อยู่ดีมีแฮง : ห้องเรียนลำธาร กับครูไทบ้านโฮงเฮียนฮักน้ำของ

อยู่ดีมีแฮง : ห้องเรียนลำธาร กับครูไทบ้านโฮงเฮียนฮักน้ำของ

เส้นก๋วยเตี๋ยวในตะแกรงผลุบ ๆ โผล่ ๆ จากปากหม้อสแตนเลสครั้งแล้วครั้งเล่า บางรอบยังไม่สุกดีนักแต่แม่ครัวก็จำใจปล่อยมันลงในถ้วยเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าผู้หิวโหย ซึ่งตอนนี้บางคนเปลี่ยนบทบาทจากลูกค้าเป็นคนหั่นผักไปแล้ว และหลายคนไม่รู้จะทำอะไรได้แต่เดินไปเดินมาให้วุ่นวายเล่นเสียอย่างนั้น ความอลหม่านมักเกิดขึ้นในร้านแห่งนี้เป็นประจำ 

ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็ก ๆ ของบ้านบะไห ต.ห้วยยาง  อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี  ยังคงเป็นจุดนัดพบของเด็ก 2 กลุ่มจาก 2 หมู่บ้าน คือบ้านบะไหและบ้านตามุย  พวกเขารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ “แม่นุ้ย” ชวนไปเที่ยวป่า  “ความสนุก” คือสิ่งที่เด็กๆคาดหวัง  แต่สำหรับแม่นุ้ยแล้วมีบางอย่างที่เธอคาดหวังมากกว่านั้น

วันนี้จุดหมายปลายทางของพวกเขาคือลำธารเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห้วยเส” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้มากนัก  และหลังมื้อเช้ารถกระบะทั้ง 2 คันก็ถูกอัดแน่นไปด้วยข้าวของและเด็กน้อยเกือบ 20 ชีวิต เมื่อล้อเริ่มหมุน ความสงบก็กลับมาสู่ร้านก๋วยเตี๋ยวอีกครั้ง

กิจกรรมลักษณะนี้ของโฮงเฮียนฮักน้ำของ ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว  มันคือหนึ่งในวิชาที่ว่าด้วยการเอาตัวรอดสำหรับเด็ก ๆ ในชุมชน หากต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายในอนาคตที่ “คำปิ่น  อักษร” หรือ “แม่นุ้ย”ของเด็ก ๆ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่ามันอาจเกิดขึ้นจริง

“การเรียนรู้ของที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะไม่ได้กำหนดล่วงหน้ามาก่อนจะต้องเรียนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เจอ เรียนรู้จากการเล่น เรียนรู้จากการทำงาน ทำอาหารช่วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นเบ้าหลอมให้พวกเขารู้จักรักและหวงแหนธรรมชาติ รวมทั้งรู้จักความสามัคคีเกื้อกูลกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าการเดินทางมาที่นี่ไม่ได้มีเฉพาะเด็กวัยเดียวกัน แต่จะมีทั้งเด็กเล็ก เด็กโต เด็กวัยรุ่นที่เคยเป็นกลุ่มเป้าหมายจากรุ่นแรก ๆ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ รวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่บางคนที่มาช่วยดูแลเรื่องอาหารการกิน นี่เป็นกลวิธีหนึ่งให้พวกเขาได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน  มันจะได้อะไรมากกว่าการเรียนรู้ธรรมชาติอีก”


คำบอกเล่าจากแม่นุ้ย
คำปิ่น อักษร / ผู้อำนวยการโฮงเฮียนฮักน้ำของ

รถกระบะ 2 คันเลี้ยวซ้ายลงจากถนนเส้นหลักเข้าไปตามทางดินเล็ก ๆ ผ่านลานหินขรุขระสลับกับสวนยางของชาวบ้านประมาณ 1 กิโลเมตรก็สุดทางเสียแล้ว เด็ก ๆ กระโจนลงจากหลังรถเหมือนฝูงกบ พวกเขารู้หน้าที่ดี แต่ละคนจะมีข้าวของในมือคนละอย่างสองอย่างแล้วเดินแข่งกันหายเข้าไปในป่า ทิ้งแม่เฒ่าสองคนพร้อมผู้เขียนไว้เบื้องหลังซึ่งพวกเราก็รู้ตัวว่าไม่อาจตามทันแน่ เพราะสมรรถนะแข้งขารุ่นโบราณนั้นไม่อาจสู้กับแข้งรุ่นใหม่ ๆ ได้ แต่โชคดีที่ทุกคนรู้ว่าจุดหมายอยู่ตรงไหน

เราเดินผ่านป่าโปร่ง ๆ มาแค่อึดใจเดียวก็ถึงลานหินที่ถูกปกคลุมไปด้วยแมกไม้ร่มรื่น มีน้ำไหลเอื่อย ๆ ซิกแซกไปตามร่องหินเล็ก ๆ มีน้ำใส ๆ ผุดขึ้นมาจากใต้ดินเหมือนท่อประปาแตกแล้วไหลลงสู่ที่ต่ำ ชาวบ้านบอกว่าห้ามเอาเท้าแช่ในบ่อนี้ เพราะนี่คือตาน้ำธรรมชาติที่จะเอาไว้ดื่มและทำกับข้าว แล้วเสียงเจี๊ยวจ๊าวก็ดังมาจากปลายน้ำที่เป็นแอ่งอยู่เบื้องล่าง ตอนนี้ในแอ่งเต็มไปด้วยเด็กน้อยที่กำลังดำผุดดำว่ายอย่างม่วนซื่นโฮแซว (สนุกสนานมาก) นั่นล่ะคือสาเหตุให้พวกเขาเดินจ้ำอ้าวแข่งกันมา

พวกผู้ใหญ่ที่ตามมาทีหลังไม่ได้ดุเด็ก แต่ปล่อยให้พวกเขาเล่นไปตามประสา พี่เลี้ยงอาจจะดูแลเป็นพิเศษเฉพาะเจ้ารุ่นจิ๋วที่ยังขาดประสบการณ์ ระดับน้ำแค่หัวเข่าก็อาจเป็นอันตรายสำหรับวัยนี้ได้ ส่วนพวกผู้ใหญ่กับเด็กโตก็ช่วยกันนำผักและไก่สดมาล้างทำความสะอาดที่ลำธาร และเริ่มก่อไฟเพื่อทำอาหารสำหรับเที่ยงนี้ ทุกกิจกรรมดำเนินไปโดยไม่ได้เร่งรีบอะไร 

เสียงของ ภูธร พันธรังษี อาสาสมัครครูไทบ้าน (ผู้เขียนแต่งตั้งเอง) ร้องเรียกเด็ก ๆ มาดูอะไรบางอย่างบนพื้น เมื่อเด็กมารวมตัวกันเยอะแล้วเขาก็ถามถึงเนินดินเล็ก ๆ ขนาดประมาณกระทะคว่ำที่เห็นนี้ว่าคืออะไร หลายคนตอบผิดคิดว่าเป็นรังมดรังปลวกต่าง ๆ นานาตามจินตนาการ เขาจึงเฉลยว่ามันเป็นเนินที่คนขุดขึ้นเพื่อปักเบ็ดดักกบตรงนี้ เขาต้องการให้เนินดินนี้เป็นเกาะกลางน้ำเพื่อไม่ให้มดมากินไส้เดือนที่ใช้ทำเหยื่อได้ จากนั้นเขาก็เริ่มอธิบายถึงต้นไม้รอบ ๆ ตัวซึ่งมีทั้งชนิดที่เป็นผัก เป็นสมุนไพร หรือเป็นไม้สำหรับงานก่อสร้าง สักพัก ประสิทธิ์  จำปาขาว ครูไทบ้านอีกคนก็หอบกิ่งไม้มาวางไว้ที่ลานหินกองใหญ่ เขาถามเด็ก ๆ เช่นเดียวกันว่ารู้จักพืชเหล่านี้ไหม หลายคนรู้หลายคนก็ไม่รู้ เขาจึงให้คนไม่รู้ลองชิมใบไม้เหล่านั้นดู ผักป่าส่วนใหญ่มีรสฝาดหรือไม่ก็ขม  เด็ก ๆ ทำหน้าเหยเกเมื่อลองชิมผักบางชนิด แต่มันจะรสชาติดีขึ้นเมื่อกินแกล้มกับอาหารที่เป็นของคู่กัน และเที่ยงนี้พวกเขาจะได้ลองชิมดูอีกครั้ง

ประสิทธิ์ จำปาขาว และ ภูธร พันธรังษี  คือนักเรียนรุ่นแรกของโฮงเฮียนฮักน้ำของ พวกเขาคือคนในชุมชนที่เติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของแม่น้ำโขง มาถึงวันนี้พวกเขารู้ดีว่าแม่น้ำโขงไม่เหมือนเดิมแล้ว คนในชุมชนไม่อาจฝากชีวิตไว้กับแม่น้ำได้  ทักษะการเอาตัวรอดรูปแบบต่าง ๆ น่าจะเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตของน้อง ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาตั้งความหวังก็คือ เมื่อเด็กในชุมชนได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแล้วพวกเขาจะช่วยกันปกป้องมันไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไปเรื่อย ๆ

เมนูของเที่ยงนี้คือแกงไก่ใส่ฟักกับลาบหมู อาหารง่าย ๆ ที่ทรงพลัง ความอร่อยน่าจะเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า เพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการเล่นและบรรยากาศการกินข้าวป่าร่วมกันแบบนี้มันทำให้เจริญอาหาร ผักที่ลองชิมแล้วคายทิ้งก่อนหน้านี้  กลายเป็นผักเครื่องเคียงแสนอร่อยเมื่อกินกับลาบหมู และตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าหากทำเมนูประเภทนี้จะไปเก็บผักได้จากตรงไหน 

หลังมื้อเที่ยงแม่นุ้ยไม่รอให้อาหารย่อยจนหมด ได้เรียกเด็กมารวมกันแล้วก็ประกาศว่าเราจะเดินทางไปอีกจุด  ที่นั่นจะเป็นสถานที่ฝึกดำน้ำยิงปลาเพราะมีแอ่งน้ำที่ลึกพอ เมื่อเก็บกวาดลานหินให้อยู่ในสภาพเดิมแล้วทุกคนก็เริ่มออกเดินทางด้วยเท้าอีกครั้ง  พวกเราเดินลัดเลาะมาตามริมลำธารผ่านแมกไม้หลายชนิดแต่ต้องหยุดเป็นระยะเพื่อฟังบรรยายสรุปจากรุ่นพี่ว่าพืชที่เดินผ่านนี้คือต้นอะไร เอาไว้ใช้ประโยชน์ในลักษณะไหน และไม่ลืมบอกถึงวิธีว่าจะอนุรักษ์มันอย่างไร แม้จะไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะจำได้หมดแต่ข้อมูลที่ได้ยินจะยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของพวกเขาไปอีกนาน  แล้วเกิดการซึมซับโดยไม่รู้ตัว  จากนั้นจะถูกกลั่นออกมาเป็นความรู้เมื่อต้องใช้งานจริง เหมือนกับที่ครูไทบ้านเป็นอยู่ในตอนนี้

ใช้เวลาประมาณเกือบชั่วโมงก็มาถึงจุดหมายปลายทาง บริเวณนี้เป็นแอ่งน้ำกว้างประมาณ 20 เมตรซึ่งน้ำจากลำธารไหลลงมารวมกันตรงนี้  แม่นุ้ยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เด็ก ๆ ไปเก็บก้อนหินมาคนละ 1 ก้อน เลือกเอาที่ตัวเองคิดว่าสวยที่สุด เมื่อได้มาแล้วก็ให้ระบายสีอะคริลิกลงไปแล้วแต่งแต้มลวดลายตามจินตนาการให้สวยงาม โดยได้ครูไทบ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะประจำหมู่บ้านมาช่วยสอน 

สำหรับกิจกรรมนี้แม่นุ้ยบอกว่าเป็นการฝึกต่อยอดพัฒนาสินค้าที่ระลึก เพราะในชุมชนวาดฝันกันเอาไว้ว่าอยากทำตลาดชุมชนแบบกิ๊บเก๋ เพราะบ้านตามุยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอาคันตุกะมาเยือนปีละไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลออกพรรษาที่จะมีปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาคในน่านน้ำของหมู่บ้านทุกปี หากเด็ก ๆ มีหัวคิดทางการตลาดพวกเขาจะสามารถหยิบจับทรัพยากรใกล้ตัวมาเพิ่มคุณค่าแล้วขายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวได้ ถือเป็นหนึ่งในทักษะการเอาตัวรอดอีกเหมือนกัน

งานแสดงศิลปะจากวัสดุธรรมชาติผ่านพ้นไป ตอนนี้เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ลงไปดำผุดดำว่ายอยู่ในอ่างแล้ว  เด็กโตส่วนใหญ่สามารถดำน้ำได้นานแล้ว ส่วนรุ่นที่เล็กลงมาก็กำลังฝึกกลั้นหายใจให้นานขึ้น หน้ากากกันน้ำมีอยู่ไม่กี่ชุดฉะนั้นพวกเขาต้องผลัดกันใส่แล้วลองดำลงไปเพื่อมองหาตัวปลาในน้ำ นี่เป็นอีกหนึ่งวิชาของพวกเขา ลูกแม่น้ำโขงต้องรู้วิธีดำน้ำยิงปลาด้วยหน้าไม้ มันคือวิธีหาปลาแบบดั้งเดิมแต่ต้องอาศัยทักษะขั้นสูงพอสมควร หากรู้วิธีและชำนาญขึ้นแล้วเชื่อว่าไม่มีคำว่าอดตายอย่างแน่นอน

แม้หลักสูตรในลักษณะนี้แม่นุ้ยจะมองว่ามีประโยชน์และได้ใช้ในชีวิตจริงมากกว่า แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธหลักสูตรสายสามัญที่มีความสำคัญในอีกรูปแบบเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองอย่างจะต้องให้น้ำหนักอย่างเหมาะสมตามช่วงเวลา อย่างเช่นปัจจุบันที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน อาจเป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กนั่งฟังครูออนไลน์สอนวิชาวิทย์-คณิตอย่างมีสมาธิ  แต่ถ้าพาเด็กเข้าป่า พวกเขาจะมีความกระตือรือร้นมากกว่า จากนั้นก็ค่อยสอดแทรกวิชาการเข้าไปทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือภาษาอังกฤษก็สามารถสอดแทรกได้หมดอยู่ที่จังหวะว่าจะไปเจออะไรบ้าง

“การเรียนของที่นี่ไม่ได้เน้นเรื่อง IQ (ความฉลาดทางสติปัญญา) แต่จะเน้นเรื่อง EF (ทักษะการคิด) เพื่อน้ำไปสู่ EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) โดยการฝึกให้พวกเขารู้จักแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ด้วยไหวพริบและสติปัญญา  จนสุดท้ายจะทำให้รู้จักการเกื้อกูล แบ่งปัน ให้อภัยหรือด้านอื่น ๆ ที่จะทำให้การใช้ชีวิตในสังคมนั้นราบรื่น  ซึ่งถึงแม้พวกเขาจะเป็นแค่เด็กชายขอบ แต่เราก็เห็นพัฒนาการบางอย่างโดยเฉพาะการได้ยินจากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองว่าลูกเขาที่มาร่วมกิจกรรมกับเรานั้นเมื่อกลับไปแล้วรู้ความมากขึ้น ช่วยเหลืองานพ่อแม่มากขึ้น โดยเราไม่ได้สอนเขาแบบบอก  แต่สอนเขาด้วยการทำให้ดู”

แม่นุ้ยกล่าว

แม่นุ้ย เปรย ๆ ว่าในอนาคตรูปแบบการศึกษาจะเปลี่ยนไป นี่จึงเป็นการเตรียมพร้อมสู่พื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะเลือกแนวทางนี้ให้ลูกก็ได้ ส่วนคนในชุมชนเองก็จะถูกปูพื้นฐานให้เป็นพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญา ซึ่งอันที่จริงพวกเขาก็สอนลูกหลานอยู่แล้วแต่คราวนี้จะทำให้มันเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น หรือบางคนก็มีแนวคิดอยากต่อยอดเรื่องการสร้างรายได้ในอนาคต หรือแม้แต่ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรเองก็อาจเกิดรูปแบบการอนุรักษ์ป่าทั้งในมิติของชาวบ้าน มิติของภาครัฐและอาจนำไปสู่รูปแบบการอนุรักษ์ใหม่ ๆ ในระดับนโยบายได้ 

กับสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ มีผู้คนมากมายที่ต้องอดอยากหิวโหย โดยเฉพาะกับคนที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาต่ำจะมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสูง แต่สำหรับคนที่มีทักษะในการแก้ไขปัญหาสูง ชีวิตจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าเสมอ การถ่ายทอดทักษะด้านการหาอยู่หากินให้กับคนรุ่นใหม่นั้นตรงไปตรงมาดีในแง่การเอาชีวิตรอด แต่มันก็เป็นเรื่องท้าทายที่ภารกิจของพวกเขาต้องเผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้งสถานการณ์โรคระบาดที่จะทำอะไรก็ไม่สะดวก ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะทำอะไรก็ไม่สะดวกเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งการรุกคืบของเทคโนโลยีที่อาจทำให้แนวคิดของวัยรุ่นไขว้เขวได้  แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นการลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชน  แม้จะเล็ก แต่ก็มีพลัง.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ