ว่าใด…วัยเฮา เมื่อเราจะเฒ่ากัน

ว่าใด…วัยเฮา เมื่อเราจะเฒ่ากัน

ถ้าพูดถึง “สังคมอายุ” หลาย ๆ คน อาจจะถึงความแก่และความชรา คนที่มีอายุมากแล้ว รวมไปถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราหลาย ๆ คน หรือแม้แต่เรื่องเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุที่กลายเป็นเป็นเดือนร้อนในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่หลายๆ ฝ่าย ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยและคัดค้านกับเรื่องดังกล่าว ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นปัญหาของผู้สูงอายุกับการจัดสวัสดิการจากทางภาครัฐ แต่จริง ๆ แล้วปัญหานี้ไม่ได้เป็นแค่ของของผู้สูงอายุเท่านั้น

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวว่า คนยังไม่เข้าใจ มองว่าผู้สูงอายุ คือตัวปัญหา แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นปัญหาที่โครงสร้างของประชากร ที่ผู้สูงอายุ ที่มีสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ เราจะแก้ปัญหายังไง เพราะคนไทยนั้นมีอายุยืนขึ้น คนวัยทำงานหนุ่มสาวปัจจุบัน ต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุยืน แล้วเผลอ ๆ ปู่ย่าตายายก็ยังอยู่ แล้วต้องเป็นคนเสียภาษี เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ว่าเราจะสร้างระบบรองรับผู้สูงอายุ และเด็กที่เกิดใหม่อย่างไร 

“ถ้าประเทศไทยไม่จับเรื่องปัญหาสังคมสูงวัย เราจะก็จะเดินกันไม่ได้ทั้งประเทศ เพราะเราเข้าใจผิด เราไปจับผู้สูงอายุ ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องจับผู้ที่ยังไม่สูงอายุ” 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม การทำงาน มันต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่สูงอายุ การทำงานคนยังไม่สูงอายุ ก็จะต้องฝึกสกิลฝึกทักษะการทำงานให้หลากหลาย เริ่มออมตั้งแต่วัยทำงานสอนตน เพราะในที่สุดแล้วต้องพึ่งพาตัวเองให้ยาวที่สุด การทำงานก็ต้องทำงานให้ยาว

โครงสร้างของประชากรในปัจจุบันของประเทศไทย

หากมองโครงสร้างของประชากรในปัจจุบันของประเทศไทยแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนของผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานนั้นเริ่มลดลง และสัดส่วนของเด็กที่มีอายุ 0-14 ปี นั้นกลับส่วนทางลดลงเรื่อย ๆ 

            เมื่อนับย้อนไปตั้งแต่ปี 2493 – 2513 ประเทศไทยอยู่ในช่วง “เด็กเกิดล้าน” จึงมีการรณรงค์ให้มีการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง และทำให้อัตราการเกิดของเด็กลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา  เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่เกิดในช่วง “เด็กเกิดล้าน” ก็กลายเป็นผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่มีถึงร้อยละ 19 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน และคาดว่าเมื่อถึงปี 2578  ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30.5 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 21 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) แล้ว จึงทำให้ประเทศไทยกำลังต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรหรือมากกว่า 20 ล้านคน ในเวลานั้น และจำทำให้คนไทยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีในปัจจุบัน จะต้องแบกรับภาระมากขึ้น เพราะนอกจากจะต้องดูแลจ่ายภาษี และทำงานประกอบอาชีพเลี้ยงตนแล้ว ยังต้องดูแลบิดามารดาที่ชราภาพ และบุตรอีกด้วย 

            จากสถาการณ์นี้ ทำให้เราต้องตระหนักและรับรู้ เพื่อเตรียมการรับมือในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็น อายุของคนไทยที่จะยืนยาวขึ้น ค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาล เงินเก็บสำหรับผู้สูงวัยมาก หรือแม้กระทั่งเงินเก็บหลังจากเกษียณ ซึ่งดูเหมือนเราหลาย ๆ คนนั้นยังไม่ได้เตรียมความพร้อม

ข้อท้าทายเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงระดับสุดยอด

ผศ.รด. ณัฏฐพัชร สโรบล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

ผศ.รด. ณัฏฐพัชร สโรบล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

1. ความเป็นปึกแผ่นของประชากรข้ามรุ่นจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ความสัมพันธ์และโครงสร้างครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไป ความห่วงหาอาทรหรือการทำบทบาทของการเป็นสมาชิกในฐานะการรับผิดชอบก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะรูปแบบของครอบครัวมีเปลี่ยนแปลงไป 

2. ผู้สูงอายุ จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าเราอาจจะมีผู้สูงอายุถึงประมาณ 7.6 ล้านคน  ซึ่ง 7.6 ล้านคนในจำนวนนี้ กว่า 1.6 ล้านคน จะมีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมเพราะฉะนั้นการดูแลมันจะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

3. คนกลุ่มวัยอายุ 40 จะเป็นแนวหน้าของการเข้าไปสู่การเป็นประชากรสูงอายุ ในยุคนั้นก็อีก 20 ปีข้างหน้า เพราะจะเป็นคนอายุ 60 ปี เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ มีการเตรียมตัวค่อนข้างน้อย แต่ขอดีของคนกลุ่มนี้คือ มีเส้นทางของการพึ่งพิงตนเองสูง และคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มของการเป็นโสดมากขึ้น ครอบครัวก็จะเป็นลักษณะของครอบครัวคนโสดหรือว่าแต่งงานกัน แบบดับเบิ้ลอินคัมไม่มีลูก และครอบครัวในอนาคตจะเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ชายอยู่กับชาย หญิงกับหญิง เป็นครอบครัวแบบ LGBTQ 

4.  Stages of life ของชีวิตคนมันจะไม่ได้มีแค่กลุ่มวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุแล้ว จะมีความหลากหลายมากขึ้นช่วงชั้นของประชากรมันจะมีความหลากหลาย

5. มีการคาดการณ์ไว้ของต่างประเทศว่าในอนาคตภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปคือเราไม่สามารถที่จะมองดูภายนอกแล้วรู้ได้เลยว่าคนคนไหนคือผู้สูงอายุ และควรจะให้ความสำคัญหรือให้ Priority กับใคร บริการทางเลือกในสังคมและธุรกิจเพื่อการดำรงชีวิตจะมีแนวโน้มพัฒนาหลากหลายขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนหรือวางระบบเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ “สังคมคนไทยอายุยืน” ในอนาคต โดยพิจารณาปัญหาจากมิติด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลจากเวทีวิชาการ “เผชิญความท้าทาย สู่การพัฒนาในทศวรรษหน้า” เมื่อวันที่ 18 – 20 กันยายน 2566 โดยแบ่งระบบการรองรับออกเป็น 4 มิติ ดังนี้

1. มิติเศรษฐกิจ

         1. ปรับปรุง พัฒนาระบบบำนาญและระบบสวัสดิการ  โดยเฉพาะระบบประกันสังคมให้มีความยั่งยืนในอนาคต 

            2. สร้างมาตรการส่งเสริมการออม ความรู้ความเข้าใจในการบริหารเงิน วินัยการเงิน ขยายและปรับปรุงกองทุนการออมแห่งชาติ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพรายได้ของแต่ละอาชีพ 

            3. ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ และขยายอายุการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการทำงานอิสระ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสมัครใจ เนื่องจากคนไทยอายุยืนและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น 

            4. ควรมีนโยบายเรื่องการรับคนทำงานที่มีคุณภาพและอยากทำงานในประเทศไทยอย่างถาวร เนื่องจากอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน และประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลังประเทศไทย

            5. สร้างแรงจูงใจให้ผู้พร้อมที่จะมีบุตร ได้มีบุตรอย่างมีคุณภาพ ลดภาระทางเศรษฐกิจ และลดภาระของมารดาในการเลี้ยงดูบุตรโดยให้บิดามีส่วนร่วม

            6. กระจายอุตสาหกรรม บริการ และการจ้างงานออกไปยังท้องถิ่น ชุมชนชนบท เพื่อให้มีการจ้างงานในพื้นที่ใกล้ชุมชน ทำให้คนทำงานสามารถอยู่กับครอบครัว และสามารถดูแลบิดา มารดา และบุตรได้ 

2. มิติสภาพแวดล้อม

            1. ปรับสภาพแวดล้อมบ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง อาคารและสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมสำหรับคนทุกวัย ผู้สูงอายุ หนุ่ม สาว เด็ก และคนพิการ ในลักษณะ “อยู่ดี” (Universal Design) โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ 

            2. ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิ อาสาสมัครกู้ภัย และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องออกแบบ ได้ประสานองค์ความรู้เพื่อให้เกิดจิตอาสาร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปรับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น

            3. จัดตั้ง “ศูนย์อยู่ดี” ในทุกอำเภอ โดยใช้โรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนหรือมีนักเรียนน้อย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบปรับสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย จัดให้มีอุปกรณ์พื้นบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม 

            4. ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้ลงทุนแข่งขันผลิตวัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย โดยเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นวัสดุและเทคโนโลยีพื้นบ้าน

            5. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับอาคารสาธารณะและอาคารที่อยู่อาศัย ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และทุพพลภาพ สำหรับอาคารที่สร้างก่อนกฎหมายใช้บังคับต้องปรับปรุงอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

3. มิติสุขภาพ

            1) สร้างมาตรการการให้คนไทยมีสุขภาพดีให้นานที่สุด ลดช่วงเวลาเจ็บป่วยและภาวะพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยลง พึ่งพาตนเองเป็นหลัก 

            2) สนับสนุนการจัดระบบดูแลระยะกลาง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้ว โดยจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพิการ

            3) ขยายระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) ช่วยผู้ที่ประสบภาวะยากลำบากอันเนื่องจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง

            4) จัดให้มีระบบอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ได้รับการฝึกอบรมที่ได้มาตรฐาน และสร้างระบบการดูแลที่บ้านตามตารางระยะเวลาที่เหมาะสมและชัดเจน

            5) ส่งเสริมให้ทุกคนมีแนวคิด “ตายดี” โดยเฉพาะช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ด้วยการสร้างความรู้ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดชีวิต แต่อาศัยบุคคล ครอบครัวและคนในชุมชนร่วมกันดูแลแทน 

4. มิติชุมชนสังคม

         1. ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมคนไทยอายุยืนร่วมกับชุมชน

            2. กระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้สามารถวางระบบรองรับสังคมคนไทยอายุยืนในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และสามารถดำเนินงาน ใช้ทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ

            3. ควรเปิดศูนย์เรียนรู้ร่วมกันของคน 3 วัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกับเด็กและเยาวชน ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้โรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนน้อยหรือไม่มีนักเรียน

            4. ส่งเสริมให้พระและผู้นำศาสนา มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาของสังคมคนไทยอายุยืนที่จะเกิดในอนาคต

ว่าที่สูงอายุในอานาคต

การเตรียมรับมือสังคมสูงอายุ ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ และไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสวัสดิการจากรัฐ แต่สังคมสูงอายุนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาวโดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ขึ้นไปกำลังจะเป็นแนวหน้าของการเข้าไปสู่การเป็นประชากรสูงอายุ ในยุคในอีก 20 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมความพร้อมไม่ว่าเป็นเรื่องของเงินออม การทำงานที่คนรุ่นใหม่จะต้องมีการ Upskill และ Reskill ของตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานในยุคใหม่ และที่สำคัญที่อยู่อาศัย ที่ตอบโจทย์ของเราในบั้นปลายของชีวิต หรือวัยเกษียณ การเตรียมตัวและการสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมรับเข้าสู้สังคมสูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน

ชวนอ่านข้อมูลผู้สูงอายุภาคเหนือเพิ่มเติม : https://thecitizen.plus/node/65113

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ