อดีต คงเป็นเพียงคำที่บ่งบอกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้สนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น แต่หากเรื่องราวนั้นยังคงน่าจดจำ มีความสำคัญให้เราอยากจะเก็บไว้ คำว่า อดีต ก็คงเป็นสิ่งที่หลายคนโหยหา (Nostalgia) และอยากกลับไปสัมผัสอีกครั้ง
หลายครั้งเรื่องราว “ความประทับใจ” ในอดีตยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่างกรรมต่างวาระ โดยมีรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งหากไม่นับวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในทุกแวดวง เราคงได้เห็นความต่อเรื่องของการฟื้นวัฒนธรรม วิถีชีวิต สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัดที่มักจะนำเอาคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ในอดีตมาประยุกต์ปรับปรุงในเข้ากับยุคสมัยและสร้างจุดขายใหม่ ๆ ให้ได้รับความนิยมอีกครั้ง รวมถึงบนถนนดรุณสำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
“บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 ปัจจุบันอายุครบ 66 ปี เดิมทีไม่ได้คิดจะทำบ้านหลังนี้ให้เป็นร้านกาแฟ แต่เนื่องจากบ้านทรุดโทรมไปตามเวลา เพราะไม่มีคนอยู่อาศัย แต่ก็ต้องดูแลซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง จึงคิดว่าน่าจะทำอะไรได้มากว่าการเก็บไว้เฉย ๆ และด้วยความชื่นชอบการดื่มกาแฟ บ้านหลังนี้นี้จึงกลายเป็นร้านกาแฟที่ดึงดูดผู้คน เพื่อให้คนในชุมชนท้องถิ่น ได้เข้ามาชมกับตึกเก่าในจังหวัดขอนแก่นที่มีน้อยลง ได้รู้ว่าเมืองขอนแก่นสมัยก่อนบ้านที่อยู่อาศัยเป็นแบบนี้ ชุมชนชาวจีนที่มาอยู่ขอนแก่นบ้านเป็นแบบนี้ ให้เข้ามาสัมผัสกับสิ่งของ เรื่องราววิถีชีวิต และประวัติศาสตร์เมือง”
โต้ง ประกิจ จูตะวิริยะ และ เก๋ กีรติพร จูตะวิริยะ เจ้าของร้าน รักอัน คอฟฟี่ RAK AN COFFEE เล่าถึงที่มาของร้านกาแฟที่แปรสภาพจากบ้านไม้กึ่งปูนอายุกว่า 66 ปี ซึ่งเป็นบ้านเก่าของ นายเปงมง แซ่จู (จูตะวิริยะ) ชาวจีนแต้จิ๋ว จากมลฑณกวางตุ้ง ให้กลายเป็นร้านกาแฟที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นในอีกมุมได้
บนถนนดรุณสำราญ ระหว่างสถานีรถไฟและศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จ.ขอนแก่น หากใครเคยผ่านไปผ่านมา ก็จะมองเห็นตัวอาคารไม้กึ่งปูน ที่มีกำแพงปูนสีเหลืองอ่อน ๆ และชานไม้บนชั้นสองของบ้านที่มองแค่เผิน ๆ ก็สามารถรับรู้ได้ผ่านกาลเวลามาหลายสิบปีที่ดูเด่นสะดุดตา แตกต่างจากบรรดาตึกน้อยใหญ่ในบริเวณนั้น ภายในบ้านเก่าหลังนี้เป็นกาแฟเล็ก ๆ ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวความรู้บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น แม้จะเป็นมุมเล็ก ๆ ในเมืองขอนแก่นร้านกาแฟแห่งนี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องราว มีข้าวของเครื่องใช้และเรื่องราวในอดีต เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ ที่ทำให้สัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในอดีตได้ตั้งแต่เดินเข้าประตูร้าน บอกความเป็นไปแห่งชีวิตของเมืองได้อย่างดี
“ถ้าเกิดพูดถึงพิพิธภัณฑ์คนไม่ค่อยจะอยากเข้า เพราะว่ามันดูโบราณและคนเข้าไม่ถึง แต่จะทำยังไงให้คนเห็นว่านี่คือร้านกาแฟ แต่ภายใต้ร้านกาแฟมันมีเรื่องราว บอกเล่าความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมันเป็นของจริงที่ใช้ในประวัติศาสตร์ของคนในยุคก่อน” เก๋ กีรติพร จูตะวิริยะ กล่าว
บทสนทนาควบคู่กับการจิบกาแฟทำให้ผู้เขียนเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองดอกคูณแห่งนี้มากขึ้น และทำให้ผู้เขียนนึกสงสัยว่าหากวันหนึ่งการพัฒนาของเมืองขอนแก่นที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด บ้านเก่าหลังนี้จะยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนขอนแก่นได้อีกต่อไปหรือไม่ เพราะไม่ห่างกันมาก เมื่อเหลียวมองออกไปนอกร้าน แถบนี้ยังมีอาคารบ้านเรือนที่สะท้อนวิถีคนเมืองขอนแก่นที่ผสมทั้งวิถีอีสาน จีน และไทยเข้าด้วยกัน ซึ่งเคยมีความพยายามเป็นย่านสร้างสรรค์ บนถนนศรีจันทร์
“หนึ่งสิ่งที่กังวลคือความเป็นเมืองที่มันต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ และวันหนึ่งสิ่งที่เคยเป็นรากของชุมชนนั้นอาจเลือนหายไป การที่เราเก็บบ้านแล้วก็สร้างร้านกาแฟร้านนี้ขึ้น ให้มันเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ เรามองว่าพื้นฐานของคนทุกคนเกิดจากสิ่งที่เป็นราก ถ้าเรามีการพัฒนาโดยยึดกับรากเดิมได้ และมีการโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ได้ ผมมองว่าชุมชนจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น” โต้ง ประกิจ จูตะวิริยะ กล่าว
“รักอัน” มาจากตัวอักษรจีน เล่อ (樂) แปลว่า สนุกสนาน คำว่า อ่าน (安) แปลว่า ปลอดภัยและสบายใจ สองตัวอักษรรวมกันได้ความหมายว่า เป็นร้านที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย ซึ่งสำหรับผู้เขียน รักอัน คอฟฟี่ RAK AN COFFEE ไม่เพียงแค่เต็มไปด้วยความสนุกสานและปลอดภัยเหมือนชื่อร้าน แต่คือร้านกาแฟที่เป็นสวนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชุมชนบนถนนดรุณสำราญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองขอนแก่น ให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรื่องเล่า