คนอยู่กับป่า ค้าน ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ชี้ขาดการมีส่วนร่วม จะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า ด้านมูลนิธิสืบนาคะเสถียรแนะรัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เหตุ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำจัดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
วันที่ 4 มิ.ย. 2560 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จัดเวทีสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ณ บ้านซอกตะเคียน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล และเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชน โดยมีสมาชิก คปอ.ในหลายพื้นที่เข้าร่วมเวทีเสวนา รวมกว่า 150 คน
วิทยากรประกอบด้วย ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, บุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) ในฐานะทีมผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), หนูเกณฑ์ จันทาสี ผู้ประสานงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวว่า ตัวร่างกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่กระบวนการยกร่างที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งเนื้อหาในร่างก็มีข้อจำกัด และจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลเพื่อนำไปสู่การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ฉะนั้นภาครัฐต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร โดยมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ยอมรับสภาพความเป็นจริงจากข้อมูลที่มี และมีข้อพิจารณาจนเกิดข้อตกลงร่วมกัน เพราะชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครอง
ภาครัฐจึงต้องให้การยอมรับเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่อยู่กับป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งในความเป็นไปได้ คือ รัฐต้องมีข้อกฎหมายหรือการบริหารจัดการที่เป็นไปได้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กับป่า เพราะเจตนารมณ์การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเน้นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากกว่าการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกันดูแลทรัพยากร
ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เขตป่า ตรมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม
ส่วนการกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้ว แต่ไม่ถือว่าได้สิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อยู่ทำกินได้คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี อีกกรณีคือการให้สิทธิ์ตกทอดถึงทายาทได้หากกรณีที่ผู้ขอเสียชีวิต ทายาทที่ประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไป ให้ยืนคำขออนุญาตต่ออธิบดีภายใน 180 วัน และอนุญาตได้เพียงเท่าระยะเวลาที่เหลือ
ตัวอย่างคือผู้ขอทำกินได้รับอนุญาตระยะเวลา 20 ปี แต่อยู่มาได้ 18 ปี แล้วเสียชีวิตลง ทายาทจะต้องทำเรื่องขออนุญาตอยู่ทำกินสืบต่อไปภายใน 180 วัน และอนุญาตอยู่ต่อได้อีกแค่ 2 ปี จากนั้นต้องเสนอขออนุญาตจากอธิบดีใหม่ตามกระบวนการใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นข้อกำจัดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน
“ที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรและองค์กรต่าง ๆ ได้เสนอความเห็นต่อกระทรวงทรัพยากร และมีเวทีหารือร่วมกัน แต่ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนที่ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับป่าควรต้องรับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย จึงมาให้ข้อมูลกับเครือข่ายในครั้งนี้” ภานุเดช ระบุ
บุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานพีมูฟกล่าวว่า หลังจากที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน มีหลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มหมวดสิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์เข้ามาด้วย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิชุมชนในการเข้าถึงความหลากหลายพันธุกรรม เป็นการป้องกันการถูกทุนเข้ามาใช้ประโยชน์แบบผูกขาดโดยการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง เสียสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ์ จากการจดสิทธิบัตร
ส่วนนิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ บอกว่า จากเวทีให้ความรู้ ความเข้าใจ ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ารัฐมีกฎหมายแบบนี้ออกมา ทั้งที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเองและชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เพราะเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่มีมาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านที่อยู่กับป่า ในการที่อุทยานไทรทองดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและถูกดำเนินคดีความมาอย่างต่อเนื่อง
นิตยา บอกอีกว่า หลังจากได้มีการร่วมจัดเวที ก็เข้าใจว่าการที่รัฐออกกฎหมายแบบนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบตามมาอีก ทั้งในเรื่องการถูกตัดสิทธิ์ในที่ดินทำกิน การถูกดำนินคดีตามมาอีก และสุดท้ายจะกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกิน
การที่รัฐจะออกกฎหมายใดก็ตามควรให้สอดคล้องกับปัญหาปัจจุบัน และผู้ได้รับประโยชน์ควรเป็นประชาชนที่อยู่ในป่าอย่างแท้จริง ให้ชาวบ้านธรรมดาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย โดยเฉพาะกฎหมายล่าสุดดังกล่าวนั้น รัฐไม่ควรมองข้ามเสียงสะท้อนจากผู้คนที่อยู่กับป่า ควรคำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุข
ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบ เช่น ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเข้ายึดพื้นที่ ทั้งถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อชาวบ้านจำนวนมาก
แม้ได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าและในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อคนในพื้นที่ และให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ไม่มีการดำเนินการตามที่ร่วมตกลงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหา รวม 15 คน ซึ่งตนเองก็ถูกดำเนินคดีด้วย โดยเฉพาะถ้าร่าง พ.ร.บ.ผ่าน การถูกดำเนินคดี และการถูกอพยพออกจากพื้นที่ จะส่งผลกระทบตามตามมาอีก