“นิทานอินทนนท์”
แนวคิด
พิบัติภัยจากธรรมชาติที่สร้างความเสียหายทั่วโลกในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณเตือนให้มนุษยชาติตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างสูง แต่วิกฤติสมดุลธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยมนุษย์ เช่น การบุกรุกป่า ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทางเดียวที่จะเยียวยาวิกฤตเหล่านี้ได้คือการปลูกจิตสำนึกการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกัน
“นิทานอินทนนท์” เป็นกระบวนการทางศิลปะ ที่ใช้การแสดงดนตรี เพลงเด็ก และการเล่านิทาน ผสมผสานการวาดภาพ เพื่อปลูกความรักความเข้าใจธรรมชาติลงในจิตใจเด็กๆ ใช้ความสดใสบริสุทธิ์ของเด็กกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของดอยอินทนนท์ปลุกจิตสำนึกของผู้ใหญ่ที่ได้ชมการแสดงครั้งนี้ให้ระลึกรู้ถึงความเอื้ออาทรของธรรมชาติ
….
วัน/เวลา/สถานที่
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555
เวลา 15:00-17:30 น.
ณ. ทุ่งนาบ้านแม่กลางหลวง เชิงดอยอินทนนท์
…
รูปแบบการแสดง
ก่อนการแสดง
ต้อนรับผู้มาถึงก่อนด้วยตลาดพื้นบ้าน ขายสินค้า และอาหารท้องถิ่นอย่างเรียบง่าย มีกิจกรรมสอนวาดรูป ทำหน้ากาก และสอนเด็กๆที่มาก่อนให้ร้องเพลงชุด “นิทานอินทนนท์”
การแสดง
องค์ 1 เพลงเด็ก
ขับร้องเพลงเด็กชุด “นิทานอินทนนท์” โดย นักร้องเด็กๆ อายุ 4-10 ปี จำนวนประมาณ 30 คน
บรรเลงดนตรีประกอบโดย “วงทิพย์”
เครื่องดนตรีประกอบด้วย Violin, Cello, Piano, Woodwind และ Percussion
เนื้อหาการแสดง พูดถึงการเดินชมธรรมชาติ ความตื่นเต้นเมื่อได้เห็นป่าหนาวดึกดำบรรพ์ ต้นไม้มีขน จากพืชเล็กๆโบราณ พวกใบไร้ต้น มอส เฟิร์น ไลเคน เห็ดรา ผ่านน้ำตกเล็กๆ เสียงน้ำกึกก้อง ทางเดินเหินขึ้นเขาสูงชัน ด้านบนเป็นลานต้นแข้งไก่ ใต้หลังคาป่าไม้ใหญ่และสูง พื้นดินเรียบและรก เลยไปมีป่าเถาวัลย์สานยอดไม้ สวยงามมาก ดูแล้วน่าสนุก คล้ายสะพานทางเดินในอากาศ ให้สัตว์เล็กๆไต่ โผล่เนินหญ้ากว้าง แดดจ้าฟ้าโล่ง น่าตื่นใจ
เพลงนิทานประกอบด้วย
1) ทางในป่า
2) ไม้โบราณ
3) น้ำตก
4) ท้องพระโรงในป่าใหญ่
5) เถาวัลย์สานยอดไม้
6) แดดจ้า ฟ้าโล่ง
ความยาวรวม 12 นาที
องค์ 2 นิทานผสมเพลง
เล่านิทานโดย เทพศิริ สุขโสภา
ผู้ฟังคือเด็กๆจาก 5 หมู่บ้านเชิงดอยอินทนนท์ (ผาหมอน ผาหมอนใน ผาหมอนใหม่ หนองหล่ม อ่างกาน้อย) และเด็กๆจากในเมือง รวม 60-70 คน
เด็กๆ ฟังนิทาน และร่วมแสดงเป็นสิ่งต่างๆ ตามแต่ผู้เล่าและผู้ฟังจะจินตนาการ
เนื้อเรื่องของนิทาน ได้จากแรงบันดาลใจในการเดินศึกษาธรรมชาติที่กิ่วแม่ปาน
นิทาน 4 เรื่องคือ
1) ม้าเทวดาฝูงสุดท้าย
2) ผาแง่ม 300 ล้านปี
3) ดงดอกคำแดง
4) ทางเดินสันเขา
ความยาวประมาณ 45 นาที
องค์ 3 บรรยายผสมเพลง
อาจารย์เทพศิริบรรยายความหมายของป่าเขาที่อาจถูกมองข้าม ใช้เพลงและภาพ ปลูกป่าลงในจิตใจของผู้ชม เพลง 3 เพลง แต่ง และ ขับร้องโดย “สายกลาง จินดาสุ” บรรเลงเพลงโดย วงทิพย์
1) สายน้ำกำเนิด
2) ป่ามีหลายชั้น
บรรยายความเป็นป่า เปรียบชีวิต ไม้ใหญ่รากตื้น ล้มง่าย เมล็ดตามพื้นได้แสงแดดก็หยั่งรากฝากใบให้ดอกออกผล แล้วผีเสื้อ นก สัตว์ป่าน้อยใหญ่ก็พากันมา
3) อินทนนท์ (บอกลา)
……
อินทนนท์ให้ถ้อยคำ เรื่องราว นิทาน ให้จินตนาการ
อินทนนท์ให้ภาพวาดเรา เคลื่อนมือเรา
อินทนนท์ให้เพลงและดนตรี ทุกเสียง ทุกทำนอง คั้นจากตรงนี้ แดดอ่อน ตะวันจะลับแล้ว เราจะลากัน ทั้งหมดนี้จะกระเพื่อมอยู่ในใจเราไปจนเติบใหญ่ ใครบางคนที่ยังเด็กในวันนี้ จะเล่า จะเขียน จะวาด จะร้อง จะเล่นดนตรีแทนเรา……
ขอบคุณอินทนนท์ให้งานศิลปะหลากรสแก่ผองเรา
“เราไม่เพียงมาดูมาเห็น แต่มาฟัง ป่าเขาสอนให้เราทำเพลง ให้พูด ให้ร้อง ให้ใส่จังหวะทำนองเป็นเพลง ขากลับจากป่า เราจะเมื่อย เหนื่อยล้า เพราะเราหอบเอาเรื่องราวที่ป่าให้มากมายกลับไปบ้าน แล้ววันหนึ่งก็จะเบาลง กลายเป็นเรื่องราวสวยงามในความทรงจำ …” เทพศิริ สุขโสภา
…
ผู้แสดง/ผู้ร่วมโครงการ
อาจารย์ “เทพศิริ สุขโสภา” ออกแบบการแสดง เล่านิทาน และ วาดภาพ
เด็กๆจากเมืองเชียงใหม่ 30 คน และผู้ปกครองเด็ก 30 ครอบครัว และ เด็กๆจากหมู่บ้านเชิงดอยอินทนนท์ (ผาหมอน ผาหมอนใน ผาหมอนใหม่ หนองหล่ม อ่างกาน้อย) ประมาณ 40 คน ฟังนิทานและร่วมแสดง
“สายกลาง จินดาสุ” และ “วงดนตรีทิพย์” บรรเลงเพลงประกอบ
คณะหุ่นเงา “พระจันทร์พเนจร” สอนวาดรูป และทำ หน้ากาก
“มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” ประสานงานการจัดการในพื้นที่ จัดอาหาร ต้อนรับผู้ชม
….
สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส สนับสนุนโครงการ งบประมาณ บุคลากร และ บันทึกเทป เพื่อออกอากาศในรายการ“ดนตรี กวี ศิลป์”
เปิดให้ผู้ชมเข้าชม ณ.นาขั้นบันได บ้านแม่กลางหลวง เชิงดอยอินทนนท์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555