มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลง ‘2 ปีรัฐประหาร’ หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับทหารทำหลักนิติธรรมหายไปถาวร

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลง ‘2 ปีรัฐประหาร’ หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับทหารทำหลักนิติธรรมหายไปถาวร

20162305024203.gif

เผยแพร่วันที่  22 พฤษภาคม 2559
 

สองปีรัฐประหาร หวั่นรัฐธรรมนูญฉบับทหารทำหลักนิติธรรมหายไปถาวร
ประชาชนได้ผลกระทบจากอำนาจรัฐบาลทหารถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง

ในห้วงเวลาสองปีหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า หลักนิติธรรมที่หายไปทำให้การคุ้มครองสิทธิประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ถูกจำกัดลงอย่างมาก จนถึงขั้นที่ทำให้ประชาชนกลุ่มชายขอบไม่สามารถเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองได้ เช่น สิทธิในการแสดงออกทางความคิดเห็น  การใช้สิทธิในการร่วมกลุ่มใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับฟังความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการปฏิบัติ  โดยสะท้อนให้เห็นจากการใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่อาจต้องการดำเนินการกับนายทุนหรือผู้บุกรุกใหม่ แต่กลับส่งผลต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ที่อยู่มาดั้งเดิม ทำให้เกิดการจับกุมควบคุมตัวด้วยอำนาจพิเศษ เช่นคำสั่ง 64/ 2557 และคำสั่ง 66/2557 

หรือการดำเนินคดีในฐานความผิดทั้งอาญาและแพ่งโดยใช้กฎหมายป่าไม้ กฎหมายอุทยานที่ไม่พิจารณาถึงบริบททางด้านประวัติศาสตร์การถือครองหรือครอบครองที่ดินในแต่ละพื้นที่ เช่นในกรณีชาวเล บ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ชาวบ้านทุ่งปาคา จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านนอแล จ. เชียงใหม่  กรณีการตัดฟันต้นยางทั่วประเทศโดยไม่มีการเยียวยาชดใช้ หรือถึงขั้นบังคับขับไล่ ชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติดงใหญ่ จ. บุรีรัมย์ เป็นต้น 

อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมต่อคดีนโยบายลักษณะเช่นนี้ ยิ่งกลับทำให้ประชาชนตกอยู่ภาวะยากลำบาก เช่นไม่มีเงินประกันตัว ศาลสั่งลงโทษไม่รอลงอาญา ประชาชนขาดที่พึ่งเพราะข้าราชการพลเรือนเกรงกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ม. 44 ในการออกคำสั่งทางปกครองโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบ ขาดไปซึ่งหลักนิติธรรมใดใดเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว

การทำงานเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากมีการคุกคามข่มขู่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและด้านการพัฒนาเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ  เช่น การตรวจดีเอ็นเอนักกิจกรรมในพื้นที่  การข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้น เป็นต้น การตรวจสอบและการคุ้มครองทางกฎหมายโดยหน่วยงานอื่นด้อยประสิทธิภาพลงและมีแนวโน้มว่าการใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นการถาวร การจับกุมตัวบุคคลโดยพลการ การควบคุมตัวและการซักถามที่มีเรื่องร้องเรียนว่ามีการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมยังคงเกิดขึ้น 

แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะไม่มีการสั่งให้คดีความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารเหมือนในสถานการณ์อื่น ๆ ทั่วประเทศหลังรัฐประหาร   แต่การติดตามจับกุมผู้เห็นต่างทางความคิดหรือเข้าข่ายผู้ก่อความไม่สงบโดยพลการ  กรณีการเสียชีวิตในการควบคุมตัวของทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2558 รวมทั้งกรณีการลักพาตัวอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งอาจเป็นการบังคับให้สูญหายกรณีนายฟาเดล เสาะหมาน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 เป็นต้น อีกทั้ง เหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับ แตกต่างจากช่วงปี 2555-2556 ซึ่งเป็นห้วงเวลาก่อนรัฐประหาร และการเจรจาสันติภาพครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2559 ก็ประสบกับความล้มเหลวโดยคู่เจรจาไม่สามารถร่วมกันลงนามในการข้อตกลงเบื้องต้นหรือทีโออาร์ได้

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นด้วยว่า “การร่างรัฐธรรมนูญเองก็ไม่สะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นไปตามหลักนิติธรรม  อีกทั้งบรรดาคำสั่งของคสช.ที่อาจขัดต่อหลักนิติธรรมของไทยที่มีอยู่เดิมและหลักการสากลที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ ส่งผล คำสั่งคสช.ที่ออกคำสั่งโดยรัฐบาลทหารในช่วงเวลาที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนี้มีผลในการบังคับใช้ต่อไปโดยชอบ ความผิดความมั่นคงและความผิดมาตรา 112 เป็นการบังคับให้คดีเหล่านี้ขึ้นศาลทหารต่อไป คำสั่งที่ 13/2559 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายต่อไป เช่นการตรวจค้น จับ ยึดในการกระทำความผิดที่เรียกว่าผู้มีอิทธิพล กฎหมายเหล่านี้จะมีบังคับใช้ต่อไป และยกเลิกได้เมื่อต้องประกาศเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น”

นายสมชายกล่าวเสริมว่า “ถ้าหากประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประชามติก็จะส่งผลให้คำสั่งคสช.ก็จะมีผลตลอดไปอย่างถาวรหรือไม่”
 
การทำลายหลักนิติธรรมของประเทศไทยที่ได้ก่อร่างสร้างตัวมาให้ทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศ และกำลังถูกเฝ้ามองจากนานาอารยประเทศ โดยสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดเจนในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่านโยบายหรือแนวปฏิบัติของรัฐบาลคสช.หลังรัฐประหารไม่อาจก่อให้กระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใดและไม่เอื้อให้เกิดความปรองดองในชาติ  และเห็นว่ารัฐบาลคสช.ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแก้ไขความผิดพลาดในการออกกฎหมายคำสั่งที่ผิดหลักนิติธรรมอย่างโดยเร็ว มิเช่นนั้นหลักนิติธรรมของไทยจะสูญหายไปอย่างถาวร

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานด้านความยุติธรรมและการคุ้มครอง ส่งเสริม และเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545  และมีบทบาทปกป้องสิทธิของประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่แยกแยะด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ (เพศสภาพ) ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรืออื่นใด ความเป็นมาด้านชาติกำเนิดหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานภาพอื่นใด 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีหลักปรัชญาและกิจกรรมในการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนตลอดทั่วสังคม ตั้งแต่บนสู่ล่าง และล่างสู่บน ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะกับกลุ่มชายขอบ เช่น ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนงานข้ามชาติ และผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจากความขัดแย้งในไทย เป็นต้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ