที่ในการดูแลฝายพญาคำตลอดลุ่มน้ำ และประสานงานกับนายกเทศมนตรีในแต่ละตำบลในการเปิดฝายเพื่อผันน้ำเข้าที่นาที่สวน ซึ่งเขาจะมีรีโมทในการกดน้ำขึ้นลง 
แต่สมัยก่อนจะเป็นการเปิดของใครของมัน ทำให้มีปัญหาว่าใครอยากได้ก็มาเปิดเอา แต่ตั้งแต่มีชลประทานเข้ามาดูแลทำให้มีระบบดูแลการปิดการเปิดเป็นเวลา มีกำหนดตารางการใช้น้ำของแต่ละตำบลชัดเจนว่าสามารถใช้ได้กี่วัน ๆ  นอกจากนี้ยังมีทางเทศบาลในแต่ละตำบลเข้ามาดูแล รวมถึงส่วนกลางที่มาดูแลการจัดสรรน้ำและการขุดลำเหมืองฝายทำให้ดีขึ้นมาก

         สรุป การที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดการและดูแลการจัดการน้ำร่วมกับชาวบ้าน แก่เหมืองแก่ฝายทำให้การทำงาน ณ ปัจจุบันดีขึ้น  ไม่มีปัญหาในการทะเลาะเบาะแว้งการแย้งน้ำเหมือนในอดีต ทำให้สามารถจัดการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ได้

ที่มาและการทำงานของเครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้พื้นที่ลุ่มน้ำฝายพญาคำ (คคค.) โดยคุณอภิชาต เทพชา  ปลัดเทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน  

            ในเรื่องการจัดสรรการใช้น้ำเป็นภูมิปัญญาหลายร้อยปีที่พี่น้องชาวบ้านมากำหนดกฎเกณฑ์ มีการทำฝายโดยนำเอาไม้ซางไม้รวกมาตอกมากั้นเก็บน้ำ แล้วช่วยกันบริหารจัดการน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรตั้งแต่สารภีจนถึงลำพูน ทำให้เกิดเป็นชุมชนในบริเวณนี้ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในการทำนาและการเกษตรสืบทอดต่อ ๆ กันมา มาถึงช่วงที่เข้ารับราชการเป็นปลัดเทศบาลตำบลสารภี งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือการร่วมในพิธีเลี้ยงผีฝายพญาคำ ในวัน 9 ค่ำ เดือน 9  มาไหว้ผีกัน  ต่อมาในระยะหลังก็เริ่มหายไป ทางเทศบาลแต่ละตำบลผลัดเปลี่ยนกันมาไม่ต่อเนื่อง   ในปีที่เทศบาลตำบลสารภีเป็นเจ้าภาพจัดงานได้มีการชวนเทศบาลและหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งชลประทานและหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมงาน โดยในงานมีการจัดเสวนาและได้ข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาบริเวณเหมืองฝายพญาคำ แต่ยังมีข้อจำกัดในการจัดการพื้นที่ 

            เนื่องจากฝายพญาคำเป็นสิ่งที่เกิดก่อนรัฐ มันเกิดก่อนที่จะมีการจัดการโดยรัฐในการบริหารจัดการราชการ ที่ยังไม่ได้มีการแบ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ไม่ได้แบ่งเป็นอำเภอสารภี อำเภอเมือง ไม่ได้แบ่งเป็นเขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลหนองหอย พอมาถึงจุดนี้ข้อจำกัดที่พบคือพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่คนที่ใช้น้ำไม่ใช่คนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนในเขตอำเภอสารภีและอำเภอเมืองลำพูน แล้วพื้นที่ที่ตั้งก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นของเจ้าท่าหรือของชลประทาน เราจึงมีความเห็นร่วมกันว่าน่าจะมาร่วมมือกันในการทำในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการในรูปของเครือข่าย โดยการตั้งเครือข่ายครั้งแรกได้มีการเชิญนายกมนูญ พัฒนา นายกเทศบาลตำบลยางเนิ้งมาเป็นประธาน ตั้งชื่อว่าเครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้พื้นที่ลุ่มน้ำฝายพญาคำ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครออกคำสั่งแต่งตั้งได้

            ในการจัดตั้งเครือข่ายได้มีการดึงชลประทาน กรมเจ้าท่า และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นภาคีในการร่วมกันพัฒนา โดยมีเป้าหมายสามประการคือ

            1.การพัฒนาพื้นที่บริเวณหน้าฝายพญาคำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ฝายพญาคำ โดยมีการร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการออกแบบพื้นที่ และได้แบบในการจัดทำศูนย์แล้ว อยู่ในขั้นตอนของการเข้ามาดำเนินการ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้จะสงวนไว้สำหรับคนลุ่มน้ำและคนที่สนใจเข้ามาศึกษาและใช้ประโยชน์
            2.การสะสมรวบรวมองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำ(ลุ่มน้ำ) ประวัติศาสตร์ฝายพญาคำ รวมไปถึงกระบวนการทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มีการบันทึกและจัดทำไว้แล้วหลายร้อยเล่ม  เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์และทำเป็น
หลักสูตรชุมชน  สำหรับใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก , โรงเรียนประถม , โรงเรียนมัธยม ในเขตอำเภอสารภี และลำพูนได้เรียนรู้  มีเป้าหมายให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้และเกิดการซึมซับเรื่องราวของน้ำที่ไหลผ่านบ้าน/ชุมชนของตนเองว่าคือฝายพญาคำ ไม่ใช่ท่อระบายน้ำ และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเหมืองฝายในอนาคต
            3. สร้างความร่วมมือในการจัดการน้ำและการพัฒนาพื้นที่ฝายพญาคำร่วมกัน จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งชลประทาน เจ้าท่า หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งเรื่องการจัดการน้ำ การนำงบประมาณมาใช้ในการจัดการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำ

            ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการ คคค. จะอาศัยวันที่ 9 เดือน 9 ของทุกปี นัดหมายคนในพื้นที่ ชุมชน หน่วยงาน ภาคีต่าง ๆ  มาจัดกิจกรรมร่วมกัน พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยน หาแนวทางในการดำเนินงาน กำหนดกติกา สร้างการรับรู้ร่วมกัน ทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเรายังมีสิ่งนี้อยู่ และจะสืบทอดสิ่งนี้ต่อไปได้อย่างไร 

การดำเนินการของเครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้พื้นที่ลุ่มน้ำฝายพญาคำ (คคค.)สถานการณ์ ปัญหาการใช้น้ำ และแนวทางการจัดการปัญหา  โดยคุณธวัช  ชัยแก้ว  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชมภู ในฐานะเลขานุการ คคค.

            เครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้พื้นที่ลุ่มน้ำฝายพญาคำ มีผมทำหน้าที่เป็นเลขา คคค. โดยมีท่านนายกมนูญ บูรณพัฒนา นายกเทศมนตรี ตำบลยางเนิ้ง อ.สารภี เป็นประธานเครือข่ายฯ องค์กรของเราพอตั้งขึ้นมาแล้วได้มีการแบ่งการทำงานออกเป็นสองส่วน
            ส่วนที่หนึ่งเป็นการประสานงานระหว่างเทศบาลทั้งหมดที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำ เขตเหมืองฝายพญาคำ รวม 8   เทศบาล ส่วนที่สองมีประธานเหมืองฝายพญาคำ คือพ่อกำนันวรเดช มาเป็นรองประธาน ในฐานะตัวแทนผู้ใช้น้ำ และเห็นปัญหาการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่/ชุมชน โดยผมในฐานะของเลขา คพค.ทำหน้าที่ในการประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในลุ่มน้ำช่วยกันดูแลรักษาน้ำในบริเวณที่ไหลผ่านพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละตำบล
            ปัญหาที่ผ่านมาคือเรื่องการจัดการน้ำ ทำให้ปัจจุบันตำบลชมภูได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลในเรื่องน้ำ ส่วนพ่อกำนันวรเดช อยู่ตำบลสารภี ที่ตำบลชมภูเข้ามาดูแลเรื่องน้ำ เพราะว่าเราอยู่ท้ายน้ำเป็นตำบลที่อยู่ท้ายน้ำ สมัยก่อนเขาจะเอาตำบลที่อยู่ท้ายน้ำมาเป็นแก่เหมืองแก่ฝาย ถ้าท้ายน้ำน้ำไปถึงแสดงว่าการจัดการถูกต้องแล้ว เขาจะไม่เอาคนที่อยู่ต้นน้ำมาเป็นแก่เหมืองแก่ฝาย เพราะฉะนั้นเราเอาภูมิปัญญาในอดีตกลับมาใช้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของตำบลชมภูคือน้ำไปไม่ถึง เพราะอยู่ท้ายน้ำ การจะทำให้น้ำมาถึงเราต้องคุยกับ 7 ตำบล ที่อยู่ต้นน้ำตั้งแต่เทศบาลนครเชียงใหม่ หนองหอย หนองผึ้ง ไล่ลงมาเรื่อย ๆ ว่าขอให้แบ่งน้ำให้เราได้ใช้ตามวันที่กำหนด เพื่อให้น้ำไปถึงตำบลชมภูได้
            ในเรื่องของกฎหมายมันเอื้อมไปไม่ถึง ผู้ใช้น้ำปัจจุบันไม่ได้มีกฎหมายบอกว่าวันไหนจะต้องแบ่งน้ำให้ใครใช้ได้  เราใช้ข้อตกลงร่วมกันแล้วมาแบ่งวันในการใช้น้ำ ทำให้น้ำไปถึงตำบลชมภูได้ ของผมมีสามคนที่อยู่ในตัวเดียวกัน หนึ่งคือเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นมา 9 ปีแล้ว ผมเป็นลูกหลานชาวนา แต่ผมมาที่นี่เพิ่งรู้จักไม่เกินสามปี ทำให้ได้เห็นและได้เรียนรู้ว่าองค์ความรู้มันมี สมัยก่อนนี้ไม่เคยรู้เลยว่าองค์ความรู้ฝายพญาคำจะต้องทำอย่างไรบ้าง รู้อย่างเดียวว่าเป็นนายกมีหน้าที่ต้องดูแลเหมืองฝายเฉพาะในเขตของเราเอง  ในเขตของเราสามารถทำได้ แต่ถ้าทำนอกเขตถือเป็นเรื่องใหญ่มากต้องผ่านสภาของเทศบาลตำบลชมภูแล้วไปขออนุมัติกับเทศบาลที่อยู่ในทางผ่านในแต่ละเขตไป ต้องทำเรื่องข้ามเขตไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ยากมาก หรือต้องประสานจากอบจ.ทำหนังสือผ่านเป็นจุดไป เพราะฉะนั้นในสิ่งที่ผมได้เข้ามาอยู่ในนามของนายกเทศมนตรี พอได้เข้ามาเห็นทำให้ได้รู้ว่ากว่าน้ำจะไปถึงตำบลชมภูได้ มันไม่ใช่เฉพาะว่าน้ำมันไหลแล้วไปถึงได้เร็ว มันต้องอาศัยความร่วมมืออาศัยเครือข่ายต่างๆ เข้ามาร่วม ในช่วงสามปีคือช่วงที่ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาการจัดการน้ำของฝายพญาคำ
            ภาพที่สอง ผมในฐานะของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ผมเป็นลูกชาวนา ทำนาทำไร่ทำสวน ผมรู้และเห็นการใช้น้ำอยู่กับกลุ่มเกษตรกร ทำให้เห็นว่าน้ำมีปัญหาตรงไหน จะทำอย่างไรจะเอาน้ำไป เห็นปัญหาทะเลาะกันจากการแอบใช้น้ำหรือมีการกั้นเหมืองกั้นฝายก่อนที่จะถึงท้ายน้ำ แบ่งน้ำกันใช้แบบไม่ลงตัว หรือเหมืองมีความตื้นเขิน อันนี้คือปัญหาของกลุ่มผู้ใช้น้ำ  สุดท้ายในฐานะที่ผมเป็นภาคประชาชนหรือคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักฝายพญาคำไม่รู้จักเหมืองพญาคำ รำคาญด้วยซ้ำที่มีลำเหมืองผ่านหน้าบ้านอยากเอาท่อมาปิดเพื่อเอารถเข้าบ้าน หรือบางที่อยากได้ที่เข้าไปในลำเหมืองอีกสักหน่อยหนึ่ง เพื่อทำศาลาหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในน้ำ อันนี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นปัญหา ภาพสุดท้ายเป็นภาพที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างหนักหน่วง เพราะเกิดปัญหาการรุกล้ำลำเหมือง ที่ดินเวลาชี้แนวเขตก็จะบอกว่าทางทิศตะวันตกติดกับลำเหมืองพญาคำ เพราะฉะนั้นที่ติดลำเหมืองแสดงว่าอยู่ริมเหมือง เขาก็จะไปทำรั้วติดตรงริมเหมืองเลย ปัจจุบันการก่อสร้างบ้านเรือนมันมีเทศบัญญัติกำหนดว่าต้องห่างจากแม่น้ำหรือลำเหมืองสามเมตร แต่เขาไม่ได้กำหนดว่ารั้วต้องห่างกี่เมตร เพราะฉะนั้นรั้วไปอยู่ติดลำเหมือง ดังนั้นฝั่งนั้นก็มีรั้ว อีกฝั่งก็มีรั้ว ทำให้ชาวนาเข้าหาน้ำไม่ได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นรถแม็คโครก็เข้าไปขุดลอกลำเหมืองไม่ได้ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น  ถ้าในเขตตำบลยังพอที่จะเข้าไปดูแลได้ เพราะเราเป็นนายกเทศมนตรีในเขตนี้ แต่ถ้าเป็นนอกเขตทำอะไรไม่ได้เลย  นอกจากใช้คณะกรรมการเครือข่าย คคค. อาศัยการประสานงานกับนายกในแต่ละตำบล หนองผึ้ง หนองแฝก หนองหอย เทศบาลนครเชียงใหม่ แจ้งเรื่องการรุกล้ำลำเหมือง การลักลอบสูบน้ำกลางเหมือง ถ้าวันนี้เป็นเวรของตำบลชมภูที่ต้องได้รับน้ำแล้วปรากฎว่ามีคนแอบมาสูบน้ำกลางเหมือง ทำให้น้ำไปไม่ถึง เพราะถ้าไม่ได้น้ำในรอบนี้ต้องไปรอในรอบต่อไป เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการนอกพื้นที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครือข่ายในการมาช่วยกันดูแลลำเหมือง

สะท้อนข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่อการทำงานของคคค. โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

            ในส่วนของจังหวัดยืนยันว่าโชคดีที่จังหวัดเชียงใหม่มีหลายภาคส่วนที่เข้ามาร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลนคร  แก่เหมืองฝาย รวมถึงทางชลประทาน แต่หลายพื้นที่ที่ไม่โชคดีเหมือนกับเรา โดยเฉพาะที่อยู่นอกเขตชลประทานทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกันพอสมควร  ในจังหวัดเชียงใหม่มี 25 อำเภอ ซึ่งทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาเรื่องน้ำถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากในหลาย ๆ เวที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตร เราได้ลงไปคุยในหลายประเด็น และที่สำคัญที่สุดก็มาลงที่เรื่องน้ำ ผมเชื่อว่าพี่น้องเกษตรกรของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องการมีน้ำเพื่อทำการเกษตร  ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารน้ำใต้ดิน หรือแม้กระทั่งของฝายพญาคำ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ไม่ง่ายเลยกว่าจะขับเคลื่อนมาจนถึงทุกวันนี้  ที่สามารถมีการบริหารจัดการน้ำได้ แม้จะมีความขัดแย้งอยู่บ้างในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ ณ ปัจจุบันนี้เราดีขึ้นมากในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องน้ำที่จะเข้าไปในทุก ๆ พื้นที่ มีการจัดเวร มีการแบ่งวันเวลา ที่จะให้น้ำในแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจนขึ้นมาก

            ผมยืนยันว่าในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯเองก็ดี แม้กระทั่งผมที่ดูแลเรื่องของ
ชลประทาน และการจัดการใช้น้ำ  ได้มีการพูดคุยกันตลอดกับภาคส่วนต่าง ๆ  เรามีองค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ มาช่วยดูแลการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยกัน เราไม่ได้ทำงานแต่ภาคราชการอย่างเดียว  ณ ปัจจุบันนี้เรามีการบูรณาการงานร่วมกัน ท่านสามารถเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการน้ำ ในส่วนของจังหวัดยืนยันว่าเราพร้อมดูแลทุกพื้นที่

ประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์น้ำ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  โดย ดร.วสันต์  จอมภักดี  ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง

            ผมได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมที่ฝายพญาคำทุกปี และมีความผูกพันกับสายน้ำทุกสาย โดยเฉพาะสายน้ำปิง ด้วยความผูกพันกับสายน้ำจึงได้ตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาเมื่อปี 2535 ชื่อว่าคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง คำว่าแม่ปิงนี้ไม่ใช่แค่แม่ปิงสายใหญ่อย่างเดียวแต่หมายความรวมถึงลุ่มน้ำทั้งหมด แม่ปิงเกิดมาจากห้วยแก้วก็ไปดูห้วยแก้ว เกิดมาจากน้ำแม่หยวก เกิดมาจากน้ำแม่ลี้ เกิดมาจากน้ำแม่สา น้ำแม่กลาง จากเชียงดาว
จากแม่งัด ลงไปจนถึงเจ้าพระยา ก็เลยทำงานเป็นระดับเครือข่ายทั้งลุ่มน้ำแม่ปิงใหญ่ด้วย จึงเข้าไปเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำปิงใน 5 จังหวัด เข้าไปช่วยจังหวัดและเทศบาลต่าง ๆ เรื่องคลองแม่ข่า  เพราะน้ำแม่ข่าก็ลงน้ำแม่ปิง ไหลลงที่สบแม่ข่าทางป่าแดด สมัยก่อนน้ำเน่าน้ำเสีย พอน้ำแม่ข่าที่เป็นน้ำเสียลงน้ำปิง น้ำแม่ปิงก็เน่าไปด้วย กระชังปลาที่เลี้ยงอยู่ด้านล่างปลาก็ตายหมด อันนี้คือผลกระทบที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลรักษาน้ำ มันก็จะเกิดความเสียหายมาก  ดังนั้นทุกวันเวลาหกโมงผมจะขับรถไปที่แม่ข่ารับเป็นคนดูแลแม่ข่า ไม่สามารถดูแลตลอดสายได้ แต่ก็เชิญทุกภาคส่วนมาช่วย ให้แต่ละชุมชนที่อยู่ริมคลองแม่ข่าดูแลชุมชนใครชุมชนมัน ดูแลสภาพลำน้ำ เรื่องการบุกรุกลำน้ำ เรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ เรื่องการทิ้งน้ำเสีย  ซึ่งปลัดอภิชาตได้พูดถึงเรื่องนี้ว่าไม่อยากเห็นฝายพญาคำเป็นเหมือนแม่ข่า ตอนนี้แม่ข่ากลายเป็นโมเดลระดับโลก มีคนจากทั่วโลกมาดูแม่ข่าในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสียโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างไร

            ฉะนั้นการมีส่วนร่วมจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะน้ำบังคับให้เราต้องร่วมกัน สายน้ำบังคับให้ช่วยกัน เพราะน้ำคือชีวิตและต้องใช้ประโยชน์จากน้ำ  ทุก ๆ คนถือว่าอยู่ท้ายน้ำและเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และถ้าเราไม่ช่วยกันในที่สุดเราก็จะได้รับผลกระทบ วันนี้มีครอบครัวคนจีนมานั่งปิกนิคอยู่ริมคลองแม่ข่าและชมว่าน้ำสวย
อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดว่า สิ่งที่เราช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังกัดไม่ปล่อย เหมือนที่กรรมการทั้งหลายทำแก่เหมืองแก่ฝายทำคือกัดไม่ปล่อย ถ้าเราช่วยกันจริง ๆ น้ำเป็นเรื่องของทุกคน น้ำคือชีวิต เป็นภารกิจของทุกคน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของชลประทาน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของเจ้าท่า วันนี้การดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องไปช่วยเจ้าท่า ต้องไปช่วยชลประทาน ต้องไปช่วยรองผู้ว่า เราต้องช่วยท่านนายกเทศบาล ช่วยกันเป็นเรื่องของเราทุกคน นี่คือประสบการณ์ของผมที่ทำมา แล้วผมก็ไปช่วยถึงอ่าวไทยเลย โดยไปช่วยส่วนกลางในระดับนโยบาย
            สมัยก่อนตอนเป็นเด็กต้องเอาน้ำไปเข้าทุ่ง เดินไปกับพ่ออุ้ยสองสามกิโล เพื่อไปเอาน้ำเข้าเหมือง แล้วก็ต้องนั่งเฝ้าไม่ให้คนแอบมาปิดน้ำ การแย่งน้ำมีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว จึงต้องเฝ้าน้ำจนไปถึงที่ของเรา พอน้ำเข้าที่เราแล้วก็ไปปิด ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพูดให้คนกรุงเทพฟังว่าประเทศไทยมีกฎหมายน้ำเมื่อไม่นาน แต่จริง ๆ แล้วกฎหมายน้ำมันมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยพญามังราย ในช่วงฤดูแล้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการปลูกพืชที่ไม่ใช่ข้าว และพืชเศรษฐกิจ เพื่อการดำรงชีพ ก็ต้องมีการจัดการน้ำ สมัยนั้นเขามีกฎที่เด็ดขาดคือใครขโมยน้ำถ้าไม่ถึงเวรตัวเองแล้วแอบลักเอาน้ำเข้าไปใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ครั้งแรกให้เตือน ครั้งที่สองให้ไปบอกเจ้าขุนแจ้งความให้มาจัดการ ครั้งที่สามถ้ายังทำอยู่ให้ฆ่าเสีย แสดงว่าน้ำเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โทษจึงหนักมาก อันนี้คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำ ในส่วนของฝายถ้ามีเรือใหญ่มาชนฝายเขาจะคิดค่าปรับไม่แพง แต่ถ้าเป็นเรือลำเล็กมาชนฝายให้ปรับหนักและต้องสร้างฝายใหม่ทดแทนด้วย เพราะถือว่าเรือลำใหญ่บังคับยาก แต่เรือเล็กบังคับง่ายกว่า ถ้ามาชนจึงมีการลงโทษปรับด้วยเงินจำนวนมากและให้สร้างใหม่ทดแทนของเดิม
            นอกจากนี้เรายังมีพิธีขอฝนซึ่งเกี่ยวกับเรื่องน้ำ วัดเจดีย์หลวงที่ทำพิธีขอฝน ท่านปลัดก็ไปร่วมทุกปี พระประธานองค์ใหญ่ในวิหารวัดถ้าสังเกตจะพบว่าเป็นปางห้ามญาติ ซึ่งแตกต่างจากวัดทั่วไป ปางห้ามญาติที่เราทำพิธีขอฝน มีประวัติย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลญาติของฝ่ายพ่อกับแม่พระพุทธเจ้าสองเมืองมีปัญหาแย่งน้ำกันจากปัญหาภัยแล้ง พระพุทธเจ้าเลยต้องเสด็จไปห้ามญาติทั้งสองฝ่ายไม่ให้ทำร้ายฆ่ากัน ดังนั้นการมีเครือข่าย คคค. ก็สามารถช่วยในเรื่องการจัดน้ำไม่ให้มีปัญหาการแย่งน้ำกัน  เป็นการเอาภูมิปัญญามาเชื่อมโยงกับกฎหมายสมัยใหม่ด้วย แล้วท่าเจ้าท่าก็เข้ามาช่วยด้วย และที่สำคัญฝายพญาคำไม่ใช่ลำเหมืองธรรมดา แต่กลายเป็นลำน้ำธรรมชาติ มีระบบนิเวศน์ธรรมชาติที่ปรับตัวเองจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติ  เพราะฉะนั้นระบบนิเวศน์ธรรมชาติต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ฝายพญาคำน้ำเข้าไปในพื้นที่จนกระทั่งดินอิ่มน้ำแล้ว น้ำไม่สูญหายไปไหนแล้ว แต่มันจะซึมเข้าไปในพื้นที่ข้าง ๆ ให้เกิดความชุ่มชื้น ทำให้น้ำบ่อของเรามีน้ำ ถ้าเรารักษาไว้ให้เป็นระบบธรรมชาติ  นิเวศนธรรมชาติจะดีที่สุด เขาจึงเริ่มมีการรื้อคอนกรีตที่เป็นรางน้ำออกทั้งหมด เพื่อคืนความเป็นธรรมชาติ แล้วกุ้งหอยปูปลาก็จะมา มันก็จะเป็นน้ำธรรมชาติอีกสายหนึ่ง

โอกาสในการพัฒนาพื้นที่ฝายเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  โดย คุณจิรกร  สุวงศ์ นักวิจัยกฎบัตรแห่งชาติ สมาคมธุรกิจนักท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

            ในนามของสมาคมธุรกิจนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และอีกบทบาทหนึ่งในฐานะนักวิจัยกฎบัตรแห่งชาติ ถ้าเราพูดถึงการพัฒนาเมือง ขอตั้งข้อสังเกตไว้สามข้อเป็นเรื่องของภาคสังคม เรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องของสิ่งแวดล้อม
            มุมมองที่หนึ่ง ภาคของสังคม เป็นเรื่องดีที่ผู้คนในเชียงใหม่ได้มารวมตัวกันจากหลายภาคส่วน หลายอายุมาร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็จะเห็นได้ว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นภูมิปัญญาจากคนรุ่นก่อน ส่งผ่านมายังคนรุ่นปัจจุบันที่พวกเราได้นั่งกันอยู่ตรงนี้ และเราก็เล็งเห็นว่าประเด็นที่เรามาพูดคุยเรื่องของฝายพญาคำในวันนี้ เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องรักษา และจะต้องส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป นี่อาจจะเป็นภารกิจของคนรุ่นเราที่เราจะส่งต่อเรื่องราวตรงนี้ไปในมุมมองไหนบ้าง  เรื่องของน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของทุกคน
            มุมมองที่สอง เรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวกับเชียงใหม่เรียกได้ว่าเป็นรายได้หลักของเชียงใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่ส่งต่อผ่านมายังอดีต ซึ่งตรงนี้เป็นเสน่ห์ของเชียงใหม่และเป็นเสน่ห์ของเมืองที่มีโบราณสถาน มีเรื่องราวในอดีตที่ยังส่งต่อมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน เรื่องของเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราสามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สิ่งที่จะตามมาก็คือเรื่องของการจ้างงาน การกระจายรายได้ไปยังชุมชน คนที่เข้ามาในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในภาคของท่องเที่ยว กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มบริษัททัวร์ นักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่จะเข้ามา เราต้องมีการจัดการเรื่องขององค์ความรู้ เรื่องของพื้นที่รองรับ ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งคงต้องมาพิจารณากันในรายละเอียด อันนี้คือภาคเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบกับชาวเชียงใหม่ด้วย พื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่เดินทางได้ไม่ยากผู้คนสามารถเข้าถึงได้
            มุมมองที่สาม เรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต น้ำที่เราจะส่งต่อไปยังชลประทานในเรื่องของด้านการเกษตร ส่งไปทางโซนใต้ โซนสารภีจนถึงลำพูน หน้าที่ของฝายหรือลำเหมือง ที่ถูกออกแบบโดยภูมิปัญญามีไว้สำหรับเรื่องการเกษตร ปัจจุบันเมืองมีการขยายเพิ่มขึ้น แต่ในภาคการเกษตรเรายังมีการทำการเกษตรอยู่ ในมุมมองสิ่งแวดล้อมเราต้องมาพิจารณาเรื่องของคุณภาพของน้ำ ที่เราจะส่งต่อจากต้นน้ำ ณ จุดตรงนี้ไปยังจุดต่อ ๆ ไป  ปัจจุบันเราพูดถึงเรื่องของเกษตรอาหารปลอดภัยในนามของกฎบัตรเชียงใหม่เรื่องของการพัฒนาเมือง คุณภาพของทรัพยากรน้ำที่จะนำไปใช้ในเรื่องการเกษตร เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะว่าผลกระทบทางสุขภาพมันเข้าไปยังพืชผัก ทั้งเรื่องของสารเคมีต่าง ๆ องค์ประกอบในเรื่องของน้ำถ้ามีสารตกค้างปนเปื้อนเข้าไป นั่นหมายถึงว่าพืชผักที่เราได้ปลูกและเราได้นำออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค มันจะไม่มีคุณภาพหรือไม่มีความปลอดภัย นี่เป็นเรื่องของมุมมองสามส่วน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่อยากตั้งข้อสังเกตไว้กับฝายพญาคำ  

การเผยแพร่ /การสื่อสารองค์ความรู้ของฝายพญาคำ การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมสู่สาธารณะโดยคุณอัจฉราวดี  บัวคลี่  ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ThaiPBS

            ในส่วนของความรู้สึกทุกครั้งที่ได้มาที่ฝายพญาคำจะรู้สึกว่าเราเป็นคนเชียงใหม่แท้ ๆ แต่เรากลับข้ามไปข้ามมา ข้ามแม่น้ำปิง เรียนหนังสือ ทำงาน และในฐานะของคนเชียงใหม่ มีสถานที่หนึ่งที่เรารู้สึกว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเชียงใหม่ ตรงนี้มันคือที่ไหน ทุกครั้งที่ผ่านมาที่นี่ ขับรถผ่านมาจะรู้สึกว่าเป็นที่นี่ ทำให้รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่เมื่อสองปีที่แล้วหลาย ๆ ส่วนพยายามที่จะช่วยกันทำให้ที่ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพราะการที่ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับตัวเองคิดว่าไม่ใช่แค่คนเชียงใหม่ด้วยซ้ำ  และในฐานะที่เป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่เกิด อยู่เชียงใหม่ มีบ้านอยู่ที่สันทราย เรียนอยู่เรยีนา ปริสน์ ข้ามไปข้ามมาตลอด ไม่เคยรู้จักเหมืองฝายเลย  เพิ่งมารู้จักตอนทำงานหนังสือพิมพ์  แล้วตอนนั้นที่นี่กำลังร้อนระอุมาก ๆ มีการต่อสู้ปกป้องเรื่องเหมืองฝาย และเพิ่งมารู้มาเห็นว่าท้องเหมืองเป็นอย่างนี้ ฝายเป็นอย่างนี้ ซึ่งเรารู้จากการที่ได้มาสัมผัส เพราะฉะนั้นหัวใจของการที่จะเรียนรู้ คือการมีประสบการณ์จริง

            เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกว่าการที่ท่านรองผู้ว่าฯ และหน่วยราชการต่าง ๆ ได้เข้ามาสัมผัสในพื้นที่นี้ นี่คือการเรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของระบบเหมืองฝายอย่างแท้จริง  เด็กๆ เยาวชนก็เหมือนกันได้เข้ามาก็จะได้สัมผัสความรู้สึกได้เรียนรู้ของจริง เมื่อสักครู่คุณชัชวาลได้มาพูดตรงนี้เล่าเรื่องราวของฝายพญาคำ หรือนายกชมภูพูดถึงระบบจัดการน้ำ ทำให้เราพึ่งรู้ว่าแก่ฝายที่อยู่ท้ายเหมืองต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำ  เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของการสร้างให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ คือการได้มาสัมผัสของจริงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด และอยากขอสนับสนุนสิ่งที่กำลังทำในส่วนนี้
            ในเรื่องของการสื่อสารพอเราเริ่มรู้จักเหมืองฝายพญาคำแล้ว จากจุดเริ่มต้นจากงานของเรา มีปัญหาอะไร ชาวบ้านคิดอย่างไร เราได้คิดได้ฟังจะสิ่งที่เขาได้พูด และจากที่ได้นั่งอยู่ตรงนี้ ทำให้ได้เห็นพลังของเรื่องเล่า ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าข่าวที่เราได้รู้จากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์  พลังของเรื่องเล่าที่ได้มาจากเรื่องของคนเล็กคนน้อยที่มีประสบการณ์ตรงมันทำให้เราได้เข้าใจได้เรียนรู้ แต่ก่อนมันอาจจะยากใครจะมาบอกเรื่องเล่าสักเรื่องหนึ่ง จะต้องมีนักข่าวมาทำข่าว นักข่าวก็จะไปพูดกับคนที่มีบทบาทหน้าที่ในหน่วยงานนั้นหรือบทบาทหน้าที่ในเรื่องราวนั้น  ซึ่งเขาก็พูดให้ข้อมูลกับเราได้แต่พื้นที่ของข่าวมันบอกได้ไม่หมด จะมาบอกเรื่องเล่าของคนโน้นคนนี้มันก็จะยาก แต่ว่ายุคนี้มันเต็มไปหมดเรื่องเล่าและพื้นที่สื่อมันมีมากมาย เชื่อว่าวันนี้หลายคนเซลฟี่แล้ว เล่าเรื่องนี้ในเฟสบุ๊คของตัวเองแล้ว อันนี้ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราช่วยกันสื่อสารเรื่องของเหมืองฝายพญาคำไปสู่สาธารณะได้ ส่วนสิ่งที่ คคค. ทำ คือการสื่อสารภายใน ภายในกลุ่มผู้ใช้น้ำ ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายในหน่วยราชการ ภายในกลไกของระบบที่กำลังพยายามจะบริหารจัดการ อันนี้คือออนกราวนด์ การสื่อสารในระดับพื้นที่  ทำเต็มที่และแก้ไขปัญหา เชื่อมทุกส่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ  
            อีกอันที่เราจะทำร่วมกันต่อไปก็คือสร้างตรงนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นมิติที่เป็นหลักสูตรให้กับเด็กเยาวชน มิติเรื่องของการท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ หรือว่ามีต้นแบบให้เห็นตรงนี้ อันนี้ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ส่วนมิติในเรื่องของการสื่อสารให้กับประชาชน เราก็ชวนนักข่าวให้มาทำเล่าเรื่องตรงนี้ ความคืบหน้าของฝายพญาคำ เรื่องภูมิปัญญาเรื่องเล่าที่ประทับใจ เพราะถ้าพื้นที่ตรงนี้มีหลายคนได้เข้ามาแล้วช่วยกันสื่อสารออกไปก็จะทำให้พื้นที่ตรงนี้ เหมืองฝายพญาคำติดอยู่ในยุคปัจจุบันและเข้าใจความสำคัญของระบบเหมืองฝายที่นี่

            ในส่วนของไทยพีบีเอสเอง ด้วยเทคโนโลยีก็พยายามที่จะอธิบายภาพรวมของระบบเหมืองฝายและความสำคัญของที่นี่ว่าเป็นอย่างไร มันเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้คนรู้จักระบบเหมืองฝาย ให้เข้าใจว่าทำไมต้องมีเหมืองมีฝาย ต้องมีการกักเก็บน้ำ เพื่อปล่อยลงไปในแต่ละพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีพิกัดแผนที่ ทำให้เราเห็นภาพจากด้านบน เห็นว่าแม่น้ำปิงที่ไหลลงมาแล้วมันมีเนินอะไรบางอย่างที่มันขวางลำน้ำไว้ แล้วน้ำมันก็จะไหลตรงนี้ เมื่อปีที่แล้วมีคนมาร่วมงานที่นี่คนหนึ่งแล้วเขียนเรื่องเล่าลงเผยแพร่  ส่วนใน C-site เราก็เอาเรื่องเล่าของชาวบ้านเรื่องน้ำไปสื่อสารเชื่อมต่อปักหมุดร่วมกับแผนที่ ทำให้น้อง ๆ ที่ทำตรงนี้เห็นภาพการไหลของน้ำในจุดต่าง ๆ  คือแผนที่มันทำให้เราเห็นและเข้าใจตรงนี้มากขึ้น ในเฟสบุ๊คของปักหมุด ซึ่งวิธีการอย่างนี้เราช่วยกันได้  อีกระบบหนึ่งที่คิดว่าเป็นความสำคัญของการสื่อสาร สมมติว่าเราที่อยู่ด้วยกันที่นี่เราเห็นความสำคัญของระบบเหมืองฝาย แล้วเราพูดเป็นเสียงเดียวกันกับหลายๆ พื้นที่ว่าดีในแง่มุมไหน ภาพรวมของคำว่าดีจะทำให้สาธารณะเกิดความเข้าใจ
            เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับตนเองคิดว่าการเรียนรู้ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ และเป็นการเรียนรู้ที่ได้หลากหลายมิติ ทั้งเด็กเยาวชน นักท่องเที่ยว หน่วยราชการ และคนเชียงใหม่เอง ถ้าเราช่วยกันหาความสำคัญและดึงออกมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพราะว่าประสบการณ์การตรงนี้เป็นบทเรียนสำคัญ  ส่วนการสื่อสารทุกคนมีพลังร่วมอยู่แล้วและมีพื้นที่สาธารณะในการเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค   แต่ถ้าเราจะทำเป็นภาพรวมคือการเอามาเชื่อมกับสื่อหลักอย่างที่ไทยพีบีเอสเองก็อยากจะออกแบบระบบตรงนี้ เพื่อให้เสียงจากเรื่องเล่าของพื้นที่ออกไป ซึ่งวิธีการจะเป็นอย่างไรเราคงจะได้ทำงานร่วมกันกับพื้นที่และคคค. ในการออกแบบระบบการสื่อสารกับทีมเขียวสวยหอมที่ทำเรื่องของยางนา ซึ่งคิดว่ามันสามารถที่จะเชื่อมโยงไปเป็นเรื่องเดียวกันได้ให้เป็น “ปิงห่าง ยางใหญ่ ฝายพญาคำ” และสามารถพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และทำให้คนเห็นความสำคัญของเมืองด้วย 

Cr. Spark U Lanna

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ