“สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” : เวทีถอดบทเรียนโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” จังหวัดสุรินทร์

“สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” : เวทีถอดบทเรียนโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” จังหวัดสุรินทร์

เรียบเรียง ธีรนันท์ ขันตี, สันติ ศรีมันตะ, พงษ์เทพ บุญกล้า

“เสียง” ของครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโมเดลผักอินทรีย์แก้จน กับการบุกเบิกโมเดลแก้จนผ่าน “ต้นทุนทางสังคม” ของชุมชน บางครั้งคนจนอาจ “จนใจ จนตรอก จนแต้ม” แต่การใช้ทุนมนุษย์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อการยกระดับสถานะและมาตรฐานผักอินทรีย์แก้จน และการขับเคลื่อนโมเดลผักแก้จนของท้องถิ่นและความต่อเนื่อง ผู้เขียนใช้ข้อมูลจาก เวทีสื่อมวลชนสัญจรจังหวัดสุรินทร์ : “สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” ในโครงการวิจัยการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ ด้วยโมเดล “ผักอินทรีย์แก้จน” สู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงเรียนบ้านยะวึก (ผจงราษฎร์วิทยาคาร) ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

การปลูกผักอินทรีย์แก้จน ไม่ใช่แค่สร้างอาหารและรายได้ แต่ยังเป็นการเปิด “พื้นที่” และ “โอกาส” ให้ครัวเรือนยากจน ที่เกิดขึ้นจากทุนการดำรงชีพของชุมชนมิติต่างๆ และการฟัง “เสียง” ของความต้องการที่ครัวเรือนยากจนไม่ตกตาข่ายความปลอดภายทางสังคม หรือ Social Safety Net และสวัสดิการทางสังคม

“เสียง” ของครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโมเดลผักอินทรีย์แก้จน

“โมเดลผักอินทรีย์แก้จน” ช่วยคนในชุมชนสร้างรายได้และกำลังใจ แม้ต้องเผชิญปัญหาความยากจนและปัญหาต่างๆ เช่น น้ำท่วม หนี้สิน และผลกระทบจากโควิด-19 การปลูกผักช่วยให้สมาชิกมีรายได้ สามารถใช้หนี้ และเลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาส การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และสร้างเครือข่ายสนับสนุน และความร่วมมือที่ช่วยให้ก้าวผ่านความยากจนและสร้างชีวิตที่ดีขึ้น นางสาวรามาวดี อินอุไร ประธานกลุ่มวิสาหกิจผักอินทรีย์แก้จน (ชุมชนยะวึก) คนจนกลุ่มเป้าหมายสู่วิทยากรผักแก้จน กล่าวว่า “ชุมชนของเราถึงจะจนก็จริงแต่พวกเรามีนา แม้ไม่มีข้าวกินเราก็ไปหาอย่างอื่น เราไม่มีเงินที่จะใช้ชำระหนี้ เราเจอโควิดแล้วรัฐบาลห้ามออกจากบ้านเราไม่สามารถไปเก็บถั่วขายได้ เรามีกำลังใจดีให้กำลังใจกันและกันและได้รับกำลังใจจากทุกภาคส่วน เราเป็นคนจน เราไม่มีเงินก็จริง แต่เรามีแรง”ขณะที่ นางจอมใจ แซ่เลา สมาชิกกลุ่มผักแก้จนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ครอบครัวประสบปัญหาน้ำท่วม และได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ กล่าวสะท้อนว่า ลูกเรียนกับเพื่อนไม่ได้ต้องไปเรียนที่อื่นเพราะเป็นเด็กพิเศษ “เวลาเขาไปเรียนเราก็คิดถึงเขาก็ได้กำลังใจจากเพื่อในกลุ่มสมาชิกปลูกผัก” ตอนนี้ความคิดถึงลูกก็คลายลง และขอบคุณมหาวิทยาลัยและครอบครัวที่เข้าใจและไปช่วยในกลุ่ม อีกทั้ง นางเบญจพร เสี้ยมแหลม สมาชิกกลุ่มผักแก้จน คนจนที่ประสบปัญหาการกู้เงินนอกระบบ กล่าวสะท้อนว่า โครงการวิจัยไม่ได้ให้แค่ความรู้อย่างเดียวแต่ยังให้ “โอกาส” และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พอเราเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงขึ้นทุกคนก็อยากเข้ามาสนับสนุน มีคนรุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ และการตลาด การทำให้คนมีรายได้เราก็มีแรงใจ การปลูกผักมีออเดอร์ทั้งนอกชุมชนและการรับซื้อโดยการจัดงานบุญประเพณี ให้โอกาสเราได้เลือกและได้ทำหลายอย่าง “บ้านเราเป็นถิ่นทุรกันดารอยู่กับความจนมาตั้งแต่เด็กมีนาทำแต่นาก็น้อย น้ำท่วม ได้ผลผลิตน้อย ข้าวตาย ไม่ได้ผลผลิต” จนมาตั้งแต่เด็กพอโตขึ้นก็เข้าไปหาทำงานรับจ้าง ได้กลับบ้าน กระทั่งได้เข้าร่วมกับโครงการแก้จนภายหลัง ตัวเองต้องใช้เงิน มีความอยาก อยากมีรถ อยากมีบ้าน เพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น มีการกู้หนี้ยืมสิน และตกเป็นหนี้จากการไปค้ำประกันให้กับคนที่รู้จัก คนที่ทำให้หนีเจ้าหนี้มาตามกับเรา ทางกลุ่มพอขายผักได้นำไปใช้หนี้และผัดผ่อน ญาติของเจ้าหนี้ได้มาช่วยรับผิดชอบในส่วนนั้น ผักที่ขายได้ให้ลูกไปโรงเรียน 20 บาท โดยไม่ต้องมีทุกข์ใจกับส่วนนี้แล้ว ปลดหนี้ได้และมีเงินให้ลูกไปโรงเรียน

การบุกเบิกพื้นที่ทางสังคมผ่านแนวคิดหลากมิติและองค์ความรู้ ทักษะ เทคนิค ให้ครัวเรือนยากจนได้มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างอาหารและรายได้ในครอบครัว ที่เกิดขึ้นจากการใช้จุดแข็งของชุมชนที่มีทั้งทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนทางสังคม และอื่นๆ ให้เปิดประโยชน์และครัวเรือนยากจนจับต้องได้

บุกเบิกโมเดลแก้จนผ่าน “ต้นทุนทางสังคม” ของชุมชน

การบุกเบิกโมเดลแก้จนโดยการบูรณาการการปลูกผักในโรงเรียน นำไปสู่การสร้างรายได้ให้ครอบครัวยากจนและส่งเสริมการศึกษาของเด็ก โดยเริ่มต้นด้วยการจัดสรรแปลงผักและการฝึกทักษะการปลูกผักอย่างประณีต ส่งผลให้ครัวเรือนที่เข้าร่วมมีผลผลิตผักอินทรีย์ และขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการระดมทุนในการพัฒนาแปลงผักและสร้างรายได้ให้กับสมาชิก บางชุมชนสามารถสร้างรายได้ถึง 50,000 บาทส่งผลให้ชุมชนยากจนมีโอกาสพัฒนาและลดความยากจน คุณสลักจิตร สงวนแก้ว ครูผู้บุกเบิกโมเดลแก้จน/การใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงเรียน การบูรณาการหลักสูตรผักแก้จนกับการเรียนการสอน กล่าวสะท้อนว่า มองถึงครอบครัวที่มีฐานะยากจนในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพื่อที่จะให้ลูกหลานในครอบครัวสามารถเข้าสู่การศึกษา มีการคัดเลือกครัวเรือนยากจน แบ่งแปลงผักได้คนละ 4 แปลง จำนวน 64 ครัวเรือน เริ่มต้นจากการปรุงแปลง การจัดการ การปลูกผักแบบประณีต มีขั้นตอนในการเพาะ และช่วยเหลือเต็มที่ ครอบครัวที่เข้าร่วมได้ผลผลิตที่สามารถส่งถึงห้างสรรพสินค้า แต่การทำไประยะหนึ่งเห็นว่า พื้นที่ในโรงเรียนน้อยลงจึงมีการคุยกันเพื่อให้เกิดการขยายพื้นที่ในการปลูกใหม่ในปัจจุบัน เป็นครั้งบุกเบิกกับกลุ่มแก้จนมีความประทับใจที่เป็นส่วนหนึ่ง มีการทำหลักสูตรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกผัก มีการสอนวิชาเกษตรกระทั่งเด็กมีความสามารถในการขายสร้างรายได้ระหว่างเรียน “ภาคภูมิใจที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครัวเรือนยากจนประสบความสำเร็จ” ซึ่ง นางเดือน สุนทรา ประธานกลุ่มผักแก้จน (ชุมขนหัวนาคำ) กล่าวสะท้อนถึงการระดมทุนจากเงินดิจิทัลมาต่อยอดอาชีพปลูกผักแก้จน ว่า เงินดิจิทัลออกมีการระดมเงินกันซื้อเสาร์ทำรั้ว เงินออกมามีการระดมทุนจากสมาชิก มีการนำเงินไปซื้อเสาที่มีความคงทนถาวร ทางหมู่บ้านมีการขายผักติดถนนใหญ่ที่มีคนสัญจรไปมามีรายได้เพิ่ม “ทุกวันนี้ออกไปยู่ที่แปลงผักกันจะได้ขายสินค้าของตัวเอง แต่ละคนมีรายได้คนละ 300-500 บาทต่อวัน”และ นายสุวัฒน์ เอกสันติ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัย (นครไทรงาม) กล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของการให้ความรู้และทักษะการปลูกผักสลัด การเก็บเมล็ดพันธุ์ และพัฒนาขึ้นมาเป็นศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ว่าขอบคุณที่มีการสนับสนุนกลุ่มผักปลอดภัยนครไทรงาม ได้เรียนรู้มาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากกลุ่มที่เป็นสถานที่ทิ้งขยะ ป่ารก ทำให้บริบทหมู่บ้านและชุมชนไม่สวยงาม คณะกรรมการหมู่บ้านมีการปรึกษาหารือกันเพื่อปรับพื้นที่สู่การเพิ่มมูลค่า และมีการพูดคุยเพื่อใช้สถานที่ เปิดรับสมาชิก “คนจน” มีการจัดสรรและพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนได้ข้ามมาศึกษาเล่าเรียน มีการพัฒนาการใช่ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง และการเรียนรู้กิจกรรมปลูกผัก สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นกอบเป็นกำ ยังไม่ถึงปีให้สมาชิกบางคนมีรายได้มากถึง 50,000 บาท และอนาคตคนจนจะลดลง

ปัญหาความยากจนมีความซับซ้อน หลากมิติ หลากหลาย การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนจึงต้องอาศัยพลังของภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาคชุมชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ขณะที่ชุมชนแห่งนี้มองเห็นจุดได้เปรียบในการดึงพระสงฆ์นักพัฒนาเข้ามาเป็นแนวร่วมในการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนพร้อมกับภาคีต่างๆ

“จนใจ จนตรอก จนแต้ม” : ทุนมนุษย์และบทบาท “พระสงฆ์” กับการแก้ไขปัญหาความยากจน

การยกระดับจิตใจและการบูรณาการการปลูกผักแก้จนกับคณะสงฆ์ ช่วยให้ชุมชนยากจนได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านจิตใจและการพัฒนาเศรษฐกิจ พระสงฆ์เป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่พึ่งในการปรับวิสัยทัศน์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น และโครงการได้ช่วยเน้นการสร้างความหวังและการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งผลักดันโครงการสำหรับคนไม่มีที่ดินทำกิน ผ่านการสนับสนุนจากงานวิจัยและการร่วมมือของพระสงฆ์และทุกภาคส่วน พระครูปริยัติกิจธำรง รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ กล่าวสะท้อนการยกระดับจิตใจและการบูรณาการร่วมกับผักแก้จน ว่า ที่ผ่านมาได้มีการวางหลักให้คณะสงฆ์มีส่วนช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนยากจน บางคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแต่มีความอ่อนแอทางด้านจิตใจ จึงต้องมีคนเข้าไปสะกิดและให้คำแนะนำ จึงเกิดโครงการการปลูกผักแก้จน มีการสนับสนุนและรักษาแนวทางเพื่อการต่อยอดบางอย่างจากคณะสงฆ์ ความจนในทัศนะของครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ระดับรายได้ของครัวเรือน ความด้อยโอกาส การต้องการการสนับสนุน องค์ความรู้ในการพัฒนาชีวิต และกรอบวิธีคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งใหม่มาทดแทนกับชีวิตที่เป็นอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤติของชีวิต “สิ่งที่มองจากองค์รวมคือการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการใช้ชีวิต และจะทำอย่างไรที่พระสงฆ์จะเป็นที่พึ่งได้” เมื่อมีความเชื่อแล้วต้องมองว่าจะเห็นประโยชน์ในวันข้างหน้าหรือไม่ จะทำอย่างไรที่เราจะโฟกัสได้ว่ามีประโยชน์ “วันนี้เราอาจจะขายผักชนิดหนึ่งได้ วันพรุ่งนี้เราอาจจะขายผักไม่ได้ แล้วฐานความเข้มแข็งของชุมชนคืออะไร”อย่าไรก็ตาม หากคนเรารู้สึกรักบ้านเกิดและอยากจะทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนงานเป็น “ความหวัง” สิ่งที่ให้ไปหรือการสนับสนุนนั้นตรงตามความต้องการหรือไม่ จะสามารถนำไปใช้ในการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ พระสงฆ์ให้ความเกื้อกูลช่วยเหลือในส่วนที่ทำได้ เมื่อชุมชนลำบากเราจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร “ใช้พระให้เป็นแล้วจะมีที่พึ่ง” ขณะที่ พระเดชพระคุณ ผู้ร่วมเวที กล่าวว่า “เป็นมรดกที่ทรงคุณค่าที่ถ่ายทอดถึงชาวชุมพลบุรี” ญาติโยมที่เดือดร้อนเราจะต้องทำตัวให้มีคุณค่าให้สมกับศรัทธาและความไว้วางใจ และการต่อยอดการทำงานผ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ในการสร้างหมู่บ้านรวมใจให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน มีการผลักดันให้มีที่อยู่อาศัย แต่มีเงื่อนไขว่า บุคคลนั้นจะต้องต่อสู้ “จนใจ จนตรอก จนแต้ม” คนเหล่านั้นมีความยากลำบาก การทำงานต้องให้โอกาสให้มีกำลังการต่อสู้ ได้ร่วมสนับสนุนตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา และอยากให้มีโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการเข้ามาสนับสนุนโดยอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

พลังของชุมชนและครัวเรือนยากจนนำไปสู่ความเข้มแข็งของการผลักดันโมเดลผักอินทรีย์แก้จน มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความรู้ด้านการยกระดับมาตรฐานการปลูก กระทั่งเกิดการผลิตผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพออกสู่ท้องตลาดและผู้บริโภค

การยกระดับสถานะและมาตรฐานผักอินทรีย์แก้จน

การทำงานในกลุ่มผักแก้จนที่แม้จะเจอปัญหาหลายอย่าง แต่สามารถยืนหยัดสู้เพื่อความสำเร็จได้ และได้รับกำลังใจจากมหาวิทยาลัยและเครือข่ายที่สนับสนุน กระทั่งเกิดการขับเคลื่อนกลุ่มไปสู่การได้รับมาตรฐาน GAP การบริหารจัดการกลุ่ม และการให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ ให้กับสมาชิกผ่านการปลูกผักอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ นางนงเยาว์ สิงห์ลอ เกษตรอำเภอชุมพลบุรี ผู้ร่วมขับเคลื่อนผักแก้จนสู่การได้รับมาตรฐาน GAP กล่าวสะท้อนว่าได้รับการทาบทามก่อนการทำงานแก้จนมาสักระยะ เพราะมีน้องที่เข้ามาเป็นวิทยากรและการลงพื้นที่ทำงาน พบว่า สิ่งที่เข้ามาคือการบริหารจัดการกลุ่มและการช่วยเหลือกันด้านเทคนิคต่างๆ ในการดูแลผัก รวมทั้งการผลิตผักแก้จนที่สร้างความเชื่อมั้นให้กับผู้บริโภค จึงจัดกระบวนการและผลักดันการรับรองมาตรฐาน GAP “เราโชคดีที่กลุ่มมีความพยายามและไม่ถอดใจกระทั่งผ่านมาตรฐานได้” การผลิตอินทรีย์ของเรามีข้อบกพร่องคือแนวกันชน มีความพยายามให้เกิดการผลิตตามมาตรฐานการปลูกผักอินทรีย์ ทุกวันนี้คนจนไปใช้ชีวิตที่แปลงผัก เพราะทำเลที่ตั้งติดถนน ทุกคนมีกระเป๋าคาดเอวสำหรับเก็บตังค์ หน่วยงานมีการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมทำงานและเรียนรู้กับชุมชน ซึ่ง นางนิตยา จันทอง สมาชิกกลุ่มผักแก้จน จากคนจนกลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวสะท้อนว่า การทำงานบางคนถอดใจอยากออกจากกลุ่ม เราเจอปัญหามาเยอะ ส่วนใหญ่สมาชิกเป็นคนสูงอายุ “ร้อนเราก็สู้ ดินเค็มเราก็สู้ พอเกิดการประสบความสำเร็จพวกเราก็ใจฟู” โดยเฉพาะการเข้ามาของมหาวิทยาลัยและคณะอาจารย์ บางครั้งที่หมดกำลังใจเราจะคิดถึงมหาวิทยาและและเครือข่ายหน่วยงานที่มาช่วยผลักดัน

การดำเนินการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายต่างๆ กระทั่งประสบความสำเร็จด้านการยกระดับรายได้และเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนยากจน รวมถึงทิศทางและแนวทางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การทำงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่

การขับเคลื่อนโมเดลผักแก้จนของท้องถิ่นและความต่อเนื่อง

ความสำคัญของ “พลังและความสามัคคี” ของคนในชุมชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่เพียงแค่ในตำบลยะวึก แต่เป็นตัวอย่างของการเชื่อมร้อยเครือข่ายร่วมกัน อีกทั้ง การทำงานเรื่องความยากจนต้องมองหาทางออก โดยมุ่งเป้าให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงสวัสดิการและให้ครัวเรือนยากจนที่มีหนี้สินเข้าถึงอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้กับชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ นายเสรี ชึรัมย์ นายกเทศมนตรีตำบลยะวึก สะท้อนแผนแก้จนตำบลยะวึก ว่า เทศบาลมีการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ให้เข้าใจกับแผนแก้จน  สิ่งสำคัญที่ได้ คือ “พลังและความสามัคคี” ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ใช่แค่ตำบลยะวึก แต่นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการเชื่อมร้อยเครือข่ายซึ่ง ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวสะท้อนว่า “การทำงานเรื่องความยากจนทำไปก็จะเห็นทางออก” ฐานทุนและโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ฐานงานวิชาการที่เข้มแข็งและเข้าถึงชุมชนที่มหาวิทยาลัยเข้าถึงคน จังหวัดสุรินทร์จะถูกยกเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์งานวิจัยของกระทรวง อว. ด้วยเป้า 2 เป้า คือ 1 ครัวเรือนยากจนหรือคนจนทั้งหมดต้องได้รับโอกาสหรือการเข้าถึงสวัสดิการ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีปัจจัย 4 และ 2 ครัวเรือนยากจนหนี้สิน ครัวเรือนยากจนเปราะบาง จะต้องเข้าถึงอาชีพ “โครงการนี้เป็นโครงการของคนสุรินทร์เพื่อคนสุรินทร์”

ภาพ : บรรยากาศเวทีสู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี

หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณโครงการวิจัยพัฒนาโมเดลแก้จน จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ