ในความขัดแย้งของสังคม มักมีคนพูดถึงบทบาทของสื่อ ดิฉันจึงอยากย้อนถึงเมื่อครั้งได้ไปแลกเปลี่ยนความเห็นและดูบทบาทของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่าง BBC ที่ไอร์แลนด์เหนือ ทำให้พบว่าท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงยาวนานของที่นั่น สถานีของบีบีซีไอร์แลนด์เหนือ (BBC NI)ก็เป็นเสมือนภาพจำลองของผู้คนที่นั่น เจ้าหน้าที่กว่า 700 คนย่อมมีมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และทุกคนก็มีชุมชนที่ตนผูกพัน มีความเชื่อที่ศรัทธา มีผู้สื่อข่าวที่เป็นทั้งคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง”ชื่อ”ของคนในไอร์แลนด์เหนือคาดเดาได้เลยว่าคนนั้นนับถือนิกายอะไร เช่น ถ้าชื่อเป็นไอริชก็จะนับถือคาทอลิก เป็นต้น จึงง่ายมากที่จะคาดเดาได้ว่าเพื่อนร่วมงานใน BBC NI น่าจะอยู่ฝ่ายไหน แต่วิธีการก้าวผ่านความขัดแย้งภายในองค์กรเขา มีหัวใจสำคัญคือการทำงานที่ยึดมั่นในจริยธรรมของสื่อ โดยมีคู่มือจริยธรรมองค์กรเป็นคัมภีร์ในการทำงาน คู่มือดังกล่าวมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัยต่อเนื่อง
ในช่วงเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนือ ประชากรในไอร์แลนด์เหนือมีประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่มาก ดังนั้นเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้สื่อข่าวที่ทำงานกับ BBC NI และอยู่ในชุมชน ขณะที่นักข่าวจากลอนดอนมา รายงานสิ่งที่เห็น และจากไป แต่นักข่าวที่อยู่ที่นี่ต้องกลับไปยังชุมชนและตอบคำถามกับคนในชุมชนถึงสิ่งที่ถูกรายงาน จึงเป็นเรื่องยากและท้าทายมากที่จะอยู่ในสังคมที่แตกแยก การนำเสนอประเด็นของผู้คนที่มาจากปูมหลังที่แตกต่างกัน มีกำหนดไว้ในคู่มือการทำงานของ BBC ด้วย เจ้าหน้าที่ของบีบีซีเมื่อเข้ามาทำงานแล้วจะต้องยอมรับกับแนวทางการทำงานและวิธีการ
แคทเธอรีน ผู้สื่อข่าวอาวุโสบอกว่า เมื่อเธออยู่ในห้องข่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากแนวคิดที่หลากหลาย จะต้องทิ้งแนวคิด ความเชื่อทางการเมือง แต่เชื่อมั่นอยู่กับทักษะของการทำงานมากกว่า และผู้สื่อข่าวควรรู้ว่าเรามาเพื่อที่จะทำงานและต้องให้พื้นที่ให้ทุกฝ่าย การนำเสนอจะไม่ใช่การตัดสิน คือสิ่งสำคัญที่ต้องระมัดระวัง รวมถึงภาษาที่ใช้ด้วย หลีกเลี่ยงการระคายเคือง และการต้องตีความ
ช่วงของเหตุการณ์ไม่สงบ BBC NI เคยถูกวางระเบิด บางครั้งการเสนอข่าวก็ถูกต่อว่าจากผู้ฟังผู้ชม และนักการเมือง แต่รายการวิทยุอย่าง BBC 5 Life และ BBC Radio อย่าง Ulster และ Foyle ก็นำเสนอเรื่องราวจากชุมชนฐานล่างอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเข้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพด้วยการเจรจา อาจกล่าวได้ว่า BBC NI ไม่ได้เน้นการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชัดเจนนัก โดยวางตนเองอยู่บนความเป็นกลางที่จะรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่า เช่น ในช่วงที่รัฐบาลมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ มีคำสั่งห้ามดำเนินการเกี่ยวข้องกับองค์กรผิดกฏหมาย และการสัมภาษณ์ผู้ก่อการร้ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ BBC NI ก็ได้ใช้ทักษะการสื่อสาร สัมภาษณ์ผู้นำ IRA มาเผยแพร่ผ่าน TV ได้โดยการใช้มุมกล้องและพากษ์เสียง เพื่อเป็นการทำความจริงให้ปรากฏ
เจ้าหน้าที่ BBC NI บอกว่าว่าช่วงไอร์แลนด์เหนือ เข้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ คนทำงานสื่อมองว่าเป็นบทบาทของภาคการเมือง แต่ก็ใช่ว่าพรรคการเมืองจะเห็นพ้องทั้งหมดในแนวทางนั้น ถ้า BBC NI มีการนำเสนอในเชิงหนุนฝ่ายส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ก็จะถูกวิพากษ์ว่าเพิกเฉยกลุ่มที่คิดต่าง เธอบอกว่าในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม ย่อมต้องการให้เกิดสันติภาพและไม่มีใครบอกว่าไม่ต้องการสันติภาพ แต่ในการทำหน้าที่สื่อแล้ว ก็ควรจะมีหลากหลายแง่มุมที่จะทำหน้าที่นั้นให้สังคมรู้
BBC NI ยืนยันให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนทั่วไป ผู้สื่อข่าวของ BBCNI ก็มาจากคนธรรมดา และมาจากชุมชน จึงให้ความสำคัญในการออกไปสัมภาษณ์ชาวบ้านมานำเสนอ มีรายการที่จะเชิญผู้ชมเช้ามาและสามารถที่จะตั้งคำถามกับนักการเมือง มีรายการที่สามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ทุกวัน และมีการเปิดให้ผู้ชมได้เข้ามามีส่วนร่วม และยังมีสื่อใหม่ ทวิตเตอร์ มีฟีดแบคจากผู้ชมทุกวัน รวมทั้งที่โทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการวิทยุบางรายการด้วย เช่น บทบาทของรายการวิทยุอย่าง BBC 5 Life และ BBC Radio Ulster และ Foyle มีรายการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นฐานล่างของ NI ทั้ง 2 ฝ่าย และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ล่อแหลม ผู้สื่อข่าว BBC NI บอกว่าจะมีการไตร่ตรองสอบถามก่อนเสมอ เช่น ถ้า IRA เสนอตัวว่าจะให้สัมภาษณ์ ก็จะไม่ได้ทำตามข้อเสนอทันทีแต่จะต้องดูนโยบายด้วย โดยหารือไปยังสถานีแม่ที่กรุงลอนดอน และแสดงเหตุผลให้เพียงพอว่าทำไมจะต้องสัมภาษณ์คนที่อยู่ในองค์กรก่อการร้าย หรือกรณีมีการออกแถลงการณ์ใด ก็ต้องเสนอปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ด้วย
รายการหนึ่งซึ่งน่าสนใจของ BBC NI คือรายการ “Hearts and Minds” โปรดิวเซอร์รายการ แมรี่ แครี่ เล่าว่า “Hearts and Minds”เป็นรายการด้านการเมืองออกอากาศ 1.30 ชั่วโมงทุกสัปดาห์ เป็นรายการสัมภาษณ์เชิงลึกแต่ก็เน้นแง่มุมและสีสันทางการเมืองด้วย มีช่วงการสัมภาษณ์จะเป็นเรื่องหลัก มีช่วง “If you ask me” 3 นาทีที่จะให้ประชาชนมีคอมเม้นท์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ช่วงที่ 2 จะไม่ใช่การเมืองหนักแต่เป็นผลกระทบชีวิตผู้คนจากการเมืองหรือนโยบาย ออกอากาศทางช่อง BBC NI และ BBC 1 และ 2 การคิดประเด็นอยู่ที่ว่าทีมในพื้นที่จะนำเสนออะไร สามารถตัดสินใจได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับสถานีแม่ข่าย ส่วนการวางผังรายการ จะอยู่ที่ทีมบริหารคิดว่าทิศทางไหนสำคัญ โดยจะมีทีมรายการที่ตัดสินใจด้วยตนเอง
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ที่เชียงใหม่บ้านดิฉันมีวงเสวนาที่จัดโดยคณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่อง ปฏิรูปการเมืองไทย: บทบาทสื่อมวลชน ควรเลือกข้าง ส่องทาง หรือวางเฉย ซึ่งสิ่งที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ส.ส.ท. กล่าวในวงเสวนานี้คือ นิยาม “ความเป็นกลาง” ในคู่มือนักข่าวของบีบีซี คือ 1. impartiality ซึ่งแปลว่าการไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยตัวนักข่าวอาจเลือกพรรคสีนั้นสีนี้ได้แต่ในการนำเสนอข่าวเขาจะต้องไม่เลือกข้าง และจะนำมาสู่การนำเสนอข้อมูลแบบ Balance 3 ด้าน 4 ด้าน ไม่ใช่แค่ 2 ด้าน 2.Neutrality คือสื่อต้องนำเสนอน้ำหนักทั้งสองด้านในเชิงคุณภาพที่เท่ากัน พื้นที่ข่าวมากหรือน้อยนั้นมีผลต่อการชี้นำความคิด และจิตวิทยา ดังนั้นต้องนำเสนอให้สมดุลแล้วจะเกิดความเป็นธรรม โดยจุดยืนของสื่อตามคู่มือนักข่าวของบีบีซีเขียนไว้ว่า จุดยืนของนักข่าวคือเท้าทั้งสองข้างอยู่ในที่ที่เกิดเหตุ ตาทั้งสองข้างได้เห็นจริง และหูทั้งสองข้างได้ยิน แล้วจึงค่อยรายงานข่าว และการเลือกข้างของสื่อนั้น ถูกบังคับให้เลือกข้างความจริงได้เท่านั้น ถ้าไม่อยู่ข้างความจริงไม่ใช่สื่อ
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล มองว่าปัญหาของสื่อในขณะนี้คือทำอย่างไรจะให้ประชาชนเข้าใจปัญหาที่กำลังเป็นไป และเข้าใจความจริงที่แม้จะเป็นข้างเดียว ก็ต้องเป็นความจริงที่ ไม่ใช่เต็มไปด้วยอารมณ์ นอกจากนั้นเรากำลังอยู่ในยุคสื่อไร้ระเบียบที่ใครๆ ก็มีสื่อได้ และไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย มีสื่อที่ละเมิด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่มากมาย ทำให้เราไม่มีกรอบจรรยาบรรณ ทางออกคือจะต้องผลิตนักการสื่อสารที่ได้รับการสั่งสอนด้านจรรยาบรรณไปแทรกซึมไปสื่อต่างๆ เพื่อเอาจรรยาบรรณเข้าไปแทรกซึมการทำงานของสื่อเหล่านั้นในอนาคต
ขณะที่ รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มช. กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนมีช่องทางรับการสื่อมากมาย คนที่ไม่มีทางเลือกการรับสารคือคนที่มีแค่สื่อเลือกข้าง และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งนี้เช่นที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชาชนรอสื่อที่นำเสนอความจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่นำเสนอ แต่ให้ข้อมูลฝ่ายรัฐบาล หรือสื่อต้องรอให้เกิดวิกฤติก่อน โดยส่วนตัวของ อ.สดศรีระบุว่าไม่ชอบความเป็นกลาง ความเป็นกลางเหมาะสำหรับใช้ตอนสงครามโลก แต่ในเชิงสื่อสารมวลชน ความเป็นกลางถูกตีความไปเรื่อย นอกจากเรื่องที่ไม่ให้พื้นที่ข่าวแล้วยังมีเรื่องของความลำเอียงอคติค่อนข้างมาก
เจตนาของดิฉันที่เขียนถึงเรื่องนี้เพื่อบันทึกวิธีคิดค่ะ มิได้อยากปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไร ควรหรือไม่ควรทำแบบไหน เพราะเรากำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติฉันทานุมัติ จะให้ปลงใจว่ากำหนดว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ถึงจะเหมาะสมนั้น เป็นไปได้ยากยิ่งในช่วงเวลานี้ แต่คิดว่าประสบการณ์และข้อเสนอบางอย่างเหล่านี้น่าจะเป็นข้อมูลนำไปคิดต่อได้ ว่าสื่อควรทำหน้าที่เช่นไรให้ยึดมั่นในจุดยืนและแนวทางของตนเองไว้ให้มั่นและลงมือทำเท่านั้นค่ะ