น้ำเย็นไหลหลากกระทบโขดหินใหญ่ อุดมมากพันธุ์ปลา ตลิ่งเขียวชอุ่ม บ้านน้ำโขงหลังใหญ่ หลากไหลทอดยาวสุดลูกหูลูกตา เป็นที่พึ่งพิงให้ชาวริมโขงได้มีอยู่มีกิน มีอาศัยตลอดมา
จากทิเบต จรดเวียดนาม ระยะทาง 4,880 กิโลเมตร ที่ “แม่น้ำโขง” ไหลผ่าน เป็นเส้นชีพจรที่หล่อเลี้ยงชุมชนคนริมโขงมาหลายชั่วอายุคน ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำโขงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารหลักที่เลี้ยงดูปากท้องของคนริมฝั่งโขงหลายล้านชีวิต ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งอาหาร แต่ยังเป็นบ้านอีกหลังที่เป็นแหล่งพักพิง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต และผูกความสัมพันธ์ของคนริมโขงไว้
หลายชีวิตริมฝั่งโขง จึงหวังพึ่งอาศัยน้ำโขงในการทำมาหากินเป็นหลักอย่างห้ามไม่ได้
พันธุ์ปลากว่า 1,300 ชนิด ที่แหวกว่ายอยู่ในลำน้ำโขง มีตั้งแต่ปลาตัวเล็กไปจนถึงขนาด 120 กิโลกรัม ปลาเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนริมโขง ทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หรือจะเป็นการทำมาหากิน โดยเฉพาะอาชีพประมง หรือที่เรียกกันว่า พรานปลา ที่จะหอบหิ้วอุปกรณ์ลงเรือไปจับปลาน้อยใหญ่ นอกจากจะอาศัยเป็นอาหาร พรานปลายังได้ปลาที่หามาได้ไปค้าขายเป็นรายได้เสริม อีกทั้งแปรรูปอาหารเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้แลกข้าวแลกน้ำกับชาวบ้านชุมชนอื่น
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป แม่น้ำโขงที่เคยคึกคักกลับเปลี่ยนแปลง เสียงเครื่องเรือที่ออกหาปลากลับถูกแทนที่ด้วยความเงียบเหงา เรือที่หาปลาถูกจอดทิ้งไว้ บางลำก็ไม่ได้นำออกจากฝั่งมานานนับปี อุปกรณ์หาปลาถูกแขวนเก็บไว้จนฝุ่นเกาะ ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงจากที่เคยอุดมสมบูรณ์ค่อย ๆ แห้งเหือด ปลาในแม่น้ำโขงที่เคยมีเริ่มหายไปทีละน้อย เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ในตอนนี้คนริมโขงหลายชีวิตที่เคยพึ่งพาแม่น้ำโขงในการทำมาหากินเป็นหลัก กลับไม่สามารถพึ่งพาแม่น้ำสายหลักนี้ได้เหมือนเดิม
ปลาหายบ่คือเก่า
“เพราะเมื่อก่อนมันหาได้ แต่สมัยนี้มันหาได้น้อย”
อีกหนึ่งเสียงของพรานปลาจาก ต.หาดคำภีร์ อ.ปากชม จ.เลย อย่างพ่อชาญชัย หรือชาญชัย ดาจันทร์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อน ทุก ๆ ครั้งที่ออกเรือ พรานปลามักจะมีความคาดหวังว่าตนคงจะได้ปลาหลายตัวสำหรับขายให้เป็นรายได้ เหลือก็นำมากินเพื่อเลี้ยงชีพ กลับกัน ในตอนนี้ทุกครั้งที่ออกเรือ ขอแค่ปลาสักตัวไว้สำหรับกินเป็นอาหารก็หายากมากพอแล้ว ตอนนี้พรานปลาต้องแยกกันไปแต่ละทิศ ต่างคนต่างหาปลา สุดท้ายคนที่ได้ปลาก็เอามาแบ่งปันกันกิน เป็นการรวมกลุ่มจับปลาเพื่อป้องกันความเสี่ยง หมายถึง ทุกคนจะได้กินปลาถึงแม้จะมีคนจับไม่ได้
แต่ถึงอย่างนั้น บางครั้งทุกคนก็กลับบ้านด้วยมือเปล่า ไม่ได้แม้แต่ปลาจะกินเป็นอาหารเลยสักมื้อ
เดือนห้าหน้าแล้ง ปลาที่ต้องจับได้เป็นประจำคือ ปลาเพี้ย และปลาหว้า แต่ทุกวันนี้ที่เห็นได้บ่อยคือ ปลาจอก นอกนั้นก็พอหาได้บ้างเป็นบางครั้ง แต่ที่หายากคือ ปลาสวาย ที่จับได้เพียงปีละประมาณ 10 ตัวเท่านั้น ส่วนปลาที่หาไม่ได้เลยคือ ปลาหลิม และปลาบึก ที่หลงเหลือเพียงแค่ภาพถ่ายและความทรงจำให้พรานปลาในแถบแม่น้ำโขงได้นึกถึง
“หาปลาแต่ก่อน ไปวันไหนตอนไหนก็ได้ตลอด แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้หาปลาเป็นเดือนแล้ว เพราะมันไม่คุ้ม”
เช่นเดียวกันกับชาวบ้านใน ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย กลุ่มชุมชนริมแม่น้ำโขงอีกที่หนึ่งที่ต้องพบเจอกับปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างหนักหนาสาหัส เนื่องจากระบบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป โดยปกติแล้วพื้นที่จังหวัดหนองคายจะเป็นเกาะแก่ง ตามขอบเกาะหรือคอนก็จะเต็มไปด้วยต้นไคร้น้ำ ที่เปรียบเสมือนราชินีแม่น้ำโขง ทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลปลาขนาดเล็ก ที่หลบภัย ที่ให้อาหาร โดยรากขอบต้นไคร้จะยึดเกาะหน้าดิน ทำให้ตะกอนอาหารที่ไหลตามแม่น้ำมาขังอยู่ที่ราก เป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิดในแม่น้ำโขง
ในฤดูวางไข่ ปกติแล้วปลาจะเริ่มเข้าจับจองต้นไคร้ไว้เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อนุบาลปลา ซึ่งไคร้จะอุดมไปด้วยอาหารสำหรับปลาน้อยใหญ่ เมื่อปลาน้อยเริ่มเป็นตัวอ่อนก็จะหากินตามรากไคร้และอาหารที่เกาะอยู่ตามลำต้น แต่เมื่อระบบนิเวศในลำโขงเริ่มผันผวน ระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดู ก็ส่งผลให้บ้านอนุบาลปลาเริ่มไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน รวมถึงต้นไคร้ที่เป็นเหมือนบ้านอนุบาลปลาก็เริ่มทยอยตาย ทำให้ปลาหลายชนิดหายไป หาปลาไม่ได้ แม้จะอยู่ในฤดูกาล
พันไคร้ แสนโขด
ตามระบบนิเวศย่อยของแม่น้ำโขงภายใน อ.สังคม จะประกอบไปด้วย บุ่ง คอน คก และแก่ง บริเวณรอบเกาะแก่งจะมีพันธุ์พืชนานาชนิด ที่สำคัญคือมีต้นไคร้อุดมสมบูรณ์ ในฤดูแล้ง หากมองไปที่ภูเขาจะเห็นเป็นสีแดงแสดงถึงความแห้งแล้งในหน้าร้อน แต่หากมองลงไปในแม่น้ำโขงจะเห็นต้นไคร้น้ำหลายต้น พร้อมใจกันออกดอกออกผลเจริญเติบโตจนกลายเป็นสีเขียวย้อมสีแม่น้ำโขง เป็นที่มาของคำว่า “พันโขด แสนไคร้” ซึ่งเป็นคำขวัญประจำอำเภอ
“แต่เดี๋ยวนี้กลับกัน กลายเป็นพันไคร้ แสนโขด เพราะน้ำแห้งเจอแต่โขดหิน ส่วนต้นไคร้ตายหมด”
พระมหาพิทักษ์ชัย เจ้าอาวาสวัดหายโศก อ.สังคม จ.หนองคาย พูดพร้อมหัวเราะ กลับเป็นเรื่องตลกร้ายที่ชาวบ้านริมโขงจะต้องเจอ ความอุดมสมบูรณ์ในอดีตที่เคยมีอยู่กลับพลิกผัน ต้นไคร้ที่เป็นเหมือนกับหนึ่งตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำโขงก็ทยอยตาย จากที่มีหลายพันต้นก็เหลือเพียงแค่หนึ่งพันต้น โขดหินที่ควรจะถูกน้ำโขงไหลท่วมจนมิดกลับโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำอย่างชัดเจน เหตุเพราะน้ำโขงแห้งผิดปกติ
ไม่ได้มีเพียงแค่ปลาที่หาย ยังรวมถึงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญอย่าง กุ้ง และหอย เมื่อต้นไคร้ที่เปรียบเสมือนราชินีแห่งแม่น้ำโขงลดจำนวนลง สิ่งมีชีวิตที่ต้องอิงอาศัยก็หายไปด้วย
บุ่งหนองฮี มดลูกของน้ำโขงในบริเวณ ต.บ้านม่วง สถานที่อนุบาลปลาที่มีความพิเศษแตกต่างจากบุ่งในบริเวณอื่น เป็นบุ่งที่มีลักษณะเปิดกึ่งปิด คือหัวบุ่งจะอยู่ตรงปลายแก่ง ทำให้ช่วงน้ำหลากปลาทั้งเล็กและใหญ่จะสามารถเดินทางเข้ามาอนุบาล และวางไข่ภายในบุ่งมากในตอนที่น้ำลด เมื่อฤดูน้ำหลากพาน้ำไหลกลับเข้ามาในบุ่งมาอีกครั้ง เหล่าปลาที่ได้อนุบาลตัวเองเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเริ่มทยอยเดินทางออกไปใช้ชีวิตภายนอกต่อไป
จากที่จำนวนของปลาภายในแม่น้ำโขงมีมากจนพอกิน ในตอนนี้กลับลดลงจนแทบไม่เหลือ
“ทุกวันนี้ปลาแทบจะไม่มีแล้วเพราะระดับน้ำไม่คงที่ ปลาไม่สามารถขึ้นมาจากบุ่งได้ พอน้ำมาปลาตัวใหญ่เข้าไปกินทำให้ปลามันลดปริมาณลง ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ปลาหายไป” เนื่องจากระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติทำให้ระบบนิเวศไม่เป็นดังเดิม ปลาเล็กที่ควรจะต้องออกมาเติบโตนอกบุ่งถูกปลาตัวใหญ่กิน”
เขื่อนมาปลาหาย
“เพราะอิทธิพลของการสร้างเขื่อนเนี่ย มีอิทธิพลต่อปลาในแม่น้ำโขง”
เขื่อน สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงในบริเวณ อ.สังคม ระดับน้ำที่ผันผวนและคาดเดาไม่ได้ของแม่น้ำโขงจากอิทธิพลของการมีอยู่ของเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลให้คนริมโขงได้รับผลกระทบมากมายมหาศาล
ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร จากเขื่อนไซยะบุรีมาถึงที่ ต.บ้านม่วง อาจจะเป็นระยะทางที่ดูเหมือนไกล คนริมโขงต่างก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งก็ได้รับผลกระทบเป็นรายวัน เพราะบางวันก็น้ำขึ้นแล้วก็แห้งภายในวันนั้นเลย ทำให้ชาวบ้านปรับตัวกับระดับน้ำไม่ทันเหมือนก่อน
นอกจากคนจะปรับตัวไม่ทัน ปลาก็อาจจะปรับตัวไม่ทันด้วยเช่นกัน
จากเขื่อนสู่โขง จากโขงสู่ปลา จากปลาสู่คน ผลกระทบถูกส่งต่อเป็นทอด ๆ ต้นเหตุใหญ่อย่างเขื่อนลาวสัญชาติไทยอย่างเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ทางฝั่งเพื่อนบ้าน การกักเก็บและการปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ เรียกว่า “คิดอยากจะปล่อยก็ปล่อย คิดอยากจะปิดก็ปิด” โดยไม่สนคนปลายน้ำหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ระบบนิเวศตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่ในแม่น้ำโขงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยฝีมือของมนุษย์
แต่สิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจจะไม่ใช่คนริมโขง แต่เป็นปลา
“ปลาที่หายไปเกือบ 20 ชนิด ส่วนหอยก็หาไม่เจอเลย”
จากการสังเกตการณ์ของนักวิจัยไทบ้านกลุ่มคนรักแม่น้ำโขง สมาชิกกลุ่มได้ร่วมพูดคุยกันและสรุปได้ว่าพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงแถบนี้ได้หายไปกว่า 20 ชนิด ลองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพันธุ์ปลาที่หายไปในระบบนิเวศแม่น้ำโขงแถบ จ.หนองคาย ช่วงก่อนปี 2538 ช่วงที่ชาวบ้านต่างก็บอกว่าเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด เพราะในตอนนั้นมีปลาหลากหลายพันธุ์ที่สามารถจับได้ตามฤดูกาล ปี 2538-2560 ปีที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คือ ปลาเอิน เริ่มหายาก ส่วนในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงแถบนี้ได้หายไปกว่า 20 ชนิด อาจจะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่ปลาที่หายไปหนึ่งชนิด จะนับเป็นจำนวนกี่ตัวก็ไม่สามารถทราบได้
”ช่วงที่ล้างผลาญธรรมชาติมากที่สุดคือ กรกฎาปี 61 เดือนฤดูน้ำแดง ที่เป็นฤดูวางไข่ของปลา เดือนที่มีการทดสอบเขื่อน น้ำลดฮวบลงทีเดียว 3-4 เมตร แห้งยาวตั้งแต่เดือนกรกฎาปี 61 ถึงเมษาปี 62”
คำบอกเล่าจากชาวบ้านริมโขงผู้ที่เห็นทุกเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลง ระยะเวลากว่า 10 เดือนที่แม่น้ำโขงแห้งลงอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้ประชากรปลาลดลง ปลาเล็กที่ควรจะมีก็หายไปเพราะปลาไม่สามารถวางไข่จนโตเป็นปลาเล็กได้ เหลือแค่ปลาตัวใหญ่ที่รอวันถูกจับ
“ตอนหน้าฝนน้ำมันแห้งไป ปลามันก็ตาย เพราะมันกำลังออกลูก พ่อพาเขามาเลาะริมตลิ่งดู จะเห็นลูกปลาแล้วก็หอยที่มันลงตามน้ำไม่ทันแล้วก็ตายเยอะ”
น้ำที่ควรจะเต็มฝั่งในฤดูฝน บรรยากาศครึกครื้นของการออกหาปลาในช่วงทีน้ำหลากหายไป ความแห้งแล้งเข้ามาแทนที่ความอุดมสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย เมื่อแม่น้ำโขงแห้งขอดเฉียบพลัน ปลาใหญ่ก็อพยพหนีไปตรงจุดอื่นที่มีน้ำ ปลาเล็กปลาน้อยที่หนีไม่ทันก็ทยอยตาย รวมถึงหอยที่ฝังตัวอยู่ตามโคลนริมฝั่งโขงที่หนีลงแหล่งน้ำไม่ทันด้วยเช่นกัน
จางหายไปกับปลา
แน่นอนว่าการมีเขื่อนทำให้ปลาหายไปจนแทบจะหมดโขง แต่สิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ปลา หากมองเป็นความสัมพันธ์ของชุมชนคนริมโขงกับปลา ก็จะพบว่าผลกระทบนั้นเป็นวงกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะไม่สิ้นสุด
“พอผลกระทบเกิด เหลือเรือหาปลาไม่ถึง 20 ลำ คนที่หากันจริง ๆ ก็คงไม่ถึง 20 ลำ”
เรื่องราวความทรงจำที่เล่าโดยน้าบัน หรือชัยวัฒน์ พารคุณ ชาวบ้านอีกหนึ่งคนจาก ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย น้าบันเล่าว่า พื้นที่บ้านม่วงในสมัยก่อน ทุกบ้านที่มีเขตติดกับแม่น้ำโขงจะมีเรือจอดเทียบท่ารอเวลาออกหาปลาเป็นร้อย ๆ ลำ เพราะเมื่ออยู่ติดกับแม่น้ำโขง สิ่งที่จะต้องทำเป็นปกติก็คือ การออกหาปลา อาจจะไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก ๆ แต่การหาปลาขายก็เคยเป็นวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านริมฝั่งโขง
“คนส่วนใหญ่ก็ทิ้งอาชีพนี้ไป ไม่เอาไม่หาแล้ว ไปกรีดยางดีกว่า บางคนก็ไปหากินในกรุงเทพฯ เลยก็มี”
นับตั้งแต่การมีอยู่ของเขื่อนไซยะบุรี ระบบนิเวศที่ควรจะอุดมสมบูรณ์กลับไม่เหมือนอีกต่อไป ปลาที่เคยมีก็แทบจะไม่เหลือให้จับวิถีชีวิตของคนริมโขงเริ่มเลือนหาย พรานปลาที่เคยมีอยู่ก็ต้องเลิกทำอาชีพพรานปลา หันไปประกอบอาชีพอื่นแทนเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปได้ บางรายก็ถึงกับต้องหอบตัวเองไปหางานทำถึงเมืองหลวง เพราะปลาในน้ำโขงก็เหลือน้อยจนแทบจะหาไม่ได้
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่ได้เห็นลวงแค่นี้นะ จะเห็นทุ่นขาวอยู่แทบจะทุกจุด”
น้าบันพูดพร้อมชี้ให้ดูทุ่นสีขาวสองอันเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเทียบกับขนาดของแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ ลองคิดภาพตามว่าหากมีทุ่นลอยอยู่เต็มแม่น้ำก็หมายความว่าในอดีตนั้นคงจะมีปลาเยอะกว่านี้หลายเท่า ยิ่งย้ำเตือนให้เห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่เคยมี แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับพรานปลาที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ยังคงเดินหน้าหาปลาต่อไป
เพียงเพราะความผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อแม่น้ำโขง
“ถามกันตลอดว่าได้มั้ยวันนี้ บางคนก็ได้บางคนก็ไม่ได้ ก็ได้แค่หา มันเป็นความผูกพัน ถ้าไม่ได้หาปลาก็จะอยู่ไม่ได้นอนไม่หลับ ก็แค่นี้แหละชีวิตคนหาปลา”
วิถีชีวิตคนแม่น้ำโขง ตื่นเช้ากรีดยางเสร็จก็มายามมอง ได้ปลาก็เอาไปขายเป็นรายได้กลางวันก็ไปทำงาน ตกเย็นก็วนกลับมาหาปลา ถึงแม้ในวันนั้นจะจับปลาไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเดียว
นอกเหนือจากธรรมชาติที่หาย ความสัมพันธ์ของคนก็หายไปด้วย
ยื่นหมูยื่นแมว อีกหนึ่งวัฒนธรรมกระชับมิตร ที่จะช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน เมื่อบ้านม่วงมีปลาแต่ไม่มีข้าว และบ้านอื่นมีข้าวแต่ไม่มีปลา การแลกอาหารระหว่างหมู่บ้านจึงเกิดขึ้น
“เพราะบ้านเรามีพื้นที่นาน้อย เราก็จะเอาปลาไปแลกข้าวกับบ้านอื่น แต่ทุกวันนี้จะหากินก็ลำบาก มันต่างกันลิบลับเลย เมื่อสี่ห้าปีให้หลังมาเนี่ยมันไกลโพ้นเลย””
น้าบันเล่าให้ฟัง สมัยก่อนเมื่อถึงฤดูปลา หมู่บ้านอื่นก็จะติดต่อมาขอแลกปลาในหมู่บ้านกับข้าว และเมื่อถึงฤดูข้าวก็จะเดินทางไปรับข้าวถึงหมู่บ้านอื่น เพราะ ต.บ้านม่วงมีพื้นที่นาน้อยทำให้มีข้าวไม่พอกิน จึงต้องทำการแลกอาหารกันเป็นวัฒนธรรมการช่วยเหลือการแบ่งปันน้ำใจกันที่ไม่สามารถพบเจอได้ในปัจจุบัน
การจับปลาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยากขึ้นทุกที แม้แต่จะจับปลามากินเองยังเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ การแลกข้าวระหว่างชุมชนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ก็กลายเป็นเรื่องราวดี ๆ ในอดีตที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเห็นได้อีกครั้งในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ของคนที่เคยมีก็หายไป จนอาจจะกลายเป็นแค่ความทรงจำดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่หายไป
ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ที่ประกอบไปด้วยพันธุ์พืช พันธุ์ปลาหลากหลายชนิด รวมไปถึงกุ้ง หอย และแมลงชนิดต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านหวังพึ่งพิงแม่น้ำโขงในการทำมาหากินเลี้ยง ก็เปรียบเสมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตของคนริมโขง
ปลาที่ชาวริมโขงต่างยกให้เป็นราชินีปลาในระบบนิเวศนี้คือ ปลาสะงั่ว ปลาเนื้ออ่อนที่มีตัวใหญ่และราคาสูง ยิ่งในยุคที่หายากเช่นนี้ ราคาปลาจะยิ่งพุ่งขึ้นสูงถึงกิโลละ 500 บาท ถ้าช่วงไหนที่จับได้จะรีบนำเอาไปขายเพราะได้ราคาดี
ปลาสะงั่ว จะนิยมนำมาทอดกระเทียมพริกไทย และทานคู่กับน้ำจิ้มรสชาติเปรี้ยวหวานที่ช่วยชูเนื้อและรสสัมผัสของเนื้อปลาสะงั่ว เป็นเมนูโปรดของใครหลาย ๆ คน ด้วยรสชาติและเนื้อปลาที่สดเด้ง ปลาสะงั่วจึงถูกยกให้เป็นราชินีปลาแม่น้ำโขง
ทว่าผ่านมาหลายปีแล้วที่ปลาสะงั่วหายออกไปจากแม่น้ำโขง รวมถึงกุ้ง หอย ที่ก็ลดลงเรื่อย ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เคยมีให้เลือกซื้อในแม่น้ำโขงก็เหือดหายไปพร้อมกับวิถีชีวิตคนริมโขงที่ต่างก็เริ่มแยกย้ายตามยุคสมัย
“ไม่ได้ปลายังไงก็ต้องหา เขาบอกวันนี้ทำลาบปลา ก็ต้องหา มันมีหลายคนหา เรือนึงไม่ได้ เรือลำนึงก็ได้”
แม่เสริฐ หรือเสริฐ เรือนคำ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแม่บ้านชาวประมงพื้นบ้านเชียงคาน เล่าถึงการหาปลามาทำอาหารให้กับนักท่องเที่ยวล้วนมาจากปลาน้ำโขงธรรมชาติ แม้ในปัจจุบันจะหาปลายากมากขึ้น แต่ด้วยความที่คุ้นชินกับรสชาติปลาน้ำโขง หากต้องซื้อปลาเลี้ยงจากตลาดมันก็ไม่อร่อย
ความตั้งใจที่อยากให้นักท่องเที่ยวที่มาได้ทานอาหารที่สดและอร่อยจากน้ำโขง ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคานต่างช่วยกันหาปลาอย่างไม่ย่อท้อ เมื่อได้ปลามาก็จะส่งข่าวให้กัน แม่เสริฐเปิดรูปภาพปลาต่าง ๆ ที่หามาได้จากแม่น้ำโขง และเล่าพร้อมรอยยิ้ม
แม้ปลาที่หามาได้ในปัจจุบันจะมีขนาดที่เล็กลงและปริมาณปลาที่หาได้ในแต่ละครั้งจะน้อยลงแกว่าเมื่อก่อน แต่ความสุขในการหาปลาก็ยังคงเดิม
ในขณะเดียวกันด้านพรานปลาที่ออกหาปลาเพื่อเลี้ยงปากท้องเองก็ได้รับผลกระทบจากซูเปอร์มาร์เก็ตแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป
บ่แซ่บคือเก่า
“พวกปลาร้าก็กินแต่ปลาร้าเก่าตั้งแต่ปี 61 จวบจนทุกวันนี้ ตั้งแต่ตอนนั้นมันได้เยอะ เราก็หวงไว้กิน แต่ว่าหลังปี 61 ปี 62 63 64 65 มามันไม่ได้น่ะ ก็เลยเก็บไว้ไม่ขาย หวงไว้กินส่วนมากน่ะ ปีนี้ปลาร้าได้ไม่ถึงถัง”
ย้อนกลับไปในปีที่ยังคงมีปลาชุกชุมในแม่น้ำโขง พ่อชาญชัยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนได้ปลาเล็กปลาน้อยมาเยอะก็จะนำมาหมักทำปลาร้า แบ่งขายบ้าง แจกชาวบ้านในชุมชนบ้าง แต่ให้หลังมานี้ ปลาหาได้น้อย แม้แต่ปลาตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่มีจะนำมาหมักปลาร้า จากที่เคยได้หลายถัง ปัจจุบันก็นำมาหมักได้เพียงแค่ครึ่งถัง ปลาร้าที่หมักไว้ตั้งแต่ปี 61 ก็เก็บไว้กินเอง ด้วยความที่ปลาหายาก ปลาร้าจากปลาน้ำโขงก็ลดน้อยลง เพื่อนบ้านหลายคนบ้างก็มาขอซื้อ บ้างก็มาขอแบ่ง แต่คนหมักปลาร้ายังแทบไม่ได้กินจึงต้องปฏิเสธไป
ถามว่าทำไมไม่ซื้อปลาจากตลาดมาประกอบอาหารหรือหมักปลาร้าแทน ต่างได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันคือ “มันบ่แซ่บ”
“รสชาติต่างกันเยอะ เวลาเราเอามาต้มมาลาบ ปลาซีพีนี่เหมือนกับว่ามันจืด ๆ แต่ปลาน้ำโขงนี่ เวลาเอามาต้มกินอร่อยมันแซ่บมันนัว เราไม่จำเป็นต้องใส่ผงชูรสเยอะมันก็อร่อย”
เมื่อปลาในตลาดไม่สามารถทดแทนรสชาติที่คุ้นเคย ชาวริมโขงหลายคนยังก็ยังคงมุ่งหน้าออกหาปลา แม้รู้ดีว่าโขงบ้านเรามันบ่คือเก่าอีกต่อไป แต่สิ่งที่ยังทำให้ชาวประมงริมโขงยังไม่ย่อท้อต่อการหาปลา นั่นคือวิถีชีวิตและความหวัง ชาวริมโขงยังคงหวังให้บ้านน้ำโขงสายใหญ่นี้กลับมาเป็นดังเดิม
นอกจากปลาที่เป็นแหล่งโปรตีนหลัก ๆ แล้ว ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารให้กับชาวริมโขงอีก อย่างกุ้ง หอย แมลง นก เป็ด ฯลฯ อีกเมนูยอดนิยมที่ชาวบ้านริมโขงนิยมทานกัน คือ แจ่วจินาย และอ่อมจินาย ซึ่งเป็นแมลงที่มักจะมาวางไข่ช่วงน้ำลด เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เมื่อมาวางไข่เสร็จก็จะอาศัยอยู่ตามสันดอน ชาวบ้านที่ไม่ได้ลงหาปลามักจะออกหาแมลงเอากลับไปปรุงอาหารที่บ้าน
อีกสิ่งหนึ่งคือ ผักตามขอบบุ่ง ที่ปลูกไว้ตามริมโขงเพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือกินเป็นกับแกล้มปลา ล้วนหาได้ง่ายตามแนวตลิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ว่านน้ำ หรือผักสวนครัวอย่าง ผักกาด ทั้งยังมีลูกหว้าไว้รับประทานเป็นของหวานหลังอาหาร
กล่าวได้ว่า แม่น้ำโขงอุดมไปด้วยอาหารคาวหวานหลายอย่างด้วยกัน แต่ด้วยช่วงหลายปีให้หลังมานี้ชาวบ้านเองก็ได้รับผลกระทบทางความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้เมนูหลายอย่างก็เริ่มหายไป
จากแสนสู่หมื่น จากหมื่นสู่พัน
ลวงจับปลา มรดกที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวที่มีพรานปลา ในอดีต ลวงจับปลาลวงหนึ่ง มีมูลค่าถึง 70,000 บาท หากลวงไหนสามารถจับปลาได้เยอะ อาจมีมูลค่าแตะหลักแสน และสามารถทำเงินได้เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท มองกลับมาที่ปัจจุบัน เมื่อปลาไม่มีลวงเหล่านี้ก็ราคาตก เหลือเพียง 5,000 – 10,000 บาท
“เมื่อก่อนรายได้แตะปีละแสนเลย แต่ตอนนี้เป็นแสนลำบากแทนแล้ว เพราะว่าหาปลาไม่ได้”
การหาปลากลายเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง เครื่องเรือจำเป็นต้องใช้น้ำมัน แหก็ราคาสูงถึง 4,000 บาท แต่ออกเรือไปแล้วกลับหาปลาไม่ได้ หรือได้น้อยจนไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่เสียไป พรานปลาหลายคนหันไปทำสวนมากกว่าจะมาจับปลา บางคนจำต้องเดินทางเข้าเมืองเพื่อหางาน เพราะรายได้จากการจับปลาไม่สามารถเลี้ยงปากท้องได้อีกต่อไป
เพราะไม่สามารถตัดใจทิ้งไม้พายได้จึงจำเป็นต้องปรับตัว กลุ่มประมงพื้นบ้านเชียงคาน จ.เลย เป็นการรวมกลุ่มกันของชาวประมงริมโขงที่นำวิถีชีวิตไปต่อยอดกับการท่องเที่ยว เริ่มจากรวมตัวกันในนามกลุ่มรักษ์เชียงคาน ทำงานวิจัยไทบ้านเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวประมง หลังน้ำขึ้นลงผิดปกติก็จับปลาไม่ค่อยได้ เงินจากการขายปลาเดือนหนึ่งหลายหมื่นเหลือเพียงหลักพัน
กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเชียงคานจึงใช้นิเวศน์วัฒนธรรมริมโขงมาทำเรื่องท่องเที่ยว พานั่งเรือชมทิวทัศน์ ดูการจับปลา กินอาหารที่ทำจากปลาแม่น้ำโขง แม้รายได้จากตรงนี้จะไม่สามารถทดแทนรายได้จากการหาปลาสมัยก่อน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวประมงหากินจากแม่น้ำโขงได้ในวันที่ปลาหายไป
ความพยายามของคนริมฝั่งโขง
“ผลกระทบก็เกิดแต่กับเรา แล้วก็ไม่มีใครมาซัพพอร์ตเราเลยว่าต้องดูแลผู้ได้รับผลกระทบไหม เราไม่ต้องการหรอกการเยียวยา แต่เราแค่ต้องการรู้ว่าจะทำยังไงให้นิเวศมันกลับมาใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราอยากได้”
การฟื้นตัวของระบบนิเวศที่เคยอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำโขง ดูเหมือนจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก แต่เมื่อสถานที่ที่เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของชาวริมฝั่งโขงไม่เหมือนเดิม ถึงแม้จะไม่มีกำลังมากพอที่จะซ่อมแซมให้ระบบนิเวศทั้งหมดกลับมาดีได้ ชาวบ้านริมฝั่งโขงก็ยังพยายามรักษาและพื้นฟูสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด
เพราะความผูกพันทำให้ยังมีความหวัง
“หลวงพ่อไม่ใช่นักวิชาการ เพียงแต่ว่าเราเห็นความสำคัญว่าเราจะต้องอนุรักษ์มันไว้”
วัดหายโศก ต.บ้านม่วง อ.สังคม สถานที่สำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ร่วมกับกลุ่มชมรมคนรักษ์แม่น้ำโขง พระมหาพิทักษ์ชัย ผู้เป็นทั้งเจ้าอาวาสวัดหายโศก และประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขงเล่าให้ฟังว่า เมื่อมองเห็นว่าที่นี่เป็นที่อนุรักษ์จึงลองนำมาปลาอนุบาล พอปลาที่ดูแลหลุดออกไป ปลากลับเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อปลารู้ว่าที่นี่มีอาหารจึงกลับมา แล้วก็พาปลาจากจุดอื่นตามมาด้วย
ไม่เพียงแค่เป็นจุดให้อาหาร แต่ที่วัดหายโศกยังสร้างที่อยู่เพื่อให้ปลาได้อยู่อาศัยและอนุบาลตัวของมันเองจนกว่าจะพร้อมออกไปใช้ชีวิตในแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ และเมื่อมีทั้งอาหารและแหล่งพักพิง อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ วัดเป็นเขตอภัยทาน ดังนั้น เหล่าปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณของวัดก็จะได้รับการคุ้มครองแบบอัตโนมัติ
“มันก็เหมือนคน จะไปไหนก็ไป ตรงไหนที่มันคิดว่าดีมันก็ไป เหมือนกับที่มันมารวมกันอยู่ตรงนี้ เพราะคิดว่าที่ตรงนี้ดี”
แต่ไม่ได้หมายความว่าปลาที่นี่จะจับกินไม่ได้ การเลี้ยงปลาในวัดหายโศกไม่มีอุปกรณ์มากั้นปลา แต่จะปล่อยให้ปลาอยู่ตามธรรมชาติ พระอาจารย์ให้ข้อมูลว่า เป็นวิธีอนุรักษ์พันธุ์ปลาเพื่อให้ชาวบ้านทั้งสองฝั่งโขงได้เลี้ยงชีพด้วยการทำประมงเช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีโครงการ “ปลูกไคร้ให้อาหารปลา” โดยจะนำต้นไคร้ที่เติบโตแล้วมาลงไว้ให้ปลาบริเวณนั้นใช้พักพิงได้เหมือนเคย
ความร่วมมือในการอนุรักษ์พันธุ์ปลามานอกจากจะมีชาวบ้านช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ยังมีกรมประมงที่ช่วยในการเอาปลามาปล่อยให้วัดหายโศก โดยที่วัดจะมีเครื่องบ่มแม่พันธุ์ปลา บางครั้งกรมประมงก็จะให้แม่พันธุ์เพื่อรีดเอาไข่ไปบ่ม บางครั้งก็ให้เป็นตัวอ่อนมา แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันปล่อยปลาลงน้ำโขงด้วย ถึงแม้จะไม่ได้กลับมามีมากเท่าเมื่อก่อนแต่ก็สามารถพอจุนเจือปากท้อง และสามารถคืนวิถีชีวิตเดิมให้กับชาวริมโขงในแถบนี้ได้
ทุกสิ่งที่ชาวบ้านทำไปเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำโขงให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเล็ก ๆ ไปจนถึงความพยายามที่ต้องใช้พลังจากคนหลายภาคส่วน ก็คือการคว้าทุกโอกาสที่จะสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศเอาไว้ เพื่อให้ปลาในแม่น้ำโขงยังคงสามารถว่ายเวียนในแม่น้ำโขงได้เหมือนในอดีต
“ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ วันนี้ แล้วต่อไปใครล่ะใครจะเป็นคนมาทำ”
ความพยายามของชาวบ้านริมฝั่งโขงที่เริ่มแก้ปัญหากันเองก็ผ่านมานับ 10 ปี ความอัดอั้นตันใจ และเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาที่พบ อาจดังก้องอยู่แค่ในกลุ่มของคนริมฝั่งโขงด้วยกันเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่เคยมาสัมผัสแม่น้ำโขงเลยสักครั้งก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในตอนนี้มีต้นเหตุมาจากไหน ส่งผลกระทบต่ออะไรบ้าง และเป็นวงกว้างมากแค่ไหน ต้องการการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างไร แม่น้ำที่เป็นเหมือนชีพจรของคนริมโขง จึงจะสามารถกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ท้ายที่สุดนี้ การลดลงของพันธุ์ปลาที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของแม่น้ำโขงจำเป็นต้องได้รับความสนใจจากประชาชนจากพื้นที่อื่น รวมไปถึงกลุ่มที่สำคัญอย่างหน่วยงานของภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะรับฟังเสียงของคนริมโขงมากขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้แม่น้ำโขงได้กลับมาเป็นชีพจรที่อุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงคนริมโขงได้ดังเดิม
โดย เกศราภรณ์ สุวรรณ, พัทธมน สมหมาย, ณัฐกมล แพงตาแก้ว