10 สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

10 สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

“ภัยพิบัติ” แม้คำนี้ดูเหมือนว่าจะสร้างความคุ้นเคยแก่ผู้อ่านผู้ชมจากการติดตามข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายลักษณะผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ แต่เมื่อกองบรรณาธิการลองค้นดูความหมายจากเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจ จาก สำรวย นักการเรียน ระบุว่ารายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ของราชบัณฑิตยสถานซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  2551 นั้น ได้อธิบายไว้ว่า  คำว่า ภัยพิบัติ (อ่านว่า ไพ-พิ-บัด) ประกอบด้วยคำว่า ภัย หมายถึง สิ่งที่ทำให้กลัว หรืออันตราย กับ คำว่า พิบัติ หมายถึง ความฉิบหาย หรือหายนะ ภัยพิบัติ หมายถึง อันตรายที่นำไปสู่หายนะ หรือหายนะที่เป็นอันตราย มีทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุไซโคลน ภูเขาไฟระเบิด เป็นภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เครื่องบินตก เรือล่ม รถไฟตกราง สงคราม เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คำว่า ภัยพิบัติ อาจใช้ว่า พิบัติภัย (อ่านว่า พิ-บัด-ไพ) ก็ได้ เช่น ทุกประเทศควรมีระบบป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูผลอันเนื่องมาจากพิบัติภัย

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น สำรวย นักการเรียน ได้อธิบายเพิ่มเติม ดังนี้ คำว่า ภัยพิบัติ เป็นการแปลจากคำหน้าไปหลัง คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า ภัยที่ทำให้พิบัติ อันตรายที่นำไปสู่หายนะ ส่วน พิบัติภัย นั้น เป็นการแปลตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต คือ แปลจากคำหลังไปหน้า คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า พิบัติที่มีมาจากภัย ความหายนะที่มาจากอันตราย ดังนั้น ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย นั้น มีความหมายทำนองเดียวกัน

นอกจากความหมายของ “ภัยพิบัติ” และ “พิบัติภัย” กองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮง จะขอนำข้อเขียนของ ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเรียบเรียง เมื่อสิงหาคม 2566 ที่มีการจัดอบรมนักสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยอธิบายและสะท้อนมุมมองผ่านสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หรือผู้ประสบภัยพิบัติได้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อต้องเผชิญเหตุ ตลอดจนการเป็นผู้ให้หรือรับความช่วยเหลือ ผ่าน 10 สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสำหรับบุคคลทั่วไป ดังนี้

1.การช่วยเหลืออาหารสด

เมื่อไปบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัยพิบัติ คนส่วนใหญ่จะบริจาคข้าวกล่องโดยเฉพาะข้าวผัด ขอแนะนำว่าควรงดข้าวกล่อง หรือข้าวที่บรรจุถุงเนื่องจากอาหารบูดง่าย บางครั้งกว่าจะถึงมือผู้รับก็ใช้เวลานาน ข้าวกล่อง/ถุง ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และต้องมั่นใจว่าจะถึงมือผู้เดือดร้อนก่อนอาหารจะบูด

อาหารสดที่เหมาะสำหรับผู้ได้รับผลกระทบควรเก็บไว้ได้ 1-2 วัน เช่น ข้าวหลาม ขนมข้าวเหนียว ข้าวเหนียวสุก หมูทอด เนื้อทอด ปลาทอด ฯลฯ

สำหรับการรวมกลุ่มไปทำอาหารสดเพื่อแจกผู้ได้รับผลกระทบ ควรทำสำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และไม่ควรเป็นข้าวผัด เพราะกรณีนี้มักจะหมุนเวียนกันไปทำอาหารให้ผู้ประสบภัยและคนส่วนใหญ่มักจะทำข้าวผัด ทำให้ผู้ประสบภัยต้องกินข้าวผัดทุกมื้อ ดังนั้น ควรเป็นอาหารอย่างอื่นบ้าง (ที่เหลือครีเอตเอาเองครับ)

สำหรับผู้ประสบภัย การตั้งครัวกลางโดยผู้ประสบภัย จะสามารถแก้ไขอาหารที่ซ้ำซากจำเจได้

2.การช่วยเหลืออาหารแห้ง

คนส่วนใหญ่จะบริจาคบะหมี่สำเร็จรูป หรือโจ๊กคัพ ในความเป็นจริง อาหารเหล่านี้อาจจะเป็นที่ชื่นชอบของคนในเมือง/วัยรุ่น แต่สำหรับคนในชนบทแล้ว อาหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการ ประสบการณ์ที่พบก็คือ บางพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมต้องส่งอาหารแห้งเหล่านี้คืน

อาหารแห้งที่ควรบริจาคคือ ข้าวสาร และเครื่องเทศต่างๆ สำหรับปรุงอาหาร เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม มะนาว ผักสดที่เก็บได้หลายวัน เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฯลฯ รวมทั้งน้ำดื่มสะอาด เครื่องดื่ม และขนมแห้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

3.บริจาคอาหารให้คำนึงถึงวัฒนธรรม

ในการบริจาคอาหารทั้งสดและแห้งตามข้อ 1 และ 2 สิ่งที่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งศูนย์ที่นำอาหารไปช่วยเหลือไม่ค่อยคำนึงถึงคือ อาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาของคนในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ชุมชนมุสลิม ต้องเป็นอาหารฮาลาล เป็นต้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ มีการนำบะหมี่สำเร็จรูปประเภทต้มยำหมู หรือเนื้อที่ไม่ใช่อาหารฮาลาลไปให้ชุมชนมุสลิม ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้ และยังเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย

4.ศูนย์รับบริจาคควรถามผู้ประสบภัยพิบัติก่อนรับบริจาค

เมื่อเกิดภัยพิบัติ สิ่งที่ตามมาก็คือ ศูนย์รับบริจาคจำนวนมากตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการระดมความช่วยเหลือจากสาธารณะ และคนจำนวนไม่น้อยก็จะบริจาคเสื้อผ้ามือสอง หรืออาจจะเป็นตุ๊กตามือสอง และศูนย์รับบริจาคก็มักจะรับไว้ ความจริงแล้ว เสื้อผ้า หรือตุ๊กตามือสองที่ท่านบริจาคอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ เสื้อผ้ามือสองที่ได้รับบริจาคมา ศูนย์ก็ไม่รู้ว่าะจัดการอย่างไร

ดังนั้น ศูนย์ควรระบุสิ่งของที่รับบริจาคให้ชัดเจนโดยตรวจสอบจากผู้ประสบภัยก่อน ซึ่งผู้ประสบภัยจะบอกได้ว่าสิ่งขอบรรเทาทุกข์อะไรที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น คนที่ประสบภัยพิบัติต้องการ ผ้าห่ม อุปกรณ์ทำอาหาร หวดนึ่งข้าว เป็นต้น

ในกรณีหากพบว่าเสื้อผ้ามีความจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติก็ประกาศรับ และคนที่บริจาคเสื้อผ้ามือสอง ขอให้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่เก่าเกินไป และต้องซักให้สะอาดก่อนนำไปบริจาค

กรณีที่มีผู้บริจาคมาบริจาคสิ่งของที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ประสบภัยพิบัติ ศูนย์ไม่ควรรับไว้ เนื่องจากจะเป็นภาระให้กับศูนย์

5.ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง

เมื่อเกิดภัยพิบัติ กลุ่มคนที่ทุกข์ยากที่สุดคือกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ทารก เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ศูนย์รับบริจาคควรตรวจสอบปลายทางว่าคนเปราะบางต้องการสิ่งของบรรเทาทุกข์อะไร เช่น ทารกต้องการนมผงสำหรับเด็กทารก สตรีต้องการผ้าอนามัย เด็กเล็กและผู้สูงอายุต้องการผ้าห่ม

6.ให้ความสำคัญกับปัญหาระดับชุมช

นอกจากความต้องการส่วนบุคคลแล้ว ศูนย์รับบริจาคควรให้ความสำคัญกับความต้องการของชุมชน เช่น การขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคสาร สิ่งที่ขอรับบริจาคจึงควรเป็นสารที่ทำให้น้ำสะอาด

7.จัดระบบการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์อย่างเป็นระบบ

บ่อยครั้งเราจะพบว่าศูนย์รับบริจาคไม่ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ถึงผู้ประสบภัย เช่น น้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 มีสิ่งของบริจาคจำนวนมากตกค้างที่อาคารของสนามบินดอนเมือง และความจริงก็ถูกเปิดเผยเมื่อน้ำไหลบ่าเข้าท่วมของบริจาคเหล่านั้น

การส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ของศูนย์เมื่อได้รับการบริจาคตามความต้องการของชุมชนแล้ว ให้มีการจัดระบบโดยการแพ็คสิ่งของบรรเทาทุกข์ การเขียนข้างกล่องระบุชนิดของสิ่งของบรรเทาทุกข์ ปริมาณ ผู้ที่ควรได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์ จะทำให้เมื่อสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปถึงปลายทาง ปลายทางสามารถแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ทันที

สิ่งที่ศูนย์รับบริจาคต้องระวังก็คือ การที่ศูนย์นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทอด ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจะกระจายสิ่งของไปยังเครือญาติ/เครือข่ายของตนเองเป็นหลัก หรือบางกรณีจะเลือกของบริจาคที่มีคุณภาพไว้แจกเฉพาะเครือญาติ/คนในเครือข่าย ส่วนของคุณภาพต่ำจะนำไปบริจาคให้คนอื่นๆ

ดังนั้น หากเป็นไปได้ ศูนย์ควรกระจายของบรรเทาทุกข์ด้วยตนเอง และกระจายไปยังกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุดเป็นอันดับแรกก่อน และที่เหลือค่อยกระจายไปยังคนที่เดือดร้อนน้อย อีกทั้งไม่ควรกระจุกที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

8.ระวังการรับบริจาคเงิน

ศูนย์ของคนทั่วไปต้องระมัดระวังในการขอรับบริจาคเงินไม่ให้ผิดกฎหมาย การรับบริจาคเงินควรมีองค์กรที่ถูกกฎหมายรองรับ เช่น ใช้บัญชีขององค์กร/มูลนิธิ มีเป้าหมายชัดเจน และต้องสามารถตรวจสอบได้

สำหรับเงินที่ได้รับการบริจาค สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การนำไปใช้ในการตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของผู้ประสบภัยและเน้นไปที่กลุ่มคนเปราะบาง เช่น การซื้อนมผงสำหรับทารก การซื้อผ้าห่มสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ

9.การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต้องไม่เป็นภาระ

บางคนที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือ และมีความสามารถที่จะไปได้ มักจะไม่คิด หรือวางแผนอะไร ทางที่ถูกต้องก็คือ ควรที่จะประสานกับองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และควรเป็นอาสาสมัครภายใต้องค์กรนั้น ซึ่งจะมีการประสานงานกับพื้นที่ และองค์กรอื่นๆ ที่เป็นระบบกว่า มิฉะนั้น การเข้าไปช่วยเหลืออาจทำให้เกิดความยุ่งยาก หรือเป็นภาระ หรือทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 ได้มีผู้ใจดีนำเจ็ตสกีไปวิ่งแถวหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมหวังว่าจะช่วยผู้ที่เดือดร้อน แต่การนำเจ็ตสกีไปวิ่งโดยไม่มีความจำเป็นกลับทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เนื่องจากทำให้เกิดคลื่นใหญ่เข้าซัดบ้านของชาวบ้าน อย่าลืมนะครับว่าในภาวะที่น้ำท่วม น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงไม่กี่เซนติเมตร ก็สร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกมาก

10.อย่าลืมสัตว์เลี้ยง

เมื่อเกิดภัยพิบัติ สัตว์เลี้ยงมักจะถูกลืม เช่น หญ้าสำหรับวัวควาย ดังนั้น การบริจาคอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นด้วย เช่น การรับบริจาคหญ้าสำหรับวัวควาย

กรณีนี้เคยทำมาแล้ว เช่น ชาวบ้านชัยภูมิเกี่ยวหญ้าส่งไปให้ชาวบ้านที่มีวัวควายและประสบกับภัยพิบัติอุทกภัยที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์

10 สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นข้อมูลผ่านมุมมอง  ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนทั่วประเทศและร่วมให้ความช่วยเหลือในภัยพิบัติหลายเหตุการณ์ ซึ่งได้รวบรวมเรียบเรียงจากประสบการณ์ทำงาน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชนต่อผู้ประสบภัยเป็นที่ตั้ง โดยเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมตัวรับมือป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น หรือการให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมทันท่วงทีขณะเผชิญเหตุ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การลดผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยาในระยะต่อไป

Image Name

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ