‘อีสานจน’ ‘บ้านนอก’ ‘สาวโรงงาน’ เสียงของคนนอกเมื่อพูดถึงภาคอีสาน สังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรมกว่า 4 ล้านคน ประชากรมีฐานะยากจนเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยสูงสุด 8,145 บาท/เดือน ส่งผลให้เป็นภาคที่ยากจนที่สุด ปัญหาสุขภาพอนามัยและการศึกษา รวมถึงปัญหาครอบครัวที่ย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองและอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ที่คนอีสานกำลังเผชิญอยู่ แต่นั่นเป็นเพียงคำล้อในแบบที่ไม่รู้ความจริง แต่หากฟังเสียงคนข้างในอย่างเข้าใจก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นคำล้ออีก
เสียงจากวงเวทีฟังเสียงประเทศไทย : เลือกอนาคตคนอีสาน ณ วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ขอนแก่น จัดโดยไทยพีบีเอสและองค์กรภาคีเครือข่าย วันที่ 12 มี.ค. 2566 กลุ่มเครือข่ายคนอีสานเล่นกิจกรรมส่วนหนึ่งในเวที “Where’s my tax?” ออกแบบภาษีควรนำไปพัฒนาเรื่องไหน ได้ผลสำรวจออกมา 3 เรื่องสำคัญจาก 6 เรื่องสำคัญ คือ การกระจายอำนาจ การศึกษา และการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำไมถึงเป็น 3 เรื่องนี้เพราะอะไร มันมีความหมายอย่างไร ลองฟังเสียงมุมมองจากคนในพื้นที่ด้วยกัน
กระจายอำนาจต้องมาอันดับแรก
เลือกการกระจายอำนาจ เพราะการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในชุมชนยังไม่มี อยากให้มีการกระจายอำนาจสิทธิให้ทั่วถึงระดับชุมชน มีระบบการศึกษาที่เด็กน้อยเข้าถึงทุกคน และระบบสุขภาพยั่งยืน
อุ้ย สมภวิล พิมพิทักษ์
อุ้ย-สมภวิล พิมพิทักษ์ จากชุมชนมิตรภาพ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น หรือชุมชนริมรางรถไฟขอนแก่น ซึ่งกำลังถูกไล่รื้อเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายเมื่อปลายปี 2563 คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเปราะบาง คนพิการ และผู้สูงอายุ มีอาชีพค้าขาย เก็บของเก่าและลูกจ้างรายวัน ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการรองรับที่อยู่อาศัยของชุมชน และบางส่วนยังไม่รับรู้ว่าที่อยู่อาศัยตนเองกำลังถูกไล่รื้อ
ให้กระจายอำนาจอย่างเดียว เพราะคิดว่าต้นตอของปัญหาทั้งหมดของประเทศไทยคือการคอร์รัปชัน แก้ตรงนี้ปัญหาที่เหลือก็จะแก้ได้เอง
อาจารย์จิง สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย
อาจารย์จิง-สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น เรียนเกี่ยวกับการปกครอง กฎหมายและการกระจายอำนาจท้องถิ่น ทำยังไงให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและสามารถพัฒนาด้วยตนเอง
“สังคมเราแปลกตรงที่เรายอมรับเรื่องนี้ได้” หลาย ๆ คนในช่วงรุ่นผม ทุกคนยอมรับกัน บอกเป็นเรื่องธรรมดาทั้งที่เป็นปัญหาที่ยอมรับกันไม่ได้ แต่แล้วเด็กรุ่นหลังที่ยังเรียนไม่จบหละ ยังต้องใช้ชีวิตทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าโอกาสของพวกเขาคืออะไรเลย เราจึงต้องแก้ให้หายไปให้ได้
ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนนามกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่สำคัญของสังคมทุกระดับ เพียงแต่ว่าบทบาทของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นระดับท้องถิ่นก็ต้องมีคุณธรรม ศีลธรรมในระดับท้องถิ่นไม่ใช่ว่าคอร์รัปชันตั้งแต่ข้างล่างไปจนถึงข้างบนสูงสุด เป็นแบบนี้ประเทศไทยมันไปไม่ได้
“ตอนนี้มีพรรคการเมืองบางพรรคที่เสนอเรื่องนี้ชัดเจน กล้าทำผ่านนโยบายที่พูดถึงรากของปัญหาความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย ถ้าเขาสามารถทำได้และมีอำนาจมากพอที่จะทำ ก็พอมีความหวังแต่ถ้ายังเป็นคนเดิม ๆ ไม่มีการแก้ไข ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน”
เสนอว่า คนที่มีอำนาจคือรัฐบาล องค์กรอิสระซึ่งต้องเป็นอิสระจริงๆ ไม่ถูกแทรกแทรงนั้นต้องเริ่มจากการมีรัฐบาลที่ดี มีคนที่มีอำนาจที่มีคุณธรรม โปร่งใส เข้าไปจัดการบริหารประเทศ ส่วนชุมชนต้องมีธรรมาภิบาลด้วยเหมือนกันในระดับท้องถิ่น
การศึกษาที่ดีพัฒนาผู้คนและเมือง
ปัญหาความยากจนและการอพยพไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ ทำให้อัตราการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาภาคอีสานยังน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แม้มีการขยายโอกาสการศึกษาในชนบท รวมถึงในระดับอุดมศึกษามีการกระจายโอกาสทางการศึกษาทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน รวม 19 แห่ง และกำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม
อยากให้เด็กหน้อย (เด็กน้อย) เข้าถึงการศึกษาทั่วทุกคน
อุ้ย-สมภวิล พิมพิทักษ์
ถ้าเรามีระบบการศึกษาที่ดี จะสร้างคน ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปข้างหน้าได้
นายวิรัช มั่นในบุญธรรม
สวาท อุปฮาด เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งสืบทอดกันมา สามารถเอาไปปฏิบัติใช้ได้จริงทุกช่วงเวลา ทุกระดับของคนแต่ไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นมาให้เกิดการเรียนรู้และนำไปใช้
การศึกษาสำคัญต่อการเติบโตของมนุษย์ที่จะต้องมีความรู้เท่าทัน จริง ๆ องค์ความรู้มันมีอยู่เพียงแต่ไม่ให้ความสำคัญกับคนในชุมชนระดับท้องถิ่น ความรู้มันก็เป็นเหมือนความรู้ที่ไม่มี ไม่ได้เห็นความจริงและความสำคัญก็เรียนรู้ไปเฉย ๆ นำไปสู่การพัฒนาไม่ได้
สวาท อุปฮาด
ถ้าระบบการศึกษาเอาองค์ความรู้ของชุมชนที่มีจริงในระดับชุมชนเข้าไป ก็จะสร้างการมีส่วนร่วมซึ่งมีประโยชน์และทำให้ความรู้ไม่สูญหายไป เพราะทุกวันนี้องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกสืบทอดมันก็หายไป
ฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้โลกน่าอยู่
ภาคอีสานมีทรัพยากรสำคัญต่อการพัฒนาสูงคือ เกลือหินและก๊าสธรรมชาติ แต่มีข้อจำกัดในทรัพยากรดิน ความไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ดินเค็มไม่ดูดซับน้ำ ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชทั้งปี รวมถึงป่าไม้ถูกทำลายลงในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตคนในชุมชน ขณะเดียวกันมีกลุ่มเครือข่ายที่ลงมือขับเคลื่อนผลักดันประเด็นนี้กันมาอย่างต่อเนื่อง
สนใจประเด็นเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรและการจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนมากในการทำให้โลกใบนี้กลับไปสู่ธรรมชาติที่ดี
สวาท อุปฮาด
สวาท อุปฮาด กล่าวว่า ประเด็นการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้ประโยชน์ของชุมชนยังน้อย กฎหมายบังคับใช้เฉพาะชุมชนแต่กลุ่มคนที่มีอำนาจหรือกลุ่มทุนไม่ได้ใช้ทำให้ทรัพยากรเหลือน้อย ดังนั้นถ้าประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด สามารถสร้างกลไกตลาดเศรษฐกิจชุมชนที่สร้างงานและรายได้กับชุมชน ก็จะช่วยรักษา
มาว-สหะ แสงทอง เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรกรรม การใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน เห็นการพัฒนาที่เน้นการใช้ประโยชน์ การเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาฐานทรัพยากรตรงนี้ซึ่งโยงไปถึงเรื่องผลกระทบโลกร้อนและปัญหามลพิษในปัจจุบัน
ที่ผ่านมีหลายชุมชนทำเรื่องนโยบายโดยเน้นการสร้างรูปธรรมเช่น รักษาฐานทรัพยากร เช่น ป่าชุมชนซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการ แต่นโยบายอาจไม่รองรับตรงนี้เพราะนโยบายรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง แต่เราพยายามขับเคลื่อนให้เห็นรูปธรรมว่าชาวบ้านสามารถจัดการได้และมีประโยชน์ เช่น ป่าชุมชนดงใหญ่ จ.อำนาจเจริญ ป่าชุมชนหนองเยอะ จ.สุรินทร์ ซึ่งเริ่มจากชุมชนดูแลป่าและเชื่อมต่อกับองค์กรท้องถิ่น
ส่วนเรื่องการทำการเกษตรยั่งยืน ในนโยบายบอกมีการให้ขยายพื้นที่แต่ไม่มีการปฏิบัติส่งเสริม กลุ่มเกษตรยั่งยืนเลยขยายพื้นที่ในชุมชนหรือเครือข่ายเอง ต่อมาก็ทำงานร่วมกับท้องถิ่น แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือตัวนโยบายระดับประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย มีหลายชุมชนที่พยายามขับเคลื่อนให้ไปสู่นโยบาย ตั้งแต่ข้อเสนอเรียกร้องหรือไปสู่รูปธรรมแต่ว่าก็ถูกหยิบไปใช้น้อย แต่สุดท้ายชุมชนก็ขับเคลื่อนให้มีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้น บทบาทให้ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ สำคัญคือภาคชุมชนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมตรงนี้ให้มากขึ้น มีบทบาทในการดูแล ฟื้นฟูทรัพยากรหรือออกแบบการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจริงๆ ของชุมชม
มาว-สหะ แสงทอง
ทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ต่างเกี่ยวโยงซึ่งกันและกันรวมถึงประเด็นอื่น ๆ อีก ในเมื่อต้องเลือกว่าภาษีที่มีอยู่ควรไปใช้กับเรื่องไหนก่อน คนอีสานจึงขอเลือก 3 เรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะภาษีที่นำไปพัฒนาต่าง ๆ รวมอยู่ที่ส่วนกลาง แต่หากกระจายออกไปสู่ภูมิภาคอื่นได้ ระบบการศึกษาที่ดี การจัดการทรัพยากร เกษตรยั่งยืนก็จะเป็นจริงได้
ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง
ฟังเสียงประเทศไทย : เสียงประชาชน เลือกอนาคตคนอีสาน @ขอนแก่น
ล้อมวงคุยกับเยาวรุ่นแดนอีสาน นิเทศศาสตร์กาฬสินธุ์