Don’t be fooled by changes in Burma.

Don’t be fooled by changes in Burma.

Don’t be fooled by changes in Burma.

ระหว่างการไปเยือนพม่า ของนางฮิลลารี คลิตัน  ดิฉันอยู่ที่เชียงใหม่ และได้ร่วมฝึกปฏิบัติการผลิตสารคดีข่าววิทยุร่วมกับคณะการสื่อสารมวลชน ม.ช. และ Asia Calling สำนักข่าวทางเลือกจากอินโดนีเซีย ซี่งเชี่ยวชาญการผลิตสารคดีวิทยุและสื่อใหม่จากเครือข่ายทั่วเอเชีย
สิ่งที่รีเบคก้า วิทยากรแลกเปลี่ยนกับเราคือกระบวนการทำข่าววิทยุ ซึ่งมีสไตล์และธรรมชาติของสื่อที่แตกต่างจาอสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์
กระบวนท่าของการทำงานไม่ได้แตกต่างจากการผลิตข่าวพลเมืองที่ฉันคุ้นเคยนัก หากแต่การย่อยสิ่งที่ได้มาสื่อสารในรูปแบบของวิทยุ  ผนวกกับการวิเคราะห์ประเด็นให้เชื่อมกับความสนใจของนานาชาติต่างหากคือสิ่งใหม่ที่ทำให้การฝึกปฏิบัติน่าสนุกสนาน

           

ภายใต้การฝึกฝน  เราได้ปฏิบัติการจริง ลงมือในประเด็นที่ผ่านการแลกเปลี่ยนกันถึงความสำคัญที่ต้องนำเสนอ   เราเลือกไปทำข่าว “การเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในพม่า” โดยตัวแทนชนกลุ่มน้อยและนักกิจกรรมไปรณรงค์ที่หน้าสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่ในวันเดียวกันกับที่นางฮิลลารี คลินตันไปกรุงเนอร์ปีดอ   ชิ้นงานข่าววิทยุ  เป็นงานกลุ่มที่ฝึกปฏิบัติร่วมกันกับเพื่อน(กิ่งจาก FM 100 พี่อ้อม จาก ประชาชาติ)  ส่วนเนื้อหาภาษาไทยด้านล่างนี้ ฉันขอเก็บรายละเอียดมาขยายความเพื่อขจัดข้อจำกัดด้านเวลาของสื่อวิทยุ เพราะเนื้อหานี้ฉันอยากเผยแพร่ทางออนไลน์ที่มีคุณสมบัติของสื่ออีกลักษณะค่ะ
 ——————————————————————————————
แม้นางฮิลลารีคลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา  จะชื่นชมกับพัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศพม่า    แต่ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์และนักกิจกรรมในเชียงใหม่  พยายามเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง โดยชี้ให้เห็นสถานการณ์ที่น่าห่วงใยในพม่าที่ยังคงมีสื่อมวลชนและนักโทษทางการเมืองไม่ได้รับการปล่อยตัว รวมถึงความชัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยยังทวีความรุนแรงขึ้น     

                     ความเปลี่ยนแปลงในพม่า จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้หรือ ?   ยังเป็นข้อกังขาสำหรับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่าและกลุ่มนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนชาวตะวันตก ที่มารวมตัวกันบริเวณหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ 

            ทามไอ – เด็กหนุ่มในชุดประจำชาติไทยใหญ่และเพื่อนๆ  นำโปสเตอร์เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ปล่อยตัวขุน ทูน อู นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาติพันธุ์ไทยใหญ่แต่ถูกคุมขังอยู่ในคุกเป็นเวลานานแล้ว  และแม้ไม่นานมานี้รัฐบาลพม่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากว่า  300 คน แต่ยังมีจำนวนนักโทษการเมืองอีกนับพันคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในคุก


   “เขาคือขุนทูนอู  ผู้นำพรรคการเมืองของไทยใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 เขาได้รับคะแนนมาเป็นที่ 2 รองจากอองซานซูจี แต่ตอนนี้เขาต้องอยู่ในคุก เป็นนักโทษการเมืองที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เช่นกันกับนักโทษการเมืองอีกเป็นจำนวนมาก”
              การชุมนุมเพื่อเรียกร้องเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยครั้งนี้  เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนพม่า   ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกากดดันให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด 
        เก็ตตี้ ผู้นำกลุ่ม “The Best Friend Library” อ่านแถลงการณ์ต่อหน้าผู้ชุมนุมในประเด็นนี้ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัค โอบาม่าอาจมองเห็นสัญญานความคืบหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า แต่ในความเป็นจริง ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าในหลายกรณี


   “ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขึ้นสู่ตำแหน่ง ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย มีการข่มขืน ทรมาน การฆ่าแบบไม่เคารพกฎหมาย และการใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์และเป็นผู้กวาดทุ่นระเบิด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกรายงานออกมาเป็นจำนวนมากโดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีนักโทษการเมืองในประเทศกว่า 1,700 คนซึ่งคนพวกนี้ถูกคุมขังเพราะกิจกรรมทางการเมืองของพวกเขา”
               ผู้ที่มาร่วมรณรงค์ครั้งนี้ยังถือโปสเตอร์ “Free Burma VJ”มาเรียกร้องด้วย   เพราะเสรีภาพทางการสื่อสาร ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศประชาธิปไตย  ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นในการเปลี่ยนแปลงของประเทศพม่าครั้งนี้   
   
                  ภาพยนต์ที่ได้รับการกล่าวขานในการเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง “Burma VJ”   สะท้อนให้เห็นความทุ่มเทและเสี่ยงชีวิตที่จะนำภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลทหารปฏิบัติต่อประชาชนชาวพม่าออกสู่สายตาชาวโลก  ….ความพยายามทำความจริงให้ปรากฏอาจสำเร็จ แต่ชะตากรรมของผู้สื่อข่าว DVB 14 คนกลับมืดมน พวกเขาต้องโทษถูกคุมขังนับสิบปี 
                  อาลี  ตัวแทนกลุ่มรณรงค์  Free Burma VJ บอกเล่าชะตากรรมของผู้สื่อข่าวเหล่านี้ต่อผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวพวกเขา
   “มีนักข่าวพลเมืองของพม่าอีก 14 คนที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่  เพื่อนร่วมอาชีพของเรา 5 คนในโปสเตอร์ต้องโทษ 20-30 ปี ข้อหาเพียงไปสัมภาษณ์พระ  …. โปรดส่งเสียงแทนพวกเขา เพราะพวกเขาพยายามส่งเสียงแทนคนพม่า “
     ในขณะที่เสียงบรรยากาศการปรองดองจากข้างรัฐบาลพม่าจะเพิ่มมากขึ้น   แต่เสียงการปะทะระหว่างทหารของรัฐบาลพม่า กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนรัฐฉานยังดังขึ้นต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นด้วย
               ก่อนที่กองทัพรัฐฉาน SSA/RCSS กลุ่มเจ้ายอดศึก และ รัฐบาลพม่า จะเจรจาสงบศึก แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางตอนเหนือของพม่า  กองกำลังกะฉิ่น ปะทะกับกองกำลังทหารพม่าอย่างรุงแรง

 

               หน่อคำ ชาวคะฉิ่นที่ต้องอพยพมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 7 ปีมาร่วมรณรงค์ครั้งนี้  ท่ามกลางการเดินหน้าเจรจาปรองดอง  แต่ในเขตของกลุ่มชาติพันธุ์หลายพื้นที่ยังมีการสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลพม่า  โดยเฉพาะในรัฐคะฉิ่นบ้านเกิดของเขา

   “หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลพม่าพยายามเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประชาธิปไตย  แต่ผมยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพราะในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีการสู้รบต่อเนื่อง  โดยเฉพาะที่คะฉิ่น ที่พวกเราถูกเข่นฆ่า ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัว  ยากลำบากที่ต้องหลบหนีหาที่ปลอดภัยตามป่าเขา แนวชายแดน ขาดอาหาร ขาดที่อยู่ ถูกฆ่า”
                  นับจากการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่าผ่านพ้นไป 1 ปี  และมีแนวนโยบายในการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์  แต่สถานการณ์สู้รบของรัฐบาลพม่ากลับทวีความรุนแรง เข้มข้นเพิ่มขึ้นจาก 2 กลุ่มเป็น 5   กลุ่ม ผู้คนต้องอพยพหนีภัยสงครามกันอย่างยากลำบาก
   “ปัญหาไม่มีทางยุติ หากรัฐบาลยังใช้วิธีปราบและสู้รบ  สิ่งที่ผมอยากพูดคือการตั้งโต๊ะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น และหยุดฆ่า”

              ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้  คือการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์  ที่ต้องอาศัยการเจรจาทางการเมืองร่วมกันตามข้อเสนอของสภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพหรือ UNFC  แต่สิ่งที่พวกเขายังแคลงใจคือรัฐบาลพม่ายังคงเลือกที่จะเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ทีละกลุ่มๆ แต่ ขณะเดียวกันก็ยังไม่วางอาวุธเพื่อปราบปรามไปพร้อมๆ กัน  ซึ่งความหวังหนึ่งเดียวของตัวแทนชาติพันธุ์อย่าง หน่อคำ คือการเจรจาระหว่างกันจะทางออกทางเดียวที่จะยุติปัญหาทางการเมืองที่ยาวนานได้
        ความหวังที่จะก่อให้เกิดสันติภาพ การปรองดองและประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสำหรับประเทศพม่า มิอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเพียงจากระดับชนชั้นนำ หรือกับในกลุ่มคนที่เป็นรัฐบาลเท่านั้น
              หากแต่ความเปลี่ยนแปลงสู่พม่าในโฉมหน้าใหม่ของความเป็นประชาธิปไตยจะต้องประกอบสร้างด้วยเสรีภาพและการปรองดองจากผู้คนหลายฝ่าย 
           ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษการเมือง สื่อมวลชน และการเจรจาอย่างจริงใจกับกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายที่ประกอบสร้างเป็นประเทศนี้   คือสิ่งที่กลุ่มคนที่มาชุมนุมหน้าสถานกงสุลอเมริกัน ประจำจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า คือคำตอบของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

 ชิ้นงานสารคดีเชิงข่าววิทยุ  — เป็นงานฝึกปฏิบัติของทีมอ้อจากข่าวชิ่้นนี้ค่ะ  — ในทีมมีกิ่ง FM 100 และพี่อ้อมประชาชาติ  วางแผนงาน ลงปฏิบัติ โครงสคริปต์ หัดลงเสียง เรียนรู้โปรแกรมตัดต่อค่ะ   —- ลองฟังขำขำค่ะ

                          Don't be fooled by changes in Burma (Embedding disabled, limit reached)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ