แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
18 พฤศจิกายนนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะเปิดฉากขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นโอกาสหายากที่ระดับผู้นำชาติประเทศในอาเซียนจะเดินทางมารวมตัวกัน เพื่อถกเถียงปัญหาระหว่างประเทศบนฐานความร่วมมือระดับภูมิภาค หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดของอาเซียนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป นั่นคือวิกฤตการค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัยระดับภูมิภาค ที่มีต้นกำเนิดจากการคุกคามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมและชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมา ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องวางแผนรับมือปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมกับวิกฤตนี้
ย้อนถึงรากความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่แทรกซึมและหยั่งลึกในประวัติศาสตร์ของเมียนมานำมาซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงหลายระลอกและการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศว่าเป็นประชากรของประเทศ
ทว่ากลับเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นชาวเบงกาลี พร้อมออกกฎหมายเลือกปฏิบัติที่มีเป้าหมายเพื่อลิดรอนสิทธิของชนกลุ่มน้อยมุสลิมและชาวโรฮิงญาให้กลายเป็นคนไร้รัฐโดยปริยาย ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมและโรฮิงญาตกเป็นเป้าหมายการละเมิดมาหลายทศวรรษในเมียนมา
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปี 2555 ในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยมุสลิมกว่า 125,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และจำต้องจากบ้านเรือนของตนที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยอีกต่อไป
คุณครูท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับนักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ในช่วงที่เหตุการณ์ปะทุขึ้น นักเรียนของเขาทั้งหมด 25 คนต้องเสียชีวิตลงหลังจากความพยายามปกป้องเขาจากการรุมทำร้ายของมวลชน ระหว่างที่คุณครูท่านนั้นเล่าเรื่อง เขาก็ร่ำไห้ พร้อมกับอธิบายว่านักเรียนของเขาคนหนึ่งถูกฟันที่แขนด้วยมีดดาบ บาดแผลยาวเป็นทาง
หากคำนึงถึงระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและกว้างขวางในเมียนมาแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงพิจารณาว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีออกนอกประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มอยู่ในสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย”
จากความแร้นแค้นและการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบในเมียนมาได้ผลักดันให้ชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยมุสลิมหลายคนเดินทางออกจากดินแดนรัฐยะไข่ สู่การเดินทางกลางทะเลอันโหดร้าย ขณะอยู่ในเรือพวกเขาถูกควบคุมโดยกลุ่มขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองหรือกลุ่มผู้ค้ามนุษย์
ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายคนถูกขบวนการค้ามนุษย์ลักพาตัวลงเรือเพื่อเรียกค่าไถ่ เช่นเดียวกับที่เด็กหญิงอายุ 15 ปีคนหนึ่งเล่าเรื่องราวของเธอให้นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า ขณะที่เธออยู่บนเรือ ลูกเรือได้โทรศัพท์ไปหาครอบครัวของเธอ และบังคับให้พวกเขาฟังเสียงของเธอตอนที่เธอร้องไห้ระหว่างถูกทุบตี ลูกเรือขู่ให้ครอบครัวของเธอจ่ายเงินไถ่ตัวเธอ เธอบอกว่าคนที่ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้จะถูกยิงทิ้ง หรือถูกโยนทิ้งกลางทะเล
ข้อมูลจากสำนักข้าหลวงผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประเมินว่าในช่วงกลางปี 2558 มีผู้คนมากกว่า 1,100 คน ที่เสียชีวิตลงกลางอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันในวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งนี้
ภาพหรือเรื่องราวของชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย ชาวโรฮิงญา หรือแม้แต่ชาวบังคลาเทศที่อยู่บนเรือลักลอบขนคนหรือค้ามนุษย์กลางอ่าวเบงกอลหรือทะเลอันดามันไม่เป็นที่รับรู้มากนักของสาธารณชนไทย หลายคนถูกทรมาน ถูกทุบตีอย่างสาหัส
ชาวโรฮิงญาที่เคยผ่านประสบการณ์บนเรือล้วนให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า พวกเขาต่างเคยถูกซ้อม หรือเคยเห็นลูกเรือทุบตีคนอื่น คนที่ขยับตัวก็อาจถูกตี คนที่ขอน้ำหรืออาหารก็อาจถูกตี คนที่ขอไปห้องน้ำก็อาจถูกตี แม้แต่เด็กที่ร้องไห้ก็อาจถูกตี
นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยกับผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งที่ถูกทรมานอย่างโหดร้ายจนหมดสติไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง และเขายังคงมีอาการทางจิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ต่างอธิบายถึงสภาพในเรือที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
ผู้ชายอายุ 20 ปีคนหนึ่งเล่าให้นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่าเขาถูกทุบตีหลายต่อหลายครั้งด้วยท่อเหล็กจนมีแผลไปทั่วร่างกาย
เรื่องราวของมนุษย์เรือชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมาเพิ่งเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ โดยเฉพาะในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา หลังมีการพบหลุมศพและค่ายกักกันชาวโรฮิงญาชั่วคราว บริเวณยอดเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งห่างจากชายแดนของมาเลเซียเพียง 300 เมตร
ส่งผลให้รัฐบาลไทยประกาศปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้ค้ามนุษย์และผู้ลักลอบขนคนเข้าเมืองสละเรือชาวโรฮิงญาที่ลำเลียงคนกว่าพันชีวิตไว้กลางทะเล สำนักข่าวต่างประเทศและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างรายงานว่าทางการไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียผลักดันเรือเหล่านั้นออกจากน่านน้ำของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ไปยังสถานที่เสี่ยงต่อชีวิต ซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียจึงตกลงที่จะจัดหาที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพทางเรือ ที่ขึ้นฝั่งที่อินโดนีเซียประมาณ 1,800 คน และขึ้นฝั่งที่มาเลเซียประมาณ 1,100 คน โดยมีเหตุการณ์ประทับใจที่ชาวบ้านและชาวประมงในอาเจะห์ของอินโดนีเซียหยิบยื่นเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม และจัดหาที่พักให้กลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทางเรือ
ชาวบ้านหลายคนให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า การให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาเป็นชาวมุสลิมเหมือนกัน หากแต่ต่างก็เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ขณะที่รัฐบาลไทยได้แสดงท่าทีเชิงบวกหลังถูกนานาชาติกดดัน ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยมีตัวแทนจาก 19 ประเทศและ 3 องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม อย่างไรก็ดีได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
ผ่านมาราว 7 เดือน ความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ในไทย 88 คนเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีนักการเมืองท้องถิ่นและอดีตข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่จับตาต่อไปว่ากระบวนการยุติธรรมจะเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเพียงใด
หลังฤดูมรสุมสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม การเดินทางทางเรือของชาวโรฮิงญาผ่านขบวนการลักลอบคนเข้าเมืองและขบวนการค้ามนุษย์อาจเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง แต่จะด้วยวิธีหรือหนทางใดยังไม่เป็นที่รับรู้ได้
ช่วงเวลาสำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 27 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายนนี้ จึงเป็นโอกาสที่ไม่อาจพลาดได้ที่ผู้นำอาเซียนควรถกเถียงและวางแผนร่วมมือ และออกแบบปฏิบัติการระหว่างรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นดังนี้
1. มาตรการการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดจากผู้ค้ามนุษย์และผู้ลักลอบนำคนเข้าเมือง
2. ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยตามขั้นตอนการนำคนขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัยและอย่างคาดการณ์ได้
3. การรับประกันความปลอดภัยและความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพขึ้นฝั่ง
4. การเปิดโอกาสในการเข้าสู่กระบวนการแสวงที่พักพิงอย่างเป็นธรรม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลทั้งสิบประเทศและอาเซียนจะเห็นความสำคัญและความเป็นมนุษย์ของชนกลุ่มน้อยมุสลิมและชาวโรฮิงญาจากเมียนมา เฉกเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ ในภูมิภาค