ชีวิตนอกกรุง : หนุ่มสาวลีซู กับบ้านเลาวูโฉมใหม่

ชีวิตนอกกรุง : หนุ่มสาวลีซู กับบ้านเลาวูโฉมใหม่

บ้านเลาวู ประตูสู่เวียงแหง

เลาวู หมู่บ้านทางผ่าน หากใครได้เดินทางไปอำเภอเวียงแหง ช่วงก่อนถึงตัวอำเภอ จะเห็นตัวหนังสือขนาดใหญ่ติดอยู่บนผาข้างถนนว่า “เลาวูประตูสู่เวียงแหง” เลาวูคือหมู่บ้านที่ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาว ลีซู อาชีพหลัก ๆ คือการทำไร่กะหล่ำ ภาพแปลงกะหล่ำ ที่กระจายอยู่ทั่วไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ก็เป็นภาพจำอีกอย่างของเลาวู ที่เลาวูจะมีปัญหาคล้าย กับหมู่บ้านบนพื้นที่สูงอีกหลาย ๆ แห่งในภาคเหนือ นั้นคือปัญหาเรื่องที่ทำกิน เพราะโดยสภาพพื้นที่มักจะถูกประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่ให้ได้ ที่ผ่านมาก็เป็นการอนุโลมให้ทำเกษตรที่ไม่มีอายุนาน ๆ พวกพืชล้มลุกต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการปรับพื้นที่ให้โล่งเตียน จนเป็นภาพของการทำลายป่าอย่างที่เห็น

ด้วยปัญหาอย่างที่กล่าวข้างต้นส่งผลต่อมา คือ คนเลาวูจะส่งลูกหลานออกจากชุมชนเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า ทั้งการออกไปทำงานรับจ้างต่าง ๆ ที่พอจะมีต้นทุนก็ส่งออกไปเรียน แต่ก็มีไม่มากนักที่เรียนจบแล้วมีงานทำ ส่วนใหญ่เมื่อสู้ไม่ไหวทั้งการเรียนและทำงานก็หวนกลับคืนสู่บ้านเกิด กลับเข้าสู่การทำเกษตรแบบมีข้อจำกัดเช่นบรรพบุรษของตนเอง

วุฒิ เด็กหนุ่มชาวลีซูก็เป็นอีกคนที่อยู่ในวงเวียนนี้ ถึงแม้เขาจะสามารถเรียนจนจบปริญญาตรี และได้ทำงานในเมืองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต้องก็ถอดใจที่จะทนอยู่ในเมืองเพราะไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ประกอบกับวุฒิเห็นถึงราคาผลผลิตที่ไม่ถูกต้องนักในสายตาของเขา เพราะวุฒิเห็นราคาที่รับซื้อจากที่บ้านและราคาที่ปรากฏอยู่เมื่อเขาอยู่ในเมือง มันมีส่วนต่างที่มากเกินไป และนั้นเป็นเหตุผลหลักๆของการกลับบ้านเพื่อมาทำเกษตรของวุฒิ

จุดเริ่มของ อะกิปุ เริ่มต้นเมื่อวุฒิ เอาจริงเอาจังกับการทำเกษตร การเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้กับหลายๆกลุ่มหลาย ๆ โอกาส ได้ทั้งความรู้และได้เครือข่ายที่มาช่วยสนับสนุน สิ่งแรกที่วุฒิทำคือการลงมือปลูกสตอเบอรี่อินทรีย์ และมุ่งขายแบบออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่นั้นก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของวุฒิ จากความคิดแรกที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านคือราคาของผลผลิตที่คนในชุมชนได้นั้นต่ำมาก และยังไม่แน่นอนเอามาก ๆ แต่สาเหตุมันมีหลายด้านมากและปัญหาหนึ่งคือความเชื่อของชุมชนที่เปลี่ยนยาก วุฒิเคยพยายามดึงคนในชุมชนให้มาร่วมหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นไปด้วยคำถามและลงท้ายต้องแยกย้ายกันไป จนเกิดความท้อแท้ในหลาย ๆ ครั้ง 

กาแฟเลาวู เป็นอีกครั้งที่วุฒิพยายามที่จะยกระดับรายได้ของชุมชน แต่ครั้งนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่าทุกครั้ง วุฒิเล่าให้ฟังว่า ที่เลาวูมีกาแฟเป็นพืชดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว แต่ที่ผ่านมาจะถูกขายเป็นเชอร์รี่ (ผลสด)ในราคาไม่กี่บาท เพราะชุมชนไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูป หลังจากที่ลองพยายามทำก็ปรากฏว่ากาแฟที่แปรรูปมีราคาและคุณภาพดี เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลได้ ตอนนี้ได้มีการลงหุ้นรวมกลุ่มเพื่อพัฒนากาแฟของเลาวูให้เป็นกิจลักษณะ โดยใช้ชื่อว่า เลาวูคอฟฟี่ วุฒิรวบรวมเพื่อน ๆ พี่น้องและคนรุ่นใหม่ที่เห็นด้วย โดยเอากาแฟจากสวนที่ตนเองมี รับซื้อในราคาเท่าที่เอาไปขายข้างนอก แต่ไม่ต้องขนส่ง แล้วเอามาแปรรูป ตั้งแต่ การโปรเซส ไปจนถึงกาแฟคั่ว และตอนนี้ กลุ่มก็เปิดร้านกาแฟอีกด้วย วุฒิบอกว่าความคิดหลักๆของร้านกาแฟคือ คนในชุมชนต้องได้ชิมกาแฟของตัวเองเพื่อจะได้รู้ว่า กาแฟบ้านเลาวูมีดีอย่างไร โดยร้านนี้จะไม่ตั้งราคาของกาแฟ แต่จะให้จ่ายตามใจคนดื่ม 

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจกิจ ตอนนี้กลุ่มอะกิปุก็พยายามสร้างพื้นที่ค้าขายและวัฒนธรรมของชุมชน มีหลาย ๆ คนในกลุ่มพยายามหาแนวทางจากสิ่งที่ชุมชนมีในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องเสื้อผ้าลีซู การท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม การพัฒนาการทำเกษตร การหาช่องทางทางการค้าใหม่ ๆ อย่างออนไลน์ โดยตั้งต้นว่าให้ลงมือทำเพื่อให้เห็นผลเป็นตัวอย่างให้ชุมชน หรือก็คือทำดีกว่าพูดนั้นเอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ