มองลุ่มน้ำโขงกับสิทธิของผู้คนสองฝั่งกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

มองลุ่มน้ำโขงกับสิทธิของผู้คนสองฝั่งกับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

“ลุ่มน้ำโขงเป็น ลุ่มแม่น้ำที่เป็นทุนทางสังคมซึ่งทำประโยชน์ต่อประชาชนในทั้งหมด 7 – 8 ประเทศ  ในเรื่องของการทำมาหากิน สร้างรายได้ อย่างคนหาปลาในหนึ่งปีเขาสามารถหาเงินได้หลายหมื่น หลายแสนล้านบาท หรือดอลลาร์ก็ตาม” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉายภาพแม่น้ำโขงสายน้ำนานาชาติที่หล่อเลี้ยงผู้คนและวิถีชีวิตริมสองฝั่งโขง

“สรุปแล้วลุ่มน้ำโขงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทำให้มีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของพี่น้องลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ที่สถานการณ์หลัง โควิด-19 ซึ่งเราทราบดีว่าคนอพยพกลับมา ไม่มีที่ทำมาหากิน สภาพการทำมาหากินในพื้นที่ยากขึ้น การทำมาหากินบนพื้นฐานทรัพยากร  ดิน ป่าลุ่มน้ำ และลุ่มน้ำโขง จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข” นพ.นิรันดร์ กล่าวย้ำและเชื่อมโยง “ลุ่มน้ำโขง” แหล่งทรัพยากรสำคัญที่ไหลผ่านประเทศไทยใน 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ด้วยระยะทางกว่า 900 กิโลเมตร พร้อมเผื่อแผ่หล่อเลี้ยงวิถีผู้คนริมสองฝั่ง แต่กำลังถูกคุกคามและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการขึ้น-ลง ของน้ำที่ผันผวนยากจะคาดเดา อันเป็นผลจากเขื่อนที่เกิดขึ้นในตอนบนของแม่น้ำโขง นั่นทำให้เครือข่ายภาคประชาชนต้องเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่อง และจัดประชุมสรุปบทเรียน เชื่อมร้อยเครือข่ายองค์กรเอกชนองค์กรชุมชนและภาคีสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน (ครั้งที่ 2) ณ ศาลาประชาคม อ.ปากชม จ.เลย  ในวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบและติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน

“แม่น้ำโขง” สายน้ำนานาชาติกับนโยบายการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด

“การประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ทั้ง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แล้วก็สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และที่สำคัญคือเครือข่ายของพี่น้องประชาชนที่อยู่ลุ่มน้ำโขงในกระแสของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบายการพัฒนา ที่กระทบต่อเรื่องของการจัดการลุ่มน้ำโขง เนื่องจากเราพบว่าแม่น้ำโขงในรอบ 20 ปี ที่ผมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 พบกับปัญหาเรื่องนโยบายการพัฒนามาตลอด เนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำนานาชาติ ดังนั้น ฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องในนโยบายการพัฒนาก็มีประเทศจีน เมียนมา แล้วก็กลุ่มในประเทศที่เราเรียกว่า MRC คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งนโยบายต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องการระเบิดเกาะแก่งและการสร้างเขื่อนหรือแม้กระทั่งเรื่องการผันน้ำก็ตาม  เป็นนโยบายที่กระทบต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง

ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นลุ่มแม่น้ำที่ถือว่าเป็นทุนทางสังคมที่ทำประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องของการทำมาหากิน การทำเกษตรริมโขง  จากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนลุ่มน้ำโขง ในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเวทีการประชุมบทเรียนเชื่อมร้อยเครือข่ายครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างพื้นที่และกลไกให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ได้เข้ามามามีส่วนร่วมในนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำโขง ด้วยข้อมูล งานวิจัย ความรู้ แนวทางการจัดการแก้ปัญหาและข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อนำไปเสนอต่อนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกันโดยประชาชนในพื้นที่

นโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำโขงแบบยั่งยืน ต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เป็นข้อเสนอของสหประชาชาติ (UN) ที่รัฐบาลประมาณเกือบ 200  ประเทศ เคยบอกว่า 17 ข้อ ของนโยบายในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  เป็นสิ่งที่จะต้องมาปฏิบัติตามและนโยบายในการพัฒนาในเรื่องเขื่อน ทุกเรื่อง เกาะแก่ง หรือแม้กระทั่งการผันน้ำ มันจะไปทำลายเรื่องแม่น้ำโขงตรงไหน เพราะว่าประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานวิชาการต่าง ๆ ก็จะเอาข้อมูลมาคุยกัน แล้วตรงนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาโดยประชาชน” นั่นหมายความว่าเป็นการใช้สิทธิ อะไรเป็น “สิทธิ” ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในเรื่องของการเสนอความเห็น ร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายและเสนอต่อรัฐบาลได้

ตรงนี้รัฐบาลจะได้ไปคิดประกอบว่า จะยังยืนยันที่จะมีนโยบายสร้างเขื่อนที่ขณะนี้กลายเป็นการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช่ประโยชน์ในพื้นที่แล้ว แต่เป็นประโยชน์ด้านธุรกิจ เป็นพลังงานที่ในภูมิภาคไปซื้อขายกันและคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน แล้วไม่ใช่ไฟฟ้าตามบ้านเรือนเป็นไฟฟ้าในเขตอุตสาหกรรมโรงงานต่าง ๆ หรือเขตเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้เราพบว่าจะทำให้ปัญหาประชาชนแย่ลง เพราะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

นโยบายเศรษฐกิจตอนนี้มันตอบสนองต่อคนร่ำรวยที่กระจุกไม่กี่คน ตรงนี้เราเรียกปัญหาความเหลื่อมล้ำและประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีความเลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก

ความสำคัญของการสัมมนาในวันนี้ เราต้องมาคุยว่า ถ้าพัฒนาโดยประชาชนเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนที่เน้นการมีส่วนร่วม เราจะเสนอความคิดต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับรัฐบาลให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ตามแนวของอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ที่กระจุก แต่ไม่กระจายสู่ประชาชนได้อย่างไร”

การพัฒนาที่มั่นคงต้องไม่ทำลายแม่น้ำโขง

“ผมว่าแค่นี้ไม่พอ ต้องมี 2 อย่าง หนึ่ง คือ ต้องมีจิตสำนึกว่า ทรัพยากรลุ่มน้ำโขงเป็นทรัพยากรร่วม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ของรัฐหรือเอกชนแต่เป็นของประชาชน เพราะประชาชนเป็นประชาชนลุ่มน้ำทั้งหมดที่เป็นแม่น้ำนานาชาติ 7-8 ประเทศ นั่นหมายความว่า เมื่อเป็นของประชาชนจึงสอดคล้องกับสิ่งหนึ่งว่า การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนนั้น หมายความว่า “เราจะไม่ทำลายแม่น้ำโขง” ไม่ทำลายลุ่มน้ำ ไม่ทำลายพันธุ์ปลา ไม่ทำลายระบบนิเวศ ไม่ทำลายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับลุ่มน้ำโขง และมันสามารถอยู่กับชาวบ้านได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน เพราะฉะนั้นคำว่า “มั่นคง” ประชาชนต้องมั่นคง ประชาชนต้องยั่งยืนในการมีชีวิตอยู่

ข้อที่ 1 คือ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ที่ไม่ต้องไปเป็นแรงงาน

ซึ่งตอนนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว หลังโควิด-19 มันเป็นสิ่งที่ต้องมาทำงานภายในพื้นที่ ตรงนี้จึงมีความสำคัญว่าเรื่องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ต้องอยู่บนพื้นฐานของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทุนธรรมชาติและทุนในการทำมาหากิน อยู่ได้อย่างไร ถ้าเป็นของประชาชนเราจะรู้ทันที แต่ถ้าบอกว่าเป็นของรัฐ รัฐตัดสินจากผู้เดียว เราก็รู้ว่ามันพลาดมาตลอดร่วม 20 ปี เป็นของเอกชนก็ไม่ได้ เพราะเอกชนจะมาเอาประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างไร จึงเป็นลุ่มน้ำโขงที่เป็นทรัพยากรร่วม รัฐเอกชนและต้องมาช่วยกันคิด

ข้อที่ 2 คือสิทธิในการตัดสินใจ

ผมว่าประเทศไทยตัดสินใจไว้แล้ว เราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวนะครับ อันนี้เป็นเรื่องจริงเพราะเมื่อคนกลับมา มีข้าวปลากิน มีพืชผักกินได้ ขายได้มีรายได้ เขาก็จะไม่ไปไหน เพราะอย่างนั้น เขาจึงตัดสินใจว่าเขาจะเป็นเกษตรกร เมื่อเป็นเกษตรกรคุณมาทำลายลุ่มน้ำโขง จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่เขาไปตัดสินใจแต่กลายเป็นรัฐตัดสินใจให้ เอกชนตัดสินใจให้ เหมาะเป็นคนงานในโรงงาน เขาไม่ต้องการ เขาอยากทำงานเป็นเกษตรกร หาปลา ปลูกผัก

ทำเกษตรริมโขงตรงนี้คือสิทธิในการตัดสินใจ ไม่ได้หมายความว่าเขาต่อต้านรัฐบาล แต่เขาอยากให้รัฐบาลฟังว่านี่คือประชาชน ทำอย่างไรถึงทำให้เครือข่าย 7-8 จังหวัด ในประเทศไทย สามารถขยายไปที่ลาว เวียดนาม กัมพูชาเป็นเรื่องของนานาชาติ  และเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม จึงรวมตัวกันเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง มีแล้วต้องทำอย่างไร ทำองค์ความรู้การจัดการแม่น้ำโขงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตรงนี้สถาบันการศึกษา และนักวิชาการจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยกัน ซึ่งมันไม่ขาดแล้ว เรามีความรู้เรื่องนี้เยอะ 20 ปีนี้เราพัฒนาความรู้ตรงนี้มาเยอะ ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้มั่นคง

หน่วยงานของรัฐต้องยอมรับ ว่านโยบายการตัดสินใจต้องฟังจากประชาชน และนโยบายนั้นต้องไปชั่งน้ำหนักกับนโยบายการพัฒนาที่ทำร้ายลุ่มน้ำโขง ถ้าคิดว่าตรงนี้ดีกว่าต้องทำให้เกิดนโยบายระดับชาติ และที่สำคัญ คือต้องทำให้มีการกำกับติดตามตรวจสอบ เพราะในโลกปัจจุบันนี้เป็นโลกที่อยู่ในลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยม

ถ้าต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องให้ทรัพยากรที่เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เราก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องนโยบายการพัฒนาใหม่ เป็นนโยบายการพัฒนาที่สอดคล้องต่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน คิดแล้วต้องช่วยกันทำ และผลักดันให้เกิดความเป็นจริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ