เวทีร่างพรบ.องค์การอิสระด้านสวล.และสุขภาพ คุ้มครองสิทธิ์ประชาชนจริงหรือ?

เวทีร่างพรบ.องค์การอิสระด้านสวล.และสุขภาพ คุ้มครองสิทธิ์ประชาชนจริงหรือ?

เวทีสาธารณะ   :   การเสวนาโต๊ะกลมร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. … คุ้มครองสิทธิประชาชน………..ได้จริงหรือไม่  ?
วันพุธที่ ๓๐  เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔  เวลา ๐๙.๓๐-๑๔.๐๐ น.

ณ  ห้องประชุมบานบุรี  ชั้น ๑๔  โรงแรมบางกอก  ชฎา  โฮเท็ล  ห้วยขวาง  กรุงเทพฯ   
 
ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. …(ฉบับรัฐบาล)   อยู่ระหว่างการพิจารณารายมาตราของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รัฐสภา    ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฯฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญที่มีความแตกต่างกับร่างของภาคประชาชน (ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย) ที่ได้ยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ  เพื่อการพิจารณาเทียบเคียงเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๕๔  อาทิ   การได้มาซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระฯ    อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นหรือเสนอให้มีการทบทวนโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงฯ

การติดตามผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ   พบว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการ “ตัด” และ “ลด”ประเด็นสาระสำคัญทางกฎหมายดังอ้างถึงข้างต้น    ซึ่งอาจเป็นผลให้หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้  ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย    ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมวดที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชน ซึ่งเน้นให้เห็นถึงการที่บุคคลและชุมชนจะเข้าร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์การอิสระ ในการจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ มาตรา 67 วรรค 2

องค์กรผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. …  จึงเห็นควรจัดให้มีเวทีสาธารณะนี้ขึ้น     เป็นเวทีกลางในการวิพากษ์สาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ    ทั้งในประเด็นที่เหมาะสมและข้อห่วงใยที่ต้องมีการปรับปรุง     รวมถึงการสื่อสารทำความเข้าใจต่อสามาธารณะชนถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์  ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้
 
วัตถุประสงค์

  • เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน   ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ
  • เป็นเวทีกลางในการสังเคราะห์ประเด็นสาระสำคัญ ที่อาจถูกละเลย   และนำเสนอประเด็นห่วงใย  ที่อาจเกิดขึ้นจากการแปรผลไปสู่ภาคปฏิบัติ ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติฯ  ฉบับนี้
  • เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะชน

 
ประเด็นเสวนาแลกเปลี่ยน

  • การวิพากษ์เปรียบเทียบระหว่าง  ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. …(ฉบับของรัฐบาล)   กับ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. … (ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน)
  • การ กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพที่ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.

กลุ่มผู้ร่วมโต๊ะเสวนา

  • ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรอิสระ
  • ผู้แทนจากองค์กรเอกชน  และองค์กรพัฒนาเอกชน
  • ผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพวะที่ดี
  • นักวิชาการ
  • สื่อสารมวลชน

ผู้จัดโต๊ะเสวนา

  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)
  • สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  • เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย
  • โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนฯ   (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
  • โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

ประสานงาน      

  • โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำนโยบายสาธารณะ
    :  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน      ติดต่อ : คุณภรภัทร   พิมพา        ๐๘๑-๔๐๙๗๘๘๔ 
    e-mail : ppimpa@gmail.com
  • โครงการเสริมสร้างโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการ
    ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม   : กป.อพช.
    ติดต่อ   คุณอ้อมใจ หนูแดง   ๐๒-๖๙๑๑๒๑๖  e-mail :  chumchon67@gmail.com
———————————————-
(ร่าง) กำหนดการ เวทีสาธารณะ   :   การเสวนาโต๊ะกลม
ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. …
คุ้มครองสิทธิประชาชน…..ได้จริงหรือไม่  ?
วันพุธที่ ๓๐  เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔  เวลา ๐๙.๓๐-๑๔.๐๐ น.
ณ  ห้องประชุมบานบุรี  ชั้น ๑๔  โรงแรมบางกอก  ชฎา  โฮเท็ล  ห้วยขวาง  กรุงเทพฯ

 
วิพากษ์

  • สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ  ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ….
  • ประเด็นสำคัญที่ถูก “ตัด”  และไม่มีการ “ทบทวน”  จาก ร่างพระราชบัญญัติฯ   ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน
  • อำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ”   ตามร่างพระราชบัญญัติฯ   

วิเคราะห์

  • สิทธิประโยชน์ที่ประชาชน “ต้อง” ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชุมชน อย่างเป็นธรรมและเป็นจริง
  • การเปิดกว้าง “รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ” ของทุกภาคส่วน ที่มีต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
  • มาตรการป้องกัน  และ เยียวยา กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

ผู้ร่วมเปิดประเด็นเสวนา   

  • กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ*
  • คุณไพโรจน์  พลเพชร           ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช)
  • คุณเรวดี   ประเสริฐเจริญสุข    ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมฯ
  • คุณศรีสุวรรณ   จรรยา           สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
  • คุณสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์    โครงการนิธิธรรมสิ่งแวดล้อม
  • คุณสุทธิ  อัฌชาศัย               เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
  • คุณเลิศศักดิ์   คำคงศักดิ์        เครือข่ายภาคประชาชนติดตามผลกระทบด้านเหมืองแร่
  • คุณสมบูรณ์  คำแหง             เครือข่ายภาคประชาชนติดตามผลกระทบ จ.สตูล
  • คุณสวาท  อุปฮาด               สมัชชาคนจน
  • และผู้เข้าร่วมการเสวนาทุกท่าน…………………….

ดำเนินรายการ  โดย

  • คุณหาญณรงค์  เยาวเลิศ     อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  • คุณภรภัทร   พิมพา           โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนฯ (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

*อยู่ในระหว่างการประสานงาน
 
 
ข้อมูลประกอบ
 

ร่างพระราชบัญญัติ
องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. …
  คุ้มครองสิทธิประชาชน   ได้จริงหรือไม่ ?

ที่มา(โดยสรุป)

นับแต่ปี ๒๕๔๐  ซึ่งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับประชาชน   ซึ่งได้รับรองและสิ่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน  การสร้างหลักประกันในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ทุกระดับ   ประกอบกับการตื่นตัวของภาคประชาชนในการรวมตัวกันเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยความตระหนักในวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น   จึงมีผลให้ภาคประชาชนมีความสนใจและให้ความสำคัญ  เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายและการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเอต่อการรับรองสิทธิชุมชน  เพื่อให้สามารถพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นตนได้ดียิ่งขึ้น  ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในแนวคิด  หรือวิธีปฏิบัติที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆได้อย่างเหมาะสม

ปี พ.ศ.๒๕๕๐   ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่เอื้อต่อกระบวนการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆของภาคประชาชนในทุกระดับมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนากลไกทางนโยบายที่มีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนดังที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖  ว่าด้วยการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  และมาตรา ๖๗ วรรคสอง  ว่าด้วยหลักการสำคัญ  กล่าวคือ   ห้ามมีการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ  หากจะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว  จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสามประการคือ   หนึ่งต้องศึกษา และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในชุมชน   สองต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน  และสามต้องให้องค์การอิสระ  ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  และผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ   และผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือก้านสุขภาพให้มีความเห็นก่อนมีการดำเนินการ…  การกำหนดหลักการดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้  มีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นหลักประกันสิทธิแก่ประชาชนให้มีการดำเนินชีวิตอยู่อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี  และ/หรือให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมให้น้อยที่สุด 

อย่างไรก็ดีแม้นในบทบัญญัตินี้ได้กำหนดช่วงเวลาเพื่อการดำเนินงานต่อเนื่อง  โดยการจัดทำเป็นกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นั้น  รัฐบาลและรัฐสภาก็ยังมิได้ดำเนินการให้ลุล่วงตามเจตนารมณ์ดังกล่าว  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส.)  เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย  และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติ องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ…. และได้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจำนวน ๑๐,๐๐๐  รายชื่อ (ตามมาตรา ๑๖๗)  เพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐     ซึ่งองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน  องค์กรภาคเอกชน  นักวิชาการ และกลุ่มภาคประชาชนสังคมต่างๆทั่วประเทศครอบคลุมในทุกภูมิภาคได้มีการติดตามกลไกการพิจารณา  และผลักดันให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง  โดยผ่านกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายทั้งในระดับพื้นที่และสาธารณะ เพื่อหนุนเสริมความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทางกฎหมายผ่านสื่อเอกสาร  เวทีแลกเปลี่ยนร่วมในแต่ละภูมิภาค     และได้สนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน  ตามมาตรา ๑๖๗  ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย  คือ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  พ.ศ…..   

การทำงานในระดับเครือข่ายของภาคประชาชนที่ผ่านมา    พบว่าประชาชนมีความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและชุมชน   พร้อมการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อนำเสนอความคิดเห็น  สะท้อนการแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแข็งขันตื่นตัวของประชาชน     แต่ขณะเดียวกันวิกฤติของปัญหาความขัดแย้งเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทาขาดธรรมาภิบาลยังคงมีต่อเนื่อง   เช่นกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด   ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหลายสิบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ขาดการพิจารณาอย่างรอบด้าน  รวมถึงปิดกั้นข้อเท็จจริงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะชน    โดยเฉพาะประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่ก่อสร้าง  ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ     ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  พ.ศ…..  ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน    จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสอดคล้องในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนี้    กล่าวถึงกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  การคุ้มครองสิทธิประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ  รวมถึงการติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพื่อนำมาสู่การทบทวนประเด็นที่อาจนำไปสู่การขยายผลที่รุนแรงได้พร้อม   

อย่างไรก็ดี   ขั้นตอนของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยังคงมีเงื่อนไขในเรื่องของการจัดทำเอกสารแนบ  ทำให้สามารถรายชื่อได้จำนวน ๗,๐๕๗ รายชื่อ องค์กรผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจึงไม่อาจเสนอกฎหมายได้ทันกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ของสภาแทนราษฎร      เพราะจำนวนรายชื่อยังไม่ครบหนึ่งหมื่นรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 

ในวันที่ ๑๙ เดือนมกราคม  ๒๕๕๔   องค์กรผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย    จึงยืนข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน(พิจารณาในเอกสารแนบ)  ต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสุขภาพ พ.ศ….โดยมี  คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิชเป็นประธานฯ    เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ    นำร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ….ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชน  พิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณารับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบัญญัติกฎหมายที่ได้รับฟังความคิดเห็นและสนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชนและเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการออกกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร   

ทั้งนี้   ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระฯ  ทั้งสองฉบับนี้โดยหลักการส่วนใหญ่ตรงกัน     แต่ก็มีข้อแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด  ซึ่งหากจะยกให้เห็นประเด็นหลักๆ  ใน  ๓ ประเด็น   ดังนี้

  • ขั้นตอนการพิจารณาขององค์การอิสระ  ในข้อเท็จจริงตามมาตรา ๖๗ วรรค ๒  ให้ความเห็นต่อแผนและโครงการไม่ใช่พิจารณาเป็นโครงการ  ซึ่งจะเห็นได้จากร่างรัฐบาล  จะให้ความเห็นเมื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  ผ่านความเห็นชอบของคณะผู้ชำนาญการที่ สำนักงานนโยบายและแผน ก่อน   ซึ่งในร่างของภาคประชาชนที่เราเสนอ  ต้องการให้องค์การอิสระฯ  ให้ความเห็นตั้งแต่เริ่มมีโครงการ ไม่ใช่พิจารณาหลังการให้ความเห็นชอบแล้วโดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน  ต้องส่งข้อมูลให้แก่องค์การอิสระตั้งแต่ริเริ่มโครงการ   
  • การประกาศโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง   ซึ่งในร่างของรัฐบาล ผู้ประกาศคือ  กรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  แต่ในร่างของประชาชน  องค์การอิสระเป็นผู้ประกาศ โครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรง  ต้องมีการและพิจารณาทบทวนได้   พิจารณาทบทวนโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง  ทุก  ๓ ปี   และให้ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับโครงการนั้นๆ    สามารถเสนอให้องค์การอิสระประกาศเป็นโครงการรุนแรงได้
  • การเปิดเผยข้อมูล  ร่างของรัฐบาลกำหนดให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือเรื่องเอกสาร   ซึ่งไม่มีอำนาจบังคับหน่วยงานที่ไม่ให้ร่วมมือ  แต่ในร่างของภาคประชาชน   ระบุให้การให้ข้อมูลจะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย  และมีอำนาจเรียกเอกสารพร้อมทั้งระบุความผิดทางอาญาไว้ 

ปัจจุบัน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯที่ผ่านการพิจารณารับหลักการของสภาผู้แทนราษฏร ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสุขภาพ พ.ศ….  ยังคงดำเนินการต่อเนื่องและคาดว่าจะแล้วเสร็จครบทุกมาตราภายในเดือนมีนาคมนี้ และจากการติดตามผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ   พบว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการ “ตัด” และ “ลด”ประเด็นสาระสำคัญทางกฎหมายดังอ้างถึงข้างต้น    และไม่ได้มีการนำร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนไปประกอบการพิจารณาซึ่งอาจเป็นผลให้หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้  ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย    ที่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมวดที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชน ซึ่งเน้นให้เห็นถึงการที่บุคคลและชุมชนจะเข้าร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์การอิสระ    ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ มาตรา 67 วรรค 2   ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่เป็นหัวใจในการใช้ประโยชน์กฎหมายฉบับนี้   

องค์กรผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. …  จึงเห็นควรจัดให้มีเวทีสื่อสารสาธารณะขึ้น     เพื่อให้เป็นเวทีกลางในการวิพากษ์สาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ    หากผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย    ทั้งในประเด็นที่เหมาะสมและข้อห่วงใยที่ต้องมีการปรับปรุง     รวมถึงการสื่อสารทำความเข้าใจต่อสามาธารณะชนถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์  ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ