‘พะลึนศึกษา’ บอกให้รู้ว่า คนท้องถิ่นพร้อมรักษาผืนแผ่นดินอย่างสุดกำลัง

‘พะลึนศึกษา’ บอกให้รู้ว่า คนท้องถิ่นพร้อมรักษาผืนแผ่นดินอย่างสุดกำลัง

นิจนิรันดร์ อวะภาค
นักวิจัยและรณรงค์
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
18 กันยายน 2558

หากจะกล่าวถึงการลงทุนขนาดใหญ่ไม่ว่าจะโดยภาครัฐ ภาคเอกชน หรือโดยการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ที่เรามักจะได้ยินเรียกขานกันในนาม “โครงการพัฒนา” ทั้งหลาย ทั้งที่มาในรูปของเขื่อน โรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม หรือท่าเรือน้ำลึก เป็นอาทิ คนเมืองอย่างเราๆ คงเกิดมโนทัศน์ต่อสิ่งเหล่านี้ไปในทางบวก ด้วยสภาพแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมหรือแม้แต่ปลูกฝังให้เชื่อว่าการพัฒนาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคน และโครงการต่างๆ ที่กล่าวมานั้นคือแนวทางหลักของการพัฒนา 

นั่นไม่ใช่สิ่งผิด แต่ในขณะเดียวกันก็อาจไม่เป็นธรรมนักกับคนท้องถิ่นในประเทศที่รับการลงทุน ซึ่งหลายๆ ครั้งต้องจำยอมรับชะตากรรมที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างไร้ทางสู้ 

จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในประเทศไทยเรานั้น ได้พบเห็นสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” มานับครั้งไม่ถ้วน ความเจ็บปวดสิ้นหวังเบื้องหลังโครงการพัฒนาหรูหราอลังการต่างๆ นานานั้น ราวกับถูกล็อคปุ่มฉายซ้ำไม่สิ้นสุด แต่อย่างไรก็ดี ใช่ว่ากระบวนการเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น หลายคราเมื่อหลังชนฝา ก็เป็นธรรมดาที่ต่อมความกล้าจะถูกปลุก 

ประชาชนคนรากหญ้าในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยได้บทเรียนล้ำค่าที่แลกมาด้วยน้ำตา สุขภาพ และแม้แต่ชีวิต ผ่านเวลาเนิ่นนานจนสามารถลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ และมีพัฒนาการวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ได้อย่างน่าสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังยังสามารถเชื่อมโยงส่งต่อบทเรียนราคาแพงไปยังเพื่อนบ้านที่กำลังจะประสบชะตากรรมเดียวกัน 

แต่ก็แน่นอนว่า ความแตกต่างของบริบททางพื้นที่ วิถีชีวิต รวมถึงลักษณะ ขนาด และผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการ ล้วนส่งผลถึงรูปแบบในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงของคนท้องถิ่นทั้งสิ้น กล่าวคือ หากสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คนไม่เอื้อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีระหว่างกัน ย่อมไม่แปลกหากความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาจะสามารถสั่นสะเทือนทั้งผู้คนและวิถีชีวิตของพวกเขาได้โดยง่าย เมื่อชุมชนอยู่ในสภาวะเปราะบาง โครงการก็เกิดขึ้นได้ง่ายราวกับปอกกล้วยเข้าปาก 

ในทางกลับกัน หากพื้นที่และวิถีชุมชนหนุนเสริมซึ่งกันและกัน คนท้องถิ่นรู้คุณค่า หวงแหนทรัพยากรที่มี และที่สำคัญรู้ถึงสิทธิของตนและของชุมชนในการปกปักรักษาทรัพยากรและถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งหากคนในพื้นที่สามารถคาดเห็นได้ว่าโครงการใดจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ สร้างความวิตกกังวลหรือความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เข้ามาพร้อมเงินทุนมหาศาลเพียงใด รวมถึงมีความสัมพันธ์อันดีกับภาครัฐหรือผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการขนาดไหน ก็มีโอกาสสะดุดหยุดชะงักลงได้เช่นกัน 

เมื่อกล่าวถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ในหลายๆ พื้นที่ของเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศเมียนมากำลังตกเป็นเป้าหมายของเหล่านักลงทุน โดยในจำนวนมากมายนั้น มีหนึ่งพื้นที่น่าสนใจตั้งอยู่ในเมืองเยของรัฐมอญ ซึ่งล่าสุดกำลังถูกรัฐบาลใส่พานถวายให้กับบริษัทต่างชาติเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีประชาชนในพื้นที่จะทราบข้อมูลโครงการเพียงน้อยนิด ทว่านั่นกลับทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำมาหาเลี้ยงชีพของพวกเขานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

ประเด็นน่าสนใจมิได้มีเพียงแค่ว่าพวกเขาจะคัดค้านโครงการหรือไม่ หากแต่อยู่ที่ว่าคนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อคลายความวิตกกังวลดังกล่าว 

ดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น ทุกบริบทมีผลต่อจุดยืนและการเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของเมืองเยนั้น หลังจากที่ความวิตกกังวลถูกจุดชนวนขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2557 เรียกได้ว่าแทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ ผู้อาวุโส คนวัยทำงาน หรือแม้แต่เยาวชน ต่างพากันตื่นตัวและร่วมมือระดมสมองมองหาหนทางจัดการกับความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคต โดยตั้งต้นจากคำถามที่ว่า อะไรจะช่วยสนับสนุนจุดยืนในการปกปักรักษาทรัพยากร วิถีชีวิต ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของพวกเขาให้ดำรงอยู่สืบไป 

วิธีการที่ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านของเมืองเย อันได้แก่ อังแตง นิเกรอะ เคาะเคลีย ซายแกรม นินู่ และบาลายแซม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทอดยาวขนานไปตามแนวภูเขาที่เรียกว่า “พะลึน” เลือกใช้เพื่อสร้างช่องทางในการสื่อสารกับสังคมภายนอกถึงวิถีชีวิตอันสงบสุขและเรียบง่ายซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศของพื้นที่ นั่นก็คือการเก็บข้อมูลและจัดทำรายงานการศึกษาว่าด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและความมั่งคั่งของชุมชนในพะลึน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “พะลึนศึกษา” แน่นอนว่าเป้าหมายใหญ่ก็เพื่อหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างไรก็ดี ความสำคัญสูงสุดอยู่ที่การเป็นสื่อกลางดึงดูดให้คนในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการ เป็นเจ้าของการศึกษานี้ และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนของตนอย่างแท้จริง 

จริงอยู่ที่รายงานการศึกษาดังกล่าวจัดทำขึ้นด้วยแรงผลักสำคัญ คือความวิตกกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดหากแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกลายร่างเป็นรูปธรรม แต่เมื่อเริ่มทำการศึกษาจริงๆ แล้วจะพบว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทางนั้นน่าสนใจกว่ามาก ทั้งนี้เพราะมันไม่เพียงสื่อให้เห็นถึงความสามัคคีระหว่างผู้คน ความพึงพอใจในวิถีเรียบง่ายและรักในถิ่นฐานบ้านเกิดของคนที่นั่นเท่านั้น แต่สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ ความพยายาม ความกระตือรือร้นและตั้งอกตั้งใจ ความสนใจใคร่รู้ความเป็นมาเป็นไปและเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนที่ตนเป็นส่วนหนึ่ง 

สอดคล้องตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาซึ่งคนพะลึนยึดถือที่ว่า “การแสวงหาสัจจะหรือความจริงภายในตนเองนั้น ถือเป็นสิ่งประเสริฐยิ่ง” ใช่หรือไม่หากจะสรุปหลักคำสอนนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของชาวบ้านพะลึนว่า “หากไม่รู้จักตนเอง จะรักตนเองได้อย่างไร” 

ใครที่ได้ทราบถึงขั้นตอนการทำงานศึกษาดังกล่าวของชาวบ้านพะลึนตั้งแต่ต้นจนจบ ย่อมจะเข้าใจดีว่า “พะลึนศึกษา” มิได้จัดทำขึ้นโดยง่าย แม้จะได้รับคำแนะนำและสนับสนุนด้านแนวทางการเก็บข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่มอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือทั้งหมดที่ชาวบ้านจะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนซึ่งมีพื้นฐานการใช้ชีวิตพึ่งพาเพียงทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ตัว จะต้องมาเก็บข้อมูลแล้วนำมาสังเคราะห์ เพื่อวิเคราะห์ให้ได้ว่าหากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตและการหาอยู่หากินของพวกเขามากน้อยเพียงใด โดยมีความยากอีกประการหนึ่งประกบคู่กันไปนั่นคือความเร่งด่วน ด้วยไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นเมื่อใด

นอกจากนี้ ความเร่งด่วนยังทำให้ต้องลดจำนวนประเด็นที่จะศึกษาลง คงไว้เพียงการเก็บข้อมูลเพื่อทำการศึกษาในประเด็นสำคัญๆ อันได้แก่ วิถีชีวิตในชุมชนพะลึน การทำสวนหมาก (พืชเศรษฐกิจซึ่งโดดเด่นมากในพื้นที่นี้) การทำนาข้าว และการทำประมง ซึ่งทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอย่างชัดเจน โดยเชื่อมโยงกันผ่านทางการบริโภคในครัวเรือน รวมไปถึงปริมาณรายได้จากการขายผลิตผลแต่ละชนิด 

ตัวอย่างผลสำรวจที่ได้ อาทิ 4 หมู่บ้านของชุมชนพะลึนมีรายได้จากการปลูกหมากในพื้นที่ 1,525 ไร่ เป็นเงินอย่างน้อย 91,167,273 บาทต่อปี และใน 2 หมู่บ้านซึ่งทำประมงเป็นหลัก ชาวบ้านมีรายได้จากการทำประมงในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 สูงถึง 71,900,000 บาท ในขณะที่ผืนดินราว 645 ไร่ ในเขต 6 หมู่บ้าน ก็สามารถให้ผลผลิตข้าวมากถึง 2,482,520 ลิตรต่อปี เป็นต้น  

20152009012707.jpg
แผงตากปลาแห้งที่บ้านเคาะเคลียซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำประมงเป็นหลัก โดยในกระบวนการแยกและตากปลานั้นมีผู้หญิงเป็นแม่งาน 
ภาพโดย TERRA

20152009012718.jpg
นาข้าวที่บ้านอังแตงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริเวณนี้อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ที่มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 
ภาพโดย TERRA

การศึกษาที่คนพะลึนทำนั้น อาจเทียบไม่ได้กับผลงานทางวิชาการทั้งหลายในแง่ของหลักการทางวิชาการ แต่หากจะพูดกันในแง่ของข้อเท็จจริงและคุณค่าของการศึกษาแล้ว ต้องยอมรับว่าย่อมไม่มีใครที่จะรู้จัก เข้าใจ และกุมสภาพพื้นที่ได้ดีไปกว่าผู้คนในชุมชนพะลึนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังอาจเรียกได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างแท้จริง เนื่องจากระหว่างการเก็บข้อมูลทำการศึกษานั้น ชาวบ้านได้นำเอาข้อค้นพบบางส่วนไปใช้ในการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเมื่อครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่หน้าวัดอังแตงเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของประชาชนราว 8,000 คนในรัฐมอญ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

พลังดังกล่าวชี้ชัดกระบวนการเรียนรู้และการจัดทำ “พะลึนศึกษา” ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านพะลึนได้อย่างมาก 

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรับรู้และบอกต่อเรื่องราวของตนแก่ชาวมอญในไทยและสาธารณชนคนไทยโดยรวม เพื่อแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และย้ำจุดยืนในการคัดค้านได้ถูกฝ่ายบ้านเมืองของไทย (ประเทศต้นสัญชาติของบริษัทที่ไปลงทุน) แต่งานประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวถูกห้ามจัด 

แน่นอนว่าชาวบ้านที่เดินทางมาพร้อมข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ย่อมผิดหวังอยู่บ้าง แต่เชื่อเถิดว่าการศึกษาที่สำเร็จออกมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขานั้นไม่มีทางสูญเปล่า และสิ่งนี้ก็กำลังบอกกับเจ้าของโครงการหรือนายทุนอยู่กรายๆ ว่าพวกเขายิ่งกว่าพร้อมที่จะปกปักรักษาผืนดินถิ่นเกิดของตนอย่างสุดกำลัง ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “การศึกษา” นั่นเอง

“พะลึนศึกษา” อาจกำลังบอกเราทุกคนด้วยว่า ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรอกที่ซ้ำรอยตัวเอง มนุษย์เราต่างหากที่ยังก้าวไม่พ้นจากกับดักเดิมๆ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ