คนรุ่นใหม่กับข้อต่อชุมชนขายผักผลไม้อินทรีย์

คนรุ่นใหม่กับข้อต่อชุมชนขายผักผลไม้อินทรีย์

จากสถานการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเลยที่คนทำงานภาคประชาสังคมในจังหวัดพยายามขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัยในจังหวัดเลยตั้งแต่ปี 2560 แต่ยังติดปัญหาตรงที่แปลงเกษตรของเกษตรกรต้องเป็นที่ดินโฉนด ซึ่งส่วนใหญ่ที่ดินทำกินเป็น สปก., นสล., ภ.บ.ท.5 และอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมาตรฐานอินทรีย์ตามเกณฑ์ได้ ขบวนคนทำงานในจังหวัดจึงคิดค้นระบบการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยที่เกษตรกรทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ โดยการจัดวงพบปะกันระหว่างผู้ปลูก (ผู้ผลิต) ผู้ปรุง (ผู้แปรรูป) และผู้เปิบ (ผู้บริโภค) ให้มาเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตร่วมกันโดยให้ความสำคัญที่หัวใจของผู้ผลิตเป็นหลัก เกิดเป็นมาตรฐานอาหารปลอดภัย LSF (Loei Safety Food) เมื่อปี 2563 เป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานการผลิตแก่สมาชิกในเครือข่าย ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณกว่า 140 ราย มีทั้งการผลิตพืชผัก ผลไม้ และการแปรรูป

คุณเอ็ม แสงระวี ดาปะ คนรุ่นใหม่จังหวัดเลย ที่เติบโตมากับขบวนคนทำงานด้านสังคมในจังหวัดเลยตั้งแต่เด็ก หลังจากจบ ม.3 ครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอให้ส่งเรียนต่อ คุณเอ็มจึงเข้าไปปรึกษาคนทำงานในภาคประชาสังคมจังหวัดเลย จากนั้นได้รับคำแนะนำ และการดูแลจากพี่ๆในประชาสังคมจังหวัดเลยให้ได้ช่วยทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี คุณเอ็มได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะ และแนวความคิดจากกระบวนการทำงานทางสังคมที่นี่ ทั้งการลงชุมชน การเก็บข้อมูล การทำงานด้านการสื่อสาร และแน่นอนว่าคุณเอ็มก็เป็นหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลยมาตั้งแต่แรก

“ ในปีแรกกะได้ประมาณ 39 ราย จากปี 63 มา 64 กะเริ่มมีคนสนใจอีก เพราะมีเครือข่ายสื่อทั้งในจังหวัดและไทยพีบีเอสซ่อยประชาสัมพันธ์ให้ มาปี 65 มีคนมาขอเป็นร้อย แต่กะยังบ่ครบ 14 อำเภอ ทีมกรรมการออกไปตรวจแปลงแล้วกะออกใบรับรองให้ที่ลงนามโดยผู้ว่าฯ ” คุณเอ็มเล่าถึงบางช่วงของการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย

ตลาด “แจ๊บใจ๋” จุดเริ่มต้น รับขายผักผลไม้อินทรีย์

ปี พ.ศ. 2564 เครือข่าย LSF มีการประสานกับเทศบาลเมืองเลยขอใช้พื้นที่ตลาดวันเสาร์เพื่อเปิดให้สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ได้นำผลผลิตมาขาย ใช้ชื่อว่า “ตลาดแจ๊บใจ๋” เกิดบรรยากาศการค้าขายที่เน้นแบ่งปัน แจกแถม มากกว่าเน้นขายให้ได้ผลกำไร อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตลาดได้ไม่นานเห็นบทเรียนว่าผลผลิตของสมาชิกไม่ต่อเนื่อง บางเดือนไม่มีของมาขายในตลาด แม่ค้ามีจำนวนน้อย คุณเอ็มและเครือข่ายจึงคิดถึงเรื่องของการเป็นจุดกระจายสินค้าผัก-ผลไม้ตามฤดูกาล หรือเป็น HUB รองรับผลผลิตของเครือข่าย โดยนำของมาวางขายที่สำนักงานของเครือข่าย และขายออนไลน์

“ตอนแรกกะขายของออนไลน์อยู่แล้ว เลยรับผลไม้จากเกษตรกรมาเป็นบางอย่าง ช่วงนี้บักลิ้นจี่ออก บักอะโวคาโดออก กะโทรสั่งมาขายในหน้าเพจแน ขายหน้าสำนักงานแน แล้วกะจบไป แต่มาผนวกกับเครือข่าย LSF เพิ่นมีความคิดว่า น่าจะมีตัวกลางหรือศูนย์กระจายสินค้าเกษตรกร เลยพากันออกแบบไว้ครบวงจรเลย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในช็อปเฮาจะมีสินค้าอิหยังแน คิดเป็นโปรเจ็คใหญ่เลย ซึ่งเฮารู้สึกว่ามันต้องใช้เงินหลาย ต้องมีแหล่งทุนมาสนับสนุน ซึ่งช่วงนั้นโควิดระบาด งบต่างๆเลยถูกระงับไป เลยบ่สามารถเฮ็ดได้”

ตอนเริ่มทำคุณเอ็มมีการรวบรวมองค์ความรู้หรือประสบการณ์ของเครือข่าย เช่น จากพี่จากน้องในเรื่องการส่งผัก การกระจายสินค้าในช่องทางต่างๆ ที่ทำแล้วล้มเหลว เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการค้าขาย โดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ตลาดที่นำไปขายครั้งแรกคือ ตลาดบ้านแฮ่ ซึ่งเป็นตลาดในท้องถิ่น ของที่นำไปขายมีตั้งแต่ของที่ผลิตเอง เช่น ดินปลูก น้ำหมัก สารชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ ต้นผัก และของที่รับมาจากเครือข่าย เป็นต้นว่า ผักถุง สัปปะรด ผลไม้ โดยจะดีลกับเกษตรกรที่สะดวกส่งให้ก่อน

“ตอนแรกกะคิดกำไรแค่ 15 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ รับผลผลิตมาก่อน พอขายได้แล้วสรุปยอด จังโอนเงินให้เพิ่น แต่บางคนที่ส่งให้ก็จะมีความรู้สึกว่า เพิ่นปลูกเองเพิ่นคือได้น้อยแท้ แต่จริงๆแล้วในกระบวนการตรงนั้น มันมีค่าจัดการ ค่าหีบห่อ การบริหารสินค้าให้ขายเหมิด เพราะบางคนส่งผักมาเป็นถุง เฮาก็ต้องมาล้าง มาจัดใหม่ให้มันน่าซื้อ พอเป็นแบบนี้ก็เลยมาคิดใหม่ว่า เฮาซื้อขาดมาเลยดีกว่าเพื่อความสบายใจ แต่เฮากะถามเพิ่นก่อนว่า ราคานี้อยู่ได้บ่อ พ่อโอเคบ่อกับเงื่อนไขแบบนี้ ซึ่งเฮาก็ได้เรียนรู้จากเพิ่นนำ”

ผลผลิตตามฤดูกาลจึงต้องจัดการให้ได้คุณภาพ

ด้วยการจัดการแบบเรียบง่าย ไม่ได้ลงทุนเยอะ ผลผลิตที่รับมาจึงจำเป็นต้องวางแผนเพื่อจัดการให้อยู่ได้นาน ซึ่งถ้าเป็นผักจะเน้นผักที่ไม่เน่าเสียง่าย นำมาเก็บใส่ถังน้ำแข็งไว้ ส่วนผลไม้ก็เป็นผลไม้ที่มีอายุการเก็บได้นาน ยกตัวอย่างเช่น สัปปะรด มะพร้าว คือรับมาเฉพาะผักผลไม้ที่มีตามฤดูกาล และเป็นของเครือข่าย LSF เท่านั้น ไม่รับของนอกเครือข่ายฯ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสินค้า

“เมื่อก่อนสิไปรับสินค้าเองถึงที่ แต่พอบางช่วงเกษตรกรปลูกของบ่หลาย อย่างบักเขื่อ ผักกาด ผักกะหล่ำ ก็มี 5 หัว 10 หัว บักพริก 4-5 ถุง เฮากะต้องขี่รถออกไปรับอยู่นอกเมือง แต่เว้าง่ายๆ ว่ามันบ่คุ้มค่าน้ำมัน หลังๆมานี้เลยรับเฉพาะผลผลิตกับเกษตรกรที่อยู่ในเขตเมือง หรือถ้าอยู่นอกเมืองกะให้เพิ่นมาส่งให้”

ช่องทางตลาดที่คุณเอ็มนำสินค้าไปขาย จะเป็นตลาดในท้องถิ่น ได้แก่ ตลาดแจ๊บใจ๋ไทเลยทุกวันเสาร์ เวลาสี่โมงเย็นถึงสองทุ่ม หากมีของเยอะเหลือจากตลาดนี้ก็จะไปต่อที่ตลาดวัฒนธรรมบ้านแฮ่ทุกวันอาทิตย์ และวางขายหน้าสำนักงาน ส่วนตลาดออนไลน์มีกลุ่มเฟสบุ๊คเมืองเลยเดลิเวอร์ลี่ เป็นกลุ่มขายอาหารการกินของคนเมืองเลย และขายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

“ลงขายออนไลน์ เวลาเครือข่ายอื่นๆต่างอำเภอต่างจังหวัดที่เพิ่นเห็นแล้วถืกใจ เพิ่นก็สั่งเลม่อน บักมะระ บักนัด แล้วแต่ฤดูกาลนั้นมีหยังเฮากะลงขาย”

แม้รายได้ไม่เยอะ แต่เห็นเงินทุกวัน

ปัจจุบันคุณเอ็มมีรายได้จากการรับผักผลไม้อินทรีย์มาขายเฉลี่ยวันละ 300-1,000 บาท แม้ไม่ใช่เงินเยอะมาก แต่อย่างน้อยได้มากกว่าเงิน “ค่าแรงขั้นต่ำ” “ได้เห็นเงินทุกวัน” แม้บางวันจะขายไม่หมด แต่อย่างน้อยยังได้ผลไม้ไว้กินเอง และแบ่งปันคนอื่นได้อีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเวลาเป็นอิสระที่จะรับจ็อบเสริมเพิ่มรายได้เข้ามาอีกด้วย เพราะอยู่กับการขายผลไม้แค่วันละ 3-4 ชั่วโมง คิดเป็นเดือนมีรายได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท

“ถ้าขายอยู่หน้าสำนักงานเนาะ มื้อหนึ่งแค่สัปปะรดอย่างเดียว ที่ขายเป็นหน่วยและเป็นแก้ว มื้อหนึ่งบ่ต่ำกว่า 300-500 บาท อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเฮาขยันบ่อ เช่นว่าเอาจัก 20 แก้วก็พอ อันนี้คือขั้นต่ำ แต่ถ้าเป็นตลาด เช่นตลาดแจ๊บใจ๋ หรือตลาดบ้านแฮ่ ก็บ่ต่ำกว่ามื้อล่ะพันบาท ขึ้นอยู่กับความขยันคือกันว่าเฮาขยันเอาผลผลิตของเครือข่ายมา เอาของแปลกๆมาขาย มันก็เฮดให้เฮารู้สึกว่า มันบ่ได้หลายดอก แต่ว่ามันเฮ็ดให้เฮาอยู่ได้ แล้วมีกินพร้อม คั่นเหลือเฮาก็แจกแม่ค้าในตลาดไป หรือเอากลับมากินบ้านได้อีก”

การขนส่งและหีบห่อ เป็นความท้าทายที่ยังก้าวไม่ข้าม

การรวบรวมผลผลิตของเครือข่ายที่อยู่ต่างอำเภอ คุณเอ็มเล่าว่ายังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะแต่ละที่อยู่ไกลกัน อีกทั้งผลผลิตของเกษตรกรแต่ละรายก็จำนวนไม่มาก ถ้าขนส่งอาจไม่คุ้มค่า อย่างไรก็ดีถ้าแก้ไขเรื่องนี้ได้ คุณเอ็มบอกว่าจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีแหล่งรองรับผลผลิตได้แน่นอน อีกเรื่องคือการหีบห่อผลผลิต เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่ได้รับมา ไม่ได้พร้อมวางขาย คุณเอ็มต้องมาบริหารจัดการต่อ ทั้งเรื่องความสะอาด และการนำสินค้ามาหีบห่อให้ดูน่าซื้อ น่าจับ ซึ่งต้องคิดออกแบบแต่ละอย่างที่ได้มาด้วย ทำให้เสียเวลาไปกับเรื่องนี้พอสมควร

“ถ้ารับผลผลิตเป็นโซน เครือข่ายเพิ่นเฮ็ดกันอยู่แล้ว เช่น อำเภอท่าลี่ก็จะมีแม่คนนี้รับมาขายทุกวันศุกร์ มีการแบ่งเป็นโซนไผโซนมัน แต่ถ้าเป็นการรวมศูนย์มาอยู่ที่เอ็ม ถ้ามีตัวกลางกระจายสินค้ามาที่เอ็มได้ ไทบ้านก็จะเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก”

ข้อต่อชุมชนที่มากกว่าการรับสินค้ามาขาย

เดินทางมาถึงตอนนี้แน่นอนว่า คุณเอ็มได้สั่งสมประสบการณ์ในการค้าขาย และเกิดชุดบทเรียนกับตนเองพอสมควร สิ่งหนึ่งที่คุณเอ็มพูดได้น่าฟังคือ การทำอะไรก็แล้วแต่ ควรทำให้เกิดความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเรียนรู้ไปกับมัน อย่างเช่นการค้าขายนี้ เธอได้ค้นพบว่าการทำธุรกิจแนวทางแบบนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นทางรอดให้กับเกษตรกรหรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่พึ่งกลับมาอยู่บ้านได้ ไม่ต้องคิดใหญ่จนเกินตัว มองจากสิ่งที่เรามี คิดแล้วต้องลงมือทำด้วย ซึ่งในยุคโควิดแบบนี้ ข้าวยากหมากแพง การพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุดคือสิ่งจำเป็น และนอกเหนือจากการเป็นข้อต่อนำผลผลิตจากชุมชนมาขายแล้ว มากกว่านั้นคือการได้รับพลังและการอุ้มชูดูแลจากเครือข่ายด้วยดีเสมอมา เหมือนกับสโลแกนของเครือข่ายที่คุณเอ็มบอกเล่าทิ้งท้ายด้วยความตื้นตันใจว่า “มิตรภาพ คุณภาพ คุณธรรม”

“ตอนที่เอ็มเฮ็ดแรกๆ เนาะ เทิ่งเมื่อย เทิ่งล้า เทิ่งท้อ แต่หลังๆ มาพอจับทางได้ มันเริ่มได้เรียนรู้มันเริ่มเห็นโอกาส ได้เฮ็ดเวียกกับไทบ้านพร้อม มีพี่น้องเครือข่ายให้กำลังใจ สนับสนุนเฮาพร้อม บ่แม่นแค่การเอาสินค้ามาส่ง แต่เป็นเรื่องความรู้ ไอเดียใหม่ๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เฮาซื้อหาบ่ได้ด้วยเงิน เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจ ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ