‘บรรจง นะแส’ เสียงบ่นจากคนทะเล เมื่อ คสช. ชักจะออกนอกลู่การปฏิรูป

‘บรรจง นะแส’ เสียงบ่นจากคนทะเล เมื่อ คสช. ชักจะออกนอกลู่การปฏิรูป

20150807195704.jpg

รุ่งโรจน์ เพชระบุรณิน เรื่อง/ภาพ

5 คำถามสั้นๆ และ 5 คำตอบขนาดยาว พูดคุยเรื่องทรัพยากรชายฝั่ง ชีวิตชาวประมง ความมั่นคงทางอาหาร ประชาธิปไตย และการหลุดหายไปของแนวทางปฏิรูปหลังการยึดอำนาจ นี่คือปากคำของนักพัฒนาที่เกาะติดเรื่องชาวบ้านมานานหลายทศวรรษ ‘บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย’

ถาม: ทำไมต้องอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง

ทะเลเป็นพื้นที่ 3 ส่วน 4 ของโลกใบนี้ แหล่งอาหารของมนุษยชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เป็นโปรตีนส่วนใหญ่ก็มาจากทะเล ทะเลจึงมีความสำคัญที่มนุษยชาติใช้ในการบริโภค บ้านเราโชคดีที่อยู่ในทะเลเขตร้อน อยู่ในเส้นศูนย์สูตร เรามีชายฝั่งยาว 2,600 กิโลเมตร มีประชากรที่เป็นชาวประมงอยู่ในพื้นที่ 22 จังหวัด เป็นประมงชายฝั่ง 85 เปอร์เซ็นต์ ประมงพาณิชย์ 15 เปอร์เซ็นต์ อาชีพประมงเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะสูงมาก คนอาชีพอื่นไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพไปทำประมงได้อย่างง่ายๆ เพราะต้องเรียนรู้เรื่องทะเล เรื่องลมฟ้าอากาศ เรื่องเครื่องมือในการจับพันธุ์สัตว์น้ำในแต่ละชนิด จับปูก็ใช้ชนิดหนึ่ง จับปลาทูก็ใช้ชนิดหนึ่ง ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย และใช้ทักษะที่สูงมากเป็นต้นทุน

นับเป็นความโชคดีของสังคมไทยที่เรามีฐานทรัพยากร มีชายฝั่งในเขตร้อนที่ดีมาก ซึ่งมีไม่กี่ประเทศทั่วโลก มีชาวประมงที่มีทักษะ มีต้นทุนอาหารโปรตีนในแหล่งธรรมชาติ แต่พัฒนาการทางการประมงไม่เคยได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควร เราไม่มีกฏหมายที่ทันสมัยที่จะปกป้องหรือฟื้นฟู ปล่อยให้มีการทำประมงอย่างทำลายล้าง จับตัวเล็กตัวน้อยจับด้วยเครื่องมือที่ฉกาจฉกรรณ์ จึงทำให้เกิดสภาวะเกินศักยภาพของทะเล หรือที่เรียกว่า Overfishing คือจับเกินกำลังที่ทะเลจะผลิตได้ ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ตัว คือ อวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ การที่ผมเลือกทำงานกับชาวประมงเราเห็นความสำคัญดังนี้

ถาม: แล้วเกี่ยวอะไรกับความมั่นคงทางอาหาร 

ความสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ความมั่นคงทางอาหาร ที่มีตัวชี้วัด 1) มีมากพอ 2) เข้าถึงง่าย คนจนก็เข้าถึงได้ไม่ใช่เข้า 7-11 คือลงไปในหนองคูคลองก็ได้กิน แต่ที่ลดลงไปคือจากการถูกทำลาย ด้วยเครื่องมือทำลายล้างอย่างที่ว่า หลักคิดตรงนี้เลยเอามาแปรในการปฏิบัติว่า “เราต้องเอาทะเลคืนมาให้ชาวบ้าน” วิธีการอย่างไร ก็คือเริ่มจากคนที่ใกล้ชิดทะเลก่อน ก็คือชาวประมง เราก็เห็นชุมชนชาวประมงที่ล่มสลายจากอาชีพของเขาหลายแห่ง พอเราลงไปจัดตั้งให้เกิดการเรียนรู้เกิดการรวมตัวกันเพราะไม่มีใครช่วยคุณได้หรอก

การทำงานก็เริ่มจากการทำเรื่องของการอนุรักษ์ ปลูกป่าชายเลน ทำธนาคารปู ทำบ้านปลา เมื่อเข้มแข็งขึ้นหน่อยก็เริ่มตอบโต้กับเครื่องมือทำลายล้าง ตั้งกองกำลังขับไล่อวนลากอวนรุนออกไป จากสิ่งที่ทำอยู่ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ เพราะพันธุ์สัตว์น้ำมากขึ้น มีรายได้ดีขึ้น เปรียบเทียบเมื่อเขาเคยทิ้งอาชีพประมงแล้วไปทำงานก่อสร้างได้วันละ 200-300 ร้อยบาท แค่ตกปลาอินทรีย์ได้หนึ่งตัวก็ได้เป็นพันแล้ว ก็เพิ่มกำลังใจมากขึ้น

พอเราสร้างรูปธรรมตรงนี้เสร็จ ก็มีระบบสื่อสารของพวกเรา พาไปศึกษาดูงาน สร้างเป็นเครือข่าย วันนี้เรามีเครือข่ายสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยขึ้นมาแล้วใน 20 จังหวัด มีจุดที่เป็นตัวอย่างที่ชาวบ้านสามารถลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรได้ จัดการการฟื้นฟูให้ทะเลมีความสมบูรณ์กลับมาได้ แปรรูปสัตว์น้ำ การตั้งแพชุมชนในการขายกับผู้บริโภคโดยตรง ผู้บริโภคอยากกินกุ้งหอยปูปลาก็สามารถติดต่อร้านคนจับปลา 4 สาขา ที่จะรองรับความต้องการของคนในเมือง

ถาม: สิ่งที่สำเร็จมันเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยอย่างไร

ประชาธิปไตยมันต้องกินได้ไม่ใช่แค่ทฤษฎี หรือแค่การเลือกตั้ง หมายถึงว่าการดำเนินการประชาธิปไตยมี 2 นัยยะ เราเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เราไม่เคยเห็นหัวใจของประชาธิปไตยคืออะไร หัวใจคือการมีส่วนร่วม คือการเคารพสิทธิ์ การจัดการระบบองค์กรของเราให้เป็นประชาธิปไตย เราพูดประชาธิปไตยอย่างลอยๆ ไม่ได้ ประชาธิปไตยมันต้องมีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่หมายถึงการจัดการตัวเองภายในมันต้องเป็นประชาธิปไตย

องค์กรชาวบ้านก็เช่นกัน เป็นประธานองค์กรหลายสิบปีไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นจริงคือความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ฝังรากลงไปข้าวในองค์กรประชาชนจึงอ่อนแอ สมาคมรักษ์ทะเลไทยเราจึงมีระเบียบ มีกฏเกณฑ์ในการเป็นสมาชิก มีสมัชชาเลือกนายกเลือกกรรมการ เราก็เดินตามนั้น เพราะไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยก็เป็นเพียงแค่คำพูดหรูๆ เมื่อลงไปในเนื้อหาลองใช้วิธีในการตรวจสอบคนที่ชื่นชมประชาธิปไตย องค์กรที่คุณสังกัดคือใคร แต่ส่วนใหญ่พูดในนามปัจเจก ประชาธิปไตยมันต้องมีโครงสร้างมีระเบียบปฏิบัติ มีการหมุนเวียน มีการเคารพเสียงส่วนใหญ่ที่ชนะจากการโหวต สิ่งนี้เป็นเบื้องต้นที่เราทำในองค์กรเล็กๆ ที่เราทำกับชุมชนไม่ได้ทำภาพใหญ่

ถาม: สิทธิอะไรของชุมชน ที่ต้องปกป้อง หนุนเสริม

สิทธิการทำกินเป็นสิ่งขั้นพื้นฐาน แต่พัฒนาการทางสังคมเข้ามาเบียดขับสิทธิของชุมชน ระบบทุนโตขึ้น มาเอาที่นาไปทำบ้านจัดสรร ถึงแม้ว่าจะไปซื้อโฉนดชาวนามาคุณก็มีสิทธิ์ แต่คิดว่านั้นคือการใช้กำลัง ทะเลก็เหมือนกันนั้นคือสิทธิของเขาที่ทำมาหากินตั้งแต่ปู่ย่าตายายกันมา อยู่นายทุนเอาอวนลากอวนรุนเข้าไปได้อย่างไร วิธีการปกป้องสิทธิในระบบก็มีกฏหมาย ที่ระบุว่าทะเลชายฝั่งในระยะ 3 กิโลเมตรห้ามเข้า แต่ที่เข้ามาเพราะคุณมีอำนาจเหนือกว่า คุณมีคอนเน็คชั่นกับตำรวจ กับฝ่ายประมง ติดสินบน คุณก็เลยมาละเมิดสิทธิ ดังนั้นชุมชนชาวประมงจึงลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ ทวงสิทธิของตนเองคืนมา ในช่วงแรกก็เกิดการปะทะกันบ้าง แต่ฝ่ายประชาชนไม่มีอะไรมีแต่มือเปล่า บางครั้งการเดินขบวน การรณรงค์ การเรียกร้องสิทธิ การชุมนุม เป็นเครื่องมือในทางประชาธิปไตยที่รับกันได้ ไม่ใช่เอาปืนไปยิงกัน

การจัดตั้งตัวเองของภาคประชาชน พูดอย่างตรงไปตรงมา หลังจากไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว จริงๆ แล้วยังไม่เคยมี เรามีแต่การจัดตั้งของกรมพัฒนาชุมชน รวมกลุ่มเป็นแม่บ้าน รวมกลุ่มเป็น อสม. นั่นเป็นการจัดตั้งเพื่อรองรับนโยบายของรัฐ การจัดตั้งที่เป็นตัวของตนเองของภาคประชาชนยังไม่มีใครจัดตั้งให้เขา องค์กรภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ ที่ไปช่วยชาวบ้านจัดตั้งให้เขามีตัวตนขึ้นมา สร้างองค์กรชาวบ้านให้ลุกขึ้นมา เสริมสร้างผู้นำให้มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะข้อมูล พาไปเรียนรู้ศึกษาดูงานพื้นที่รูปธรรมต่างๆ คิดว่าองค์กรภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ ยังเป็นองค์กรที่ทำบทบาทเหล่านี้ได้ดี เป็นองค์กรเดียวที่ทำอยู่ หากดูหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างกระทรวงสาธารณสุข ก็จัดตั้งเพื่อรองรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้จัดตั้งเพื่อดูแลชุมชนทั้งหมด ความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอก็มีความสำคัญอยู่ตรงจุดนี้ที่ดูในภาพรวมทั้งหมด การจัดตั้ง CO หรือการสร้างองค์กรประชาชน ไม่ใช่จัดตั้งแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของชุมชน

ถาม: กระบวนการปฏิรูปจะไปหนุนเสริมชุมชนได้หรือไม่?

กลไกปฏิรูปนับจาก คสช.ยึดอำนาจ พูดถึง 18 ประเด็นที่ต้องปฏิรูป แต่เมื่อเวลาผ่านมา เรื่องการปฏิรูปกลับหลุดหายไป กลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำเมกกะโปรเจ็กต์ จะซื้อเรือดำน้ำ ชักจะออกนอกลู่นอกทางจากการยึดอำนาจ เพราะการปฏิรูปที่สามารถทำได้เลยไม่ทำ แต่คุณออกกฏหมาย ใช้มาตรา 44 ออกกฏหมายตั้งหลายเรื่อง แต่เรื่องที่จะต้องปฏิรูป เช่น เรื่องภาษีมรดก เรื่องภาษีที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดินทำไมคุณไม่ออกมา มันสะท้อนเจตนาว่าเป็นการปฏิรูปจริงเปล่า หรือคุณยึดอำนาจมาเพื่อแสวงหาอำนาจโดยไม่แตะกันตรงนี้ และก็ลากยาวไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันมาตรการกระชับอำนาจรักษาอำนาจของตัวเองออกมาทีละมาตรา มันหมายความว่าอย่างไร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ