ประชาชนไปต่อ : กล่องกำลังใจ x อาสาคลายทุกข์ ให้คนนครนายกไปต่อ

ประชาชนไปต่อ : กล่องกำลังใจ x อาสาคลายทุกข์ ให้คนนครนายกไปต่อ

ความพยายามในการดูแลกัน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นทุกพื้นที่ อย่างที่ จ.นครนายก หนึ่งใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ในฐานะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด​ พร้อม ๆ กับมาตรการล็อกดาวน์ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 64 ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนในนครนายกได้เริ่มต้นกิจกรรม “สมัชชาสุขภาพอาสาคลายทุกข์ นครนายก” เพื่อการดูแลกัน และการส่งต่อ “กล่องกำลังใจ” ให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในพื้นที่

— จุดเริ่มต้นกล่องกำลังใจ

“กล่องกำลังใจ” ตั้งต้นจากความร่วมมือของสมัชชาสุขภาพนครนายก ที่ระดมเงินจัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นและยามาใส่ในกล่อง เพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวซึ่งรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และดูแลติดตามอาการไม่ให้กลายไปเป็นสีเหลือง ผ่านเครือข่ายที่มีในชุมชน ทั้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กู้ชีพกู้ภัย และจิตอาสาเฉพาะกิจ โดยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครนายก

อ.ดร.พิมลพร เชาวน์ไวพจน์ สมัชชาสุขภาพนครนายก กล่าวว่าในสถานการณ์แบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้น จึงทำ “กล่องกำลังใจ” ขึ้นมา โดยที่ทำทันที ไม่ได้มีการวางแผนเป็นรูปเป็นร่างเหมือนที่ข้าราชการทำ แล้วค่อย ๆ แก้ปัญหากันไปเรื่อย ๆ เมื่อทำมาระยะหนึ่งก็เห็นปัญหา เลยเชิญทุกคนที่ได้ร่วมงานกันมาพูดคุย เจอปัญหาอุปสรรคก็ช่วยกันแก้ไข มาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นและคิดเห็นอย่างไร และอยากทำอะไรต่อไป

อ.ดร.พิมลพรเล่า ถึงการทำงานว่า จะมีการรับสมัครคนที่จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแอดมิน เปิดรับความต้องการ และคัดกรอง แล้วส่งต่อข้อมูลเพื่อทำการให้ความช่วยเหลือ โดยในเคสผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะเป็นหน้าที่ของอาจารย์สุธี (ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล สมัชชาสุขภาพนครนายก) ช่วยดูแลต่อ ส่วนในเคสที่สามารถลงไปเยี่ยมในชุมชน ดูแลในชุมชน ทางสมัชชาสุขภาพนครนายกจะส่งไปให้ทีมในพื้นที่ ซึ่งจะเรียกว่า แอดมินออนไซต์ (Admin On site)

— ออนไลน์เชื่อมโยงกัน —

ผศ.ดร.ลลิตา วีระเสถียร อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงช่องทางการช่วยเหลือกันว่า ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือจะส่งข้อความมาทางเพจเฟซบุ๊ก ที่นี่นครนายก และ สมัชชาสุขภาพอาสาคลายทุกข์ นครนายก จากนั้นจะมีทีมงานพิจารณาว่าต้องการความช่วยเหลือในระดับไหน เช่น ต้องการตรวจ หรือต้องการเตียง เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่นครนายกหรือไม่ แล้วต้องการกลับมารักษาหรือเปล่า จะเป็นการประสานเบื้องต้น ถ้าตอบคำถามอะไรง่าย ๆ ได้ ก็จะตอบไปเลย

มีการคัดกรอง แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยมีความต้องการให้ช่วยเหลือ จะมีการขอให้แอดไลน์ออฟฟิเชียลเข้ามา และเมื่อผู้ป่วยแอดไลน์เข้ามาแล้วจะมีแอดมิน ซึ่งตอนนี้มี 3 คน ช่วยกันดูและสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ว่าผู้ป่วยชื่ออะไร ในบ้านมีสมาชิกกี่คน ตอนนี้มีอาการอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง มีผลตรวจหรือยัง และมียาที่ใช้อะไรบ้าง เพื่อประเมินว่าเคสนี้ สามารถใช้ยาที่มีได้หรือเปล่า หรืออาการเป็นแค่ไหน

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ป่วยที่เป็น Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเตียงของโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ และอาจจะมีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความกังวลว่า มีผลบวกแต่ยังไม่ได้ตรวจรักษาจะทำอย่างไร บางคนก็สงสัยว่าเชื้อลงปอดหรือยัง

คิดว่าเราช่วยได้ ก็จะช่วยเขาผ่อนคลาย เหมือนชื่อของเราเลย อาสาคลายทุกข์ เราจะช่วยแนะนำเขา อาการแบบนี้ไม่ต้องตกใจ บางคนจะตื่นตระหนกกับอาการที่เขาไม่ได้กลิ่น และไม่ได้รสชาติมาก ๆ เราก็จะแนะนำ

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวต่อมาว่า เมื่อสำรวจความต้องการผู้ป่วยที่มีอาการและรู้ว่าติดเชื้อแล้ว จะมีการพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการใช้ฟ้าทะลายโจรหรือไม่ และมียาอะไรที่เหมาะ ถ้าผู้ป่วยไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรหรือมีสภาวะที่ใช้ไม่ได้ก็จะไม่แนะนำ แต่ถ้าประเมินแล้วจำเป็นต้องใช้ก็จะนัดหมายมอบ “กล่องกำลังใจ” โดยในกล่องก็จะมีออกซิมิเตอร์หรือเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ มีหน้ากากอนามัย ยาพาราเซตามอล ยาฟ้าทะลายโจร และมีสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมเป็น 1 เซต แต่ถ้าในบ้านมีสมาชิกมากกว่านั้น ก็จะมีการจัดยาฟ้าทะลายโจรให้เพิ่ม

นอกจากนี้จะประสานงานกับแอดมินออนไซต์ที่อยู่ใน 4 อำเภอของนครนายก ว่ามีผู้ป่วยบ้านนี้ติดต่อทางเพจ ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยให้กับจิตอาสา

“กล่องนี้จริง ๆ แล้ว เราก็จะได้นำไปไว้ที่แต่ละอำเภอ แล้วทางจิตอาสาที่เป็นแอดมินออนไซต์พอเขารู้ว่าผู้ป่วยอยู่ที่ไหนก็จะมีการประสานงานจากนั้นนำกล่องไปส่งให้ อาจจะผ่านญาติหรือผ่านใครก็แล้วแต่จะสะดวก นี่คือวิธีการจัดการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทางเพจเฟซบุ๊ก”

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวถึงอีกช่องทางหนึ่งในการเข้าถึงผู้ป่วยโควิด-19 คือ ทางจิตอาสาในพื้นที่ ที่จะชี้จุดว่ามีคนบ้านนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และคนที่รับ “กล่องกำลังใจ” ไปแล้วจะให้แอดไลน์ออฟฟิเชียล เพื่อติดตามการใช้ยา เช่นในทุกเช้าจะมีการส่งข้อความสอบถามทุกคนที่อยู่ในไลน์ออฟฟิเซียล ที่ดูแลอยู่ว่าอาการเจ็บป่วยวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ค่าออกซิเจนเป็นอย่างไร มีไข้ไหม บางคนจะตื่นตัวรายงานอาการ แต่บางคนอาจต้องติดตามสอบถาม

แอดมินเพจที่มีกัน 3 คน จะผลัดกันตอบคำถาม และจะมีกรุ๊ปของทีมงานอีกกรุ๊ปเอาไว้ปรึกษากันเองว่าจะพูดคุยกับคนป่วยอย่างไร ถ้าเกิดกรณีผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น คือ อาจจะไม่ได้รับยาเร็วเท่าที่เราคิด ยาอาจจะมาช้า แต่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น ซึ่งก็จะถูกส่งต่อให้ได้รับการดูแล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะมีคนที่มีอาการไม่มาก ส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวหาย กลับบ้านได้สำหรับคนที่อยู่โรงพยาบาลสนาม และพ้นการกักตัว

— ช่วยเหลือ ดูแล ส่งต่อ —

ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล สมัชชาสุขภาพนครนายก กล่าวถึงกระบวนการในการดูแลกันว่า เบื้องต้นจะใช้ไลน์ประสานงานกัน และจะโทรติดต่อประสานส่งต่อข้อมูลว่ามีเคสผู้ป่วยขอความช่วยเหลือ มีประวัติแบบนี้ ต้องการคำปรึกษา แล้วใช้เบอร์โทรที่ได้มา โทรไปที่ผู้ป่วย เริ่มแรกก็ประเมินอาการก่อน เช่น บอกว่าหายใจไม่ออก ก็ถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ไปห้องน้ำได้ไหม เขาบอกเดินไปได้ ทานข้าวได้ไหม ถ้าทานได้ โอเค แล้วถามว่าหายใจไม่ออก เป็นอย่างไร เขาก็บอกน้ำมูกตันจมูกหายใจไม่ออก ก็จะประเมินได้ว่ามันมีความกังวล

จากกรณีที่เห็น ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งมีความกังวลใจว่าจะไม่มีที่รักษา จึงต้องให้ความมั่นใจว่า ประเมินแล้วอาการยังไม่เป็นไร ขอให้ดูแลตัวต่อที่บ้านได้ แต่บางรายประเมินแล้ว เช่น ผู้ป่วยรายนี้มีน้ำหนัก 90 กิโลกรัม และเป็นเบาหวาน ถึงแม้อายุไม่มากก็จริง แต่ก็เป็นความเสี่ยง ก็จะแนะนำว่าขอให้รีบติดต่อโรงพยาบาล และทีมงานก็จะพยายามติดต่อโรงพยาบาลให้ หรือเบอร์โทรต่าง ๆ หรืออีกรายเป็นเด็กอายุ 13 วัน อันนี้ก็ต้องประสานกับโรงพยาบาล

“เราก็เชื่อมต่อผู้ป่วย บางรายเราแนะนำให้เขาหารถใน อบต. ที่จะเดินทางไปด้วย บางรายอาจจะติดต่อถึง คล้าย ๆ กับเครือข่ายของการช่วยเหลือ อาจจะติดต่ออำเภอ หรือสาธารณสุขอำเภอ ทางอำเภอ สาธารณสุขอำเภอก็ติดต่อทางพื้นที่อีกที่เพื่อให้เกิดระบบการช่วยเหลือที่จริง ๆ อันนี้เป็นข้อดีของที่อำเภอ คือไม่ใช่ช่วยรายต่อราย แต่ว่าเราพยายามจะสร้างระบบที่การดูแลผู้ป่วยขึ้นมากด้วย”

ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับแพทย์ใหญ่พบว่า สถานการณ์ในนครนายกค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ว่ายังมีอยู่บางพื้นที่ เช่นที่ อ.บ้านนา ตอนนี้เป็นคนที่ไปทำงานที่โรงงานใน จ.สระบุรี ซึ่งมีโรงงานจำนวนมากและมีอาณาเขตติดกัน คนก็จะไปรับเชื้อจากโรงงานกลับเข้ามาครอบครัว ผู้สูงอายุ คนในบ้าน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังกังวลใจสำหรับนครนายก คือ คนที่ทำงานในโรงงานแล้วเอาเชื้อจากโรงงานมาติดในครอบครัว ส่วนองครักษ์สถานการณ์ดีขึ้น หลังจากมีคลัสเตอร์ของโรงงาน แต่เป็นโรงงานในจังหวัด สามารถบริหารจัดการได้ และโชคดีที่จังหวัดนครนายกไม่มีโรงงานเยอะมาก และสามารถควบคุมได้ดีขึ้น

เวลาตัวเลขมากขึ้น หนึ่งคือการวินิจฉัยดีขึ้นไหม อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเมื่อก่อนเราอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ ส่วนตัวเห็นว่าตอนนี้ต้องมาดูตัวเลขคนไข้ที่รุนแรง สีเหลือง สีแดง ถ้าคนไข้รุนแรงเยอะแสดงว่าดูแลควบคุมโรคไม่ดี แต่ถ้าตัวเลขมาก ๆ แต่มีแต่ผู้ป่วยสีเขียว แสดงว่าเราตรวจสอบเขาได้เร็ว แล้วนำเข้าสู่ระบบได้เยอะ ในช่วงแรกอาจจะดูตัวเลขเยอะ ช่วงท้าย ๆ อาจจะดูดีขึ้น เพราะเริ่มควบคุม จัดการโรคได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องดูแลอีกสักพักว่าเป็นอย่างที่คิดไหม ตัวเลขที่เพิ่มเป็นเพราะเราตรวจสอบได้ดีขึ้น หรือเป็นเพราะโรคมันควบคุมได้ไม่ดีจริง ๆ

— ชุมชนช่วยดูแลกัน —

“สำหรับผม คือ ภาคประชาสังคมช่วยกันว่าเป็นแอดมินออนไซต์อยู่ในพื้นที่ ผมมองเป็นข้อดีมาก ๆ ที่เรามีส่วนได้ช่วยนะครับ โดยเฉพาะเราเป็นคนในพื้นที่ เราก็จะมีจิตอาสา” บรรจง มงคลยง อดีตข้าราชการเกษียณกล่าว

บรรจง ซึ่งมาร่วมทีมสมัชชาสุขภาพนครนายกฯ เล่าถึงการทำงานในชุมชนว่า รับผิดชอบเป็นแอดมินออนไซต์ของ อ.ปากพี และจะชวนจิตอาสาที่อยู่ในทุกตำบลมาเป็นเครือข่าย โดยจิตอาสาจะเป็นคนที่คลุกคลีรู้จักกับคนในชุมชนดี โดยเฉพาะผู้ป่วย เป็นคนที่ผู้ป่วยค่อนข้างไว้วางใจ ทำงานติดต่อประสานกัน ส่วนจิตอาสาที่เข้าถึงไอทีก็จะติดต่ออาจารย์ลลิตา (ผศ.ดร.ลลิตา วีระเสถียร) ทางเพจเฟซบุ๊ก ทำงานกันเป็นเครือข่าย เป็นผู้ประสานให้ เพราะเครือข่ายจิตอาสามีอยู่ครบทุกพื้นที่ และจะประสานทางสาธารณสุข หน่วยงานต่าง ๆ เป็นหน่วยเสริมที่ช่วยกันทำงาน

ในจุดที่ผู้ป่วยอาจเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะคนที่ป่วยแล้วยังไม่เข้าในระบบอยู่ที่บ้าน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ และจิตอาสาจะรู้ดีว่าใครอยู่ที่ไหนอย่างไร ทำให้เข้าถึงได้ทันท้วงที และยังมีความเป็นกันเอง เมื่อพบว่าในพื้นที่มีปัญหาก็จะส่งผ่านสมัชชาสุขภาพฯ และช่วยเหลือกันในเบื้องต้น ใช้วิธีการสื่อสารให้กำลังใจ

“ผมมองว่าขณะนี้ที่จิตอาสาของเราทุกอำเภอที่ลงไปในพื้นที่ เราทำงานกันตลอดเวลา เราทำงานกันทุกวัน เราเห็นว่าผู้ป่วยสะท้อนกลับมาว่าเขาอบอุ่นครับ เขาได้รับการดูแล เรามีการดูแลกัน ช่วยภาครัฐขึ้นมา”

บรรจง กล่าวถึงสิ่งที่พบจากการทำงานอาสาด้วยว่า กลุ่มผู้ป่วยที่หายแล้ว กลับบ้าน ปรากฏว่า ในภาพรวมเหมือนกับว่าเขายังไม่ได้รับการยอมรับ เช่น แม่ค้า พอหายแล้วกลับมาอยู่บ้านแล้ว เขาอยากประกอบอาชีพ ปรากฏว่าไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ ค้าขายก็ไม่ได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กำลังเป็นห่วง กลุ่มที่หายแล้วที่จะประกอบอาชีพ จะดูแลกันอย่างไร คงจะต้องวางแผนช่วยต่อไป

บรรจง กล่าวด้วยว่า อ.ปากพลี ผู้ติดเชื้อมีไม่มาก และส่วนมากอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สีเหลืองมีบ้าง ปัจจุบันตอนนี้จะหายแล้ว และจะกลับไปอยู่ตามบ้าน ฉะนั้นเคสรุนแรงไม่มี แต่เราได้เคสกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย จะหายแล้ว จิตอาสาจะเข้าถึงและติดต่อสอบถามทุกข์สุขตลอด เดือดร้อนอะไรก็ติดต่อประสานงานให้

“สิ่งที่ได้ขณะนี้ ผมมองว่าภาคประชาชนมีบทบาทมาก ๆ ขณะนี้ต้องช่วยกันอย่างนี้ ก็จะได้ทำให้ผู้ป่วยของเรานั้น มีกำลังใจและอยู่ในสังคมได้ต่อไป” บรรจงกล่าว

— ยาและการดูแล เพื่อผู้ป่วย —

“ยาผู้ป่วย จริง ๆ คือ สภาพจิตใจ บางพื้นที่ทราบมาว่ามีอะไรในบ้านก็กิน คือ อะไรก็ตามที่จะสามารถรักษาได้ ก็กินไว้ก่อนทั้งที่อาจจะไม่ได้รู้ประโยชน์หรือโทษ

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวว่า เท่าที่คุยกับผู้ป่วยที่ติดต่อมา คือ ทุกคนจะต้องมีกินอะไรบางอย่างมาก่อน แต่ว่าอาจจะกินแบบไม่ได้คุณภาพบ้าง ผลิตภัณฑ์ก็อาจจะเป็นของปลอมด้วย ปัญหาที่เจอ เช่น ฟ้าทะลายโจรทุกคนกินมาแล้ว บางคนกินแค่วันละ 2 เม็ด คือตรงนี้เป็นเรื่องของความรู้ของผู้ป่วยว่าควรกินแค่ไหน บางคนก็กินทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นอะไรกินมาเรื่อย ๆ เพราะว่ากลัวว่าเดี๋ยวจะเป็นโควิด

สิ่งสำคัญอีกจุด คือ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องได้รับการเผยแพร่ บางอันที่สามารถเผยแพร่ได้ บอกข้อมูลได้ก็จะไปโพสต์ไว้ที่เพจ เผื่อใครผ่านมาอ่าน เช่น ฟ้าทะลายโจร 5 ยี่ห้อนี้ อย.ประกาศแล้วว่าของปลอม เพราะฉะนั้นควรดูหรือว่าชนิดนี้มีข้อมูลอย่างไร แม้กระทั่งเรื่องของการใส่แมส บางครั้งคนก็อาจจะไม่ได้ตระหนักว่าใส่แค่นี้พอแล้ว แต่บางทีแมสมีช่องด้านข้าง ทำให้ติดเชื้อได้

ปัญหาของผู้ป่วยส่วนหนึ่ง คือ เลือกใช้ยาไม่ถูกและบางคนก็ไม่รู้ บางคนมีการแบ่งยากันกิน เช่น ข้างบ้านแบ่งมาให้ ถ่ายรูปแบบแบมือมาให้ดู 8 เม็ด รู้สึกเห็นใจผู้ป่วยมาก เขาไม่มีอะไรกินจริง ๆ เคสแบบนี้ก็จะรีบเลยช่วยเหลือ การให้ความรู้กับผู้ป่วยสำคัญมาก ๆ คุยกับคนไข้ทุกวันและคนไข้เองก็จะรู้สึกอุ่นใจ บางคนก็จะเขียนมาเลยว่า ขอบคุณมากเลยนะ ตอนนี้เขาดีขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีตรงนี้เขาก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ดึก ๆ ก็ไลน์มาสอบถาม ทำอย่างไรดี ไข้ขึ้นสูงมาก ก็จะพูดคุยให้คำแนะนำวิธีดูแลตัวเอง เพราะบางคนต้องกักตัวคนเดียว โดดเดี่ยวมาก อย่างน้อยก็มีใครรู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้ ถ้าฉันเป็นอะไรขึ้นมา

บางคนก็ส่งข้อความมา “พวกพี่อย่าทิ้งหนูนะคะ” “อย่าทิ้งเรานะ” ทำให้ยิ่งต้องพยายามดูแลเขา บางคนดีขึ้นและได้ไป รพ.สนามแล้วก็ดีใจ บางคนรู้สึกกังวลส่งค่าออกซิเจนมาให้ดู ต้องบอกเขาว่าไม่มีอะไรน่ากังวล เขาก็สงบลงไม่ตื่นกลัวมาก บางคนมีภาวะตั้งครรภ์ เราก็จะให้คำแนะนำเพราะให้กินยาอะไรไม่ได้ เพราะว่าฟ้าทะลายโจรก็กินไม่ได้อยู่แล้ว บางคนก็มีอาการนิดหน่อยก็จะพุ่งไปโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องบอกว่าให้พิจารณาดี ๆ เพราะว่าการไปโรงพยาบาล อาจจะไปรับเชื้อมาก็ได้นะ คุยกับบางคนก็หายดีแล้ว ส่งคลิปมาคุยกัน ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือระดับหนึ่ง บางคนอาจจะไม่ได้ยาจากเราด้วยซ้ำ

มีบางคนเป็นคนนครนายก แต่ว่าเขาอยู่ที่อื่น แล้วเขาถามมาทางเพจเฟซบุ๊กว่าควรทำอย่างไร อยู่กันแค่นี้ แล้วได้ยานี้มา เราก็จะช่วยดูให้เขา ยาอะไร กินอย่างไร พยายามหาว่ายาอะไร เพราะไม่มีฉลาก ก็จะให้คำแนะนำ ส่งคลิปวิดีโอการฟื้นฟูปอด ไปให้เขาทุก ๆ วัน อย่างน้อยก็มีคนรู้ว่าฉันไม่สบายอยู่ตรงนี้ มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้เขาสงบลงได้

— จำนวนกล่อง ไม่เท่าใจ —

การส่งต่อ “กล่องกำลังใจ” ใน 2 สัปดาห์ ที่ตอนนี้ส่งได้ประมาณ 45 กล่อง กับคำถาม “ให้น้อยหรือเปล่า”

อ.ดร.พิมลพร กล่าวถึงการจัดการว่า ทีมแอดมินจะพิจารณาว่า จำเป็นต้องใช้จริง ๆ เพราะว่าใคร ๆ ก็บอกว่าเรื่องนี้จะรบอีกนาน ต่อสู้กันไปอีกนาน ทีมเราจะพิจารณาว่า คนไหนต้องการจริง  ๆ แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เอาไปกักตุนไว้ เราไม่ได้หวง แต่พิจารณาว่าคนนี้ต้องได้ เราก็จะให้กล่องกำลังใจ แต่เรามีฟ้าทะลายโจร ที่เตรียมมาระดับหนึ่ง มีทีมเภสัชกรที่จะกังวลไม่ให้คนไข้จากสีเขียวเป็นสีเหลือง ซึ่งฟ้าทะลายโจรจะเป็นทางเลือกสำคัญตอนนี้ ก็จะมีเพิ่มเติมให้คนที่จำเป็นต้องใช้

“เราก็จะสร้างระบบของเรา เราก็จะมาคุยกันเรื่อย ๆ ว่าเคสแบบนี้นะ เราจะให้ เราก็จะปรับรูปแบบของเราไปเรื่อย ๆ โดยการพูดคุยกัน ให้เป็นข้อตกลงร่วมกัน”

ทั้งนี้ นอกจาก “กล่องกำลังใจ” สำหรับบุคคล ทีมงานยังจัดให้เป็นกล่องครอบครัว เพื่อส่งต่อให้ใช้ดูแลกันทั้งบ้าน และมีการทำบันทึกข้อมูลไว้

“เราต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้นมาก เท่ากับกำลังใจที่ลงไปในพื้นที่ เราอยากเห็นว่า เจอปัญหาอะไร แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง” พิมลพร กล่าว

ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ กล่าวเสริมว่า อีกประการคือเรามีบทบาทหนุนเสริม ไม่ใช่บทบาทแทนที่ เพราะฉะนั้นจำนวนกล่อง จึงไม่ใช่เป้าหมาย แต่หมายถึงว่า คนที่หลุดจากบริการมา แสดงว่าบ้านเราคนที่หลุดมาไม่ได้เยอะจริง ไม่ได้เยอะมาก เพราะฉะนั้นเราก็ช่วยคนที่ คนจำนวนหนึ่งเมื่อหลุดมาจากบริการ ความทุกข์ ความกังวลใจสูงมาก เราอาจจะดูว่าจำนวนน้อย แต่ความทุกข์กลับมีมาก เราไปช่วยเขาได้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี แล้วเห็นความเอื้ออาทรต่อกัน

ผมเห็นคนที่รับกล่องไป เขาบริจาคมากลับมา 100 -200 บาท ผมมองว่าคุณเป็นคนป่วย คุณยังมีใจอยากบริจาค ให้เงินมาด้วย อันนี้รู้สึกดีใจมาก ๆ เลยครับ”

— ชวนกันมองไปข้างหน้า —

อ.ดร.พิมลพร กล่าวว่า การไปต่อจากนี้ของทีมทำงานซึ่งมาจาก “สมัชชาสุขภาพ จ.นครนายก” หัวใจสำคัญ คือพัฒนานโยบาย เป็นวาทะกรรมที่พูดเพื่อให้คิดเหมือนกัน เห็นเหมือนกัน ซึ่งมันสอดคล้องกับงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน ถ้าทำให้ชุมชนของเราเข้าใจ แล้วมาสร้างมาตรการของชุมชน เช่น ทำประชาคมกันว่าหมู่บ้านเราจะทำอย่างไรต่อไป ที่เราชอบเรียกง่าย ๆ ว่า New Normal มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องใช้พลังของคนรวมกันคิด ถึงจะไปต่อได้

อันที่ 1 ที่เราอยากทำ เมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่ามีการติดเชื้อมากในครอบครัว ถ้า 1 คนเป็นโควิด อีก 10 คนที่อยู่ด้วยกันก็เป็นโควิดแน่นอน จะทำอย่างไรที่เราจะป้องกันได้ โดยเชิงนโยบายสาธารณะ

อันที่ 2 ที่อาจารย์บรรจงเสนอมาสำคัญและจำเป็นมาก ๆ ที่คนรักษาหายแล้ว กลับเข้ามาแล้วอยู่ในชุมชนได้ไม่ถูกรังเกียจ แล้วให้เครือข่ายเกิดกระบวนการจัดการที่ยังยืน

ยกตัวอย่าง อ.ปากพลี ถูกดำเนินการโดย อาจารย์บรรจง มงคลยง ซึ่งอาจารย์เป็นข้าราชการบำนาญ อาจารย์มีระบบของอาจารย์เองในแบบของคนในอำเภอ ถ้าให้ อ.บ้านนามาคุยก็จะเป็นแบบรูปแบบของบ้านนา อ.เมืองก็มีระบบของเมือง อ.องครักษ์จะเป็นแบบองครักษ์ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราต้องการ เพราะคำว่า “ยั่งยืน” ไม่ได้เกิดจากการออกแบบ มันเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกัน

อ.ดร.พิมลพร กล่าวด้วยว่า กิจกรรมที่ทำนี้เกิดขึ้นจากเงินที่รับบริจาคมาทั้งหมด เดิมที่คิดไว้ตั้งแต่ต้น อยากทำเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนนครนายกเอื้ออาทรกันเอง ให้และรับ ถ้ามีคนให้จากในนครนายก คนนครนายกรับมา จะทำให้เกิดความผูกพันกันมากขึ้น ไม่ได้อยากประชาสัมพันธ์ให้ใหญ่โต ทุกคนต้องมาบริจาคเยอะ เพราะรู้อยู่แล้วว่า “กล่องกำลังใจ” เหมือนแค่สื่อชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ไปถึงคนได้

นึกสภาพว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องสุขภาพ อยู่ดี ๆ จะไปคุยกับคนไข้ อาสาสมัครของเราคงไม่สนุก เราก็ควรจะมีอะไรบางอย่างที่ส่งไปพร้อมเขา ทำให้เขาเหมือนสร้างการสื่อสารกัน โดยใช้อุปกรณ์ หลังจากนั้นกำลังใจก็จะตามมา ที่เราอยากได้ตามมา ข้าว ปลา อาหาร อะไรจะตามมาทีหลัง ตัวเงินก็ไม่ได้เยอะทำกล่องไปแล้ว ก็น่าจะเหลือ 3 หมื่นกว่าบาทที่จะทำในล็อตต่อไป

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าฟ้าทะลายโจรแพงมาก ซึ่งเราก็ไม่ได้ซื้อขำ ๆ อาจารย์ลลิตา ทีมเภสัชกรของเราต้องคัดกรองว่า ต้องมีสารพอดี คนไข้ต้องได้ตามโดสที่ต้องการ เพราะเราหวังผลการรักษา เราหวังผลไม่ให้เป็นสีเหลืองจริง ๆ ไม่ได้หวังเอามัน เราจริงจัง”

000

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทางทีมสมัชชาสุขภาพและเครือข่ายในจังหวัด พยายามทำงานร่วมกัน เพื่อให้คนนครนายกปลอดภัยจากโควิดมากที่สุด ตามกำลังที่มีและยังมีโจทย์ที่ต้องร่วมกันแก้ไขกันต่อในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ