กป.อพช. และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม ยื่นจดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอแนะต่อนโยบายต่อ 6 พรรคการเมือง มุ่งให้เกิดการคุ้มครองคน ควบคุมประชากรช้างป่าควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ และจัดการปัญหาอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
27 เม.ย. 2566 – คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม ยื่นจดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอแนะต่อนโยบายของพรรคการเมืองในการจัดการปัญหาช้างป่าภาคตะวันออก ต่อพรรคการเมือง 6 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยภักดี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 หลังการเสวนาฟังเสียงปัญหาช้างป่า การเยียวยาที่ไม่ถูกเมินเฉย ณ สวนวนเกษตร ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปพิจารณาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างป่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกได้ระบุว่า พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก ประกอบด้วย 3 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอย่างฤาไน, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ และ 4 อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 2,453 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรช้างป่าอาศัยอยู่ราว 600 ตัว และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร 8.2%
หากประเมินแล้ว ในปี พ.ศ. 2572 จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นราว 1,100 ตัว แต่กลุ่มป่าตะวันออกกลับมีพื้นที่รองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรในอัตราความหนาแน่น 0.19 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งรองรับประชากรช้างป่าได้เพียงราว 325 ตัว ส่งผลให้ช้างป่าจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่มีอยู่ในกลุ่มป่าตะวันออก ต้องออกมาอาศัยหากินในพื้นที่ชุมชน จนก่อให้เกิดผลกระทบ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคม และ 3) ด้านความมั่นคงของมนุษย์และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น
ดังนั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม จึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองถึงแนวทางการจัดการปัญหา และต้องกำหนดนโยบายในการเร่งดำเนินการจัดการปัญหาช้างป่าบนพื้นฐานหลักวิชาการ หลักสิทธิมนุษยชน หลักการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจในระยะยาว และผลักดันให้เกิดการดำเนินการตามนโยบายได้จริง ไม่ว่าจะได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ดังต่อไปนี้
1. นโยบายการดำเนินการเยียวยาความเสียหายทั้งต่อ ชีวิต-ร่างกาย ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรอย่างเป็นธรรม ด้วยการพิจารณายกเลิกประกาศภัยพิบัติสัตว์ป่าของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และยกเลิกหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี พ.ศ. 2564 ตามระเบียบกระทรวงการคลัง แล้วจัดตั้งกองทุนและกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เป็นการเฉพาะต่อกรณีผลกระทบจากสัตว์ป่า โดยอาศัยระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการนำส่ง การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและรักษาไว้ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัย หรือแหล่งหากินของสัตว์ป่า หรือเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2566 ภายในระยะเวลา 1 ปี
2. นโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมาย ให้มี “การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า” ในมาตรา 32 ว่าด้วยเงินเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562 และออกระเบียบเช่นเดียวกันกับระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ตามข้อเสนอแนะข้อที่ 1) ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 ภายในระยะเวลา 1 ปี
3. นโยบายการสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระดับจังหวัดรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่กลไกคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดร่วมกัน
4. นโยบายการกระจายอำนาจการจัดการปัญหาช้างป่าไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่าในท้องถิ่นของตนเอง โดยคณะกรรมการกระจายอำนาจ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องมีหนังสือสั่งการหรือกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ความมั่นใจที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีเพื่อการจัดการปัญหาช้างป่าในท้องถิ่นของตนเอง
5. นโยบายการดำเนินการควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้างป่าในกลุ่มป่าตะวันออกให้ลดลงเหลืออย่างน้อย 2-4% ภายในระยะเวลา 5 ปี
6. นโยบายการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เพื่อการรองรับที่เหมาะสมต่อจำนวนประชากรที่มีอยู่ในกลุ่มป่าตะวันออก ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ภายในระยะเวลา 5 ปี (ควบคู่กับข้อเสนอแนะข้อที่ 5)
7. นโยบายการพัฒนาอาชีพเกษตรให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อลดการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอันเป็นปัจจัยดึงดูดช้างป่ารอบผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก