จากข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากแปลงใหญ่ของ GISTDA พบว่า อุทยานแห่งชาติแม่วะ ติดอันดับ 1 ใน 10 พิกัด ที่มีการเผาไหม้ซ้ำซากมากกว่า 5 ครั้งในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวนพื้นที่เผาไหม้ คือ 112,691 ไร่ จากจำนวนพื้นที่ป่าทั้งหมด 364,173 ไร่ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ไฟป่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก หรือไฟป่าขนาดใหญ่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ ถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติฯ มีการบริหารจัดการและมาตรการชิงเผา คือ เผาตามกำหนดการควบคุมเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าลง แต่ไฟป่ายังลุกลามข้ามไปพื้นที่ป่าอื่น เกิดการเผาข้ามคืน โจทย์สำคัญจึงเป็นเรื่องโครงสร้างในการจัดการแต่ละพื้นที่ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นควัน
ในพื้นที่ 10 อันดับ มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นเทือกเขาสูงสลับกับที่ราบหุบเขา หรือแอ่งที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา โดยอุทยานแห่งชาติแม่วะเป็นหนึ่งในนั้น มีดอยตาจี่เป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูงประมาณ 1,027 เมตร พื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา และดิบแล้ง ในช่วงฤดูฝนจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว
จากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ที่เป็นป่าผลัดใบ แหล่งชีวมวลสำคัญของไฟป่า บวกกับลมมุรสุมที่พัดเข้ามาทำให้อากาศแห้งแล้ง จึงมีแผนการรับมือและป้องกันไฟป่าผ่านมาตรการควบคุมการเผาเด็ดขาด และการสั่งการแบบ Single command จากหน่วยงานหลักสู่เจ้าหน้าที่ภาคสนามเพื่อให้เกิดการจัดการที่เป็นระบบ แต่เหตุการณ์ไฟป่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำ ๆ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ปี 2563 มีจำนวนจุดความร้อน 1,370 จุด พื้นที่เผาไหม้สะสมรวม 1,340,402ไร่
ปี 2564 มีจำนวนจุดความร้อน 5,822 จุด โดยอำเภอเถินเป็นอำเภอที่มีจุดความร้อนมากที่สุด จํานวน 1,141 จุด เกิดมากในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมพื้นที่เผาไหม้สะสม 1,333,835 ไร่
เมื่อดูโครงสร้างการจัดการไฟป่า จะเห็นว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามโครงสร้างอำนาจและกฎหมาย หน่วยงานหลักที่ดูแลควบคุมไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทช.) เป็นหน่วยงานระดับกรม 2 แห่งคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้
โดยอุทยานแห่งชาติแม่วะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดด้วยกัน คือ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก มีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ภายใต้สำนักป้องกันปราบปราม และควบคุมไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแล
นอกจากนี้ มีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ในส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ภายใต้กรมป่าไม้เป็นอีกหน่วยงานที่ดูแลจัดการไฟป่า แต่ปัจจุบันกรมป่าได้ถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ในการปฏิบัติควบคุมไฟป่า จัดหาเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ด้วยงบประมาณของตนเอง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอยู่ในเขตปกครองของอปท. กรมป่าไม้จึงไม่มีอำนาจควบคุมไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
การจัดสรรงบประมาณปี 66 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ตามรายการสนับสนุนการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันไฟป่า ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,317 แห่ง งบประมาณทั้งสิ้น 49,181,000 บาท แบ่งเป็น
- หมู่ดับระดับเล็ก (อปท.ขนาดเล็ก) กำลังพล 15 นาย 18,700 บาท
- หมู่ดับไฟระดับกลสง (อปท.ขนาดกลาง) กำลังพล 30 นาย 37,400 บาท
- หมู่ดับไฟระดับใหญ่ (อปท.ขนาดใหญ่) กำลังพล 45 นาย 56,100 บาท
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อท้าทายเนื่องจากอทป. ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดการไฟป่ามาก่อน แต่รู้ปัญหาในพื้นที่และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นยังคงต้องการรูปแบบการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ชัดเจนกับพื้นที่ มีการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงานและภาคประชาชนร่วมกัน
อุทยานแห่งชาติแม่วะเป็นเพียง 1 ใน 10 อันดับ ปัญหาไฟแปลงใหญ่ที่ยังคงต้องการแนวทางแก้ไขร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ หน่วยงานและภาคพลเมือง ในการมองโจทย์ไฟแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ นอกจากการบริหารจัดการไฟป่าของหน่วยงาน เราต้องมองปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ ปัจจัยภูมิประเทศ ที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน แอ่งกระทะ รวมถึงนิเวศของป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่า ปัจจัยภูมิอากาศ ทิศทางของลมมุรสุมในแต่ละช่วง แหล่งกำเนิด จากการทำเกษตร ฝุ่นข้ามแดนและอื่น ๆ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ ได้จัดประชุมแนวทางการปฏิบัติลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART PRATROL การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในเขตรับผิดชอบและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วะทั้ง 5 หน่วย ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจัดทำแผนในการรับมือ ปรับปรุงและแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป
งานอื่นที่เกี่ยวข้อง
ฟังเสียงประเทศไทย : คนเหนือ ฝุ่น ไฟ