เพลงประกอบ “เด็กมีเรื่อง” — บทเพลงแห่งจิตสาธารณะ
“ดนตรีบรรเลงประกอบรายการ"เด็กมีเรื่อง"ไพเราะมาก ชอบจริงๆ
อยากจะขอทราบชื่อเพลง และผู้บรรเลง ขอขอบพระคุณ และขอแสดงความนับถือ”
คือข้อความจากอีเมล์ของผู้ชมท่านหนึ่ง ส่งมายังรายการ “เด็กมีเรื่อง”ของ ThaiPBS
ทำให้ดิฉันอยากเขียนถึงบทเพลงประกอบรายการนี้ เพราะที่มาของเพลงมีความพิเศษที่มากกว่าเพลงประกอบรายการค่ะ
ThaiPBS มีหน่วยงานที่ชื่อ สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง พวกเราทำหน้าที่ “ชวนคนดู มาเป็นคนทำ” หมายถึงกลุ่มคนที่มีประเด็นสำคัญที่เป็นสาธารณะ เราก็จะชวนฝึกอบรมเพื่อการสื่อสารสู่หน้าจอในรูปแบบต่างๆ เช่น นักข่าวพลเมือง กลุ่มคนที่พอมีศักยภาพด้านการผลิตบ้าง เช่นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ภูมิภาค เราก็ชวนพัฒนาทักษะที่เข้มข้นขึ้นเช่นการผลิตสารคดี และขยับขึ้นไปถึงระดับรายการ เช่นรายการ “เด็กมีเรื่อง”
ในการทำงานผลิตแต่ละลักษณะ มีความแตกต่างกันไป กรณีสารคดีและรายการแล้ว “ดนตรี” มีความสำคัญที่จะทำให้งานมีความรื่นไหล ส่งให้การสื่อสารมีความกลมกล่อม เพลิดเพลินรื่นรมย์หรือสะเทือนใจไปด้วย
เราเริ่มต้นการหนุนเสริมให้เครือข่ายผู้ผลิตในพื้นที่ได้พัฒนาทักษะการผลิตสารคดีตั้งแต่ปี 2552 ที่ภาคเหนือ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ เช่นบุคลากรจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งมาเป็นวิทยากร หรืออนุเคราะห์สถานที่ฝึกอบรม
เมื่อคิดถึงเรื่องดนตรีที่จะใช้ในการประกอบสารคดี ให้กับเครือข่ายที่เริ่มต้นฝึกปฏิบัติ การจะค้นหาดนตรีประกอบเรื่องได้ที่ไหน ที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ ไม่หยิบของผู้อื่นมาใช้เรื่อยเปื่อย ไม่หยิบมาใช้โดยไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ ถือเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับชาวบ้าน ชุมชน หรือกับผู้ผลิตระดับชุมชนที่กำลังเริ่มต้นพัฒนางาน และทุนรอนไม่ได้มีมากมายนักที่จะจ้างการผลิตเพลงสำหรับงานโทรทัศน์
แต่เป็นเรื่องโชคดีในพื้นที่เชียงใหม่ ที่มีการเรียนการสอนด้านดุริยางคศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยพายัพ ดิฉันจึงตัดสินใจที่จะหารือกับต้นทุนทางสังคมจากพื้นที่แห่งนี้ โดยเสี่ยงดวงโทรศัพท์ไปปรึกษา “ครูโจ บฤงคพ วรอุไร” ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ
ครูโจเป็นคนเชียงใหม่ มีผลงานด้านการผลิตสื่อหลายลักษณะ ผลิตงานเพลงมาแล้วหลายชุด ทั้งงานเพลงของอาจารย์เองและร่วมกันศิลปินท้องถิ่นภาคเหนือ รวมทั้งมีความฝันจะให้เกิดดนตรีสำเนียงเชียงใหม่ขึ้นในแผ่นดินล้านนา
การปรึกษาหารือถึงบทเพลงที่จะพอให้เครือข่ายที่มาฝึกอบรมได้ใช้ประกอบชิ้นงานสารคดี เพื่อการพัฒนาศักยภาพของคนในท้องถิ่นทางโทรศัพท์ สั้น กระชับ และชัดเจนยิ่ง ครูโจตอบว่า “ยินดีมากที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้” พร้อมนัดหมายส่งบทเพลงที่ครูได้แต่งไว้หลายต่อหลายเพลงเพื่อให้พวกเราได้ใช้ทำงานนี้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น
บทเพลงจากอัลบั้ม “ลำไผ่ในตึกสูง”ถูกเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือหลายสิบคนได้ใช้ในการผลิตสารคดีสั้นเพื่อออกอากาศในรายการ “ทีวีจอเหนือ” รายการนำร่องสร้างสถานีโทรทัศน์สาธารณะระดับภูมิภาคของ ThaiPBS บางชิ่นงานได้รับการเผยแพร่สู่หน้าจอกลางอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเราผลิตรายการ “เด็กมีเรื่อง” เราเฟ้นหาบทเพลงที่จะใช้ในการประกอบรายการ ย่อมต้องคิดถึงบทเพลงของครูโจ
คุณเลี่ยว เจริญกูล เฉลียวเกรียงไกร ที่ปรึกษารายการเด็กมีเรื่อง ค่อยฟังบทเพลงในอัลบั้ม และเลือกที่จะนำบทเพลงท่อนท้ายของคลิปหนึ่งมาเป็นเพลงที่ใช้ในไตเติ้ลรายการ ซึ่งพวกเราทุกคนก็ชื่นชอบและประทับใจกับบทเพลง และตัดสินใจใช้เพลงนี้ในการเดินเรื่องทุกตอน
ดิฉันนำเดโมรายการเด็กมีเรื่องตอน “เดปอทู” ที่ผลิตเป็นตอนแรก ไปให้ครูโจดูเพื่อขออนุญาตใช้บทเพลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง รอยยิ้มของครูโจและถ้อยคำให้กำลังใจในการทำงานด้านสื่อเพื่อหนุนเสริมให้คนท้องถิ่นได้พัฒนาด้านการสื่อสารทำให้พวกเรามั่นใจในการทำงานนี้ แม้จะค่อนข้างเหนื่อยและแตกต่างจากการผลิตรายการแบบทั่วไป
ครูโจให้ข้อมูลเรื่องงานเพลงว่า ส่วนใหญ่เพลงที่มอบให้มาใช้งานกับเครือข่ายจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด บางเพลงจะมีคนช่วยเรียบเรียง คือคุณธนากร กาญจนสุกร์ แต่ถ้าเพลงไหนมีเสียงเตหน่า ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ปาเกอญอก็เป็นเพลงที่ครูโจร่วมทำงานกับ ชิ สุวิชาญ
สำหรับเพลงประกอบ “เด็กมีเรื่อง” นั้น ชื่อจริงๆ ของเพลงนี้คือเพลง “แม่สะลอง” อยู่ในชุด “ลำไผ่ในตึกสูง” โดยทั้งท่อนที่ช้า และท่อนที่เร็วที่เลือกใช้ในรายการ เป็นเพลงเดียวกัน
“ท่อนช้า ผมแต่งตอนอยู่ที่อเมริกาเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้วครับ มีเพื่อนฝรั่งที่เล่นซอจีน เห็นซอ ก็เลยนึกถึงบรรยากาศหมู่บ้านจีนที่สันติคีรี ดอยแม่สะลองครับ แต่งเพื่อให้เพื่อนคนนั้นแสดงในคอนเสิร์ท ส่วนท่อนเร็ว แต่งตอนกลับมาเมืองไทยแล้วเมื่อปี 2545 ครับ”
ครูโจบอกว่ากำลังมีอัลบั้มใหม่ และยินดีให้ภาคประชาชนได้ใช้ในงานพัฒนา เราเคยคุยกันไว้ว่าโอกาสของการมีการทำงานด้านสื่อสาธารณะในพื้นที่ภูมิภาค อาจได้ร่วมกันสร้างสรรค์สื่ออีกลักษณะคือสื่อทางดนตรีที่จะเชื่อมโยงกับชิ้นงานโทรทัศน์ โดยให้กลุ่มเยาวชนที่กำลังอยู่ในการเรียนรู้การสร้างงานลักษณะนี้ได้ลงมือทำจริงและใช้งานได้จริง เช่นการแต่งเพลงให้เข้ากับชิ้นงานที่ผลิตขึ้นเพื่อการสื่อสารอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ออกแบบไว้ในความคิดและหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะลงมือ
และนี่คืออีกหนึ่งต้นทุนจากสังคมที่มีจิตสาธารณะ ที่เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์บนเส้นทางของการสื่อสาร.
อัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้ชำนาญการสำนักเครือข่ายสื่อภาคพลเมือง
ฟังเพลงประกอบรายการเด็กมีเรื่องแบบเต็มเพลง พร้อมภาพประกอบการทำงานหลังจอ "เด็กมีเรื่อง" ของทีมผลิต
เพลงประกอบรายการเด็กมีเรื่อง 0002 (Embedding disabled, limit reached)