น้ำมันแพง ทำให้ออกเรือแต่ละครั้งมีต้นทุนสูง หาปลาได้ไม่เยอะเท่าเมื่อก่อน น้อยบ้างหรือไม่ได้เลยก็มี แถมราคารับซื้อไปถูกแต่ขายแพง คนก็ไม่มีกำลังซื้อทำให้เศรษฐกิจไม่ดีอีก การจอดเรือทิ้งไว้จึงดีกว่าแต่ก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน
เสียงของชาวประมงในจ. สมุทรสาคร เล่าถึงสถานการณ์ที่แม้จะผ่านช่วงโควิด-19 ไปแล้วแต่กลับไม่ดีขึ้นเหมือนอย่างเคย การออกเรือหาปลาแต่ละครั้งมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่าจะรับไหวทำให้หลายคนเลือกจอดเรือทิ้งไว้ รายได้น้อยลงแต่รายจ่ายยังคงอยู่และมากขึ้น หากจะมีวิธีที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปได้นั้นแล้วจะเป็นแบบไหน ฟังผ่านมุมมองจากคนในพื้นที่ร่วมกัน
จังหวัดสมุทรสาคร มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จึงอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำหลากชนิด ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีเรือประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน (ข้อมูลจากกรมเจ้าท่า เรือประมงพาณิชย์ปี 65 มีจำนวน 407 ลำ) เป็นต้นน้ำสำคัญในการออกเรือหาปลา นำมายังตลาดทะเลไทยและแพปลาเพื่อกระจายสินค้าไปยังโรงงานต่างๆ หรือพ่อแม่ค้าก็มาจับจ่ายซื้อที่นี่นำไปขายต่อ
อุตสาหกรรมประมงในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ สินค้าประมงที่สำคัญของประเทศ จนเมื่อปี พ.ศ. 2558 ไทยถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) ด้วยสาเหตุที่ไทยเข้าข่ายการทำผิดกฎ IUU Fishing คือ ไม่รายงานจำนวนสัตว์ทะเลที่จับได้ ใช้เรือประมงที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประมง และใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น อวนรุนและอวนลาก ที่จับสัตว์ทะเลได้จำนวนมาก ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมประมงไทยทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านหดตัวลง
รวมถึงราคาน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนในการออกเรือสูง จนหลายคนเลิกทำอาชีพประมงไปหรือเกิดภาวะจอดเรือทิ้งไว้ ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเช่น ค่าเช่าจอดเรือ ค่าบำรุงรักษาเรือ คนเฝ้าเรือและอื่นๆ ส่งผลให้ผลผลิตต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงลดลง ทั้งแพปลา ห้องเย็น พ่อค้าแม่ค้าขายปลีกและขายส่ง อุตสาหกรรมประมงแปรรูป รวมถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
จากปัญหาสู่ภาพอนาคตที่อยากเห็นของกลุ่มคนที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมประมงเห็นปัจจัยและผลกระทบที่เกิดขึ้น ขยายภาพอนาคตให้ชัดกว่าเดิมผ่านมุมมองของ ชัชวาล ชาวสมุทร ผู้ทำเรือประมงจำลอง และ มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร
บูรณาการร่วมกัน เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นส่งเสริมประมงแทน
“ต้องบูรณาการร่วมกัน ทุกวันนี้หลายฝ่ายตื่นตัวมากขึ้นทั้งนักธุรกิจ ภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชนมีการหารือพูดคุย สะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัด ถ้าทุกฝ่ายช่วยเหลือกันสมุทรสาครจะยั่งยืนดั่งคำขวัญเมืองประมงแน่นอน”
ชัชวาล ชาวสมุทร เล่าว่า ประมงในพื้นที่พยายามสะท้อนปัญหากันมาตลอด แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่พร้อมในช่วงเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อนต้องการให้แก้ไขเร่งด่วน ทำให้การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ เข้าไม่ถึงชาวประมง เช่น เรือประสบภัยพิบัติ ลูกเรือประสบอุบัติเหตุ และอื่นๆ ทั้งที่ชาวประมงยอมทำตามกฎกติกาที่บอกไว้หมด เลยเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับประมง
ประมงเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ต้องใช้เวลาหลายปีในการเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ ตั้งแต่แรงงานฝีมือ ไต๋เรือ และผู้คุมเรือ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กำลังลดลงไปเรื่อย ๆ เหลือแต่กลุ่มคนสูงอายุที่ยังทำงานกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีคนหนุ่มสาวหรือผู้ประกอบใหม่ๆ เข้ามาหรือมีอะไรเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะหายไปก่อนในประมงคือ ไต๋เรือ
มงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เสนอว่า ถ้าสมุทรสาครจะเป็นเมืองประต่อไป สิ่งแรกที่ต้องทำคือแก้ไขนโยบายและการควบคุมของภาครัฐเป็นการส่งเสริมภาคประมงแทน เพราะถ้านโยบายเปลี่ยนจะทำให้ภาคเอกชนหรือการลงทุนต่างๆ มีมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือหรือความรู้ทางด้านประมง และยังดึงให้กลุ่มคนเข้ามาทำงานในด้านประมงมากกว่าเดิม
“สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาและนโยบาย ส่วนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนนโยบาย แนวคิดให้สอดคล้องกัน การทำประมงต้องมีการควบคุมแต่ต้องเป็นไปตามบริบทที่สามารถปฏิบัติได้ และอยู่ในกรอบที่ยั่งยืนทั้งผู้ประกอบอาชีพและทรัพยากรสัตว์น้ำ”
ปัญหาที่อยากให้แก้ของชาวประมงและแพปลา
ลุงดำ และ ลุงน้อย ชาวประมงพื้นบ้าน พูดเสริมว่า ทั้งเรือประมงพาณิชย์และประมงชาวบ้านต่างก็ได้รับผลกระทบหมด จากที่มีเรือ 100 กว่าลำ จอนตอนนี้เหลือประมาณ 30 ลำเท่านั้น เรื่องที่กระทบเยอะสุดคือ ราคาน้ำมันแพง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพราะออกเรือแต่ละทีจ่ายค่าน้ำมันอยู่ที่ 400-500 บาท ซึ่งบางครั้งออกเรือไปก็ไม่ได้ปลากลับมา ขาดทุนอีกจบที่ต้องจอดเรือทิ้งไว้ดีกว่า
“น้ำมันแพง ปลาถูก รับซื้อไปถูกแต่ขายแพง”
“กฎระเบียบมาก เพิ่มภาระให้ประชาชน”
“แรงงานทำประมงมีน้อยลง กฎหมายคุ้มครองไม่ดี เศรษฐกิจก็แย่ลง”
“ปรับราคาของแพงขึ้น ลดราคาน้ำมันถูกลง”
เสียงอีกส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ที่บอกปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นและต้องการให้ช่วยแก้สถานการณ์ให้ดีกว่าเดิม
เบนซ์ ชัชวาลย์ วงศ์ลิมสมุทร เจ้าของแพปลาแห่งหนึ่งในมหาชัย สะท้อนว่า ผลกระทบมีตั้งแต่ต้นน้ำ(เรือประมง) กลางน้ำ(แพปลา) จนถึงปลายน้ำ(โรงงานอุตสาหกรรม) ปัจจัยมาจากกฎหมายที่ควบคุมประมงอยู่ ถึงจะมีการหาวิธี แก้ไขเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่มี “ทรง” กับ “ทรุด” ไม่มีดีขึ้นเลย
“ไม่งั้นทุกคนคงไม่พยายามรวบรวมพลังกาย-ใจมาพูดคุย แก้ปัญหากัน ส่วนข้อเสนอของผมคืออยากให้แก้ตั้งแต่ต้นน้ำเลย ถ้าเรือถูกควบคุมเยอะ น้ำมันแพงก็ออกไปหาปลาไม่ได้ แพปลาก็ไม่มีขาย ของแพง เศรษฐกิจแย่ คนกินไม่มีกำลังซื้ออีก กฎหมายที่ควบคุมอยู่ถ้าลดหย่อนได้ก็ควรจะช่วย”
อุตสาหกรรมประมงในตอนนี้ กำลังเจอโจทย์ใหญ่ระหว่างรัฐ องค์กรเอกชนและประชาชนที่ต้องร่วมกันแก้ไขทั้งกฎหมาย IUU นโยบายควบคุมประมง ราคาน้ำแพง รวมถึงทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำนวนลดลง ในข้างหน้าสมุทรสาครอาจไม่ใช่เมืองประมงเหมือนอย่างเคย จะเป็นดังคำขวัญ “เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์” หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่คนในพื้นที่เองก็รอคำตอบอยู่เช่นกัน