ชีวิตนอกกรุง : การปรับตัวของชาวนายุคใหม่

ชีวิตนอกกรุง : การปรับตัวของชาวนายุคใหม่

หากพูดถึงการทำนาและชาวนา ที่ผ่านมาในอดีต มักจะเป็นอาชีพที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้ว่าข้าวจะเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก แต่ชีวิตชาวนาก็ยังข้ามไม่พ้นเส้นความยากจน สิ่งที่พอจะช่วยให้ชาวนามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้คือต้องปรับตัวตามยุคและเทคโนโลยี

ช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังจังหวัดราชบุรีเพื่อทำข้อมูลงานสารคดีที่เกี่ยวข้องกับชาวนา ภาพจำแรกของผมคือภาพของชาวนาที่กำลังดำนา ปลูกข้าว หว่านไถด้วยตนเอง หรืออาจจะเกณฑ์เพื่อนบ้านมาช่วยกัน แต่สำหรับที่นี่ไม่เป็นแบบนั้นแล้วครับ

เมื่อชาวนาปรับตัวเองสู่การเป็นผู้ประกอบการ

ทำนาสมัยนี้มันดีกว่าสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่คือ อุปกรณ์มันดีทุกอย่างไง เราแค่โทร แบบ ไฮเทคไงคะ โทรวันนี้ดำนานะคะ เขาก็ดำนาให้เราแล้ว รถไถเราก็แค่โทร คือมันดีกว่าเมื่อก่อนเยอะที่เราต้องลงทุนลงแรงหมด

พี่ววรณา พุทธิจุณ ชาวนาจังหวัดราชบุรี

พี่วรรณา พุทธิจุณ อธิบายให้ผมฟังถึงลักษณะของการทำนาในยุคนี้ ที่ชาวนากลายเป็นผู้จ้างจัดหาคนมาทำหน้าที่แทนแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การเพาะต้นกล้า ดำนา ใส่ปุ๋ย พ่นยา จนถึงการเก็บเกี่ยว ล้วนแล้วแต่มีคนรับจ้างเหมาทำทุกขั้นตอน

มันๆๆตามยุค ตามสมัยอะ ถ้าเราไม่ทำอย่างงี๊ เราก็ไม่ทันเขา มัวแต่ไปใช้ไถอยู่นั่น เขาออกรวงกันแล้วยังไม่เสร็จเลยอะเรา มันเปลี่ยนไปเยอะ

แจ๊ค วิทรูย์ คงแคล้ว ผู้รับจ้างพ่นยายามว่างจากการทำนาของตนเอง

แจ๊ค วิทรูย์ คงแคล้ว คือชาวนาที่ผันตัวเองมารับจ้างเหมาพ่นยา แจ๊คเล่าว่าช่วงว่างหลังจากทำนาของตนเองก็จะรับจ้างเหมาพ่นยาให้กับนาของเพื่อนบ้าน โดยตัวยาที่ใช้เจ้าของที่นาจะจัดเตรียมไว้ให้ แจ๊คเองต้องลงทุนในส่วนของเครื่องพ่นยาและน้ำมัน วันหนึ่งทำได้ประมาณ 20-30 ไร่ โดยเฉลี่ยเหมาไร่ละ 100 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีเลยทีเดียว แต่แจ๊คเองก็บอกว่า สามารถทำแบบนี้ได้เพียงช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการทำนาเท่านั้น

แม้การบริหารจัดการนาแบบนี้จะมีความสะดวกเพราะใช้วิธีจ้างเหมา แต่ก็ทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้น หากผลผลิตต่อไร่ยังได้เท่าเดิม กำไรที่ได้ก็น้อยลง หรือบางทีหากเจอปัญหาถึงกับขาดทุนก็มี เกษตรกรตำบลห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี จึงรวมกลุ่มกันจัดตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต  และช่วยกันระดมทุนสร้างลานกลางรับซื้อข้าวขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหานี้

รวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

ลานกลางรับซื้อพืชผลทางการเกษตรที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตรวบรวมเงินกันก่อสร้างขึ้นมา

คือเมื่อก่อนเราไม่เคยมีลานกลาง ก็นำข้าวไปขายโรงสีบ้าง ไปขายลานของที่อื่นบ้าง เลยรวมตัวกันสร้างลานกลางขึ้นมา เพื่อที่จะรวมกลุ่มเกษตรกรในการที่จะมีสถานที่รับซื้อเป็นของกลุ่ม  ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และได้รับมาตรฐาน โดยที่ไม่ต้องไปเสี่ยงว่ากิโลจะไม่ตรง เกษตรกรที่รวมกลุ่มกัน ก็ยังมีอำนาจต่อรองในการคุยกับโรงสีด้วย

พี่ไชยวิทย์ บัวงาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต

พี่ไชยวิทย์ บัวงาม เล่าให้ฟังถึงที่มาของการรวมกลุ่มสร้างลานกลางขึ้นมา โดยใช้วิธีรวมหุ้นกันในกลุ่ม หุ้นละ 100 บาท จำนวน 18,000 หุ้น ได้เงินตั้งต้นมาทำลานรับซื้อและเครื่องชั่งน้ำหนักแบบมาตรฐานของราชการ เกษตรกรในกลุ่มสามารถนำพืชผลทางการเกษตรมาส่งให้กลุ่มได้โดยตรง ทำให้ลดค่าขนส่งในการเดินทางและสามารถมั่นใจกับความเที่ยงตรงในมาตรฐานเครื่องชั่งของกลุ่มเองด้วย นอกจากนี้การมีลานกลางทำให้สามารถรวบรวมพืชผลทางการเกษตรได้เป็นจำนวนมาก กลุ่มพ่อค้าจะให้ความสนใจและเข้ามารับซื้อถึงที่ เป็นโอกาสที่เกษตรกรเองจะสามารถต่อรองราคาที่เป็นธรรมให้กับพืชผลของตนเองได้

การรวมกลุ่มแบบนี้ทำให้พวกเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มได้ดีเลยทีเดียว แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ ปัญหาหลักที่กลุ่มมักจะเจอคือเรื่องของผลผลิตในการทำนาที่ปริมาณและคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉลี่ยข้าว 1 ไร่ ได้ผลผลิตเพียง 70-80 ถัง หรือ 700-800 กิโลกรัม เท่านั้น ทางกลุ่มจึงเริ่มมองหาทางแก้ปัญหาโดยการค้นหางานวิจัยด้านพันธุ์ข้าวที่จะสามารถตอบโจทย์ในด้านการเพิ่มผลผลิตและต้านทานโรคตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ค้นหางานวิจัย เพื่อเพิ่มศักยภาพของข้าว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดย ดร.บุญรักษ์ พันธ์ไชยศรี และ ดร.จิรณัทฐ์ เตชะรัง ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประสบความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ด้วย “เทคโนโลยีกระตุ้นการกลายพันธุ์ด้วยลำไอออนพลังงานต่ำ” เพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง

เครื่องยิงไออนพลังงานต่ำเพื่อเปลี่ยนให้พันธุ์ข้าวมีผลผลิตที่ดีขึ้นและมีความต้านทานโรคสูง

เมื่อทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตทราบข่าวถึงเทคโนโลยีตัวใหม่นี้ ก็ได้ติดต่อแวะเวียนมาขอเยี่ยมชมผลการทดลองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายต่อหลายครั้ง

ท่านประธาน วิชิต พันธ์เพียร ท่านบอก เอ๊ะ ทำยังไงในเมื่อเกษตรจะมีรายได้ให้สูงกว่านี้ ให้ได้ไร่ละหมื่น ก็เลยเป็นที่มาของที่ไปพบกับเทคโนโลยีตัวใหม่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เขาสามารถที่จะผลิตพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงโดยใช้เทคโนโลยีไอออนพลังงานต่ำ ก็เลยคิดว่าถ้าเกษตรกรยังทำนาเท่าเดิมแต่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนเท่าเดิมเนี่ย เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยนะครับ

พี่ไชยวิทย์บอกว่ากว่าจะได้ทดลองปลูกข้าวพันธุ์ใหม่นี้ ทางกลุ่มและสภาเกษตรกรราชบุรี ทั้งติดตาม เฝ้าดู เยี่ยมชม ผลงานข้าวของมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กันอยู่หลายปีทีเดียวครับ กว่าทางมหาวิทยาลัยจะยอมให้ทดลองปลูกจริงเป็นครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน    ซึ่งทางกลุ่มวิสาหกิจของพี่ไชยวิทย์ก็ต้องมีการจัดทำแผนการปลูก แผนการตลาดและอีกมากมาย เพื่อให้เป็นโมเดลการประกอบการนี้ เป็นไปได้จริง

จับมือกับนักวิจัย จนเกิดเป็นโครงการ “มช.- ราชบุรีโมเดล”

โครงการ มช.-ราชบุรีโมเดล มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการยกระดับงานวิจัยให้สามารถทำได้จริงในชุมชน หลังจากทดลองปลูกในพื้นที่ราชบุรี ผ่านทางแปลงทดลองของชาวนาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิต ผลปรากฎว่าข้าวมีผลผลิตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉลี่ยได้ปริมาณสูงมากกว่า 1 ตันต่อไร่ อีกทั้งยังต้านทานโรคได้มากกว่าเดิมอีกด้วย

เรามีทั้งหมดอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นข้าวหอม มช 10-1 ซึ่งเป็นข้าวกลุ่มข้าวบริโภค กลุ่มที่ 2 เนี่ย เป็นข้าวขาว เป็นข้าวแป้ง เราใช้ชื่อว่า MSY-4 ปัจจุบันชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ ศฟ 10-5 นะครับ แล้วก็กลุ่มที่ 3 เป็นข้าวเพื่ออาหารสัตว์ ซึ่งอ่า ใช้เบอร์ OSSY-23 หรือว่า ศฟ 10-7 ก็จะเป็นข้าว 3 ตัวแรกที่เป็นข้าวนำร่องในการนำมาทดสอบ จากการทดสอบ ก็ปรากฏว่าข้าวทั้ง 3 ตัวเนี่ย ค่อนข้างปรับตัวได้ดีที่ราชบุรีนะครับ

พี่เมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรี เล่าให้ฟังถึงข้าว 3 สายพันธุ์แรกที่นำมาทดลองในพื้นที่ราชบุรี

ขยายผล ต่อยอดสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการนา

หลังจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตประสบความสำเร็จในด้านผลผลิตข้าวต่อไร่ที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรจากหลายจังหวัดให้ความสนใจและมาเยี่ยมชมแปลงนาอยู่ไม่ขาดสาย และต้องการพันธุ์ข้าวเพื่อไปปลูกต่อเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รวมทั้งสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจึงได้หารือร่วมกันว่าจะให้กลุ่มวิสาหกิจชุมเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตเป็นศูนย์กลางในการผลิตพันธุ์ข้าว และจัดทำ MOU ร่วมกับสภาเกษตรกรที่สนใจทั้งหมด 15 จังหวัด เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันในการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปส่งต่อต่อให้เกษตรกรในจังหวัดที่สนใจ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องลงชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตและหลังจากได้ผลผลิตข้าวแล้วจะต้องขายคืนกลับมาให้กลุ่มเพื่อป้องกันเมล็ดพันธุ์ข้าวหลุดออกไปยังกลุ่มทุนภายนอก โดยที่ทางกลุ่มเองก็มีการวางแผนการตลาดสำหรับข้าวสายพันธุ์นี้รองรับไว้แล้วครับ

เครือข่ายเข้มแข็ง การตลาดก็ไปรอด

คือเรื่องการตลาดเนี่ยนะครับ บางส่วนถ้าอยู่ใกล้ราชบุรีก็อาจจะกลับมาราชบุรี แต่ถ้าอยู่ไกลเนี่ย ผมก็จะไปประสานกับกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ เพื่อที่จะเอาเกษตรกรเข้าไปคุยโดยที่ไม่ต้องไปผ่านนายหน้า ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ท่านก็จะลดค่าใช้จ่ายไป แล้วท่านอาจจะไปทำ MOU ร่วมกันกับโรงสีว่าข้าวพันธุ์นี้ไม่ปนนะ ในอนาคตถ้าเกิดผลผลิตดี มีคุณภาพดี ท่านอาจจะได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปด้วยนะครับ หมายความว่าไปประสานงานกับผู้รับซื้อว่า ผมมีสมาชิกในกลุ่ม ผลิตข้าวอยู่ 1,000 ตัน ผมก็จะไปเสนอเขาว่า 1,000 ตันเนี่ย ไม่ปนนะ เป็นข้าวพันธุ์นี้ คุณภาพอย่างนี้ ท่านจะช่วยเกษตรกรในพื้นที่ของท่านได้มั๊ย ผมก็จะไปประสานให้ โดยที่ผ่านทางหน่วยงานสภาเกษตรนะครับ” พี่ไชยวิทย์กล่าว

ด้วยการขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือของสภาเกษตรกรทั่วประเทศ ส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกข้าวพันธุ์นี้จำนวนมาก ทำให้มีพลังในการต่อรองกับผู้ซื้อ เพราะข้อดีของข้าวที่มีคุณภาพสูงและมีปริมาณมาก ทำให้โรงสีที่รับซื้อไม่จำเป็นต้องนำมาเทรวมกับข้าวพันธุ์อื่นเพื่อขายรวมเช่นในอดีต

เราจะทำ 1,000 ไร่ ให้มันเป็นพันธุ์เดียวกันหมด คุณภาพเหมือนกันในทุ่งเดียวกัน เราก็จะมีอำนาจความเข้มแข็งในการที่จะไปต่อรองกับผู้ประกอบการ ด้วยการที่เราเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร เรารู้จักกันทั้ง 77 จังหวัด เราก็จะสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มขึ้นมา

พี่ไชยวิทย์ บัวงาม ย้ำถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของการรวมกลุ่มผลิตข้าวพันธุ์เดียวกันที่มีคุณภาพสูง

จากเมื่อก่อนที่ชาวนาเป็นเพียงคนปลูกข้าวขายโรงสี  พอได้เห็นแนวคิดและรูปธรรมของการประกอบการที่เป็นระบบอย่างนี้  ผมก็รู้สึกมีความหวังไปกับชาวบ้านที่นี่ ล่าสุดมีการทดลองปลูกข้าวพันธุ์ใหม่นี้ ใน ต.ห้วยไผ่ จำนวน 35 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 425 ไร่ ผลผลิตมากกว่า 350 ตัน  ชาวนามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 39 % และบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 186 % เลยทีเดียวครับ

การเกาะเกี่ยว เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน เป็นพลังสำคัญในการทำเกษตรในยุคปัจจุบันครับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรห้วยไผ่เพื่อการผลิตแสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อพวกเขาร่วมมือกันขยับ ยกระดับทั้งเรื่องการผลิตและการตลาดรูปแบบต่างๆ  ผลประกอบการที่คาดหวัง ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ตั้งเป้ายกระดับชาวนา สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร

พี่เมธัสสิทธิ์ ลัคนทินวงศ์ ย้ำถึงการปรับตัวของชาวนาให้ยุคปัจจุบัน ที่กำลังผันตัวเองไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร

เกษตรกรจะกลายเป็นผู้ประกอบการได้ คือต้องเริ่มเข้มแข็งก่อน จึงจะสามารถบริหารจัดการได้ ณ ปัจจุบันเนี่ย เขาเก่งด้านการผลิต พอเขาเก่งการผลิตแล้ว เขาเริ่มบริหารผลผลิตได้ เขาสามารถทำสัญญากับผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาได้ เช่นเขาผลิตข้าวแป้งไปส่งให้กับโรงแป้งขนมจีน ถ้าเขาทำสัญญากับโรงขนมจีนปุ๊บ เขาจะกลายเป็นผู้ประกอบการทันที  ไม่ใช่ว่าเกษตรกรคือต้องเดินไปทำนา ต้องไปขุดดิน ไปฉีดยาเอง ต้องไปทำอะไรเอง ไม่ใช่ โลกมันเปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าของที่คือผู้ประกอบการธุรกิจ คุณจะสร้างมูลค่าจากที่ตรงนั้นด้วยพืชสัตว์ชนิดใด ให้มีมูลค่าสูงสุด และมีกำไร ก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร

ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรค คือสิ่งที่ชาวนาคาดหวังมากที่สุด

ทั้งหมดนี้ คือรูปธรรมการปรับตัวเพื่อยกระดับรายได้และแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรกรยุคใหม่ หวังว่าแนวคิดและแนวทางที่เราได้เห็นในวันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้ประกอบการอยู่เช่นกัน   

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ