ในปัจจุบันนี้ ด้วยสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงที่ยังคงดำเนินต่อไปไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ผู้คนก็ได้ให้ความใส่ใจในสุขภาพทั้งในแง่การรักษาและป้องกันตัวเองจากเชื้อร้ายกันมากขึ้น แต่กิจการอาหารปลอดภัยนั้นมีมานานก่อนที่เราจะประสบกับภัยพิบัติในทุกวันนี้เสียอีก เมื่อเกิดการระบาดขึ้น เชื่อได้ว่าความต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย หรือ อาหาร “คลีน” นั้นต้องเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากแน่นอน แต่เราจะใช้โอกาสน้ำขึ้นนี้ รีบตักตวง เพื่อเอากำไรหรือเอาชีวิตรอดจากโรคร้ายได้อย่างไร?
จากย่อหน้าด้านบน ทุกคนคงจะคิดคล้ายๆ กันว่าในเมื่อมีโอกาสและความต้องการสูง ก็แค่เปิดครัวทำอาหารแล้วขายเลย จะมัวรอช้าอยู่ทำไม ใช่ครับ ไม่ใช่แค่เราที่คิดเช่นนี้แน่นอน เมื่อมีคนขายมากมายพร้อมจะเปิดร้านแบบไหล่เบียดไหล่ แย่งพื้นที่ความสนใจบนหน้าจอขนาดเล็ก ๆ 5 นิ้ว บนโทรศัพท์มือถือ หวังว่าจะมีคนกดสั่งให้ “ไรเดอร์” มารับกล่องอาหาร พร้อมกับรอรับเงินตอนสิ้นเดือนจากแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร ที่กล้าจะหักหัวคิวเราไปแล้ว 20 ถึง 30 เปอร์เซนต์ ที่เหลือจึงเป็นของเรา ๆ ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรับไว้
จากปัญหาที่พอมองเห็นก่อนจะเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนคู่แข่งที่มากพอ ๆ กับลูกค้า ต้นทุนจากตัวแทนจำหน่ายหรือหน้าร้านออนไลน์ก็สูงขึ้น หรือจะลงเม็ดเงินเป็นทุนสร้างหน้าร้านเปิดรับลูกค้าโดยตรง ก็คงจะไม่เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองที่รัฐบาลจะออกนโยบายห้ามนั่งรับประทานในร้านวันไหน เมื่อไหร่ นานแค่ไหนก็ไม่มีใครทราบได้ล่วงหน้า
สำหรับใครที่ยังมองไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เรามีตัวอย่าง ร้านอาหารคลีนดิลิเวอรีเจ้าหนึ่งในจังหวัดลำปาง ที่มีความหน้าสนใจตรงที่ต่อสู้ในสนามข้าวกล่องดิลิเวอรีมาแล้วกว่า 7 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีไรเดอร์หลากสีวิ่งบนถนนเสียด้วยซ้ำ
ชญาดา ศรีมานิตรากูล หรือ “ก้อย” สาวลำปางที่กลับจากเมืองหลวงหลังอิ่มตัวกับการทำงานประจำ เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ประกอบการอาหารคลีนดิลิเวอรี
“เมื่อก่อนทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วพอลูกเริ่มโตขึ้น เราก็รู้สึกว่า เขาสูญเสียเวลาการวิ่งเล่นอยู่ในกรุงเทพฯ คือมันก็จะมีปัญหารถติด มีปัญหาเรื่องม็อบ เรื่องของการจราจรอะไรอย่างนี้ คือฝนตก รถติด แล้วเราก็รู้สึกว่าเสียดายเวลาตรงนั้น เราอยากให้เขาได้มีพื้นที่วิ่งเล่น ได้มีวิถีชีวิตที่มันดีกว่านี้ คุ้มค่ากว่านี้ ก็เลยตัดสินใจว่าอยากให้เขาเติบโตแบบที่เราโตมาในบ้านเกิด
“ได้วิ่งเล่นได้ไปไหนมาไหนกับเพื่อน เลิกเรียน 3 โมง 4 โมงอย่างนี้ ก็ยังมีเวลาเหลือเฟือ แต่อยู่ที่กรุงเทพฯ คือมันไม่มีเลย กว่าจะถึงบ้าน 6 โมงเย็น ซึ่งตอนนั้นเขายังแค่ 2-3 ขวบ ก็คิดว่าโตไปเวลาคงจะน้อยกว่านี้ ก็ตัดสินใจกลับบ้าน แต่ตอนที่กลับบ้านยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างน้อยคือให้ลูกเขาได้กลับไปมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นก่อน เราเองได้กลับไปดูแลพ่อแม่ แล้วความตั้งใจเดิมแต่แรกคืออยากจะกลับไปสานต่อกิจการที่บ้าน ซึ่งเป็นร้านอาหาร เราก็จะเป็นรุ่นต่อไปนั่นเอง แต่ไม่รู้ว่าจะสานต่อในรูปแบบไหน ยังนึกภาพไม่ออก แต่ความตั้งใจคืออยากทำต่อ เพราะยังชอบในเรื่องของการทำอาหารค่ะ”
ก้อยยังได้เล่าเสริมต่ออีกว่า หลังจากกลับมาอยู่ที่ลำปางบ้านเกิดแล้ว ด้วยความชอบในเรื่องอาหารและด้วยหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเรื่องอาหารให้กับครอบครัวนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นศึกษา “อาหารปลอดภัย” อย่างจริงจัง “ด้วยประสบการณ์จากการที่ดูแลอาหารให้คุณพ่อ เพราะว่าคุณพ่อต้องควบคุมอาหาร เราก็ได้เริ่มรู้จักวัตถุดิบแบบไทย วัตถุดิบอินทรีย์มากขึ้น สะสมประสบการณ์ในการทำ จนรู้สึกว่ารักกับการทำอาหารตรงนี้มาก แต่ยังมองภาพไม่ออกนะ ว่าจะไปต่อยอดเป็นอาชีพหรือเป็นรายได้ยังไง ยังยึดติดอยู่กับภาพเดิมๆของความเป็นร้านอาหารอยู่”
ช่วงนั้นโซเชียลมีเดียเริ่มเติบโต ก็ถ่ายรูปลงเล่น ๆ แล้วก็เล่าว่าทำให้ที่บ้านกินยังไง ทำให้ลูกกินยังไง ทีนี้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ของการตอบแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน เราก็เห็นข้อความที่มีเข้ามาเรื่อย ๆ ว่า สนใจ อยากชิมบ้าง เมื่อไรจะทำขาย พอเห็นจุดเหล่านี้ ก็เริ่มปิ๊งไอเดียนะ ว่าก็มีคนสนใจอาหารเราเหมือนกัน
มันไม่ได้เริ่มจากการที่ว่าโยนเงินลงทุนไปตูมหนึ่งเป็นแสนแล้วเริ่มกิจการขึ้นมา แต่เราเริ่มจากการที่เราแบ่งคนรู้จักกันก่อนให้เขาได้ชิม เขาก็ขอซื้อไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้นมันคือการบอกแบบปากต่อปาก ขยายวงกว้างจนเรามองว่ามันเป็นกิจการหนึ่งได้ จากการทำในครัวเรือนเราเอง โดยที่มันไม่ต้องมีเงินลงทุนอะไรมากมายเลย
“ก็เริ่มทำแปลงผักเอง ขึ้นแปลงผักเอง ปลูกผักเอง เพาะเมล็ดเองทุกอย่างแต่ว่าพอแปลงผักมันเริ่มขยายอะคะ มันเริ่มต้องการการดูแล มันเริ่มมีศัตรูพืช มันเริ่มมีแมลง มันเริ่มมีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เรื่องฝน เราก็เริ่มรู้สึกว่าด้วยความเป็นผู้หญิงเนี่ย ปัญหามันเยอะจัง ปกติเป็นคนทำอาหารให้ที่บ้าน ตอนนั้นรดน้ำต้นไม้ด้วยสายยาง คือเราไม่มีความรู้เรื่องของการวางระบบน้ำหรือสปริงเกอร์อะไรเลย ก็ยืนถือสายยางรดน้ำ 2 ชั่วโมงยังไม่เสร็จเลย ก็เริ่มรู้สึกหงุดหงิดว่า ไม่ได้ ไม่มีใครทำกับข้าว แล้วใครจะทำกับข้าวให้กิน ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว ก็เลยแบบวางสายยางเลยนะ พอละ ไม่ทำละ เหลือไว้แค่ผักใบผักสวนครัวนิดหน่อยพอ แล้วก็คิดว่าเอาแบบนี้ดีกว่าไปหาเครือข่าย ไปหาคนที่เขาปลูกแบบเรา ซึ่งเราเชื่อว่าจะต้องมีอย่างน้อยซักบ้านนึงอะที่ทำแบบนี้เหมือนกัน แล้วก็มีจริงๆ คือมันเป็นวิถีชีวิตของคนลำปางนะ ของคนที่อยู่ในต่างจังหวัด ทุกบ้านจะปลูกผักกันไว้เอง”
“ทานคลีน” คือชื่อกิจการที่ก้อยได้ตั้งขึ้น ตรงตัวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ นั่นคืออาหารปลอดภัยในรูปแบบของอาหารกล่องดิลิเวอรีจัดส่งกันเองโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รัศมีครอบคลุมเขตเทศบาลนครลำปางทั้งหมด จุดเด่นของร้านนอกจากอาหารที่ใช้วัตถุดิบปลอดภัย ปรุงถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วนั้น แต่การใส่เรื่องราวที่มาของอาหารเพื่อบอกเล่าให้ลูกค้าได้รับทราบเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาหารกล่องดิลิเวอรีของก้อยนั้นโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางร้านอาหารอื่น ๆ ในเมืองเล็กในเขตเทศบาลนครลำปางอีกด้วย
“เราก็เริ่มมาจากการเป็นคนอ่านหนังสือ บทความ เราก็จดจำเทคนิคการเล่าของแต่ละท่านที่เรารู้สึกว่าการเขียนเรื่องของเขาน่าสนใจ แล้วก็การเล่าเรื่องบางครั้ง เราเหมือนฉีกมุมมองของการเล่า เพราะเราเคยเจอว่าทำเรื่องอาหาร เราเล่าแต่เรื่องอาหาร เราเล่าแต่ว่าวัตถุดิบ เราเล่าแต่ที่มา ทำไปซักระยะนึงเรารู้สึกว่ามันจำเจ บางทีคนกินก็ไม่ได้อยากจะอ่านเรื่องของสรรพคุณ หรือประโยชน์อะไรตลอดเวลา เข้าใจว่ามันคืออาหารสุขภาพ เขาก็รู้ว่าสิ่งที่เราให้มันดี แต่การที่เราฉีกมุมมองการเล่าออกไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสบการณ์ของตัวเราเอง ความสนุก ความผิดพลาดระหว่าง การทำกับทีมงาน เรื่องของการสนทนาระหว่างแม่ค้าในตลาด กว่าที่จะมาเป็นตัวนี้ แค่วัตถุดิบตัวเดียวที่อยู่ในเมนูนึง ก็เล่าได้อย่างนี้ค่ะ เทคนิคการเลือกของที่เอามาใช้ในอาหาร คือเรารู้สึกว่าการเล่าเรื่องมันมีหลายมุมมอง ไม่ใช่แค่มุมเดียวว่าอร่อยยังไง ปรุงยังไง ดียังไง แต่มันมีมุมอื่น ที่คนอ่านเขาจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับเรา”
การเล่าเรื่องที่ฉีกแนวอาจจะทำให้คนที่อ่านหนังสือน้อยอย่างเราไม่เห็นภาพ อยากให้คุณผู้อ่านได้ดูรูปภาพอาหารเหล่านี้ครับ ว่าอาหารปลอดภัยนั้นมีหน้าตาที่ตรงกันกับจินตนาการหรือประสบการณ์ของเราหรือไม่
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วพบว่า “หิว” สามารถปิดหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ของท่าน แล้วออกไปรับประทานอาหารได้เลยครับ รูปถ่ายด้านบนนั้นมาจากหน้าร้านของก้อย ซึ่งถ่ายด้วยตัวเอง โดยเรียนรู้และศึกษาจากหนังสือ บทความ ทั้งในนิตยสารและบนอินเตอร์เน็ต จนกลั่นกรองออกมาเป็นภาพถ่ายอย่างที่เราได้เห็นนี่เอง ทีมงานเราพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาหารที่ก้อยนำเสนอออกมาเป็นภาพถ่ายนั้นทำให้เรารู้สึกอยากสั่งซื้อมากินโดยทันทีครับ
ก้อยเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อถ่ายรูปทำโฆษณาสินค้าลงบนแฟนเพจเหมือนร้านอื่น ๆ ทั่วไป แต่พอได้เห็นจากหนังสือภาพถ่ายอาหารหลายเล่ม จึงเริ่มศึกษาการถ่ายภาพอาหารอย่างจริงจัง ด้วยกล้องที่มีคุณภาพสูง การจัดวางอาหาร การสะสมอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้อนไม้หรือโลหะ ภาชนะหลากหลายทั้งวัสดุและรูปทรง การสร้างฉากถ่ายภาพ รวมถึงเรื่องของแสงซึ่งขาดไม่ได้สำหรับการถ่ายภาพ ทำให้เราเห็นว่าก้อยมีความจริงจังกับการถ่ายภาพอาหารของร้านตัวเองมาก ผลลัพท์ของการลงทุนลงแรงนี้ตอบรับมาเป็นยอดขายและยอดติดตามที่เพิ่มสูงขึ้น แตกต่างจากการถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมอย่างเห็นได้ชัด
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาหารคลีนดีลิเวอรี่จะไปรอดได้ นอกจากรสชาติของวัตถุดิบที่ดีแล้ว ในยุค 5G แบบนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่อง “หน้าตา” ของอาหารด้วย เมื่อลูกค้าได้อาหารหน้าตาน่ากินและดีต่อสุขภาพอย่างนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องแบ่งปันความสุขเล็ก ๆ เหล่านี้ออกสู่สังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้อาหารคลีนของก้อยเป็นที่รู้จักได้ในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย ก้อยจึงต่อยอดจากการถ่ายภาพของตัวเอง จัดเรียงวัตถุดิบต่าง ๆ ลงในกล่องอย่างสวยงามที่สุด บางเมนูนั้นก็ดัดแปลงนำเอาแนวคิดของข้าวกล่องแบบชาวญี่ปุ่นมาประยุกต์กับวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ข้าวกล่อง “เบนโตะ” ฤดูฝน นี้
เหตุผลสำคัญอีกหนึ่งเรื่องของการพยายามสร้างสรรค์เมนู เบนโตะ นี้ขึ้นมาของก้อยก็คือ การเพิ่มมูลค่าสินค้าต่อกล่องหรือเราเรียกภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายก็คือมีกำไรที่มากขึ้นหรืออย่างน้อยก็ต้องเท่าเดิม เพื่อที่จะสามารถลดจำนวนการผลิตอาหารกล่องต่อวันให้น้อยลง เพื่อลดความเหนื่อยล้าและเพิ่มเวลาพักผ่อนกับครอบครัวให้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ก้อยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเมื่อกลับมาอยู่ที่ลำปางแล้วครับ
“เราทำตัวนี้ (เบนโตะ) ขึ้นมาชั่วคราวนี่นะคะ เพราะว่าตอนนั้นเนี่ย น้อง(ลูกจ้าง) เขาท้อง แล้วก็จะมีช่วงไปคลอด ไปเลี้ยงลูก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะพร้อมกลับมาเมื่อไหร่ ทีนี้ช่วงเวลามันนาน พอช่วงเวลามันนานเราเหลือกัน 2 คน ก้อยกับเกมส์ (น้องชาย) นั่นคือเราต้องทำทุกอย่างเลย แม้แต่การส่งก็ต้องไปกัน 2 คน ทีนี้เรามาคุยกันว่า ถ้าเรายังรับอาหารแบบเดิม ทำอาหารในรูปแบบเดิม เมื่อก่อนเราขายวันละ 2 เมนู วันละ 2 เมนูเนี่ย ทำกัน 2 คน ตายแน่”
“ทีนี้เรามาบริหารเวลาเพื่อที่เรายังจะมีกำไรตรงนี้อยู่ในระดับที่อยู่ได้ นั่นคือเราต้องลดจำนวน สิ่งที่เราจะต้องทำคือการเพิ่มมูลค่าหรือการเพิ่มคุณค่าให้กับกล่องอาหารนั้น คือกล่องอาหารในนั้นมันจะต้องดูมีอะไรมากกว่าเดิม เบนโตะมันก็เลยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่การเพิ่มราคาคือเราไม่ได้เอาเปรียบลูกค้า คือไม่ได้ขายเหมือนเดิมนะ รูปร่างหน้าตาอาหารจะเปลี่ยนไป รูปแบบจะเปลี่ยนไป นั่นก็คือเบนโตะ ราคาที่เพิ่มขึ้นแต่คุณภาพก็สูงตาม นั่นคือเราก็ขายในจำนวนน้อยลงได้ โอเคส่วนต่างกำไรเราอาจจะมากขึ้นกว่าเดิม แต่เราไม่ได้ลดคุณภาพลง”
นอกจากก้อยแล้ว ยังมีทีมงาน “ทานคลีน” ที่คอยเป็นทั้งลูกมือผลิตอาหารและแบ่งหน้าที่ไปส่งถึงหน้าบ้านของลูกค้ารอบตัวเมืองลำปางอีกด้วยครับ เมื่อเสร็จจากการส่งอาหารประจำวันแล้ว ทุกคนจะได้เวลาพักกินข้าวกลางวันร่วมกัน ในช่วงนี้เองพวกเขาก็จะถือเป็นโอกาสในการพูดคุยและสร้างสรรค์เมนูใหม่ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นยอดขายอยู่เป็นประจำ วันนี้ถือเป็นโชคดีของเราครับ เพราะทุกวันพฤหัสจะเป็นระดมความคิดสร้างเมนูพิเศษประจำสัปดาห์เพื่อส่งถึงมือลูกค้าในวันรุ่งขึ้นอย่างวันศุกร์ครับ
“เมนูพิเศษนี้ทำไว้ขายทุกวันศุกร์ค่ะ เพราะว่าเราทำเมนูอาหารกล่องปกติมา 4 วัน พอเราทำมาเรื่อย ๆ เราก็เจอว่า พฤติกรรมการกินของผู้บริโภคหรือลูกค้า เขาจะมีความรู้สึกเบื่ออาหารกล่อง คือพอคนที่เขาต้องรับอาหารกล่องทุกวันมันเหมือนกับการที่เราได้ไปเข้าใจชีวิตเขาว่า คนทำงานประจำ วันศุกร์มันเป็นเหมือนวันที่ผ่อนคลาย แล้วอยากจะกินอะไรก็ได้ พอได้เรียนรู้ตรงนี้เราก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องขายเป็นเมนูข้าวกล่องละ เพราะว่าเขาจะรู้สึกจำเจไปก็เลยคิดเป็นเมนูพิเศษ เป็นพวกของกินเล่นหรือขนม ที่ฉีกหน้าตาไปจากอาหารกล่อง ลูกค้าเขาก็จะได้รู้สึกสนุก และอีกอย่างนึงคือเหตุผลของทางเราก็เป็นการหมุนเวียนวัตถุดิบ เคลียร์สต็อก ที่เราจะมาแปรรูปมาผลิตให้มันเป็นเมนูใหม่ เอาไปทำขนมบ้าง เอาไปทำของกินเล่นบ้าง พวกวัตถุดิบที่เราสั่งมา เราไม่อยากให้มันเหลือทิ้ง ก็เอาไปแปรรูปได้”
“คือก้อยจะให้ทางน้องเขาเช็คสต็อก ว่ามีเนื้อสัตว์มีอะไรเหลือที่เราจะไปเปลี่ยนเป็นเมนูได้บ้าง ด้วยความที่เราจบการเงินมา วิธีคิดของเราทุกอย่างมันจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นเงินสดออกมาให้เร็วที่สุด ยิ่งเรามีกำไรน้อย เรายิ่งต้องเปลี่ยนสินค้าคงเหลือให้เป็นเงินสด ให้มันมีสภาพคล่องให้มากที่สุด ก็เหมือนกับเรียนแล้วก็ได้เอามาใช้เป็นส่วนนี้ด้วยอย่างนี้ค่ะ ก็คือฝึกให้มองแบบภาพรวม ทั้งการวางแผนระยะสั้นการวางแผนระยะยาว ระยะสั้นคืออาทิตย์หน้าจะขายอะไร จะลงเมนูพิเศษอะไร หรือถ้ายอดอาหารกล่องมันไม่ดี เราจะต้องเพิ่มเมนูพิเศษอะไร เพื่อที่ว่ารายได้จะเพียงพออย่างนี้ค่ะ ก็คือมีการบริหารอย่างนี้กันอยู่ทุกสัปดาห์”
ได้ฟังแนวคิดแล้วก็ต้องทึ่งเลยครับว่าการขายข้าวกล่องดีลิเวอรี่ มีอะไรให้ทำเยอะมากมายในแต่ละวันจริง ๆ ถ้าใครมาบอกกับเราว่าขายอาหารเป็นเรื่องง่ายก็ขอเถียงตรงนี้เลยครับว่าไม่จริงเสมอไป นอกจากจะต้องคิดถึงคุณภาพอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการบริหารวัตถุดิบให้เกิดกำไรสูงสุดอีกด้วย เพราะก้อยได้บอกกับเราว่า กำไรต่อหน่วย ไม่ได้สูงมากนัก หากจะให้เข้ากับแอพพลิเคชั่นส่งอาหารต่างๆ สามารถขายได้มากชิ้นก็จริงแต่ก็อาจจะเหนื่อยเปล่าเมื่อเจอกับภาระต้นทุนจากค่าธรรมเนียมที่กล่าวไว้ตอนต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก้อยกับเกม สองพี่น้องจึงลงความเห็นกันว่าพวกเขาต้องเพิ่มรูปแบบสินค้าใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น นั่นคือ อาหารแช่แข็งและการเปิดหน้าร้านจริงขึ้นมา
ในส่วนของอาหารแช่แข็งเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าต่างพื้นที่ เนื่องจากการขนส่งอาหารของ “ทานคลีน” นั้นจำกัดด้วยจำนวนอยู่ที่วันละ 50 – 60 กล่อง และระยะทางในเขตเทศบาลนครลำปางเท่านั้น เมื่อความต้องการสินค้าของก้อยมีสูงขึ้นทั้งเกินกำลังการผลิตและเกินรัศมีการขนส่ง การสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้จึงกลายมาเป็น ผลิตภัณฑ์และอาหารแช่แข็ง เช่น ขนมเซาปิ่ง น้ำพริกต่าง ๆ หมูสับปลาเค็ม ไส้กรอกเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งบางเมนูนั้นก็จะถูกตีตลาดภายใต้ตราสินค้าใหม่อย่าง “ซ่อนกลิ่น” ที่จำเป็นต้องทำแยกออกมาเพื่อลบภาพความเป็น อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นอาหารที่มุ่งเน้นความสุขในการกินอย่างเต็มที่ นอกจากสามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้แล้ว หากช่วงไหนของปีต้องการวันหยุดยาวเพื่อการพักร้อนก็สามารถทำได้โดยที่ยังมีรายได้จากการขายสินค้าแช่แข็งอยู่ เพื่อให้ทีมงานได้ดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเองด้วยการพักผ่อนก็เป็นเป้าหมายที่ก้อยไม่เคยลืมอีกด้วย
การเปิดหน้าร้าน แม้ในตอนนี้จะยังอยู่ในขั้นตกแต่งภายในแล้ว แต่ก้อยกับเกมก็ไม่ได้เร่งรีบที่จะเปิดบริการร้านนี้แต่อย่างใด เนื่องด้วยทั้งคู่มีประสบการณ์จากร้านอาหารของครอบครัวมาก่อน การลงมือทำแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นทำให้พวกเขาประหยัดทั้งเงินและแรงกายไปได้มากโขนั่นเอง กอปรกับเป้าหมายของการสร้างหน้าร้านนั้นคือการเปิดพื้นที่เพื่อให้ลูกค้าได้กินอาหาร “ทันที” ซึ่งแก้ไขจุดอ่อนสำคัญของการประกอบการอาหารดีลีเวอรี่ ที่กว่าจะถึงลิ้นของผู้บริโภค อุณหภูมิของอาหารบางเมนูก็ลดลงจนทำให้ขาดเสน่ห์บางอย่างไปนั่นเอง รวมถึงเป็นพื้นที่นำเสนอวัตถุดิบจากเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดลำปางเองหรือต่างพื้นที่ ผ่านอาหารของก้อยเองด้วย เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคได้เชื่อมต่อเป็นเครือข่ายผู้บริโภคกับผู้ผลิตโดยตรงอีกด้วย
“เราอยากให้พื้นที่นี้ มันเกิดปฏิสัมพันธ์ที่จับต้องได้ของลูกค้าหรือกับคนที่เขาสนใจในเรื่องของวัตถุดิบปลอดภัยอาหารปลอดภัย เราเหมือนจะเป็นตัวโชว์นะว่าวัตถุดิบปลอดภัย หรือว่าอะไรต่าง ๆ นี้ จะสามารถหาได้จากที่ไหน แนะนำเครือข่ายให้อยู่ในพื้นที่นี้โดยผ่านอาหารเราเองด้วยส่วนหนึ่ง อยากให้คนในจังหวัดได้ช่วยกันสนับสนุน คนในจังหวัดด้วยกันก่อน แนะนำพวกวัตถุดิบจากในลำปางกันก่อนอย่างนี้ค่ะ”
เมื่อเราได้เห็นส่วนผสมทางแนวคิดของ “ทานคลีน” ถูก”ปรุง”ให้พร้อมส่งถึงมือลูกค้าอย่างนี้แล้ว หัวข้ออาหารคลีนดีลิเวอรี่ทำอย่างไรถึงไปรอด ก็พอจะเห็นทิศทางกันบ้างแล้วล่ะครับ และจะเป็นคู่มือบทหนึ่งที่สามารถติดตัวไปกับผู้ประกอบการมือใหม่หรือผู้ที่กำลังสนใจในการเริ่มต้นกิจการใหม่ได้อย่างดีเลยครับ