บูรณะนิเวศแนะตั้งกก. ตรวจสอบความเสียหายน้ำมันรั่ว ชวนปชช.ร่วมเก็บหลักฐานผลกระทบห่วงโซ่อาหาร-สวล.

บูรณะนิเวศแนะตั้งกก. ตรวจสอบความเสียหายน้ำมันรั่ว ชวนปชช.ร่วมเก็บหลักฐานผลกระทบห่วงโซ่อาหาร-สวล.

จากเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล ประชาชน-พลเมืองทำอะไรได้บ้าง? ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศเรียกร้องรัฐ-บริษัทไม่ปิดกั้นข้อมูลกับสาธารณะ ยกเหตุการณ์น้ำมันรั่ว’56 เป็นบทเรียนต้องแก้ปัญหาตรงจุด เร่งตั้งคณะกรรมการกลางจากหลายภาคส่วนร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง-ชดเชยความเสียหายชาวประมง ท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ชี้น้ำมันรั่ว-สารเคมีที่ใช้ระงับเหตุอาจตกค้างในห่วงโซ่อาหารทางทะเล-สวล. สามารถพัฒนาเป็นสารก่อมะเร็ง

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวระหว่างการเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Citizen Science กับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ซึ่งถ่ายทอดสดผ่าน เพจสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพจนักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกรณีเหตุน้ำมันดิบรั่วว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำมันรั่ว พบว่าเรายังเจอปัญหาการปกปิดข้อมูล จากการส่งทีมงานเข้าไปในพื้นที่ก็ตั้งเจอกับการกำกับและควบคุมการรายงานข่าว ภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้าถูกปล่อยจำนวนไม่มาก หรือภาพถ่ายและข้อมูลที่ให้กับสื่อมวลชนก็อยู่ในระดับที่น้อยมาก หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐก็ไม่ค่อยได้รับข้อมูลจากการทางบริษัท นี่คือเรื่องร้ายของการแก้ไขปัญหา แต่เหนืออื่นใดคือความเสียหายจะลุกลามและกว้างขวางมาก จึงไม่อยากให้รัฐและบริษัททำแบบนี้

สรุปแล้วปริมาณน้ำมันที่รั่วมีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งการรับรู้ข้อเท็จจริงตรงนี้ไม่ได้ยาก เพราะมีเอกสารบนเรือที่ชัดเจน ทุก ๆ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศต้องมีการขออนุญาต ซึ่งต้องมีการแจ้งชนิดของสินค้าและปริมาณต่อหน่วยงานที่อนุมัติอนุญาต กรณีนี้คือหน่วยงานไหนระหว่างกรมธุรกิจพลัง หรือกรมเชื้อเพลิง หรือมีการแจ้งไปที่กรมศุลกากร 

เราอาจจะไม่รู้ได้ว่าน้ำมันรั่วไหลไปเท่าไหร่ แต่เรารู้ปริมาณนำเข้าอย่างแน่นอน ต่อมาเมื่อระงับเหตุการรั่วไหลได้ก็ต้องมีการตรวจเช็คโดยทันทีว่าปริมาณที่หลงเหลืออยู่มีเท่าไหร่ เมื่อหักออกไปก็จะได้จำนวนน้ำมันที่อยู่ในทะเล เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้การอมุมัติต้องตรวจสอบทันที และรายงานผลต่อสาธารณะว่าปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ในทะเลมีจำนวนเท่าไหร่

ตัวจำนวนปริมาณน้ำมันที่เหลือในทะเลจะสัมพันธ์กับจำนวนปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้คราบน้ำมันสลายตัวไม่เกาะตัวแล้วจมลงไปสู่ใต้ทะเล จากการติดตามศึกษาพบว่าสารเคมีมันสามารถพัฒนาไปสู่สารก่อมะเร็ง และสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมและนิเวศได้

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่ ๆ คือปะการังในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่คราบน้ำมันตกสลายลงไปจมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล ตัวปะการังจะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของแพลงก์ตอน และแพลงก์ตอนก็เป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของห่วงโซ่อาหารในทะเลทั้งหมด นั่นหมายความว่าจะเป็นผลกระทบที่ใหญ่”

การไม่เปิดข้อมูลว่าปริมาณน้ำมันรั่วเข้าไหร่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนนั่ง จำกัด (มหาชน) กับหน่วยงานรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง นอกจากนี้จากติดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบันมีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เรือบรรทุกน้ำมันจม การรั่วไหลจากอุบัติภัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 220 ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 5 ครั้ง แต่ว่าเหตุการณ์ที่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้างหรือถูกนำเสนอผ่านสื่อมีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

นางสาวเพ็ญโฉม ย้ำว่า เมื่ออ่าวไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เหตุการณ์ครั้งนี้จึงย้ำว่าอ่าวไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ของอุตสาหกรรมน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน โครงข่ายท่อส่งก๊าซน้ำมันเป็นโครงข่ายที่ใหญ่มาก และพัฒนามานานกว่า 30 ปี ท่อหลายเส้นเริ่มผุกร่อน เหตุการณ์นี้จึงน่านำไปสู่การตรวจสอบครั้งใหญ่ ซึ่งอาจมีคณะกรรมการหลายชุดเข้ามาร่วมตรวจสอบก็ได้

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการชุดที่จะดูผลกระทบและการเยียวยา ซึ่งคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคือชาวประมง กลุ่มผู้ประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมของทุกคน ต้องเร่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาและประเมินความเสียหายว่ามีมากน้อยแค่ไหน และความรับผิดชอบจะมาจากส่วนไหนบ้าง เพราะบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเชฟรอนกับปตท. ทุกบริษัทจะมีคำตอบตามมาตรฐานกฎหมายของไทยและมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ

ภาพ : สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง รวมตัวออกแถลงการณ์เรียกร้องตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย ชดเชยเยียวยา และป้องกันเหตุซ้ำรอย (วันที่ 28 ม.ค. 2565)

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวอีกว่า กรรมการที่จะมาตรวจสอบเรื่องนี้ไม่อยากให้ซ้ำรอยปี 2556 ที่เป็นการตั้งกันเองในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตเลียมทั้งหมด เป็นการตรวจสอบกันเองและบอกกันเอง จึงมันไม่ได้นำไปสู่การเยียวยา การชดเชยความเสียหายที่เป็นจริง หรือไม่ใช่คณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านสารเคมี มีตัวแทนอุตสาหกรรมปิโตเลียม ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนกลุ่มคนที่ได้รับความเสียหาย มีนักกฎหมายและนักวิชาการด้านอื่น ๆ ที่จะเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ร่วมประเมินความเสียหาย

“ครั้งนี้เราคิดว่ามันมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้นมา”

นายพิภพ พานิชภักดิ์ สื่อมวลชนอิสระ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีข้อมูลภาพใหญ่ ประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องประมงพื้นบ้านที่อยู่ในพื้นที่อ่าวไทยทั้งหมด สามารถร่วมกันจับตา และทางแอปพลิเคชัน C-Site ของไทยพีบีเอสได้ทำกิจกรรมเป็นฮับในการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว ดังนั้นการทำงานร่วมกันของพี่น้องประชาชนจึงไม่โดดเดี่ยว 

“สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือการเก็บภาพ รายงานข่าวแบบนักข่าวพลเมือง และมากกว่านั้นคือการริเริ่มตั้งโครงงานทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน เพราะสิ่งนี้กำลังจะตกค้างในห่วงโซ่อาหาร ประมงพื้นบ้านอาจทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น หรืออาจเป็นโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อวางห่วงโซ่อาหารของสัตว์และคนในพื้นที่ของเรามีอะไรบ้าง วาดภาพดังกล่าวออกมา และเก็บตัวอย่าง”

ขณะที่มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา ประชาชนก็ร่วมเก็บข้อมูล เพราะผลกระทบเรื่องนี้มันไม่ได้หยุดเมื่อการนำเสนอข่าวสิ้นสุด เรื่องจะต้องยาวและติดตามผลกระทบในระยะยาว 4-5 ปีที่จะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของอาหาร และเป็นมูลค่าที่บริษัทเซฟรอนหรือกระทั่งปตท. ต้องตอบประชาชน ตอบคนไทยที่กินปลา โครงงานนี้จึงต้องเกิดขึ้นและต้องทำให้เกิดเครือข่าย ถ่ายรูปอย่างเดียวก็สำคัญแต่มากกว่านั้นต้องเชื่อมเป็นข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ได้

ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคม สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า อาจจะต้องเริ่มจากแนวคิดทฤษฎีบางอย่าง เช่น ในเรื่องห่วงโซ่อาหารที่จะเข้าไปมองผลกระทบทางธรรมชาติ อีกด้านคือผลกระทบทางสุขภาพที่ต้องมองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งหากมีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราบาดเจ็บมาเพียงพอแล้ว และวันนี้เรามีเครื่องมือมากพอ มีนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญหลายด้าน พร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วม ถ้าเราเริ่มต้นเก็บข้อมูลในวันนี้และเก็บอย่างต่อเนื่อง มันจะกลายเป็นหลักฐานสำคัญใน ณ วันหนึ่งถ้ามีการผลักดันการตั้งคณะกรรมการ ตั้งกลไกชดเชย ข้อมูลที่ถูกเก็บเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสนับสนุนสำคัญมาก

“ในทุกวิกฤตมันอาจจะดูใหญ่มาก แต่ถ้าเราร่วมกันได้มันก็มีความหวัง จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการเก็บข้อมูลจากกล้องมือถือ หรือโครงงานเล็ก ๆ ที่โรงเรียนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคนรุ่นต่อไป ซึ่งคนรุ่นต่อไปจะเป็นทั้งประชาชนและนักวิทยาศาสตร์ที่มาดูแลสังคมนี้ต่อ” 

ชวนฟังวงเสวนาออนไลน์ย้อนหลัง วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หรือ Citizen Science คืออะไร ประชาชนนำมาใช้ในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างไร มีใครเคยทำ ที่ไหน มาแล้วบ้าง

การเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Citizen Science กับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” วันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 เวลา 10.30 – 12.30 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  • ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคม สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
  • เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
  • พิภพ พานิชภักดิ์ สื่อมวลชนอิสระ
  • ภารินี หงษ์สุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ดำเนินรายการ วิภาพร วัฒนวิทย์ Thai PBS

ทีมสื่อพลเมืองและC-site ไทยพีบีเอสชวนประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน และผู้สนใจร่วมปักหมุดสื่อสารเฝ้าระวังและริเริ่มโครงการศึกษาจับตาผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง จากคราบน้ำมันในทะเลอาจมีการเคลื่อนตัวหรือตกค้างส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยขั้นตอนง่ายๆ 5 ขั้นตอน

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันค้นหา C-site (ไลน์กดเพิ่มเพื่อนค้นหา @csite)
  2. สมัครสมาชิกครอบครัว C-site
  3. โพสต์ข่าว
  4. พิมพ์รายละเอียด / โลเคชัน/ใส่รูปภาพ
  5. กดโพสต์ข่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ