“ตอนอยู่เมืองอื่น เราอยากเข้าหาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่เมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา เมื่อกลับมาบ้าน เราเห็นว่าพัทลุงก็มีดีเป็นของตัวเอง เลยคิดว่าภาพพัทลุงที่เราเห็นตอนนี้เปลี่ยนไปจากตอนนั้นที่เราเคยอยู่”
ตั๊ก จุฬาลักษณ์ สันติศิริ ศิลปินแกะสลักงานไม้
ระบบนิเวศแบบ เขา ป่า นา เล ถูกถ่ายทอดผ่านคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน” นี่เป็นสิ่งยืนยันว่าเมืองนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีของผู้คน ตามแบบฉบับของ “คนเมืองลุง”
เราชวนคนพัทลุงต่างวัย แต่เหมือนกันในเรื่องของการใช้ชีวิตที่มีช่วงของการออกไปเรียนรู้ เติบโต และกลับมาอยู่บ้าน “บ้าน” ที่วันนี้พวกเขามองว่ามีศักยภาพมากกว่าการเป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย
เด็กเมืองลุง คน(กล้า)คืนถิ่น
“คนพัทลุงเป็นคนเชย ๆ เฉิ่ม ๆ เป็นลูกทุ่ง มีตัวตนที่ชัดเจน และไม่อายเมื่อมีคนอื่นมองว่าไม่ร่วมสมัย ไม่ทันสมัย เพราะเรารู้สึกว่าเรามีความหยิ่ง มีความทระนงในความเป็นเชยๆ ที่มีเอกลักษณ์แบบนี้ เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนที่สำคัญ ทำให้เรารู้สึกแตกต่างจากคนทั่วไปครับ”
กฤตย พวงสุวรรณ คนกล้าคืนถิ่น จ.พัทลุง
โต้ง กฤตย พวงสุวรรณ คนกล้าคืนถิ่นที่กลับมาอยู่บ้านกว่า 10 ปีแล้ว นิยามความเป็น “เด็กเมืองลุง” ที่แม้หลายคนจะดูว่าเชย หรือล้าหลัง แต่เขากลับมองว่านี่เป็นตัวตนที่แข็งแรงของคนพัทลุง ที่ตัวเขามีความภาคภูมิใจ
“จริง ๆ แล้วการที่ไปอยู่ที่อื่นมาก่อน เราโชคดีตรงที่เรารู้สึกว่า เรารู้ตัวเองว่าเราต้องการอะไร ตั้งแต่ตอนเรียนเลยนะ คือเราไม่ต้องการที่จะไปเป็นแค่คนหนึ่งที่ทำงานและรับเงินเดือนจากจากใครก็ได้ แต่เรารู้สึกอยากเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เพราะเราคิดเสมอว่าคนเราเกิดมาย่อมมีศักยภาพในตัวเอง ทำอย่างไรก็ได้ให้เรารีดศักยภาพนั้นออกมาให้ได้”
“พัทลุงเป็นการท่องเที่ยวแบบครอบครัว เป็นกลุ่มเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เข้ามาเที่ยว เพราะเรามีความแตกต่างจากที่อื่น เช่นเรื่องวิถีชีวิต เรื่องการกิน การอยู่ การประกอบอาชีพ ที่รวมกันแล้วจะมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นความแตกต่างที่มีเสน่ห์ ทำให้คนให้ความสนใจในจังหวัดพัทลุง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเมืองที่ล้าหลัง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นความจงใจ และเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนภูมิใจด้วย และอยากให้มันอยู่อย่างนี้ ให้คงสภาพความต่างที่มีเสน่ห์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ”
ต้นทุนชุมชน สิ่งสำคัญที่ช่วยให้คนกลับบ้านเดินต่อได้
ช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้าน เรากลับมาแบบมือสิบนิ้ว ไม่มีอะไรติดตัวเลย ไม่มีงานทำ เรามาอยู่บ้านโดยเริ่มต้นจากศูนย์ เมื่อได้อยู่ที่บ้านจริง ๆ แล้ว เรารู้สึกว่าอันนั้นก็ทำได้ อันนี้ก็ทำได้ สามารถขายได้ทุกอย่าง เพราะด้วยวิถีวัฒนธรรม และวิถีของความเป็นเมืองเกษตร
กาญจนา ปานทอง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว อ.กงหรา
สาว กาญจนา ปานทอง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว อ.กงหรา เป็นอีกคนที่เลือกกลับบ้านเพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ในชีวิตจากศูนย์ และมองหาของดีในชุมชนมาเป็นต้นทุนในการเดินหน้าต่อ
“พี่เป็นคนเขา อยู่โซนเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่ต้นน้ำ เขาและป่า ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ ทำวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวกับชาวบ้าน บนพื้นฐานที่แม่และครอบครัว รวมถึงชุมชนทำอยู่ก่อนแล้ว พี่เป็นรุ่นที่ 2 เป็นเรื่องของการขยายตลาด เมื่อเรามาทำท่องเที่ยวก็อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าอยากมาเที่ยวพัทลุง มาดูว่าพวกเรามีอะไรบ้าง มาดูว่าพวกเรากินอะไร”
ในช่วงหนึ่งของชีวิตที่เราได้ไปเรียนที่ต่างจังหวัด เราได้ไปทำงานที่เมืองหลวง หรือจังหวัดอื่น ๆ เรารู้สึกว่าเราต้องใช้ความพยายามและต่อสู้บากบั่นมาก แต่พอเรากลับมาอยู่บ้าน แม้ว่าการดำเนินชีวิตจะไม่หรูหราเหมือนที่อื่น แต่พอได้อยู่บ้านเรารู้สึกอุ่นใจ และยิ่งรู้สึกรักเมื่อได้มาอยู่ ซึ่งการเดินทางไปทั่วจังหวัดยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าของจังหวัดของเรา ความหลากหลายของพัทลุงทำให้รู้สึกว่ายิ่งอยู่แล้วยิ่งรัก ยิ่งอยู่ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งอยู่ยิ่งมีความสุข
กาญจนา ปานทอง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว อ.กงหรา
เป็นพัทลุง ที่กำลัง(จะ)ดี
“เราไม่ได้อยากเห็นพัทลุงที่เจริญเป็นเมืองขนาดนั้น ไม่ได้อยากให้มีสนามบิน แค่อยากให้พัทลุงมีระบบคมนาคมที่ดีขึ้นกว่านี้ ในทุก ๆ เส้นทางทั้งที่เชื่อมต่อกับจังหวัดรอบข้าง หรือในจังหวัดเองก็แล้วแต่ อยากให้พัฒนาส่วนนี้ และอยากเห็นพัทลุงที่มีความธรรมชาติในเรื่องวิถีชีวิตแบบที่เคยเป็น แต่ก็อยากให้คุณภาพของคนพัทลุงดีขึ้นกว่านี้”
ตั๊ก จุฬาลักษณ์ สันติศิริ ศิลปินแกะสลักงานไม้ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ ที่กลับบ้านพร้อมวิชาชีพด้านศิลปะงานไม้ และต้องใช้เวลาในการทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองกับสังคมรอบข้าง
“กับคนในครอบครัวเราไม่ต้องอธิบายว่าเราเป็นอย่างไร เพราะพวกเขารู้อยู่แล้ว พวกเขาเข้าใจ แต่คนรอบข้างจะไม่เข้าใจ เพราะเราไม่ได้นำเสนอตัวเองว่าเราคือใคร ทำอะไร อย่างไร เราก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ของเรา พวกเขาไม่ได้เห็นว่าเรากำลังทำอะไร ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจว่าเรากลับมาทำอะไรอยู่ที่บ้าน แต่เราคิดว่าเมื่อเราทำจนถึงจุดที่พวกเขาเห็นมัน พวกเขาก็จะเข้าใจเรา”
“หลายคนอยากให้วัยรุ่นกลับมาบ้าน”
“แต่เราอยากถามในมุมที่กลับกันว่างานที่จะรองรับวัยรุ่นเหล่านั้น มีมากน้อยแค่ไหน เพราะกลับมาแล้วไม่มีงานทำ และจะมีสักกี่คน ที่พวกเขามีสิ่งที่อยากทำเป็นของตัวเอง มันน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ที่เรียนกันอยู่ ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เรียนตามระบบ พ่อแม่อยากให้ลูกทำงานดี ๆ อยากให้ลูกอยู่บริษัทดี ๆ สุดท้ายแล้วการอยากให้พวกเขากลับมาบ้าน ก็ไม่รู้ว่าจะให้กลับมาทำอะไร เพราะไม่มีงานรองรับพวกเขา”
แม้พัทลุงจะมีต้นทุนในด้านทรัพยากรต่าง ๆ รวมถึงทรัพยากรบุคคล แต่ ตั๊ก มองว่าการพัฒนาเมืองที่ดี มันควรจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพัทลุงได้