ดูอีกครั้ง… 8 ข้อเสนอ ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ แก้กฎหมาย EIA

ดูอีกครั้ง… 8 ข้อเสนอ ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ แก้กฎหมาย EIA

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระจากเครือข่ายเพื่อนตะวันออก กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง และเดชา คำเบ้าเมือง ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) เดินทางไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่นข้อเสนอภาคประชาชนต่อการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. หมวดการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

Live สด(๑)วันที่24 กค.เวลาประมาณ9.30 น.ที่หน้ากระทรวงทรัพย์ฯ กรุงเทพมหานคร เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยื่นเอกสารข้อเสนอแก้ พรบ.สิ่งแวดล้อมและ อีไอเอ

ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานさんの投稿 2017年7月23日日曜日

ในหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้ปรับแก้ร่างกฎหมายดังกล่าวใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยลักษณะของโครงการพัฒนาต้องสอดคล้องกับ SEA ของแต่ละพื้นที่ และการเกิดขึ้นของโครงการจะต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการ หากสอดคล้องจึงมีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA

2.มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของพื้นที่ โดยมีการศึกษาข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านพื้นที่ ระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนถึงการแก้ไขผลกระทบหรือการเยียวยา โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่อย่างไร ซึ่งเห็นควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และการพัฒนาที่ยั่งยืน

3.องค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานกลาง ควรกำหนดบทบัญญัติในเรื่องการจัดจ้างผู้จัดทำรายงานฯ โดยมีการตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ให้มีหน้าที่จัดจ้างผู้จัดทำรายงาน ไม่ใช่การว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการตามที่ปฏิบัติในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนกระทรวงฯ รับหนังสือจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ห้องประชุม 101 อาคารกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: หยุดถ่านหินกระบี่

นอกจากนั้น เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังได้เผยแพร่แถลงการณ์ ระบุถึง 8 ข้อเสนอของ ข้อเสนอภาคประชาชนต่อการจัดทำร่างกฎหมายฯ ดังนี้

เรื่อง ข้อเสนอภาคประชาชนต่อการจัดทำร่างกฎหมาย
พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ….
(หมวดการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม)

ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตราร่างพระราชบัญญัติตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์อย่างน้อย 15 วัน ผลปรากฏว่าหน่วยงานรัฐจำนวนมากเร่งดำเนินการนำร่างกฎหมายเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วยหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าว โดยไม่สนใจว่าจะเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงหรือไม่ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกลับไม่สามารถมีส่วนร่วมต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

หนึ่งในร่างกฎหมายฉบับสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาเป็นการขาดการรับฟังความคิดเห็นก่อนกระบวนการร่างกฎหมาย โดยที่รัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายอยู่ฝ่ายเดียว และนำมารับฟังความคิดเห็นเมื่อร่างกฎหมายทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว และด้วยระยะเวลาแสดงความคิดเห็นที่สั้น ช่องทางการแสดงความคิดเห็นที่แคบ ตลอดจนไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ เช่น สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของกฎหมายดังกล่าว หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น

ดังนั้นกระบวนการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น สะท้อนถึงความไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 77

ภาคประชาชน และเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงได้มีข้อเสนอเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ตามที่มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ดำเนินการอันจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่ตามมาตรา 50 ของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … กลับกำหนดไว้สำหรับเพียงโครงการหรือกิจการเท่านั้นซึ่งถือเป็นการลดทอนสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้แคบลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น มาตรา 50 ของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

2. ตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. ขาดรายละเอียดในการกำกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นการเขียนอำนาจลอยไว้ โดยไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ทั้งนี้ควรจะมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ และต้องกำหนดรายละเอียดเงื่อนไข เพื่อกำกับการใช้อำนาจรัฐไว้ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิกระบวนการทางศาลตรวจสอบได้ หากว่าไม่เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทกำหนดไว้ อาทิ ต้องกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA และเปิดเผยรายงานให้ชุมชนได้รับทราบ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงการทำ EIA ดังเช่นกรณีโรงไฟฟ้ากำหนดขนาดที่ต้องจัดทำ EIA อยู่ที่ขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่กลับพบว่าบริษัทผู้ประกอบการหลบเลี่ยงการทำ EIA โดยยื่นขออนุญาต เป็นขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อหลบเลี่ยงการจัดทำ EIA

3. ด้านระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนเห็นว่าควรมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA) ที่เป็นการประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงความเหมาะสมของพื้นที่และเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ โดยต้องมีการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ก่อนว่าสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่หรือไม่ หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินการโครงการ

4. ต้องมีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังต่อไปนี้

ต้องพิจารณาถึงทางเลือกอย่างรอบด้านโดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนโดยรวมของแต่ละทางเลือก ทั้งที่เป็นต้นทุนด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านสุขภาพ

ต้องศึกษาประเมินผลกระทบ และความเสียหาย โดยรวมถึงการประเมินต้นทุนภายนอก (Externality) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ และคิดรวมคุณค่าในเชิงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนการให้บริการเชิงนิเวศ (Ecological Service) ต้องเอาต้นทุนภายนอกนี้ไปรวมกับต้นทุนภายใน และใช้ประกอบการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ

หากพื้นที่ที่ดำเนินโครงการนั้นอยู่ในพื้นที่ระบบนิเวศเฉพาะ ต้องออกแบบการศึกษาเป็นการเฉพาะสอดคล้องกับความจำเพาะของระบบนิเวศ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Site)

ต้องกำหนดแยกสัญญาว่าจ้างการกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ (Public Scoping) กับสัญญาว่าจ้างการดำเนินการประเมินผลกระทบ (Assessment) ออกจากกัน เพื่อนำผลจากการทำ Public Scoping มากำหนดเป็นสัญญาว่าจ้างการประเมินผลกระทบที่เหมาะสมและมีงบประมาณดำเนินการเพียงพอ โดยจะต้องให้มีกลไกพิจารณาเห็นชอบขอบเขตการศึกษาและแนวทางประเมินผลกระทบโดยสาธารณะก่อนที่จะมีการดำเนินการประเมินผลกระทบต่อไป

5. ควรมีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของพื้นที่ ในการศึกษาข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะด้านพื้นที่ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ตลอดจนถึงการแก้ไขผลกระทบหรือการเยียวยา โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่อย่างไร ซึ่งเห็นควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และการพัฒนาที่ยั่งยืน

6. ให้ตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นการนำคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้เกี่ยวกับการเปิดช่องเพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนก่อน อันเป็นการลดทอนไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของ EIA ตามหลักป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle)

7. ต้องมีการแยกองค์กรบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานอิสระหรือหน่วยงานกลาง นอกจากนี้เจ้าของโครงการและบริษัทผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องเป็นอิสระแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง กำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เป็นไปโดยชอบธรรม มีคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมดูแลในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะ กำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงขั้นตอนการทำรายงานฯ ได้ตลอดทั้งในระยะก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการ และในส่วนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาอนุมัติรายงานจะต้องมีองค์ประกอบที่เท่าเทียมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการและชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และอาจมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับพื้นที่ เช่น คณะกรรมการผู้ชำนาญการในระดับจังหวัด

8. ภาคประชาชนเห็นด้วยกับการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. … มาตรา 50 ในประเด็นที่กำหนดให้การขอต่ออายุใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการที่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นหลักการเดิมที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 อยู่แล้ว (มาตรา 49 วรรคท้าย) รวมถึงหลักการสำคัญในขั้นตอนการออกประกาศกระทรวงตามร่างมาตรานี้ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

และเห็นด้วยกับร่างมาตรา 59 ที่กำหนดให้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการสามารถนำไปใช้ได้เป็นระยะเวลาห้าปี หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวต้องมีการทบทวนความเหมาะสมก่อนนำไปใช้

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วันที่ 24 กรกฎาคม 2560

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ