ล้อมวงคุยกับเยาวรุ่นแดนอีสาน นิเทศศาสตร์กาฬสินธุ์

ล้อมวงคุยกับเยาวรุ่นแดนอีสาน นิเทศศาสตร์กาฬสินธุ์

เที่ยงวันอาทิตย์ ณ ห้องอาหารวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งภายในไม่ถึงชั่วโมงถัดห้องโถงอาคารจะเปลี่ยนเป็นลานพูดคุยฟังเสียงประเทศไทย “เสียงประชาชน เลือกอนาคตภาคอีสาน” 

ตอนนี้เราอยู่กับ หยก โบตั๋น วิว ไอซ์ และเบนซ์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ต่างชั้นปีมานั่งพูดคุยถึงสิ่งที่อยู่ในความคิด บนห้วงเวลาสำคัญที่พวกเขากำลังจะไปสิทธิเลือกตั้งใหญ่เป็นครั้งแรก 

มองเห็นอนาคตของตัวเองในสังคมตอนนี้อย่างไร

หยก นางสาวต้นหยก งามพริ้ง ปี 3

หนูยังไม่มั่นใจอนาคตของตัวหนูเองนะว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเรียนจบแล้วจะยังไงต่อ เพราะการแข่งขันมันเข้มข้นขึ้นก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก 

โบตั๋น นางสาวทิตยาภรณ์ เงินพูล ปี 1

จบแล้วแหล่งงานมันไม่พอสำหรับเรา คนในพื้นที่มีเยอะ คนก็ตกงานกันมากมายทำให้กังวลว่าจะมีที่ให้เราอยู่ไหม ถ้าความฝันของตัวเองในบั้นปลายก็อยากให้เงินทำงานแทนเรา

ไอซ์ นางสาวคัทลียาพร ยะพลหา ปี 3

ไม่แน่ใจ อยากให้มีอนาคตนะคะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะมียังไง หนูเรียนนิเทศ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรในนิเทศ มาเรียนเพราะอาจารย์บอกว่าจะได้เที่ยว ก็มาเพราะไม่ชอบอยู่กับที่ อยากไปข้างนอก ที่ไม่ใช่แค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม มีโต๊ะมีเก้าอี้ มีกระดาน มันก็ได้ไปเจออะไรใหม่ ๆ  แต่ถามว่ามีประโยชน์อะไรไหมกับตัวเองหรือกับคนอื่นก็ยังไม่ค่อย แต่ถามว่าได้เรียนอะไรใหม่ มันก็ดีอะไรที่ไม่เจอไม่เคยเห็นก็ได้เห็นได้รู้จัก อนาคตอยากทำร้านอาหาร อยากไปอยู่ที่ภาคเหนือ เพราะพี่สาวมีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ 

“ตอนนี้ในสายงานนิเทศ มันมีงานเยอะแยะมาก แต่ไม่รู้ว่าเราเหมาะกับอะไร หนูเรียนมาถึงปีสองก็ยังไม่รู้เลย บางทีทำงาน ทำการบ้านก็ยังคิดอยู่กับตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร”

วิว นางสาวสิริยา สายยางห้า ปี 2 

หนูยังไม่แน่ใจว่าอนาคตจะไปทำอะไร ไม่รู้ว่าชอบทางไหนจริง ๆ ด้วยซ้ำ เหมือนตอนนี้มาเรียนให้จบไป ตอนนี้ยังมองไม่เห็นอนาคตที่ชัดเจนว่าจะไปทำอะไรต่อ มันก็เลยเป็นกังวลว่าถ้าเรียนจบไป

เบนซ์ นายศราวุธ วรรณโส ปี 2 

เรียนจบไปอยากตั้งบริษัทเล็ก  ๆ เป็นสตรีมเมอร์ ยูทูบเบอร์ ตั้งบริษัทของตัวเอง อยู่ที่บ้าน หรือถ้าไม่สะดวกก็จะไปตั้งบริษัทที่บางบัวทอง

วิว : ค่อนข้างกังวล เพราะการเลือกตั้งครัังที่ผ่านมายังมีรายชื่อของคนที่เสียชีวิตอยู่เลย กังวลว่าเสียงของเราจะมีความเปลี่ยนแปลงไหม เสียงของเราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไหม

ไอซ์ : กาฬสินธุ์มีอะไรเยอะมาก มีทั้งไหม ของดีเต็มไปหมด แต่ทำไมถึงเป็นจังหวัดที่ยากจนอยู่ ก็ยังคิดกับตัวเองว่ามันเป็นเพราะอะไร เราไม่ขวนขวายกระตือรือร้นหรือ มันไม่มีอะไรซับพอร์ตกันแน่

โบตั๋น : นโยบายแต่ละพรรคที่ทำออกมา ถามว่าถูกใจหรือดีไหม ก็ยังไม่รู้สึกว่าถูกใจหรือใช่ ถ้าเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น บางพรรคเขาบอกว่าจะปรับเพิ่มค่าแรงแล้วผู้ประกอบการเขาจะอยู่ได้ไหมอยากให้แต่ละพรรคบอกถึงการจัดการเชิงระบบ ถ้าจะแก้เรื่องหนึ่งมันจะกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ 

local contents ของอีสานฟังดูมันต่างกันมาก ของดี ของเด็ด  มันอาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันมาก แล้วปัญหาร่วมของอีสานในสายตาเราคืออะไร

โบตั๋น : การเกษตร

แบนซ์ : เศรษฐกิจ

โบตั๋น : ถ้าเศรษฐกิจมันคือกว้างมากนะ คือคิดว่าเป็นเรื่องพืชผลการเกษตร

ไอซ์ : คือ ปุ๋ยมันแพงแล้วผลผลิต ราคาก็ไม่ดี

โบตั๋น : ถ้ามองในมุมของหนู ถ้าเรื่องการเกษตร ภาคอีสานมันเป็นอู่ข่าวอู่น้ำอยู่แล้ว มันมีผลผลิตเยอะมาก ๆ แต่ต้นทุนก็สูง พอการรับซื้อของนายทุน หรือพ่อค้ารายใหญ่ที่มารับซื้อพอเห็นผลผลิตมันมีมากก็จะกดราคาให้ต่ำลง พืชผลของเราที่จะส่งออกก็ไม่ได้มาก ก็ยังกอง ดองไว้หมุนเวียนในประเทศ มันก็อยู่แบบนี้ ชาวนาก็ทำการเกษตร ทำนาอยู่ทุกปี พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็เอาข้าวเก่ามาขาย เอาข้าวใหม่มาขายบ้าง คือมันล้น แต่ระบบการจัดการมันไม่ดี มันไม่มีประสิทธิภาพ

โบตั๋น : การสร้างอาชีพ เรื่องอัตราการว่างงานมันมีมากในอีสานเหมือนกัน การไปทำงานที่กรุงเทพหลังจบก็ยังเป็นค่านิยมเหมือนกัน เราได้ยินมาตั้งแต่สมัยนู้นแล้ว ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ นายทุนในอีสานมันก็มีไม่มาก บางจังหวัดไม่มีการลงทุน ในบางจังหวัดจึงไม่มีการพัฒนาหรือเติบโต บางจังหวัดก็มีนายทุนเยอะมาก ๆ  ก็มีห้าง ผุดขึ้นมาเป็นเห็ดเลย มันเป็นการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึง

ไอซ์ : สมมุติว่าเราอยากจะตั้งต้นใหม่ แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เคยมีมาก่อน มันก็มักไม่มีการสนับสนุน มันก็จะไม่เกิด เราก็ต้องข้างนอกอยู่ดี

แล้วโอกาสของพวกเราอยู่ตรงไหน เรามองอย่างไร

ไอซ์ จากกาฬสินธุ์ : เคยคิดว่ามีโอกาส แต่ทุกวันนี้มันเหมือนทำเหมือนว่าเราไม่มีโอกาสเพราะ เราคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาประเทศต่อไป แต่ว่าอะไรที่มันไม่เท่าเทียมก็ควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แต่เราก็จะเห็นในข่าวว่ามีเยาวชนโดนจับ ก็เลยรู้สึกว่าเรามีโอกาสแต่ใช้โอกาสนั้นไม่ได้ ก็เลยไม่มีใครกล้าทำอะไร จนรู้สึกว่าเรามีโอกาสอยู่จริงไหม

วิว จากร้อยเอ็ด : เหมือนเราต้องหาโอกาสเอง ต้องเดินไปหาโอกาสที่มีน้อยเอง

หยก จากสกลนคร : เหมือนนักศึกษาไปขอโอกาส แต่ผลที่มันออกมา มันเหมือนว่าเราไม่สามารถไปพูดอะไรกับเขาได้เลย เพราะการขอโอกาสก็เพื่ออนาคตของเรา พอเราพูดบางคนก็โดนจับ ก็เลยไม่มีใครกล้าพูด ไม่ใครกล้าขอโอกาส ก็เหมือนเราต้องเป็นแบบนี้ ต้องรอโอกาสต่อไป

ถ้ามองว่าเราเป็นนักนิเทศศาสตร์ เรียนสื่อสารมวลชน แล้วเทคโลยีเหล่านี้มันช่วยไหม

มันช่วยได้เยอะ“ ตอบพร้อม ๆ กัน

โบตั๋น จากอุดรธานี : โอกาสมันอาจจะมีอยู่นะคะ ในโลกโซเซียล มีโน่นนี่นั่นให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ แต่บางทีทุนสนับสนุนในการเข้าร่วมมันยังขาดแคลน นักศึกษาที่อยู่ในวัยนี้ก็ยังไม่ได้ทำงาน เราไม่ได้มีทุนมากพอในการเข้าถึงโอกาสของตัวเอง

ถ้าจะแปลงสิ่งที่เรานำเสนอ ถ้าแปลงมาเป็นนโยบายในช่วงเวลาอันใกล้ 

ไอซ์ : อย่างแรกขอเรื่องความเท่าเทียม อย่างมหาลัยหนูจะมีอยู่สองพื้นที่ มีในเมืองกับนามนที่มันห่างกัน 30 กิโลเมตร คนอยู่นามนเหมือนลูกเมียน้อย ในเมืองก็มีทุกอย่าง นามนมันมีการสร้างตึกขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้เปิดใช้งาน แล้วมันก็มีการแบ่งแยก ทำไมเราอยุ่ในที่เดียวกันถึงใช้ร่วมกันไม่ได้ อย่างน้อยมันต้องมีกฎเกณฑ์ที่จะอยู่ร่วมและพัฒนาไปด้วยกัน

พื้นที่ของหนูเมื่อก่อนมันเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฎแล้วมาควบรวมเป็นมหาวิทยาลัย ถ้าจะทำแบบนี้น่าจะพัฒนาไปด้วยกันดีกว่าไหม

โบตั๋น : สำหรับหนู ถ้าในอนาคตอันใกล้ ขอให้มีการยกเลิกกฎหมายบางฉบับ คนรุ่นใหม่มีการแสดงความคิดเห็นบนโซเซียลแล้วมันไปไวมาก มันมีการแจ้งเตือน แจ้งจับกันอย่างรวดเร็ว

อะไรที่มันตึงมากมันจะขาดนะคะ ก็เลยคิดว่าถ้ายกเลิกได้ก็จะดีค่ะ

ไอซ์ : ขอเสริมของน้องนิดนะคะ มันตึงจริงนะคะ การแก้ไขหรือยกเลิก เป็นการขอให้มีการปรับเปลี่ยนให้กฎหมายเข้ากับประชาชน เห็นใจประชาชน อยากให้คนที่จะบังคับใช้มองเรามองเป็นลูกหลานก็ยังดี อันนี้เหมือนคนที่ไม่ได้อยู่ประเทศเดียวกัน หรือไม่ใช่ประชาชนของเขาทั้งที่เราก็เสียภาษีเหมือนกัน

หยก : อาจจะให้เขารับฟังคำพูดของเราบ้าง

วิว : เหมือนเอาคำพูดไปปรับเปลี่ยน

เบนซ์ นักศึกษาหนุ่มจากหนองบัวลำพู : เพิ่มโอกาสให้คนแต่ละคน ใครไม่มีโอกาสเรียน ไม่มีทุนเรียน ก็ให้งานกับพ่อแม่

โบตั๋น : จริง ๆ ระบบการศึกษา อย่าที่ฟังพี่วิวพี่ไอซ์พูดว่า ไม่รู้จะเป็นอะไร ทำอะไร นั่นเป็นเพราะว่า เราเรียนรู้โน้นนี่นั่นแบบเยอะเกินไป เราเรียนเคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ โน้นนี่นั่นอะไรเราก็เรียน

“จริง” หลายเสียงแทรกเข้ามา

ภาษาอังกฤษ ภูมิปัญญา หน้าที่พลเมือง อะไรเราก็เรียน พอมันมากองอยู่ตรงนี้ แล้วการบ้านมันก็มีเยอะ เราก็ต้องมานั่งปั่นจนไม่มีเวลาคิดว่าเราจะชอบไม่ชอบมันอย่างไร

สรุปเรียนไปเพื่ออะไร เราเลยไม่รู้ว่าชอบอะไร และเก่งอะไรด้วย แต่มันแตกต่างจากประเทศ ที่เขาอยากเขาสามารถไปเรียนในสิ่งที่เขาสนใจได้เลย เหมือนเจ็บขวดของเขาได้เรียนสิ่งที่เรากำลังเริ่มต้นเรียนตอนปีหนึ่ง กว่าจะค้นพบตัวเองได้ก็ต้องซิ่ว

ไอซ์ : ระบบการสอนมันควรพัฒนาให้มันทันสมัยได้แล้ว อะไรที่เรียนตอนประถมก็ต้องมาเรียนตอนมัธยมเหมือนเดิม การเรียนคอมพิวเตอร์ตอนประถมก็ได้เรียนวาดรูปลอยกระทงอยู่ทุกปี ไม่ได้เรียนอะไรอย่างอื่นเลย

วันนี้เรามาร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย เราในฐานะคนรุ่นใหม่ คาดหวังว่าจะได้ยินอะไร และอยากจะพูดอะไรไหม

โบตั๋น : อยากฟังความคิดเห็นของแต่ละวัย แต่ละเจน เพราะมันร้อยพ่อพันแม่ ย่อมคิดแตกต่างกัน หรืออาจจะมีอะไรที่คล้าย ๆ กัน เพราะปัญหาหรืออนาคตข้างหน้า ใครๆ ก็อยากให้มันดี มันมีการแก้ไข คนเขาอยู่มานานก็ต้องเห็นปัญหา

“หนูไม่รู้จะพูดอะไร แต่การมาครั้งนี้ หนูอยากจะแชร์ในความคิดเวอร์ชันของคนเจนนี้ ให้ผุ้ใหญ่ได้รับรู้ว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ แต่เป็นเรื่องของทุกคน”

ไอซ์ : หนูคิดคล้าย ๆ น้อง หนูเห็นคุณยายก็มา มันหลายช่วงอายุ อยากเห็นความคิดว่าตั้งแต่เขาอยู่มาจนถึงตอนนี้ มันเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เพราะบางทีมันมีคนแก่บางประเภทที่ไม่ยอมรับฟังอะไรเลย

โบตั๋น “บางทีเขาอาจจะได้อัปเดตซอ์ฟทแวร์ตัวเอง”

วิว : ไม่อยากพูดคะ แค่อยากฟัง

หยก : 555 ก็คงจะเหมือนกันคะอยากรู้ว่าเขาคิดเห็น หรือมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างไรบ้างแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ