ชีวิตนอกกรุง : สหายกาแฟ “แบ่งปันอย่างสหาย กอดคอกันไปอย่างพี่น้อง”ชี

ชีวิตนอกกรุง : สหายกาแฟ “แบ่งปันอย่างสหาย กอดคอกันไปอย่างพี่น้อง”ชี

“สหายกาแฟ” เป็นการรวมตัวของคนที่บ้ากาแฟเข้าด้วยกัน ซึ่งความตั้งใจเขาเหมือนกันคือ ทำยังไงก็ได้ให้กาแฟไทยอร่อยที่สุด โดยที่ไม่ได้มองในเชิงธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งในการทำลักษณะนี้เขาต้องการเพื่อน เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่จากการเริ่มต้น 5 ท่าน 5 แบรนด์คือ Nine One Coffee, Omnia Cafe & Roastery, Gallery Coffee Drip, School Coffee, Aka Ama พวกเขาคิดว่ายังไม่สามารถรับผิดชอบได้เพียงพอ จึงพยายามหาเพื่อนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดองค์ความรู้หรือการพัฒนา มีการการทดลองต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กาแฟไทยถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเชื่อว่ากาแฟจะไม่มีทางหยุดนิ่ง ไม่มีทางถึงคำว่า ดีที่สุด แต่จะมีคำว่าดีกว่าไปในทุกปี โดยที่องค์ความรู้เหล่านี้ก็ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ เราได้พูดคุยกับสมาชิกกลุ่มนี้บางท่าน ลองไปฟังแนวคิดของเขากันครับ

แสนชัย คนปลูกกาแฟที่วัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา เชียงใหม่

ผมทำกาแฟเข้าปีที่ 7 มีเป้าหมายคืออยากทำกาแฟให้ดีที่สุดและอยากพัฒนากาแฟให้ได้มากที่สุด การที่มีเป้าหมายแบบนั้น ก็จะต้องวิ่งเข้าไปหาคนที่จะทำให้เราพัฒนาได้ไวที่สุด ก็คือกลุ่มสหาย มองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนกาแฟไทยในเชิงของคุณภาพและในเชิงการพัฒนาร่วมกัน ในเชิงของการพัฒนาคุณภาพคือได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยกัน ผมอยู่ต้นน้ำ เขาอยู่กลางน้ำและปลายน้ำ ต่างเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน เช่นมีการมาร่วมส่งเสริมพูดคุย ทำให้ผมอยากทำกาแฟที่มีคุณภาพ การทำงานกับกลุ่มสหายจึงเป็นการประสานซึ่งกันและกัน การให้ความคิดเห็นว่าเราควรที่จะปรับปรุงแก้ไข เราควรจะไปในแนวทางไหนที่จะทำกาแฟให้ได้คุณภาพก็เหมือนต่างคนก็ต่างได้เรียนรู้ได้แชร์ซึ่งกันและกัน และต่างได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ในชีวิตจริงของเราก็เป็นเพื่อนกัน ถ้าผมไปกรุงเทพฯ ก็จะต้องไปหาเขา เขามาเชียงใหม่ เขาก็จะมาหาเรา มันมากกว่าที่เป็นแค่คู่ค้ากัน

เมื่อเรามีความเข้าใจแล้วมีการต่อยอดและพัฒนาร่วมกัน เช่นสวนกาแฟผมโดนไฟไหม้พี่บิ๊ก School Coffee ก็มาช่วยปลูกกาแฟใหม่เลย คือสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นการค้าขายเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ที่พูดกันติดปากก็คือ ถ้าไปคนเดียวไปได้ไว แต่ถ้าไปด้วยกันก็ไปได้ไกล ตีความว่า ถ้าเราทำอยู่คนเดียวก็จะเกิดผลที่ไวเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับการที่จะไปได้ไกล การที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันกับชุมชนกับทุกคน จะต้องอาศัยพลังที่จะร่วม และก็ไปด้วยกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และจะเกิดความยั่งยืนมากกว่า

พี่วัล คนปลูกและแปรรูปกาแฟที่บ้านป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด เชียงใหม่

ถ้าพูดถึงส่วนตัวเองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องของกาแฟสากลเท่าไหร่ จะดื่มกาแฟไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีโอกาสได้ดื่มกาแฟตัวดัง ๆ ที่ในตลาดโลกนิยมกัน สมาคมกาแฟพิเศษนั่นเป็นการรวมกลุ่มใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มเล็กๆ เช่น สหายหรือกลุ่ม Friends Trade ซึ่งเรารวมกันไม่กี่ราย เกิดมาจากการที่คนดื่มกาแฟส่วนหนึ่ง คนชงกาแฟส่วนหนึ่ง คนปลูกส่วนหนึ่ง และคนคั่ว เรียกว่า ต้น กลาง ปลายน้ำมาเจอกันมีการพูดคุยและตกผลึกความคิดว่าเราน่าจะหันมาร่วมมือกันให้ครบวงจรของกาแฟ ต้น กลาง ปลายน้ำ เราจะช่วยกันทำยังไงให้กาแฟในกลุ่มของสหายเรามันดีขึ้นมา เป็นการรวมแบบสหายเพื่อนจริงๆ ไม่ได้มีข้อสัญญาหรือจดทะเบียนอะไร เรารวมกันด้วยแนวความคิดที่อยากจะพัฒนากาแฟไทยเราให้ดีขึ้น โดยอาจจะมีเรื่องขององค์ความรู้ที่มาแบ่งปันกันในกลุ่มสมาชิกอยู่ตลอด เช่น เรื่องการแปรรูป การทดลองต่างๆ เทคนิคทางด้านการชง

สหายก็เหมือนเป็นเพื่อนกัน แต่ว่าเพื่อนมันมีบทบาทต่างกัน อย่างผมจะเน้นเรื่องของต้นน้ำ เรื่องการปลูกต่างๆ บางคนก็เน้นปลายน้ำเรื่องการชง เราก็มีการพูดคุย เช่น เรื่องรสชาติ ทางปลายน้ำบอกรสชาติยังมีจุดไหนที่คิดว่าเกิดจากปัญหาของ ต้นน้ำ หรือจากกลางน้ำ กลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำก็ช่วยกันคิดช่วยกันหาวิธี ก็จะเป็นลักษณะสื่อสารกันในกลุ่มเล็กๆ “แบ่งปันอย่างสหาย กอดคอกันไปอย่างพี่น้อง”ก็คือเรากำลังทำอย่างนี้ ทดลองอย่างนี้ ถ้าเพื่อนอยากจะทดลองหรือมีอะไรที่แตกต่างจากกันก็มาคุยกัน เผื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะได้นำไปใช้ต่อได้ ในภาพที่ใหญ่ขึ้นก็จะรวมกันให้ใหญ่ขึ้น แต่ต้องมีทิศทางที่ชัดเจนมาช่วยในการที่จะพัฒนากาแฟที่ทุกคนถือว่าเป็นธุรกิจและช่วยกันอย่างชัดเจน ในการแข่งขันก็เป็นแบบมิตรสหาย ไม่ใช่แบบศัตรูในทางการค้า ผลสุดท้ายแล้วการทำแบบนี้มันก็จะเกิดประโยชน์และมีการพัฒนา ช่วยกันเติมไปเรื่อย ๆ มาตรฐานก็จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างนี้จะยั่งยืน

พี่ปิ คนดริปกาแฟขายกรุงเทพ ฯ และ เชียงใหม่

คำว่า “สหาย” ก็ตรงตัว แปลว่า เพื่อน ซึ่งการรวมตัวไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็แค่ทุกคนชอบกาแฟเหมือนกัน แล้วมาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน มาเจอกัน แล้วรู้สึกว่าน่าจะทำอะไรมากกว่าแค่เปิดร้านกาแฟ ทำสวนกาแฟแล้วคั่วกาแฟเพื่อหารายได้ เรื่องทั้งหมดก็มาจบที่ ถ้าเราทำคนเดียว มันไปได้ช้าและอาจไปไม่ถึง พอมีการรวมตัวกัน อย่างเช่น มีทั้งเกษตรกร โรงคั่ว Barista (บาริสต้า)ทั้งหมดมารวมกัน ซึ่งจำนวนคนก็ไม่เยอะมาก แต่พอที่เราคิดกิจกรรมหรือว่าจะทำที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาแฟ มันส่งผลถึงวงกว้าง กลุ่มสหายก็เป็นกลุ่มคนที่หลากหลาย พอเวลาทำงานเราก็ต้องการความหลากหลายและที่ให้ความร่วมมือ ก็ชวนกันมา เช่น Project พัฒนาดินสำหรับต้นกาแฟ ซึ่งจริง ๆ ก็มีมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ทำอยู่แล้ว เราก็ไปพูดคุยกับเขา ว่ากิจกรรมแบบนี้มันมีประโยชน์กับกาแฟ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นการร่วมมือกันของคนกลุ่มอื่น ๆ แต่กลุ่มสหายก็ชัดว่าเป็นคนที่ชอบกาแฟ ถึงขั้นที่มาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นปลูกต้นกาแฟ Process หรือชงขาย

คนเหล่านี้ก็มีเรื่องเดียวที่ทำให้เรามารวมกันก็คือเรื่องกาแฟ ซึ่งสโลแกนสหายก็ใช้คำว่า คือ “การซื้อขายกันแบบเพื่อน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะซื้อถูกกว่าคนอื่น แต่เราซื้อถึงคุณค่าที่ควรจะเป็น เช่นเราตั้งไว้ว่ากาแฟตัวนี้ของป่าเมี่ยงของ Nine One Coffee ถ้าคุณจะเอาไปขายแก้วละ 100 บาท บางครั้งคนมองไม่เห็นภาพว่ากาแฟดีก็ต้องมีราคาที่ดีขึ้น คนก็จะได้เห็นภาพว่าดีระดับนี้ถึงใช้ราคาแบบนี้ได้ ทุกอย่างสมเหตุสมผล คือเราทำให้คนอื่นๆเห็นเป็นตัวอย่างว่าทำแบบนี้ได้ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องส่งไปประกวดตลอดเวลาเพื่อให้ได้รางวัลแล้วถึงจะอัพราคา แต่การที่เราบอกหรือทำให้คนอื่นเห็น ทุกคนก็บอกว่า อ๋อสภาพสวนดีขนาดนี้ Process แบบนี้ มีการใช้วัสดุเครื่องมือที่ดีและมีแนวคิดที่ดี พอทำออกมา สุดท้ายก็จะมาจบในแก้ว กินแล้วอร่อยจริง ซึ่งการทำงานแบบนี้เป็นอะไรที่ไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐก็ได้ แต่ก็มีหลายโอกาสที่เราก็อยากเชื่อมทั้งชาวบ้าน คนกินกาแฟ หน่วยงานรัฐ สุดท้ายคือเราอยากให้กาแฟดีและอร่อย ซึ่งส่งผลไปสู่เกษตรกรและกับคนกินกาแฟ

พี่บิ๊ก คนแปรรูปและเปิดร้านกาแฟ กรุงเทพ ฯ และ เชียงใหม่

ผมเป็นเจ้าของร้านดูแลเรื่องคุณภาพของเมล็ด ผลิตผล ผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง กลุ่มสหายกาแฟเราทำเรื่องเกี่ยวกับกาแฟ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ฝั่งของการเกษตร คือเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเกษตรกรรม รวมถึงการพัฒนาเรื่องการ Process บางอย่างเพื่อผลิตสารกาแฟที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดออกมาในสเปคของพวกเรา ก่อนที่จะส่งไปที่โรงคั่วของพวกเราเองด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการคั่วเพื่อขายหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งให้กับร้านค้าต่าง ๆ หรือผู้บริโภคตามบ้าน โดยมีแนวคิดหลัก ๆ คือการอยากที่จะสร้างความสุขให้กับทุกๆ Party ที่อยู่บน Supply Chain ยกตัวอย่าง Supply Chain ของกาแฟจะมีทั้งหมด 6 Party เริ่มตั้งแต่ 1. ธรรมชาติ 2. เกษตรกร 3. คน Process กาแฟ 4. คนคั่วกาแฟ สุดท้ายร้านค้าและลูกค้า เราอยากจะให้ Party ที่อยู่บน Supply Chain มีความสุขยิ้มได้ทุกคน

นั่นหมายความว่าเราต้องย้อนมาให้ความสุขกับธรรมชาติก่อน ซึ่งปัจจุบันธรรมชาติคือปัจจัยที่สำคัญมากที่จะสร้างกาแฟที่มีคุณภาพให้เราได้ หลังจากที่ธรรมชาติมีความสุข เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เก็บเกี่ยวและผลิต Green Bean หรือสารกาแฟนี้ออกมาก็จะต้องมีความสุขในเชิงการใช้ชีวิตของเขา นั่นคือราคาซื้อขายก็จะต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล และตอบแทนความตั้งใจของเขาที่เขาทำให้ดีสำหรับเรา โรงคั่ว ซึ่งเราเป็นคนควบคุมเองเป็นหน้าที่หลักๆที่จะควบคุมเชิงคุณภาพ ซึ่งจะมีทีมคั่วที่มีความสามารถก่อนที่จะส่งไปที่หน้าร้านเพื่อสกัดกาแฟที่ดีที่สุด จากมือเกษตรกรไปจนถึงมือลูกค้าอีกที นั่นคือ Conceptโดยเราขอเรียกตัวเองว่าเป็นเกรดที่มีคุณภาพ เป็น Quality Coffee ความตั้งใจเราอันดับแรกคือสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในเชิงการสร้างเมล็ดกาแฟรวมถึงการทำรสชาติต่างๆกาแฟของออกมาด้วยการ Process ทางธรรมชาติ เราขอประมาณตัวเองว่าอยู่ในเกรดที่อาจจะมากกว่ามาตรฐานทั่ว ๆ ไป ก็คงจะไม่ถึงขั้นที่เป็น Specialty (พิเศษ) หรือว่าเป็นกาแฟที่จริงจังในเชิงการสกัดขนาดนั้น

ถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการภาพรวม คือบ้านเราตอนนี้เราเจอการแข่งขันราคาของกาแฟจากเพื่อนบ้านรอบ ๆประเทศเรา ปัจจัยที่ทำให้เราเสียเปรียบมากคือ 1. ค่าครองชีพ 2. การปลูกกาแฟที่ลักษณะภูมิประเทศค่อนข้างลาดชัน ซึ่งการลาดชันเหล่านี้ เราจะไม่สามารถผลิตกาแฟได้มากเท่ากับเขา ยกตัวอย่างเช่นประเทศลาว ที่ราบสูงจะค่อนข้างเป็นที่สูงแต่ราบเรียบซึ่งจะมีกระบวนการการเก็บกาแฟที่ง่ายกว่าประเทศเรามาก เพราะฉะนั้นเขาจะสามารถผลิตจำนวนที่มากกว่าประเทศเรา ในขณะที่ต้นทุนค่าแรงอาจจะต่ำกว่าเราไม่มาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย 1 กิโลกรัม ต่ำกว่าประเทศเรา ถ้าเรายังต่อสู้กับเขาในเชิงการผลิต Commercial Grade ที่ในจำนวนเยอะ Industrial Quantity ก็จะทำให้วันหนึ่งเราอาจจะแพ้เขาไปโดยปริยาย และทำให้เกษตรกรที่เป็นชาวสวนกาแฟสุดท้ายก็ต้องตัดต้นกาแฟทิ้ง ปลูกอย่างอื่นแทน เชื่อว่าการพัฒนาเชิงคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ราคาต่อหน่วยของกาแฟมีมูลค่าสูงขึ้น

อย่างการประกวดกาแฟประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 ราคาประมูลมีมูลค่าถึง 27,000 ต่อกิโลกรัม และในราคาตลาดทั่ว ๆ ไปด้วยคุณภาพที่ดี ก็จะสามารถ Double Price ได้ จะแพงกว่า 3-4 เท่าก็ยังได้ เหมือนที่ผมซื้อกับแสนชัยอยู่ตอนนี้ก็ราคาแพงกว่าท้องตลาดหลายเท่าแล้ว และเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ ถ้าเกษตรกรท่านไหนเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสามารถเข้ามาขอองค์ความรู้จากพวกเรา พวกเรายินดีแชร์อย่างยิ่ง เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายในท้องตลาดในคุณภาพที่ดี ได้ราคาที่ดีและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรกลุ่มนี้ก็จะมีความยั่งยืน มีปัจจัยเรื่องเงินมาจุนเจือครอบครัวอย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ