ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสหนึ่งที่ยังอยู่ และยังหอมหวล ก็คือกระแสคนรุ่นใหม่ ที่กลับบ้าน มาทำเกษตร แต่หลาย ๆคนก็ยังอยู่ไม่ได้ตามที่ฝัน บางรายกำลังสู้ต่อ และบางรายก็ยอมถอย บางคนอาจถอยออกไปเลย หรือบางคนก็เพียงถอยมาเพื่อตั้งหลักลองใหม่อีกที
วันนี้ชีวิตนอกกรุงชวนมาคุยกับคนรุ่นใหม่อีกคน ที่กลับมาอยู่บ้าน ทำเกษตรอินทรีย์ และได้พบเจอปัญหาร่วม แบบเดียวกับคนอื่น ๆ จนเกิดไอเดียในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แก้ไขเฉพาะปัญหาตัวเองเท่านั้น โมเดลที่พวกเขาทำ ยังช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย
ชีวิตที่อยากออกแบบเอง
แต่ก่อนนี้ผมทำงานบริษัทครับ ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่อยากจะหนีออกจากอาชีพเกษตรกร เพราะว่าทำไปอย่างไรก็ไม่รวย
เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ
แต่ก่อนนี้ผมทำงานบริษัทครับ ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่อยากจะหนีออกจากอาชีพเกษตรกร เพราะว่าทำไปอย่างไรก็ไม่รวย แต่ว่าพอเรา เรียนจบ แล้วก็ไปทำงาน เราได้เงิน ได้อะไรก็จริง แต่เราก็จะได้อยู่บ้านแค่วันหยุดเทศกาล และด้วยเวลาที่มันผ่านไปเรารู้สึกว่า เราออกไปหางานข้างนอกก็จริง มีเงินก็จริง แต่ว่าเราเริ่มละเลยคนทางบ้านไปเรื่อย ๆ พ่อแม่ก็แก่เฒ่าลงไปทุกวัน สิ่งที่เราส่งมาบ้านได้ก็แค่เงิน แต่เรื่องของการดูแลเราไม่มีเวลา ก็เลยคิดว่าถึงเวลาแล้ว อยากกลับมา แต่ช่วงนั้นการทำเกษตรอินทรีย์กำลังมา … แล้วเราก็มาลองสัมผัสดูมันก็โอเคนะ แต่พอมาลองปฎิบัติจริงสุดยอดเลย (หัวเราะ)
พี่เอ็กซ์เล่าให้เราฟัง ถึงสาเหตุที่เลือกที่จะลาออกจากการทำงานในเมืองใหญ่ แล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน และตัดสินใจหันเข้าหาเกษตรอินทรีย์ เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งกลับมาตอนแรก อยากทำอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้อะไร ได้แต่หาข้อมูลจาก YouTube และลองศึกษาด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ ทำให้ปีแรกที่ทำ ขาดทุนไปก็หลายหมื่น จนตั้งสติได้ จึงได้ไปเรียน ไปศึกษาในโครงการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนจบและ สามารถเพาะปลูก จนได้ผลผลิตต่าง ๆ ตามที่คิด แต่การเป็นเกษตรกรในยุคนี้ มันไม่ง่ายขนาดนั้น
โลกใบจริงของเกษตรอินทรีย์รายย่อย
ปัญหาเลยคืออย่างแรก คนทำเกษตรอินทรีย์ในหมู่บ้าน ในชุมชนส่วนใหญ่คือทำแค่พอดี แค่อยู่ได้ แต่ว่าไม่ได้ทำต่อเนื่อง แต่ในมุมหนึ่งผู้บริโภคที่อยากกินสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีมาก แต่คนผลิต กับคนซื้อ ยังไม่เจอกัน การจะเจอกันยากมาก
เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ
เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ทำอินทรีย์ เขาทำแล้วไม่ได้มีความสุขนะ เพราะมันตอบโจทย์การอยู่รอดจริง ๆ ไม่ได้ สำหรับบ้านเรานะ การทำเกษตรกรอินทรีย์รายละเอียดมันเยอะ ทั้งเรื่องของการดูแล จำนวนผลผลิต แต่ในอีกมุม คนที่รอบริโภคสินค้าอินทรีย์ก็มี แต่เราไปตอบโจทย์ตรงนั้นไม่ได้
จากปัญหาเรื่องตลาดที่เกิดขึ้น ทั้งกับตัวเอง และเกษตรกรรายย่อยรอบ ๆ ตัวทำให้พี่เอ็กซ์ รวมตัวกับเพื่อน ที่เจอปัญหาเดียวกัน ก่อตั้งบริษัท ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อม ระหว่างผู้ผลิตรายย่อย กับผู้ซื้อที่เป็นบริษัทรายใหญ่ ๆ
จากปัญหาตัวเอง สู่โมเดลที่ชวนให้รอดไปด้วยกัน
จากปัญหาที่เกิดเลยคิดว่าเราควรจะมี บริษัทที่มีการช่วยเหลือเกี่ยวกับการตลาด พวกนี้ รวบรวมผลผลิตของเกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์ทั้งพะเยา
เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ
จากปัญหาที่เกิดเลยคิดว่าเราควรจะมี บริษัทที่มีการช่วยเหลือเกี่ยวกับการตลาด พวกนี้ รวบรวมผลผลิตของเกษตรกรที่อยากทำเกษตรอินทรีย์ทั้งพะเยา ก็เลยรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทออแกนิกพะเยา วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือว่า OPSE เพื่อให้คนผลิต และคนซื้อได้มาเจอกันได้ง่ายขึ้น อีกอย่างหนึ่งคนซื้อจะได้ปลูกผัก มีเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ คนซื้อก็ได้ของที่มีคุณภาพจริง ๆ
ถ้าอย่างบริษัท ที่เขาต้องการผลผลิตอินทรีย์เยอะ ๆ ถ้าเขาไม่มีตัวกลางในการติดต่อ เขาก็ต้องไปหาเอง เช่นเขาต้องการผลผลิตอินทรีย์สัก 10 ตัน แล้วเขาก็ต้องวิ่งไปหาเกษตรกร ถ้ามี 10 คน เขาก็ต้องไปหา 10 ที่ ถ้าเกิดมีตัวกลางอย่าง OPSE OPSE ก็สามารถไปหาได้เลย 10 คน เพราะว่าข้อมูลของเกษตรกร เรามีข้อมูลตรงนี้อยู่แล้ว
ถึงแนวคิดจะดี แต่ก็ไม่ได้ง่ายที่จะทำนะ เพราะจากเกษตรกรายย่อยจะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต้องเจอปัญหา ต้องปรับตัวมหาศาลเลยครับ พี่เอ็กซ์บอกว่าโชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นมาหวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามาช่วยดูแล แนะนำ ประคับประคองให้ นอกจากนั้นยังมีสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพะเยา ที่คอยช่วยเหลือเรื่องข้อมูล ของเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ในจังหวัด เรียกว่าถ้าขาดส่วนไหนไป การเดินต่อไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
โมเดลกิจการเพื่อสังคม ฉบับคนอินทรีย์
ต้องบอกก่อนว่า หลายคนอาจคิดว่าการตั้งบริษัทคือการขายอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว OPSE ลงไปตั้งแต่พื้นฐานเลย ตั้งแต่การพัฒนาผลผลิต ไปให้ความรู้เรื่องการตรวจสอบคุณภาพ มาจนถึงในเรื่องของการจัดการ การวางแผนการผลิต การรวบรวมสินค้า การคัดคุณภาพ และสุดท้ายคือการบริหารเรื่องของการขาย
เอ็กซ์ ณัฐพล ขุ่ยคำ อธิบายให้ฟังถึงการทำงานของ OPSE (ออฟเซ่)
เพราะฉะนั้นเกษตรกรทุกคนที่อยู่ใน OPSE จะได้เรียนรู้กับเราในทุก ๆ ขั้นตอนเลย OPSE จุดมุ่งหมายสุดท้ายเลยคือ ในอนาคตเราไม่อยากให้เกษตรกร มาขายกับ OPSE แต่ OPSE อย่างเป็นพื้นฐานให้เกษตรกรไปดูแลตัวเองได้ และสามารถค้าขายด้วยตัวเองได้นี่แหละคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของ OPSE ครับ
พี่เอ็กซ์เล่าให้ฟังครับว่า โมเดลการทำงานของ OPSE จะทำตั้งแต่เริ่มเลยครับ คือการไปหาเกษตรกร หรือพัฒนาคนที่สนใจ ผลิตสินค้าอินทรีย์ ไปให้ความรู้ เติมทักษะที่จำเป็น และที่สำคัญเลย คือพาเข้าสู่ระบบ รับรองแปลงอินทรีย์ จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญแรก ที่ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในสินค้า
หลังจากไปรับรองแปลงแล้ว ก็เข้าสู่เรื่องพัฒนาคุณภาพผลผลิต ดูให้สวย น่าซื้อ และสุดท้ายเลย ก็คือการขายผลผลิตของเกษตรกร ให้กับผู้ซื้อรายใหญ่
30 เข้ากระเป๋า 70 คืนสังคม
พี่เอ็กซ์เล่าให้ฟังเพิ่มเติม ครับว่า ทำไม ถึงเลือกใช้วิธีการจัดการแบบธุรกิจเพื่อสังคม ทั้ง ๆ ที่ จริง ๆ แล้วโมเดลการเป็นพ่อค้าคนกลาง ระหว่างเกษตรกร กับผู้ซื้อแบบนี้ แทบไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องทำ
วิสาหกิจเพื่อสังคม มันก็คาบเกี่ยวระหว่าง องค์กรที่ต้องการผลกำไรเป็นหลัก กับเรื่องของการที่ไม่หวังผลกำไร แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ 2 อย่างนี้ ต้องทำให้ตัวเองอยู่ได้ก่อน
วิสาหกิจเพื่อสังคม มันก็คาบเกี่ยวระหว่าง องค์กรที่ต้องการผลกำไรเป็นหลัก กับเรื่องของการที่ไม่หวังผลกำไร แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ 2 อย่างนี้ ต้องทำให้ตัวเองอยู่ได้ก่อน แต่รูปแบบของการตอบแทน การคืนกำไรสำหรับคนอื่น ถ้าเป็นบริษัททั่วไปอาจเป็นเพียงคนกลุ่มเดียว แต่ว่าถ้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมมันกว้างกว่านั้น และอาจไม่ใช่แค่คนที่ได้รับประโยชน์ อาจรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม และอะไรอื่น ๆ ในอนาคตด้วย เราเป็นคนที่ชอบทำงานกับคนหลาย ๆ คน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือเราเป็นลูกชาวบ้าน ลูกเกษตรกรทั่วไป เราเห็นว่า ความจริงโอกาสทางสังคมเราไม่เท่ากัน และโอกาสที่จะเข้าถึงอะไรเหล่านี้มันมีน้อย มันก็จะเป็นแค่คนกลุ่มน้อยที่จะมีโอกาสเข้าถึงมากกว่าคนอื่น การที่เรามาทำวิสาหกิจเพื่อชุมชนเพราะเราคิดว่ามัน ช่วยคนได้เยอะ
ถ้าเราทำบริษัทพะเยาออแกนิกเฉย ๆ กับพะเยาออแกนิกเพื่อสังคม แค่ฟังชื่อก็แตกต่างกันแล้ว ถ้าเป็นบริษัทพะเยาออแกนิก ก็ทำ ๆ ไป แล้ววันใดวันหนึ่งอยากบริจาค ก็ทำได้ จะให้เมื่อไรก็ได้ แต่แพลตฟอร์มของวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้ มันเหมือนกับว่าบริษัทนี้ทำมาค้าขายอย่างไร ก็ต้องคืนให้สังคมอยู่ดี และอีกอย่างบริษัททั่วไป มันคือผู้ถือหุ้นก็ได้กำไรมาก็เป็นของตัวเอง แต่ถ้าเราทำเพื่อสังคม มันก็กลายเป็นว่าการที่เรามาทำตรงนี้ส่วนหนึ่ง เราก็ได้คืนให้สังคมทุกบาท ทุกสตางค์ เพราะว่าตัวแพลตฟอร์มมันบอกอยู่แล้ว ว่าเราจะต้องปันผลกำไรคืนให้สังคม ในรูปแบบไม่ว่าอะไรก็ช่างประมาณ 70 %
คนซื้อ ถ้าซื้อจากบริษัทปรกติทั่วไป เขาก็ซื้อบริโภค แต่ถ้าซื้อในรูปแบบของบริษัทที่คืนกำไรให้สังคมความรู้สึกจะต่างไปเลย เราไม่จำเป็นจะต้องรอมีเงินเยอะค่อยคืนสังคมก็ได้ แค่เราซื้อผักไปกิน ผ่านจากแพลตฟอร์มตัวนี้คุณก็ได้ช่วยเหลือสังคมแล้ว และเกษตรกรก็มีรายได้ตัวนี้ด้วย ผมก็เลยคิดว่าแบบนี้โอเค ตอบโจทย์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย เราก็อยากจะทำเพื่อสังคมและเราก็อยากจะอยู่ได้ด้วย
จากเกษตรกรตัวเล็ก ๆ สู่ตลาดใหญ่
พี่เอ็กซ์บอกว่า สุดท้ายแล้วขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดการเรื่องตลาดครับ การหาตลาดที่รับซื้อสินค้าเราได้ตลอดเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะกับเกษตรกรรายเล็ก ๆ ที่มีสินค้าออกทีละไม่เยอะ
กลุ่มหลัก ๆ ลูกค้าเราจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย ทิ่ติดตามมาจาก FB Page หรือว่าทาง Line ที่เราโฆษณาไป ไม่ก็มาเจอเราตอนที่เราไปจัดบูทในที่ต่าง ๆ ก็จะมีลูกค้ามาซื้อ แล้วก็อีกส่วนคือกลุ่มของผู้ซื้อที่เขาซื้อทีละเยอะ ๆ อย่างเช่นของสุขทุกคำ วังรีคลีน … ก็จะมี แอดมินดูแล รับผิดชอบตรงนี้อยู่ ถ้าเทียบกับอัตราส่วนของที่เราซื้อ ที่มีการซื้อขาย ร้อยละ 70 ของผลผลิตจะซื้อขายผ่านบริษัทที่เขารับปริมาณเยอะ ๆ ขายส่งไป และอีก 30 เปอร์เซนต์ ก็มาจากในช็อปในบูท ที่อยู่ในพะเยาตอนนี้
- ปัจจุบัน บริษัทออร์แกนิกพะเยาวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือว่า OPSE (ออฟเซ่) มีสมาชิกที่ผลิตสินค้าอินทรีย์ อยู่ประมาณ 200 คนทั่วจังหวัดพะเยา
- สร้างรายได้โดยตรงให้กับเกษตรกรรวมกัน เกือบ 1 ล้านบาท ต่อปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งสมาชิก และรายได้