สถานการณ์ฝุ่นควันในภาคเหนือของไทยทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งปีนี้ เมืองเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด !!
เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน (เวลา 09.00 น.) พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 332 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 282.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย
ทั้งนี้ค่ามาตรฐาน AQI (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งหาก AQI เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าสูงกว่า 100 จัดเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วน PM 2.5 มีค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หากเกินค่ามาตรฐานก็จะเกิดผลผลกระทบต่อร่างกายเช่นกัน
กรณีเชียงใหม่วัดค่า AQI ได้ 332 และค่า PM 2.5 วัดได้ 282.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จึงเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว และอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ Iqair.com รายงานว่า คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอีกครั้ง โดยในช่วงเวลา 09.00 น. มีค่า PM 2.5 อยู่ที่ 162 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
รวมทั้งหลายเมืองในภาคเหนือในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เช่น อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ฯลฯ ต่างก็กลายเป็น ‘เมืองในหมอกควัน’ ที่อันตรายต่อสุขภาพ !!
ฝุ่นควันและผลกระทบ…จากปัญหาสู่ทางออก…
PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม (50-70 ไมครอน) ถึง 20 เท่า สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน ทำให้มนุษย์มีโอกาสที่จะหายใจเอาฝุ่นละอองนี้ไปเข้าไปสู่หลอดลมได้ จนเป็นสาเหตุหรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ และอวัยวะที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ จมูกอักเสบ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง (แม้ไม่สูบบุหรี่) หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด ฯลฯ
ขณะที่ข้อมูลจาก นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่า ในปี 2552 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจากฝุ่นมรณะ จำนวน 38,410 คน สูงเป็น 4 เท่าของการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้ประชากรมีอายุสั้นลง 0.98 ปี ในขณะที่ภาคเหนือปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 93 ราย ปี 2561 เสียชีวิต 107 ราย และปี 2562 เสียชีวิต 225 ราย เป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดด หรือเพิ่มขึ้น 60% จากโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อ
ส่วนข้อมูลจาก Air Quality index (AQI) ระบุว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ยของประเทศไทยในปี 2563 อยู่ที่ 29.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ที่ 10 µg/m3 ในปี 2562 PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14,000 คนในประเทศไทย ใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง
นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยมาเยือนภาคเหนือช่วงสงกรานต์ปี 2566 นี้ ประมาณ 485,000 คน ลดลงร้อยละ 11.45 ขณะที่สื่อต่างๆ รายงานว่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ต่างชาติ ชาวจีน ยกเลิกการจองโรงแรมห้องพักในเชียงใหม่ ทำให้ยอดจองลดลงประมาณ 40-50 % และหันไปท่องเที่ยวจังหวัดชายทะเล
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินในปี 2550 ว่า จังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควัน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และจะสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท….ซึ่งหากประเมินผลกระทบในปัจจุบัน คาดว่าตัวเลขจะสูงกว่าปี 2550 หลายเท่าตัว !!
ส่วนสาเหตุการเกิดฝุ่นควันนั้น ในภาคเหนือและชนบท ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากไฟป่า การเผาซากพืชไร่ เพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง กระเทียม กระหล่ำปลี ทำนา มะเขือเทศ การเผาเพื่อล่าสัตว์ เผาเพื่อให้เกิดเห็ดป่า ฯลฯ ปัจจุบันมีฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของไทยเข้าไปส่งเสริม จนทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งยังมีฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ยานพาหนะ ฝุ่นควันจากการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ร้านอาหาร ครัวเรือน การเผาขยะ ฯลฯ
ในเดือนกันยายน 2562 หลังเผชิญปัญหาฝุ่นควันมานานกว่า 10 ปี ชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง เช่น นักกิจกรรมเพื่อสังคม ประชาสังคม นักวิชาการ อาจารย์ แพทย์ ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ นำโดย ‘ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ’ ร่วมกันจัดตั้ง ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ขึ้นมา เพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหา
มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ระดมทุน เผยแพร่ความรู้ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ขยายการทำงานลงไปสู่ตำบลหมู่บ้านทั่วทั้งจังหวัด จัดอบรมให้ความรู้การเพาะเห็ดป่า โดยไม่ต้องเผาป่า ทำแนวกันไฟนำใบไม้เศษไม้มาทำประโยชน์ ทำปุ๋ยหมัก ถ่าน ทำจาน ชาม จากใบไม้ ฯลฯ
หลังจากนั้นได้ขยายเครือข่ายสภาลมหายใจเชียงใหม่ไปยังจังหวัดภาคเหนือตอนบนและตาก รวม 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย พะเยา น่าน แพร่
‘ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่’ ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลขยายงาน
จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกิดปัญหาฝุ่นควันมานาน ส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการเผาซากพืชไร่ในแปลงข้าวโพด มันสำปะหลัง การขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปในเขตป่า ทำให้มีการเผาป่า การเผาเพื่อไล่ต้อนล่าสัตว์ป่า เผาเพราะมีความเชื่อว่าเมื่อเผาป่าแล้วจะทำให้ผืนดินเกิดความร้อน เห็ดถอบจะออกมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผาขยะในครัวเรือน ชุมชน รวมทั้งฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน
พิสิษฐ์ ตาจา ผู้แทนชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ บอกว่า หลังจากมีการจัดตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่แล้ว จึงขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนเพราะมีปัญหาคล้ายกัน ที่จังหวัดแพร่ มีการประสานงานกับนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน นักวิชาการ นายแพทย์ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ นำโดย ‘สามชาย พนมขวัญ’ จัดตั้งเป็น ‘ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่’ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นบทบาทของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน และขยายการทำงานลงสู่ระดับตำบลและหมู่บ้าน
“ในจังหวัดแพร่ เราได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนมาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลและเทศบาลรวมทั้งหมด 84 แห่ง ใน 8 อำเภอ เราจึงใช้สภาองค์กรชุมชนฯ เป็นกลไกขยายงานลงไปสู่ระดับตำบลและหมู่บ้าน เพราะที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนฯ มีบทบาทการทำงานพัฒนาต่างๆ ร่วมกับผู้นำชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ อยู่แล้ว เช่น เรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน-ที่อยู่อาศัย” พิสิษฐ์ซึ่งเป็นผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดแพร่ด้วย บอกถึงกลไกการขับเคลื่อนงาน
นอกจากการขับเคลื่อนงานในระดับตำบล-หมู่บ้านดังกล่าวแล้ว ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ได้ทำงานประสานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ (ทสจ.แพร่) เพื่อเสนอแนวคิดและการทำงานของภาคประชาสังคม รวมทั้งเสนอโครงการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดแพร่ และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดแพร่ผ่าน ทสจ.แพร่ จำนวน 700,000 บาทเพื่อขับเคลื่อนงานในปี 2566
ตั้งแต่ต้นปี 2566 ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ได้จัดเวที ‘การจัดการฝุ่นควันไฟป่าจังหวัดแพร่’ ในพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อำเภอเมือง สูงเม่น หนองม่วงไข่ ร้องกวาง สอง ลอง วังชิ้น และเด่นชัย เพื่อรณรงค์ สร้างความรู้ ความเข้าใจปัญหาฝุ่นควัน และหาแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยจัดประชุม อบรม ทำแผนงานจากหมู่บ้าน ตำบล มีเป้าหมายเป็นผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มต่างๆ รวมประมาณ 1,000 คน รวมทั้งทำสื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ ผ่านคลิปวิดีโอ เช่น การทำแนวป้องกันไฟป่า ฯลฯ
“นอกจากนี้ ในปีนี้เราจะสร้างพื้นที่รูปธรรมต้นแบบในการป้องกันไฟป่า ป้องกันฝุ่นควัน โดยมีพื้นที่ต้นแบบ เช่น การทำป่าเปียกเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ไม่ให้ป่าเกิดความแห้งแล้ง ป้องกันไฟไหม้ ส่งเสริมการปลูกกาแฟ เพื่อเป็นแนวป้องกันไฟ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ เป็นแนวกันไฟที่มีชีวิต” ผู้แทนชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่บอก
สร้างป่าเปียก-แนวกันไฟมีชีวิต
‘ป่าเปียก’ เป็นวิธีการป้องกันไฟป่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานวิธีการสร้างป่าเปียกให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนตั้งแต่ปี 2529 โดยเริ่มที่ ‘ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จากนั้นป่าเปียกได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยมีวิธีการต่างๆ ตามความหมาะสมกับสภาพพื้นที่จำนวน 6 วิธี คือ
1.การจัดทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยการใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่าง ๆ ไปปลูกบริเวณตามแนวคลอง 2.การสร้างระบบควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟของป่าเปียก โดยใช้น้ำในชลประทานและน้ำฝนมาช่วย 3.การปลูกต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว เพื่อใช้ครอบคลุมแนวร่องน้ำ ส่งผลทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดความชุ่มชื้นอย่างทวีขึ้นและสามารถแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างของร่องน้ำ ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าได้เป็นอย่างดี เพราะไฟป่ามักจะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น
4.การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน หรือเรียกว่า “Check Dam” เพื่อทำการปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินเอาไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมลงไปสะสมในดิน ช่วยทำให้ดินเกิดความชุ่มชื้น แผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น “ป่าเปียก”
- การสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมลงดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป “ภูเขาป่า” ให้กลายเป็น “ป่าเปียก” ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้ด้วย
และ 6.การปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะกับต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชชนิดอื่น ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก
พิสิษฐ์ ตาจา ผู้แทนชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ บอกว่า ที่ตำบลบ้านกลาง อ.สอง จ.แพร่ มีหลายหมู่บ้านที่นำแนวพระราชดำริป่าเปียกมาใช้ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกต้นไม้ผสมผสานหลายอย่าง เช่น ขนุน มะเฟือง มะไฟ ฯลฯ ต่อท่อประปาเพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำบนพื้นที่สูงให้ไหลลงมาสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า เป็นการป้องกันไฟป่าในหน้าแล้ง และที่ผ่านที่บ้านกลางก็ไม่เกิดไฟป่าขึ้นเลย
“ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่จึงนำตัวอย่างที่ตำบลบ้านกลางไปขยายผล เพื่อให้ชาวบ้านในลุ่มน้ำสอง อำเภอสอง รวมทั้งหมด 8 ตำบล รวมทั้งพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดแพร่ได้นำวิธีการทำป่าเปียกที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองไปปรับใช้ เพื่อขยายป่าเปียกให้เต็มจังหวัด” พิสิษฐ์บอกถึงแผนงาน
อัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ผู้ใหญ่บ้านแม่ขมิง และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ บอกว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลสรอยได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จำนวน 1 แสนบาท นำมาส่งเสริมการแปรรูปไม้ไผ่ที่เหลือจากการตัดแต่งต้นไผ่เพื่อให้ไผ่ ‘เป๊าะ’ ออกหน่อใหม่ เช่น ทำถ่านอัดแท่ง ผงถ่านนำไปทำสบู่ ครีมอาบน้ำ บำรุงผิว ฯลฯ เป็นการเผาในถัง ลดฝุ่นควันจากการเผาซากไม้ไผ่ในที่โล่ง
นอกจากนี้ยังนำงบประมาณมาส่งเสริมให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวปลูกหญ้าเปียร์เพื่อให้วัวกิน ไม่ต้องต้อนวัวไปเลี้ยงในป่า (ในตำบลมีวัวรวมกันประมาณ 2,000 ตัว) รวมทั้งคนเลี้ยงวัวบางรายยังแอบจุดไฟเผากอหญ้าแห้ง เมื่อฝนตกจะทำให้หญ้าแตกกอใหม่ วัวจะได้มีหญ้าสด แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาไฟป่า ปัญหาฝุ่นควัน สภาองค์กรชุมชนฯ จึงปลูกแปลงหญ้าเนเปียร์เป็นต้นแบบทั้งตำบล รวม 11 หมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 1-5 ไร่ เพื่อให้เป็นอาหารวัว และสนับสนุนให้เจ้าของวัวปลูกหญ้าเอง ไม่ต้องต้อนวัวไปกินหญ้าในป่า หรือเผากอหญ้าแห้งอีก
“โครงการต่อไปที่เราจะทำคือ ‘ป่าเปียก’ โดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปพักบนถัง แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำลงมาตามท่อ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพื่อทำให้ดินและผืนป่ามีความชุ่มชื้นเป็นป่าเปียก ต้นไม้ใหญ่น้อยจะได้เติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ และหากเกิดไฟป่า ป่าเปียกก็จะเป็นแนวป้องกันไฟป่าได้” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลสรอยบอกถึงโครงการที่จะทำ เพื่อดูแลดินน้ำป่าตามแนวพระราชดำริต่อไป !!
ตำบลไทรย้อย อ.เด่นชัย จ.แพร่ มี 12 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 6,500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ในอดีตผืนดินมีความแห้งแล้ง เพราะมีการลักลอบตัดไม้ ทำไม้เถื่อน พอถึงช่วงฤดูแล้งก็จะมีการเผาป่าเพื่อไล่ล่าสัตว์ เผาเพราะเชื่อว่าจะทำให้มีเห็ดถอบออกเยอะๆ และเผาเพื่อทำลายซากพืชไร่ก่อนการเพาะปลูกรอบใหม่ ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและความแห้งแล้ง
สุชาติ สมบูรณ์เถกิง อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านน้ำพร้าว บอกว่า ตนเรียนจบด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านในปี 2555 และด้วยความชื่นชอบการดื่มกาแฟ จึงปลูกกาแฟที่บ้านตั้งแต่ปี 2552 เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และเรียนรู้วิธีการผลิตเมล็ดกาแฟ ตั้งแต่การเก็บ คัดเมล็ดกาแฟ การแช่ ตาก คั่ว บด และชงกาแฟในรูปแบบต่างๆ
“พอผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน เห็นผืนป่ามีแต่ความแห้งแล้ง เพราะตอนนั้นยังมีการลักลอบทำไม้เถื่อน ชาวบ้านทำนา ปลูกมันสำปะหลังก็ไม่ค่อยจะมีรายได้ จึงคิดเรื่องการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน เหมือนกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสว่า ‘ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา’ โดยเริ่มจากการดูแลรักษาป่าก่อน เพื่อให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้น เป็นแหล่งอาหาร มีหน่อไม้ มีเห็ด โดยเริ่มจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนในปี 2557 ช่วยกันดูแลป่าชุมชนเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่” ผู้ใหญ่สุชาติบอกถึงจุดเริ่มต้น
หลังจากนั้นจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพื่อเป็นอาชีพ เป็นรายได้เสริม เป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ปลูกแซมในป่าตามธรรมชาติ แซมระหว่างต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่า เช่น ประดู่ เต็ง รัง มะขามป้อม มะขามป่า ฯลฯ เพื่อให้ต้นกาแฟวัยอ่อนได้รับร่มเงาจากไม้ใหญ่ อีกทั้งกาแฟอาราบิก้าไม่ชอบแสงแดดจ้า แต่จะเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ใต้ร่มไม้อื่น
พอปี 2560-2561 กาแฟเริ่มให้ผลผลิต จึงรับซื้อเมล็ดกาแฟสุกหรือ ‘กาแฟเชอร์รี่’ จากชาวบ้านเพื่อเอามาผลิตเป็นกาแฟคั่ว ใช้ชื่อว่า ‘อาราบาซอลต์’ เพราะผืนดินแถวอำเภอเด่นชัย นักธรณีวิทยาพบว่า ในอดีตหลายล้านปีเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน เมื่อภูเขาไฟระเบิดจะเกิดลาวา เมื่อลาวาเย็นลงจะกลายเป็นหินบะซอลต์ นานวันเข้าหินบะซอลต์จะย่อยสลายกลายเป็นดิน มีแร่ธาตุต่างๆ เหมาะแก่การเติบโตของพืช
“ผมเรียกกาแฟที่ชาวบ้านปลูกนี้ว่า ‘กาแฟแก้เผา’ เพราะชาวบ้านจะต้องดูแลป่า ไม่ให้มีการเผาป่า เพราะไฟมันจะลามมาไหม้ต้นกาแฟเสียหาย คนปลูกกาแฟจึงต้องดูแลพื้นที่ที่ปลูกกาแฟอย่างดี ต้องสร้างแนวกันไฟ ไม่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งจะเป็นเชื้อไฟ นั่นหมายถึงการดูแลป่าด้วย เพราะกาแฟที่ปลูกจะปลูกแซมกับไม้ป่าต่างๆ ปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช่ปลูกเป็นแปลงแบบกาแฟสวน ใครมีพื้นที่ว่างตรงไหนก็ปลูก” ผู้ใหญ่สุชาติบอกถึงการปลูกกาแฟแก้เผา
ส่วนผลผลิตที่ได้ จะนำมาผลิตเป็นกาแฟคั่วชนิดไม่บด เพื่อส่งจำหน่ายตามร้านกาแฟสดในจังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ ประมาณ 20 ร้าน และจำหน่ายทางออนไลน์ ใช้ชื่อเพจว่า ‘กาแฟอาราบาซอลต์ Arabasalt’ ขนาดถุงละ 250 กรัม ราคาถุงละ 500 บาท หรือกิโลกรัมละ 2,000 บาท ราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไป เพราะปลูกและผลิตด้วยความพิถีพิถัน ได้ผลผลิตยังไม่มาก ปีที่แล้วได้กาแฟคั่วบรรจุถุงประมาณ 50 กิโลกรัม เพราะเป็นการปลูกแบบธรรมชาติ แซมในร่มไม้ แต่ก็จะได้รสชาติสุดพิเศษ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ป่า เป็นกาแฟ ‘Fruity’ เมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกสดชื่น กระปี้กระเปร่า รสชาติกลมกล่อม
“การปลูกกาแฟทำให้ชาวบ้านต้องดูแลรักษาป่า ไม่ให้เกิดการเผาป่า เหมือนกับยุ้งข้าวที่ชาวนาจะต้องดูแล เพื่อให้มีข้าวกินตลอดปี ตอนนี้เรามีสมาชิกที่ปลูกกาแฟในตำบลประมาณ 25 ราย ปลูกกาแฟรวมกันประมาณ 8 พันต้น และได้ขยายแนวคิดกาแฟแก้เผาในจังหวัดแพร่รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 500 ไร่ และมีแผนจะขยายพื้นที่ออกไปอีก รวมทั้งจะทำโลโก้ ‘Green’ เพื่อให้ลูกค้าที่ดื่มกาแฟอาราบาซอลต์รู้ว่า กาแฟที่ท่านดื่ม ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการเผา และรายได้ส่วนหนึ่งเราจะนำกลับมาช่วยเหลืออาสาสมัครที่ดูแลป่าด้วย” ผู้ปลุกปั้นกาแฟแก้เผาบอก
ขณะที่ พิสิษฐ์ ตาจา ผู้แทนชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ บอกทิ้งท้ายว่า การสร้างพื้นที่ต้นแบบทั้งเรื่องการทำป่าเปียก กาแฟแก้เผา จะต้องเดินหน้าและขยายแนวคิดนี้ให้กว้างออกไป และต้องทำร่วมกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งหน่วยงานรัฐ ในจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เพราะปัญหาฝุ่นควันมันไม่ใช่เรื่องของใคร จังหวัดใดเพียงจังหวัดเดียว รวมทั้งยังมีปัญหาการเผา ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
“ถึงแม้จังหวัดแพร่จะทำดีอย่างไร ป้องกันฝุ่นควันดี แต่จังหวัดแพร่มีพื้นที่ติดกับจังหวัดน่านและอุตรดิตถ์ 2 จังหวัดนี้ติดกับประเทศลาว ซึ่งมีปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ดังนั้นมันจะต้องแก้ในระดับนโยบายด้วย ทั้งการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน การเสนอกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนเคยเสนอไปแล้ว แต่กฎหมายยังไม่ผ่าน เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่ ภาคประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจที่เขาเห็นผลกระทบจากการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ก็จะต้องร่วมมือกันผลักดันการแก้ปัญหานี้ต่อไป” ผู้แทนชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่บอกทิ้งท้าย
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์