24 มีนาคม 65 เวลา 10.00 น. เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ เครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายชุมชนรถไฟจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนฯ ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงนายกรัฐมนตรี ชี้กฎหมายฉบับนี้กระทบและริดรอนสิทธิประชาชน ซึ่งกระทรวง พม. กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 25 มีนาคม นี้
บุญส่ง หมอยา ที่ปรึกษาเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ขอนแก่น บอกว่า “เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ก็เป็นหนึ่งที่เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร พอเรารับรู้รับทราบเรื่องของ พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้วก็รู้สึกกังวลใจว่าหาก พ.ร.บ. นี้ไปข้างหน้าได้หรือนำออกมาใช้ได้ การทำงานของภาคประชาชนจะลำบากมาก แม้กระทั่งชุมนุมไม่เกิน 3 คน หรือจับกลุ่มต่าง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ก็เลยทำให้เราต้องมาในวันนี้ เพื่อที่จะยื่นหนังสือนี้ให้เรื่องไปถึงนายกรัฐมนตรี โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอให้ พ.ร.บ. นี้ตกไปเลย ไม่ให้เอาขึ้นมาเลยเพราะเราเห็นแล้วว่าถ้ายังมี พ.ร.บ. นี้หรือมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนมันก็ไม่สามารถที่จะทำให้การทำงานของประชาชนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์มีสมาชิกทั้งหมด 10 ชุมชน ที่มีสัญญาเช่ากับการรถไฟ ตอนนี้ประเด็นของเราก็คือเรื่อง การที่จะจัดการกลับกลุ่มที่ไม่จ่ายค่าเช่าเพราะเราไม่สามารถไปฟ้องร้องได้ ซึ่งทางเครือข่ายเราก็อยากจะจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อให้ถูกกฎหมาย เพราะหากไม่จ่ายค่าเช่าการรถไฟก็สามารถที่จะบอกเลิกสัญญาได้ และหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมา ซึ่งเราเตรียมตัวที่จะจัดตั้งสหกรณ์ก็อาจจะเป็นปัญหา เนื่องจากเราจะต้องมีการรวมกลุ่มรวมตัวกัน เพราะถ้าเราตั้งสหกรณ์ไม่ได้ปัญหาที่เรากำลังดำเนินการอยู่ก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ นี่คือหนึ่งในข้อกังวลที่เราต้องออกมาร่วมกับพี่น้องทั่วประเทศในครั้งนี้”
และหนึ่งในตัวแทนชุมชนที่มาร่วมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ นกยูง ทัศคร ชาวชุมชนเทพารักษ์ 5 ได้บอกถึงเจตนาของจนเองว่า “มีความกังวลใจเรื่องการถูกไล่รื้อพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณทางรถไฟ ก็อยากมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงก็เลยเป็นตัวแทนครอบครัวและชุมชนที่มายื่นหนังสือร่วมกับเครือข่าย เรากังวลเรื่องที่อยู่อาศัยเพราะเคยถูกรื้อมาแล้วครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 2 แต่ที่ทางก็ยังไม่มั่นคงเราก็อยากได้ที่ที่มั่นคงเพื่อประกอบอาชีพ ตอนนี้ครอบครัวเรามีกันอยู่ 7 คน มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ก็เลยมีความกังวลเรื่องอยากได้ที่อยู่ที่มั่นคงเพื่อที่ผู้สูงอายุและเด็กจะได้มีที่อยู่ที่มั่นคงค่ะ”
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 65 เวลา 09.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานจัดเวทีประชุมเชิงวิชาการ “พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน ผลกระทบ สิทธิมนุษยชน และความท้าทายต่อเสรีภาพคนอีสาน” ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถกข้อกังวลใจและตั้งคำถามถึง “พ.ร.บ. ‘การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…..”โดยมีกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร เครือข่ายประชาชนเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กลุ่มทะลุฟ้าขอนแก่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และเครือข่ายนักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึง “พ.ร.บ. ‘การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…..” เรื่องความกังวลใจและชี้ถึงข้อสังเกตที่จะนำไปสู่การควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน