สถานการณ์ความนิยมของสินค้าอินทรีย์ สูงขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เราเห็นได้จาก การเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม และความต้องการที่ค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดเกษตรกรที่หันมาทำสินค้าอินทรีย์ หรือสินค้าปลอดสารที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ซึ่งหนึ่งในข้อดีของเกษตรอินทรีย์ ที่ทุกคนยอมรับกัน ก็คือเรื่องของ”สุขภาพ” ที่มีทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค
แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าหมู่บ้านสักแห่ง เปลี่ยนตัวเองที่เคยผลิตพืช สัตว์เคมี มาเป็นอินทรีย์ เพื่อส่งไปขายทั่วประเทศ ด้วยแนวคิดการส่งต่อ และเชื่อมร้อย ของสายพานการผลิตพืช และสัตว์อินทรีย์ไว้ด้วยกัน
วันนี้ชีวิตนอกกรุงชวนมาเรียนรู้ และหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ที่นี่ครับ บ้านทุ่งต้อม ต.ศรีดอยไชย อ.เทิง จ.เชียงราย
สิ่งแรกที่ผมเห็นเลย หลังจากที่เข้ามาในหมู่บ้าน ก็คือหมู่บ้านนี้เลี้ยงสัตว์ไว้หลากหลายชนิดมากครับ มีทั้งไก่บ้าน ไก่ไข่ หมูดำ กบ และปลานิล และสัตว์เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ของหมู่บ้าน ที่เรียกกันว่าทุ่งต้อมออร์แกนิก
“รู้จักทุ่งต้อมออร์แกนิก”
ทุ่งต้อมออแกนิก มันเหมือนศูนย์รวม ของทุกกิจกรรมของในชุมชนของเรา
เบียร์ พิชญาภา ณรงค์ชัย
แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่มาก่อนจริง ๆ ก็คือกลุ่มผู้เลี้ยงหมูดำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 พอมีมูลหมูเยอะเราก็เลยเอามาทำปุ๋ยอินทรีย์ นำมาเลี้ยงไส้เดือน ทำให้เกิดกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ พอผลิตนาข้าวได้เยอะ มันก็เจอกับปัญหาการตลาด ราคาตกต่ำ เราก็มาคิดว่าจะทำอะไรที่จะเพิ่มมูลค่าได้ เราก็เลยมาทำเป็นกลุ่มอาหารสัตว์ เราก็เลยเอาอาหารสัตว์มาเลี้ยงสัตว์ต่อเราก็เลยเอาอาหารมาเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ไก่บ้าน พอเรามีนาข้าวอินทรีย์เสร็จ … เราก็นำฟางข้าวมาห่มดิน และนำมาใช้ในบ่อปลา ทำให้เรามีทั้งมูลวัว มูลหมู และมีทั้งฟางที่ใช้เลี้ยงปลา และมีทั้งข้าวที่เราสามารถนำไปเพาะงอกให้ปลากินได้ มันก็ทำให้เกิดกลุ่มปลานิล กลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลแต่ปลานิลมันใช้ระยะเวลา 4-5 เดือน เราเลยเลี้ยงกบเข้าร่วม เพราะกบสามารถเลี้ยงในนาข้าวได้ เลี้ยงบนบกได้ พอหลังจากมีทุกอย่างรวมกันแล้ว ทุกอย่างเราก็นำมาแปรรูป
ทุ่งต้อมเหมือนเป็นศูนย์รวมของหลาย ๆ กิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมเขาก็จะต้องมีกรรมการของเขาดูแล กลุ่มหมูก็จะมีกรรมการหนึ่งชุด กลุ่มวัวก็จะมีกรรมการหนึ่งชุด ทุกกลุ่มจะมีกรรมการของใครของมันหนึ่งชุด เพื่อจะบริหารจัดการในกลุ่มของตัวเอง แต่ทุ่งต้อมจะเป็นเหมือนคนที่รวบรวมสินค้า เพื่อนำสินค้าของทุกกลุ่มมาร้อยเรียงกัน เพื่อนำขายสู่ตลาดข้างนอก
จากที่ได้คุยกับพี่เบียร์ ผมก็พอที่จะเห็นภาพการเชื่อมโยงกัน ของสินค้าอินทรีย์แต่ละอย่าง แต่ละชนิด ว่าสินค้าแต่ละอย่างเขามีการส่งต่อเรื่องวัตถุดิบกันอย่างไร หลังจากคุยกันสักพักพี่เบียร์ชวนผมไปดูพื้นที่จริง เกษตรกรจริงครับ ว่าแต่ละคน แต่ละกลุ่มเขามีอะไรทำอะไรบ้าง
“หมูดำอินทรีย์ จุดเริ่มจุดแรกของ ทุ่งต้อมออร์แกนิก”
เกษตรกรที่นี่เลี้ยงหมูดำอินทรีย์นับสิบครอบครัวเลยครับ เลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว อาหารก็จะเป็นพืชผัก และรำจากข้าวอินทรีย์ ที่ทุกอยากปลูก และทำด้วยผลผลิตจากในหมู่บ้านเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ มูลจากหมูดำอินทรีย์ ก็จะถูกเอาไปทำปุ๋ย เพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์
“นาข้าวอินทรีย์ จุดรวมของอาหารอินทรีย์ในชุมชน”
จากปุ๋ยที่ได้จากมูลของหมูดำ และสัตว์อื่น ๆ ร่วมกับฮอร์โมน และจุลินทรีย์ ที่หมักจากพืชอินทรีย์ในชุมชน ทำให้เกิดกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ขึ้นมา และข้าวอินทรีย์นี้เอง ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นฝาง แกลบ รำ หรือแม้กระทั่งเมล็ดข้าว
เราก็เอาไปขายให้กลุ่ม แล้วบางส่วนก็ขายให้พ่อค้าคนกลาง ถ้าเป็นพ่อค้าคนกลางเราจะขายข้าวสด แต่ขายให้กลุ่มเราต้องตากแห้งก่อน เราถึงเอาไปขายให้เขา
เกษตรกร ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์
กลุ่มข้าวอินทรีย์ จะมีสมาชิกประมาณ 47 คน รวมกัน 105 ไร่ ข้าวอินทรีย์ แม่ทำมา 3 ปีแล้ว สมมุติว่ากลุ่มเขาแจ้งมาจะเอาข้าว 1,000 กิโลกรัม หรือ 500 กิโลกรัม เราก็เอาไปขายให้เขา จะมีรถอีแต๋นไปลากเอา แล้วก็เอาไปขายให้กลุ่ม กลุ่มนี่ก็จะเอาไปส่งลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อมา แล้วส่วนหนึ่งเอาไปทำอาหารสัตว์ แปรรูป เอาข้าวไปบด
ขายให้กลุ่มราคาดี มันจะสูงกว่ากันเยอะหน่อย ราคาเราไปขายให้ข้างนอก ราคาจะต่ำไป 1 – 2 บาท แต่ถ้าขายในกลุ่ม ขายเป็นข้าวแห้ง เราก็จะได้แพงขึ้นมาหลายบาทอยู่ สมมุติว่าเราขายข้างนอก กิโลกรัมละ 8 บาท เราไปขายให้กลุ่ม 10.50 บาท แล้วก็ถ้าเราขายเป็นข้าวแห้ง เราขายได้ 15 บาท
“จากข้าว สู่ปลา”
ผลผลิตจากข้าวอินทรีย์ ทั้งฟาง ทั้งเมล็ดข้าว ทั้งรำ เป็นหัวเชื้ออาหารอย่างดี ที่ส่งต่อให้กลุ่มปลานิลอินทรีย์ ที่มีมากกว่า 100 บ่อ ในชุมชน
โดยนริทร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่กลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุของการเลือกที่จะเลี้ยงปลานิลอินทรีย์ ส่งให้กลุ่มครับ
เมื่อก่อนไปอยู่ กทม.ครับ เป็นอาจารย์สอน เกี่ยวกับเรื่องหุ้น ซึ่งเรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโลกของทุนนิยม บางทีเราก็มีความเครียด ส่งผลกระทบกับจิตใจเรามากขึ้น เราไปหาอะไรทำที่บ้าน ที่มีความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางอาชีพดีกว่า เพราะว่าพ่อแม่เราก็ทำนา ทำการเกษตรอยู่แล้ว
นรินทร์ แสงพิชัย เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้เลี้ยงปลานิลอินทรีย์
ที่มาสนใจทำปลานิลอินทรีย์ เพราะว่าเราก็มีสระน้ำอยู่ทั่วแปลงของเรา แล้วเราดูแล้วกลุ่มของพี่เบียร์ ที่เลี้ยงปลานิลอินทรีย์ เขามีสอนเรื่องการเลี้ยงปลานิล ลดต้นทุน แล้วก็สอนปรับปรุงบ่อ สอนเรื่องการทำอาหารอินทรีย์ ก็เลยคิดว่าเรามาร่วมกับพี่เบียร์ดีกว่า เพราะว่าเขามีสูตร มีอะไรสอนเราทำด้วย เราไม่ต้องลองผิด ลองถูกเราเห็นว่าปลานิลของพี่เบียร์ สามารถขายในห้างได้ด้วย เราก็เลยมีความมั่นใจในการ ที่จะเลี้ยงปลา ที่จะส่งให้กับกลุ่ม
“จากปลาสู่กบ”
กบก็เป็นอีกกลุ่มอินทรีย์ อีกกลุ่ม ที่มีการเลี้ยงควบคู่ไปกับปลานิล และนาข้าวครับ เพราะสามารถเลี้ยงไปพร้อม ๆ กันได้ทั้งบนบก และในน้ำ อีกทั้งเรื่องอาหาร ก็ยังสามารถใช้อาหารรวมกันได้อีกด้วย
กบอินทรีย์ใช้เวลาเลี้ยงนาน เพราะว่าไม่ได้เร่งอาหาร ถ้าเป็นกบที่เขาเร่งอาหารก็ใช้เวลาประมาณ 5 – 6 เดือน ก็โตแล้ว กบอินทรีย์ต้องใช้เวลา 6 – 7 เดือน นั่นแหละกว่าจะขายได้ การดูแลยาก ไม่เหมือนกับกบนา กบบ้านทั่วไป ที่เลี้ยงให้หัวอาหาร แบบที่เขาเอาอาหารใส่ชามใส่รางอาหารให้มันกิน อันนี้เราต้องเอาใจใส่มันด้วย ต้องดูแล เหมือนเลี้ยงเด็ก ๆ เลย ตอนมันตัวเล็ก ๆ นะ แต่พอโตมาก็ง่ายหน่อย เอาฟางมากลบ ส่วนราคาต่างกันครึ่งต่อครึ่ง อย่างกบอินทรีย์เราขายได้กิโลกรัมละ 130 บาท แต่กบที่เลี้ยงทั่วไปจะได้ 80 บาท ไม่ก็ 100 บาท
ศักดิ์ดา ชัยวุฒิ
“จากผลผลิตต้นน้ำ ขยายเป็นกลุ่มแปรรูป”
เมื่อได้ผลผลิตทั้งหมู ปลา และกบ ทำให้เกิดกลุ่มแปรรูปสินค้าเกษตรขึ้น ในช่วงแรกการเกิดขึ้นของกลุ่มแปรรูปสินค้าเกษตร มีเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าผลิตสินค้าแปรรูปไม่ทันจำหน่าย
เมื่อก่อนปลามันเยอะเกิน เหลือกิน แล้วก็เลยเอามาแปรรูปขาย สร้างมูลค่าให้ปลาด้วย เพราะว่าเราเลี้ยงปลาแบบอินทรีย์มานานแล้ว ก็เลยหันมาคิดว่าเราจะทำอย่างไรดี ก็เลยเอามาแปรรูป พอดีแปรรูปแล้วก็มีบริษัทเขามาเห็น เขาก็เลยสนใจ ว่าเห็นเราแล่แบบนี้ เขาก็บอกว่าเอามาขายได้นะ เอามาทำเป็นเสต็กได้ อะไรได้ เขาก็เลยเอาไปลองกินดู แล้วปลาเราอร่อย เนื้อปลาก็ขาว ทำสเต็กได้ ทำอะไรได้หมดทุกอย่าง ก็เลยได้ขายให้เขา
สุวิชชา สืบก่ำ
นอกจากนี้คุณป้าสุวิชชา เล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับว่า การแปรรูปปลานิลแบบนี้ เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้ไม่น้อยเลยครับ เพราะจากปลานิลสดหน้าบ่อที่ซื้อมากิโลกรัมละ 70 – 80 บาท เมื่อเอามาชำแหละ แปรรูปแล้ว จะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 257 บาท นอกจากนั้นแล้วสินค้าแปรรูปของทางกลุ่ม ก็จะมีทั้งหมู ไก่ และกบ ส่วนเศษที่เหลือจากการแปรรูป เช่น กระดูกสัตว์ หัวปลา และก้างปลานิล ก็จะส่งต่อให้กับกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์นำไปทำอาหารสัตว์ได้ต่อ
“เมื่อเลี้ยงเยอะ อาหารก็ต้องการเยอะ ก่อเกิดกลุ่มแปรรูปอาหารสัตว์ ”
เมื่อมีความต้องการเยอะขึ้น เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น จากการผลิตอาหารให้สัตว์แบบตัวใครตัวมัน ฟาร์มใครฟาร์มมัน จึงก่อให้เกิดแนวคิดการรวมกลุ่มผลิตอาหารสัตว์อินทรีย์ ที่จะใช้สำหรับสัตว์ทุกตัวในชุมชนขึ้นมา ด้วยวัตถุดิบอินทรีย์จากในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพืช ข้าว ฝาง และเศษกระดูก เศษก้าง ที่ได้จากการแปรรูป
อาหารสัตว์เราใช้เลี้ยงสัตว์มาหลายปีแล้ว แต่เราพึ่งมาทำจริงจังได้ ปีกว่า ๆ ตอนแรกสูตรเราคิดขึ้นมาเอง แล้วก็ลองใช้กับสัตว์ที่มีอยู่หลาย ๆ ประเภท แล้วเราก็ลองมาจดดู แล้วเราก็ขอความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย นำสูตรไปวิเคราะห์ แล้วก็ปรับปรุงสูตร ผลกลับมาบางตัวแล้ว อย่างเช่นปลานิลของเราไขมันดีมาก ต้องใส่ส่วนผสมอย่างอื่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มเติม
เบียร์ ภิชญาภา ณรงค์ชัย ผู้จัดการกลุ่ม ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์
พี่เบียร์บอกว่าตอนนี้ สัตว์อินทรีย์ ที่นี่ยังต้องใช้อาหารสูตรรวมอยู่ แต่ว่าอีกไม่นานน่าจะได้ผลการวิเคราะห์เรื่องอาหารจากทางมหาวิทยาลัย และนำผลที่ได้มาปรับใช้การเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในชุมชน
“อาหารพร้อม ไก่ก็พร้อม”
หลังจากที่มีอาหารอินทรีย์อย่างเพียงพอ กลุ่มไก่อินทรีย์ก็ได้เกิดขึ้นเต็มตัว โดยในกลุ่มมีทั้งผู้เลี้ยงไก่บ้าน และไก่ไข่
เราเกื้อกูลกันด้านอาหาร ห่วงโซ่อาหาร เราจะได้วัตถุดิบจากปลามาใช้ทำอาหารไก่ อาหารกบ ก็จะช่วยกัน จะเกื้อกันตลอด อย่างของผมก็เลี้ยงไก่ด้วย แล้วก็แปรรูปด้วย เราก็รับแปรรูปสินค้าของสมาชิกทั้งหมด เกื้อกูลกัน หาตลาด แล้วก็แปรรูปส่งให้ อย่างกบ เราก็รับไปแปรรูปให้ หาตลาดส่งให้ ทุกกิจกรรมที่พอจะช่วยเหลือได้ เราก็ยื่นมือเข้ามาช่วยกัน ไม่ได้ทอดทิ้งกัน และเราต้องทำให้เขามาเป็นสมาชิกกับกลุ่มเรา จะได้เลี้ยงวิธีเดียวกัน จะได้หาตลาดไปทางเดียวกัน
ธนากฤช สมเพรช กลุ่มผู้ผลิตไก่อินทรีย์
“จาก 7 กลุ่มผลิต สู่ 1 ตลาด”
หลังจากในชุมชน มีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์หลากหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ไก่ กบ หมู ปลานิล ข้าว และอาหารสัตว์อินทรีย์ จึงได้เกิดการรวมทำตลาดไปพร้อมกัน ภายใต้แบรนด์ทุ่งต้อมออร์แกนิก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และง่ายต่อการจัดการ
การตลาดของเราก็จะมีอยู่เพจเดียว ก็คือเพจทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์ หรือทุ่งต้อมออแกนิกวิลเลจ คือเราจะมีทุกกิจกรรม ที่เราจะทำกิจกรรมอะไร ๆ คือได้สื่อผ่านให้ลูกค้าได้เห็นว่าเราทำจริง ทำหลาย ๆ ด้าน เราจะลงให้ลูกค้าได้เห็น ลูกค้าก็จะติดต่อผ่านเพจเป็นหลัก ดูเบอร์ ดูไลน์ แล้วเขาก็แอดไลน์เข้ามา จุดดี การจัดการมันค่อนข้างจะง่าย ราคาก็จะเป็นราคาเดียว จะไม่มีตลาดที่แข่งขันกัน ลูกค้าที่ไหน ๆ มาก็จะเป็นเรทราคานี้หมด
เบียร์ ภิชญาภา ณรงค์ชัย ผู้จัดการกลุ่ม ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์
สมาชิกไม่สามารถเอาไปตั้งเองได้ กลุ่มเป็นคนกำหนดราคากลาง แต่สมาชิกได้ขายคืนให้กับกลุ่ม ก็จะเป็นราคามิตรภาพ ที่อยู่ได้ แล้วกลุ่มเอามาทำให้ได้คุณภาพกลุ่มก็อยู่ได้ สมาชิกก็อยู่ได้ มีเงินหมุนเวียน ทั้งผู้เลี้ยง ทั้งเกษตรกร ทั้งการบริหารจัดการกลุ่ม เราจะต้องสื่อสารกับประธานกลุ่มของแต่ละกิจกรรม อย่างมีคำสั่งซื้อนี้มาเราก็ต้องส่งต่อให้ประธานกลุ่มตรวจดูว่าสินค้าเขามีพร้อมส่งวันนี้ไหม รอบนี้ไหม แล้วทางแต่ละกลุ่ม อย่างเช่น กบ ปลา หมู ก็จะต้องแจ้งมาว่าเดือนนี้ เขาผลิตได้เท่านี้ พอที่จะจำหน่ายได้เท่านี้ ๆ เราก็จะมาวางแผนว่าของเรามีเท่านี้ ลูกค้าคนนี้สั่งมาพอขายไหม
….
จากการเดินทาง และได้พูดคุยกับคนทุ่งต้อม อ.เทิง จ.เชียงราย ที่กำลังพยายามออกแบบชุมชนให้กลายเป็นชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ ทำให้เราได้รู้เลยนะครับว่านอกจากการวางแผน การทำงานแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญที่ทำให้โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นในชุมนชนได้ ก็คือความสามัคคี และการร่วมมือจากทุกกลุ่ม ทุกคนในชุมชน ที่อยากเห็นหมู่บ้าน เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน
- ปัจจุบัน ทุ่งต้อมออร์แกนิก มีสมาชิกรวมกันประมาณ 170 หลังคาเรือน
- มีผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปรวมกันมากกว่า 20 ชนิด
- สร้างรายได้ เข้าชุมชน รวมกันในทุกกิจกรรมประมาณ 3 – 4 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจำนวนสมาชิก และรายได้