การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินและอื่นๆ ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา (มี.ค. 2564) ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ส่งผลการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์มีความคืบหน้า โดยในเดือนนี้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในระดับพื้นที่ 9 เวที เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนในกลไกของพีมูฟ จำนวน 25 จังหวัด
วันนี้ (26 มี.ค. 64) เวลาประมาณ 09.00 น. การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาสมาชิกพีมูฟในพื้นที่ จ.ตรัง จ.สตูล และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีข้อพิพาทกับกรมอุทยานฯ โดยมี นายพิชิต สมบัติมาก ผู้ช่วยปลัด ทส.เป็นประธาน ที่มูลนิธิอันดามัน จ.ตรัง มีผู้เข้าร่วม ได้แก่ นายไพบูลย์ โอมาก รอง ผวจ.ตรัง, นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้, ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง จ.สตูล และจ.ประจวบคีรีขันธ์, ปลัดอำเภอรัษฎา จ.ตรัง, รองนายก อบต.นาชุมเห็ด, ปลัด อบต.หนองปรือ จ.ตรัง, นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน, นายสาทร วงศ์หนองเตย ผู้ช่วย ส.ส. จ.ตรัง และสมาชิกพีมูฟในพื้นที่ จ.ตรัง และจ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมประมาณ 60 คน
ผลการประชุมมีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย
ในระดับพื้นที่ ได้แก่
1.กรณีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในระหว่างรออนุบัญญัติ (พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ให้ชุมชนประสานหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์จัดทำโครงการร่วมกันภายใต้ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกรณี ๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ
2.การตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแก้ไขที่ดินกรณีบ้านหลังมุข จ.ประจวบคีรีขันธ์ เร่งรัด ทสจ. ประจวบฯ เสนอ ผวจ. แต่งตั้งคณะทำงานในเดือนเม.ย. 2564
3.การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ขั้นตอนตามมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 ยังไม่ทั่วถึง ชัดเจน และเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงกัน กรมอุทยานฯ สั่งการ/มอบหมายเจ้าหน้าที่เร่งรัดประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในระดับพื้นที่
การแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาราษฎรที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานฯ และมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เนื่องจากตกหล่น/หรือแปลงที่ถูกตรวจยึดจับกุมดำเนินคดี กรณีตัดโค่นไม้ยางพาราในพื้นที่/กรณีถูกจับกุมดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่า กรมอุทยานฯ พิจารณาศึกษาแนวทางในการปรับปรุงคุณสมบัติราษฎรตามมติ ค.ร.ม. 26 พ.ย. 2561
2.การช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี เนื่องจากเข้าข่ายคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จะนำเสนอระดับนโยบายเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาของคณะทำงานคดีความไปสู่ระดับนโยบาย และเร่งรัดแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัฐ
3.การจัดทำกฎหมายลำดับรอง บัญญัติ (พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
4.การตัดไม้ยางพารา นำเสนอระดับนโยบายเพื่อนำเสนอ ครม. ให้สามารถตัดไม้ยางพาราก่อนอนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีผลบังคับใช้
5.การขับเคลื่อนโฉนดชุมชน เร่งรัดการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินฯ
6.ปัญหาเอกสารสิทธิ์ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ทับซ้อนที่ดินชาวเลเกาะหลีเป๊ะ) กรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบพื้นที่แล้วเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ และได้ส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว กระทรวงทรัพยากรฯ ประสานกระทรวงมหาดไทยให้กรมที่ดินเร่งรัดการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
หลังจากที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน ได้มีการลงนามในข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้เป็นหลักฐานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับตัวแทนพีมูฟ มีการถ่ายภาพร่วมกัน และเสร็จสิ้นการประชุมในเวลาประมาณ 16.00 น.