จากที่เคยเพียงใช้หาอยู่หากิน…ชาวบ้านริมน้ำโขง ต้องลุกขึ้นมาสังเกตุความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงอย่างเป็นระบบ เพื่อยืนยันว่า แม่น้ำโขงที่ว่า ขึ้น-ลง ผันผวน และหลายพื้นที่แห้งขอดจนเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติเป็นเรื่องผิดปกติจริงๆ
เวที “การสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการดำรงชีพและระบอบอาหารของชุมชนชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงสู่ทางเลือกในการพัฒนา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่อาคารปฏิบัติการ คณะสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีตัวแทนชาวบ้านกว่า 50 คน ซึ่งอาจเรียกพวกเขาว่า “นักวิจัยชุมชน” เพราะเขาเป็นคนพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความผันผวนของแม่น้ำโขงและเป็นผู้ลงมือสำรวจความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงมาตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยมีศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยดูแล 4 พื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันศึกษาความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทั้งต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ที่พวกเขาเผชิญซึ่งเรียกว่า “วิจัยท้องถิ่น” คือ
1.โครงการวิจัย “ไก: วิถีชีวิตและมิติทางเศรษฐกิจของชาวบ้านหาดไคร้” โดนชาวบ้านบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
2.โครงการวิจัย “ทางรอดและทางออกของประมงบ้านห้วยลึก” โดยชาวบ้านบ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
3.โครงการวิจัย “การสร้างการบริหารจัดการร่วมประตูน้ำศรีสองรักเพื่อวิถีชีวิตและการเกษตรอย่างยั่งยืนของชาวไทพวน” โดยชาวบ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
4.โครงการวิจัย “ชุมชนบ้านม่วงกับการสร้างแผนเชิงรุกในการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงสู่การเพิ่มขีดความสามารถความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” โดยชาวบ้านตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
แต่ละพื้นที่ได้นำมาแลกเปลี่ยนกันและกัน และมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ คือดร.เลิศชาย ศิริชัย ผศ.ดร. บัญชร แก้วส่อง และดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ โดยมี ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร หัวหน้าชุดโครงการร่วมนำเสนอ
ที่นี่บ้านเรา ชมวิถีชีวิตคนริมโขง
พ่อทองสุข อินทวงศ์ ชาวบ้าน บ้านห้วยลึก จ.เชียงรายเล่าว่า
“นับแต่มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงมาตั้งแต่ในปี 2536 เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชุมชนมีมาโดยตลอด ทิศทางน้ำขึ้นลงมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนมาเรื่อยๆ ต่อจากนั้นก็มีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมเเม่น้ำโขง ก็ยิ่งทำลายระบบนิเวศริมน้ำโขงทั้งต้นไคร้น้ำ โขดหิน ที่เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งชาวบ้านหาอยู่หากินแถบนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาระบบนิเวศของแม่น้ำโขง”
“เราจึงได้ชวนกันทำระบบและการจัดเก็บข้อมูล รวมกลุ่มกันลงพื้นที่แบ่งการศึกษาผลกระทบแและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เกาะแก่ง ชัดเจนว่าแถวบ้านนักวิจัยส่วนหนึ่งได้ไปค้นพบการสูญเสียที่ไม่สามารถที่จะกลับคืนมาได้ ผลกระทบริ่มฝั่งตลิ่ง วิถีเกษตริริมฝั่ง ทั้งหมดทั้งที่เราได้ทำข้อมูล อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลบอกให้กับคนในชุมชนเราได้รู้ ได้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะนำบอกภาครัฐ”
พ่อพุ่ม บุญหนัก ชาวบ้าน บ้านหาดไคร้ จ.เชียงราย
“จริงๆ งานวิจัย หรือการศึกษาของเรา เป็นการเรียนรู้ของชาวบ้าน เมื่อก่อนเวลาเราจะเสนอหรือบอกภาครัฐ เราไม่มีข้อมูลอะไรอ้างอิง แต่ตอนนี้พอมีข้อมูลทำให้เรานำข้อมูล กระบอกเสียงเล็กๆของเรามีน้ำหนักมากขึ้นที่จะบอกและยืนยันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน”
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษาโครงการวิจัย
กล่าวถึงการทำวิจัยของชาวบ้านครั้งนี้ว่า “วิจัยท้องถิ่น” เป้าหมายคือ เราอยากให้ชาวบ้านได้ใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเองให้ได้ แล้วลงมือแก้ปัญหา งานวิจัยเป็นงานวิจัยปฏิบัติการ ไม่ใช้งานวิจัยแบบนักวิชาการทั่วไป คือหาความรู้และลงมือทำและแก้ปัญหาตรงนั้นให้ได้เพราะฉะนั้นเขาก็จะเกิดความรู้ เกิดสำนึก เกิดปัญญา ที่จะหาความรู้ตรงนั้น เท่าที่สังเกตุก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีความทุกข์ที่ต้องเผชิญอยู่ ก็มักจะแก้ปัญหาตามยถากรรม ตามสถานการณ์ ข้อมูลที่จะมายืนยัน มาอธิบายให้ตัวเองหรือคนของตัวเองเข้าใจก็ยังทำได้ไม่ดีนักหรืออาจจะมีบางคนที่พอเข้าใจแต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การที่ชาวบ้านได้ทำวิจัยชุมชน เขาก็จะค้นหาความรู้ที่เห็นว่าชีวิตที่อยู่กับลำน้ำโขงมีอะไรบ้าง ถ้าเขาหาของดีของตัวเองไม่เจอก็ไม่เห็นคุณค่าของแม่น้ำโขง เขาอยู่กับแม่น้ำโขง ก็อาจจะหาเจอตรงๆ ก็มี หาเจออ้อมๆก็มี แต่ความจริงอาจจะมีอะไรลึกๆอยู่ แต่พอเราช่วยให้ความคิดเห็นช่วยเพิ่มเติมมุมมองเข้ามา ก็จะเห็นความลึกอะไรบ้างอย่าง ต้องดึงออกมาให้เห็นชีวิต เพราะว่าแม่น้ำโขงมันไม่ใช่แค่อาหารอย่างเดียว แต่คือชีวิต เป็นระบบคิด เป็นวิธีคิด เป็นจิตวิญญาณ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในซึ่งเป็นตัวสำคัญ
“เราเชื่อว่าภูมิปัญญาชาวบ้านมีอยู่ในพื้นที่ แต่บางทีก็ไม่ถูกดึงออกมาเพื่อมาดูแล้วก็ลองภูมิปัญญาจะสามารถจัดการกับวิถีที่เปลี่ยนไปตรงไหนได้บ้าง ตรงไหนไม่ได้แล้วจะทำยังไงต่อแต่อย่างน้อยก็พอดึงขึ้นมาปั๊บเรารู้เลยว่าเราของดีอยู่ตรงนี้นะ ถ้าเห็นของดีแล้วเราจะปกป้องยังไง คือการให้เสียงของชุมชนได้สื่อสาร ผมมองว่า voice of the voiceless ชุมชนริมน้ำเนี่ยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำ รัฐบาลจีนอยากทำอะไรก็ทำ รัฐบาลลาวอยากทำอะไรก็ทำ เสียงของพวกเขาไม่เคยได้รับการได้ยิน ยิ่งเสียงปัจเจกยิ่งไม่ค่อยได้ยิน
ที่นี้ถ้าเขาสามารถส่งเสียงมาได้บางระดับ โดยการหาความรู้ เกิดปัญญาจากการมองเห็นเขาเองจะมองเห็นชัดขึ้น มันเปลี่ยนไปยังไงก็ต้องมองเห็น เขาต้องวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ระบบนิเวศ จะได้เข้าใจ เห็นของดี เช่น วันนี้เห็นของดีไม่ใช่ที่มีอยู่วันนี้ ในอดีตเป็นของดี ถ้าเขาจะฟื้นกลับมา จะฟื้นอย่างไรได้บ้าง แล้วที่หายไป มันหายไปตอนไหน หายไป เพราะอะไร อยากให้เขาเข้าใจกันให้มากขึ้น กระบวนการทำอาจยาก แต่ถ้ามาได้ขนาดนี้จากชาวบ้านหลายพื้นที่ซึ่งไม่เคยทำวิจัยเลย มารวมตัวกันทำวิจัยหาความรู้เบื้องต้นได้ผมก็ว่าสุดยอดและถ้าดูจากรายงานระบบนิเวศที่เขาหามาเป็นข้อมูลที่น่าพอใจทั้ง 4 พื้นที่
การที่ชาวบ้านเริ่มศึกษาเรื่องพวกนี้ บางทีเขาอาจจะยังมองไม่เห็นความสำคัญของตนเองเท่าไรนัก แต่พอเขาได้มาเเลกเปลี่ยนกัน จากทั้ง 4 พื้นที่ ไปดูของเพื่อนจากพื้นที่อื่นด้วย บวกมาถกกับทีมวิชาการช่วยดูด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยดู เขาจะเริ่มเห็นความสำคัญของมุมมองและชัดขึ้นว่า ความสำคัญของแม่น้ำกับชีวิตของพวกเขา ความสัมพันธ์กับสายน้ำอย่างไร ถ้าสายน้ำขาดไปหรือหายไปมีปัญหาชีวิตเขาต้องเปลี่ยนไปอย่างไร คิดว่าเขาก็ต้องคิดมากขึ้น งานที่กำลังขยับจึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องนานาชาติ เพราะว่าไม่ใช่แค่เมืองไทย และคนที่กำลังเดือดร้อนส่วนหนึ่งเป็นคนไทย จะทำอย่างไรให้รัฐบาลไทย บรรเทาความเดือดร้อน หรือช่วยร่วมเป็นปากเป็นเสียงร่วมกันกับเรา ไม่ใช้จีนอยากทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำ แล้วบริษัทไทยได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนในลาว
“เราต้องให้โอกาสชาวบ้านได้ส่งเสียงเรื่องพวกนี้ออกมาสะท้อนมา เสียงของเขาจะได้การได้ยินมากขึ้น ผมเข้าใจว่ากระบวนการเริ่มเดินแล้ว ก็เริ่มมองเห็นว่าเรื่องนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายอำเภอ ก็เริ่มมองเห็นแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเอางานวิชาการมารับใช้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน การเคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ยากที่เขามีอยู่จากปัญหาน้ำโขงที่มันเกิดขึ้น”
จากนี้ ชุดโครงการวิจัยที่ชาวบ้านสะท้อนลมหายใจของแม่น้ำโขง จะถูกเรียบเรียงเพื่อสื่อสารกับสังคมให้เห็นภาพและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสายน้ำโขงต่อไป
เมื่อน้ำโขงเปลี่ยน ปลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน