เมี๊ยว อาจจะเป็นเสียงร้องของแมวที่อยู่ใกล้ ๆ คุณ
แต่งานแมว หรือ MAEW คือชื่อย่องาน Mekong-ASEAN Environmental Week หรือ สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน โดยในปีนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 สำหรับใครที่เคยได้ยินชื่อเป็นครั้งแรก เราคือเพื่อนกัน เพราะฟังผ่าน ๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นงานคนรักแมวหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วคืองานที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้พูดคุย แลกเปลี่ยนและแสดงออกในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ด้วยรูปแบบการสื่อสารที่สร้างสรรค์และหลากหลาย
โดยในสุดสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมร่วมกับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ใช้ชื่องานว่า ‘Cat or Mice คุณเป็นใครในห่วงโซ่?’ ในวันที่ 3-4 กันยายน 2565 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมในงานจะพาเราไปตั้งคำถามว่าตัวเราในปัจจุบันเชื่อมโยงกับห่วงโซ่ของผู้ล่าและผู้ถูกล่าในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างไรผ่านเสียงดนตรี การแสดง และการฉายภาพยนตร์สารคดีสั้น 2 เรื่อง จาก 2 พื้นที่ ในอาเซียน
00000
โพล่งเมิงกะเบอเดง ผู้หญิง – ดิน – น้ำ – ป่า
สารคดีสั้นเรื่องแรก ‘โพล่งเมิงกะเบอเดง ผู้หญิง – ดิน – น้ำ – ป่า’ โดย พุธิตา ดอกพุฒ และอติเทพ จันทร์เทศ บอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ในประเทศไทยที่อยู่ห่างไปจากสถานที่จัดงานกว่า 600 กิโลเมตร นั้นคือหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านของกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่ต่อโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งการเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะเห็นได้ว่าคนที่ออกไปแสดงจุดยืนส่วนมากจะเป็น ‘ผู้หญิง’
ภาพที่แสนจะธรรมดาของกิจกรรมประจำวันของชาวกะเหรี่ยงโปว์ อย่างการทำอาหาร เลี้ยงลูก เก็บของป่า ให้อาหารสัตว์ เป็นวิถีชีวิตที่ธรรมดาสามัญแต่ในขณะเดียวกันนั้นคือสิ่งที่คนที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ในชุมชนต้องทำ และแน่นอนว่าแทบจะทำทั้งหมดที่ว่ามา สิ่งนี้เลยอาจจะเป็นคำตอบให้เราได้ว่าทำไมการต่อสู้ถึงต้องมีพวกเธออยู่ด้วย เพราะผลกระทบที่จะมีต่อวิถีชีวิตที่คนกลุ่มนี้ต้องดูแลและจัดการนั้นอาจจะมีมากกว่าคนอื่นในครอบครัว
00000
ทำไมผู้หญิงออกมาคัดค้านมากกว่าผู้ชาย?
ก็เพราะว่าผู้หญิงหุงข้าวเยอะ ผู้ชายหุงข้าวไม่เป็น
ผู้เฒ่าคนหนึ่งตอบคำถาม
ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้หญิงเพราะทุกคนในหมู่บ้านไม่ว่าผู้ชายหรือเยาวชนเองก็คงไม่ยอมหากพื้นที่ที่เคยเป็นทั้งบ้านและชีวิตถูกพลัดพรากไปเพราะการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับชุมชน
หลังจากสารคดีสั้นเรื่องนี้ฉายจบยังมีการพูดคุยจากผู้ผลิตสารคดีและนักเคลื่อนไหวอีกด้วย
สามารถชม Live ย้อนหลังผ่านเพจ นักข่าวพลเมือง
00000
พื้นที่ถัดไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายหลักเชื่อม 2 ประเทศ ‘ไทย-ลาว’ โดยพื้นที่ที่สารคดีจะพาเราเข้าไปสำรวจ คือเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมือง ‘ชาวขมุ’ ที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำอู เป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดบนฝั่งซ้ายของ สปป.ลาวก่อนจะมาบรรจบที่แม่น้ำโขง
The River Changes From The Community’s View
มองมุมชุมชน : สายน้ำอูที่เปลี่ยนไป
สารคดีเรื่องที่ 2 ‘The River Changes From The Community’s View มองมุมชุมชน : สายน้ำอูที่เปลี่ยนไป ’ เรียบเรียงโดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี ถึงแม้เรื่องนี้จะถูกถ่ายทำเมื่อปี 2016 เป็นเวลากว่า 6 ปีผ่านไป แต่สารคดีสั้นเรื่องนี้ยังคงสะท้อนความทรงจำของคนที่ใช้ชีวิตกับแม่น้ำอูในอดีตได้เป็นอย่างดี
00000
เสียงดนตรีพื้นบ้านของชาวขมุ เสียงร้องเพลงแบบชาวขมุ ดังคลอไประหว่างที่ภาพพาเราไปชมกับวิถีชีวิตคนที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยสายน้ำอู จากแม่น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายพันธุ์ วิวทิวทัศน์ของการล่องน้ำอูเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบขั้นบันไดไม่อาจจะทำให้แม่น้ำอูเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
ชมสารคดีสั้น ‘The River Changes From The Community’s View มองมุมชุมชน : สายน้ำอูที่เปลี่ยนไป’
ย้อนหลังได้ทางเพจ นักข่าวพลเมือง (นาทีที่ 2:58:33 – 3:13:40)
00000
สารคดีสั้นทั้ง 2 เรื่องต่างสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กินอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกันการพัฒนาในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจับตามอง ไม่ใช่แค่เรื่องว่าจะพัฒนาไปทางไหน หรือจะพัฒนาไปมากแค่ไหน แต่น่าจับตามองว่าการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐที่อยากจะให้ประเทศของตนเองพัฒนานั้นจะมีผลกระทบอะไรที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศเองหรือไม่ ไม่ว่าจะโครงการที่เริ่มไปแล้ว หรือ โครงการที่กำลังมีแผนในอนาคต ควรจะเป็นที่จับตามองของคนในประเทศเพื่อที่จะให้พื้นที่ที่แต่ละประเทศมีอยู่ ถูกพัฒนาไปโดยที่คนให้สังคมหรือคนที่อยู่ในพื้นที่เห็นสมควรมากที่สุด
00000
กิจกรรมของงานแมวยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีการฉายหนังสารคดีกันอย่างต่อเนื่องให้เราได้ชมที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub ในวันที่ 10 กันยายน 2565 เวลา 13.30-16.20 น.
‘Thank You for the Rain’ – เมื่อชาวนาชาวเคนยาเริ่มใช้กล้องถ่ายภาพชีวิตครอบครัว หมู่บ้าน และความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุลูกรุนแรงพัดพาให้เขาและผู้สร้างภาพยนตร์ชาวนอร์เวย์มาพบกัน เราจึงได้เห็นเขาเปลี่ยนจากพ่อมาเป็นผู้นำชุมชนและนักเคลื่อนไหวในเวทีโลก
หลังดูหนังจบยังมีกิจกรรมพูดคุยกับนักเกษตรนิเวศน์ในหัวข้อ “เราจะรอดได้ไหมในวิกฤตสภาพอากาศ” อีกด้วย
ติดตามกิจกรรมอื่นๆ ได้ในงานแมว หรือ MAEW – Mekong-ASEAN Environmental Week
ที่เพจ https://www.facebook.com/mekongaseanweek