“สกลเฮ็ดคือวิถีชีวิต” คำพูดที่เป็นเสมือนวลีเด็ดที่ออกจากปากของยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญหรือที่คนรุ่นใหม่เมืองสกลเรียกกันติดปากว่า “พี่ยิป” เขาคือผู้ก่อตั้งกลุ่มสกลเฮ็ดเมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งเริ่มต้นกับเพื่อนๆในเมืองสกลนครอีกไม่กี่คน ด้วยหวังว่าพื้นที่สร้างสรรค์ในแบบสกลเฮ็ดจะกลายเป็นปลายทางสำหรับหนุ่มสาวที่รู้สึกเหนื่อยล้าจากการล่าฝัน และต้องการกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดสกลนคร เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานทั้งรับใช้ตนเองและรับใช้สังคม
“กลุ่มสกลเฮ็ดมีสมาชิกส่วนมากเป็นศิลปิน” พี่ยิปซีเล่าให้ฟังต่อถึงบุคลิกของสมาชิกกลุ่ม ซึ่งแน่นอนทุกคนล้วนแต่มีความเป็นศิลปิน แต่อาจจะเป็นศิลปินที่มีความต่างในเรื่องชิ้นงานนั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่การมีมุมมอง ความรู้สึก และทัศนคติที่โน้มเอียงมาสู่การทำผลงานศิลปะเพื่อรับใช้ชาวสกลนครและรวมถึงทุกคนที่สนใจงานของพวกเขา
จุดเริ่มต้นของการเป็นสกลเฮ็ดเกิดจากการจัดงานเทศกลาลสกลเฮ็ดครั้งที่หนึ่งเมื่อราว 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนที่สนใจในการสร้างงานฝีมือหรือที่ยุคนี้เรียกชื่อเก๋ๆว่า “งานคราฟต์” ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความประณีต ความพิถีพิถัน ซึ่งในจังหวะนั้นทุกคนมองว่าการจัดงานจะเป็นประตูไปสู่การสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชนให้ทราบว่าเมืองสกลนครมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันเพื่อบ้านเกิดและมีงานฝีมือเพื่ออวดโฉมต่อทุกคน และงานเหล่านี้จะกลายเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าทั้งในแง่ของฝีมือและความหมายที่ผูกโยงกับวัฒนธรรมบ้านเกิด
“ได้ลองคุยกันว่าน่าจะมีเฟสติวอลสักครั้งหนึ่งที่บ้านเราก็คือสกลนคร ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็เลยชักชวนกันในกลุ่มคนที่รู้จัก คนนั้นชวนคนนี้ คนนี้ชวนคนโน้น คนนั้นก็กลับบ้านอีกคนก็กลับเหมือนกัน คนนั้นกลับมาทำเกษตรอีกคนอยู่ต่างอำเภอและทอผ้า จากนั้นก็เลยนัดก็นัดคุยกัน คุยแนวทางว่าพอกลับมาบ้านแล้ว อยากทำอะไรสักครั้งหนึ่งเพื่อบ้านเราที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่คิดจะกลับบ้านเหมือนกันว่าจะทำอะไรเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด” พี่ยิปซีเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงเริ่มต้น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วทุกไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด หากแต่รู้จักกันผ่านการเชิญเพื่อนของเพื่อน เป็นลักษณะเล่าให้กันฟังปากต่อปาก แต่จุดร่วมที่ทุกคนมีคือความสามารถด้านงานฝีมือและมีใจรักบ้านเกิด ซึ่งโจทย์ในช่วงเริ่มต้นคือ กลับบ้านอย่างไรถึงจะอยู่รอด?
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเห็นงาน Festival เพื่อโชว์ของกลับกลายเป็นว่า ตอนนี้คำว่า “สกลเฮ็ด” กลายเป็นคำที่คนทั่วไปรู้จัก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนในจังหวัดสกลนคร หากแต่รวมถึงคนทั่วประเทศที่ต่างก็ให้ความสำคัญและจับตาดูว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร และถ้าจะพูดกันตามตรงตอนนี้กลุ่มสกลเฮ็ดก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกึ่งสถาบันหรือองค์กรที่คนสกลนครโดยเฉพาะในกลุ่มแกนนำระดับจังหวัด หวังจะให้พวกเขาเป็นที่พึ่งและร่วมขับเคลื่อนงานเพื่อร่วมออกแบบจังหวัดสกลนครให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
คำถามสำคัญคือผ่านมา 5 ปี วันนี้การทำงานของสกลเฮ็ดเป็นอย่างไร พวกเขายังคงเกาะเกี่ยว เชื่อมร้อยและมีรูปแบบการทำงานที่เข้มข้นเหมือนเดิมหรือไม่
การได้พูดคุยกับพี่ยิปซี ทำให้รู้ว่า ณ วันนี้กลุ่มสกลเฮ็ดยังคงเดินหน้าต่อไป และหากถามในส่วนของกิจการเพื่อตอบโจทย์จุดเริ่มต้นคือ การกลับบ้านมาสานฝันและให้ตัวเองอยู่รอดกับงานคราฟต์ที่แลกด้วยฝีมืออันเกิดจากการดึงเอาสายเลือดความเป็นศิลปินมาออกแบบงานให้มีชีวิตและเลี้ยงปากท้อง ตอนนี้ถือว่ากลุ่มสกลเฮ็ดไปได้สวย ไม่ได้มีปัญหา
“ตอนนี้ถือว่าทุกคนไปได้ดี มีการพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ในสมาชิกหลักประมาณ 20 คน ยังมีงานตลอดและเรื่องงานขายก็เลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งถือว่าเกินคาดทีเดียว” นี่คือคำยืนยันจากปากของพี่ยิปซีถึงความสำเร็จเบื้องต้น ยังไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเลี้ยงตัวเองและอยู่ได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องขยับต่อคือการขยายฐานคิดของแต่ละคนเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็จะลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานเพื่อชาวสกลนคร
สุทธิพงษ์ ศรีไกรภักดิ์ หรือต้น เจ้าของแบรนด์ “ดินจี่เสรีไท” นี่คือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมวงในฐานะลูกศิษย์พี่ยิปซี ต้นตัดสินใจกลับมาทำงานปั้นที่บ้านเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว หลังจากที่มีโอกาสรู้จักกับพี่ยิปซี และได้ฟังเรื่องราวทั้งมุมคิดและวิถีการพึ่งตนเองในแบบของชุดความคิดของกลุ่มสกลเฮ็ด จึงทำให้เขารู้สึกศรัทธาและอยากเข้ามาร่วมวง รวมถึงพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า การกลับมาอยู่บ้านที่อำเภอเต่างอยและสร้างงานศิลปะบนฐานชีวิตที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
“ดินจี่ แปลเป็นภาษาอีสานคือดินเผ่า ก็เหมือนกับข้าวจี่ แต่นี่เราเอาดินมาเผาก็เลยเป็นดินจี่ เพราะรู้สึกว่าอยากใช้ภาษาให้เป็นพื้นบ้านและมีความเป็นตัวตน ส่วนคำว่า เสรีไท ก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งแถบนี้เป็นดินแดนนักรบที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมืองในอดีตมายาวนาน” ต้นเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อแบรนด์ที่พยายามผูกโยงกับความเป็นพื้นถิ่นเพื่อให้มีความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้น
ดินเหนียวที่ต้นนำมาปั้นและเผาเพื่อสร้างงานเซรามิกให้ออกมามีความสดและวาว คือดินจากพื้นที่หลายชุมชนในหลายอำเภอของจังหวัดสกลนคร ซึ่งต้นออกเดินทางเพื่อตามหาดินเหนียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จนสรุปได้ว่าดินที่ดีที่สุดที่เอามาใช้ในงานของเขาคือดินสกลนคร ยิ่งเมื่อได้นำมาผสมกับการปั้นโดยใช้แรงบันดาลใจจากความเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ของจังหวัดสกลนคร ให้เกิดงานที่ออกมาจากจินตนาการและความรู้สึกของต้น ก็ยิ่งทำให้งานทุกชิ้นมีความหมายเพิ่มมากขึ้น
“ดินสกลนครมีคุณสมบัติดีคือสามารถเผาไฟที่มีความร้อนสูงได้ เป็นสโตนแวร์ที่ถือเป็นคุณสมบัติที่ดีสำหรับเซรามิกงานปั้น ซึ่งมีสีเฉพาะตัว มีความวาวเวลาเคาะจะมีเสียงดังคล้ายแก้วซึ่งมีความเป็นโซเดี่ยม มันวาว สามารถเผาได้ครั้งเดียวจบ ไม่ต้องเคลือบ เพราะถ้าดินที่อื่นจะต้องเคลือบถึงจะสวย แต่ดินสกลนครไม่ต้องเคลือบก็สวยเพราะมันมีความวาว เรียบ และเนียนเนื่องจากไม่มีทรายและดินอื่นปนเปื้อนเยอะ” ต้นเล่าให้ฟังถึงรายละเอียดเชิงเทคนิคของการทำงานปั้นและความโดดเด่นของดินเหนียวสกลนคร ซึ่งสำคัญกว่านั้นคือวันนี้เขามีความเข้าใจต่อความเป็นบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น ผ่านการทำงานปั้นที่ไม่ใช่แค่เข้าใจคุณสมบัติของดินอันเป็นวัตถุดิบเพื่อเอามาทำงานเท่านั้น หากแต่การเดินทางในจังหวัดที่บ้านเกิดตัวเอง ทำให้เขาได้เรียนรู้ผู้คน ประวัติศาสตร์และรากเหง้าที่ลึกมากขึ้น
สิ่งที่ต้นประทับใจอีกอย่างหนึ่งในการเข้ามาในฐานะลูกศิษย์ของกลุ่มสกลเฮ็ดคือบรรยากาศการล้อมวงคุย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ อุดมการณ์และความฝันของแต่ละคน ที่ต้นมองว่ามันคือเสน่ห์ในการทำกิจกรรมร่วมกันของคนรุ่นใหม่เพื่อเติมไฟให้แก่กันและกัน และด้วยเหตุนี้เองเขาจึงหลงรักความเป็นสกลเฮ็ดและกลายเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานแต่ละครั้ง
วันนี้กลุ่มสกลเฮ็ดเดินทางมากกว่า 5 ปี และกับคำถามในช่วงแรกคือ ณ วันนี้กลุ่มยังคงเดินทางอยู่หรือไม่ คำตอบคือกำลังเดินทางและถ้าพูดถึงการมีกิจการจากงานคราฟต์และการเป็นผู้ประกอบการก็ถือว่าทุกคนไปได้สวย ทั้งร้านกาแฟดริปของพี่ยิปซี งานปั้นของต้น นอกจากนี้ยังมีงานผ้า ทั้งการย้อม การทอ การปัก การเย็บ และรวมถึงแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ แต่สำคัญมากกว่านั้นคือการเป็นกำลังหลักทางความคิดในแบบคนรุ่นใหม่ของจังหวัดสกลนคร ซึ่งความคิดเหล่านี้หลายอย่างก็ถูกแปลงเป็นการปฏิบัติที่ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ ซึ่งจะว่าไปแล้วสกลเฮ็ด คือกลุ่มที่เป็นพลังแห่งความหวังในการมาสานงานต่อเพื่อพัฒนาเมืองสกลให้มีความร่วมสมัยที่นำเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ให้มีความคลาสสิกได้อย่างลงตัว
สกลเฮ็ด ถือเป็นต้นแบบของพลังของคนหนุ่มสาว ที่ถือเป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ นี่คือดอกผลจากความรักต่อบ้านเกิด โดยมีงานศิลปะหรือที่ยุคนี้เรียกว่างานคราฟต์เป็นสื่อกลางในการเชื่อมร้อยและส่งต่อพลังให้กัน โดยถือว่าพวกเขาสามารถทลายโจทย์ของการกลับมาอยู่บ้านเพื่ออยู่ให้รอด และพอรอดก็กลายเป็นกำลังสำคัญเพื่อต่อเติมเมืองสกลนครให้มีชีวิตชีวา น่าอยู่อย่างที่ต้องการ นี่คือเรื่องราวที่พวกเราทีมชีวิตนอกกรุงนำมาเล่าให้ฟัง กับความเป็น “สกลเฮ็ด : เมืองทำมือ”
#ชีวิตนอกกรุง
#สกลเฮ็ดเมืองทำมือ
#สกลนคร