เปิดฉากปะทะเหมืองทองแดงเลยคนเลยหึ่มไล่เหมืองทองแดง บ.ผาแดงอินดัสตรีฯ กดดันปิดประตูห้องประชุม อดนับหนึ่งอีเอชไอเอ
วันนี้(7 เมษายน 2554) ประชาชนจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ของบริษัทภูเทพ จำกัด ในเครือบริษัทผาแดง อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จากตำบลนาดินดำ,ท่าสะอาด,นาอาน และนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย กว่า 1,000 คน ในนามกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ณ โรงแรมเลยพาเลซ
ดร.เกษม จันทร์แก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เปิดเผยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตร 67 วรรค 2 ซึ่งจัดว่าโครงการเหมืองแร่เป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้วันนี้ตนและคณะนักวิชาการซึ่งมีกว่า 40 คนซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านต่าง ๆ ซึ่งได้ทำสัญญากับบริษัทฯ เมื่อสองปีที่แล้วเพื่อดำเนินการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ การจัดประชุมขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ และแนวทางการประเมินผลกระทบฯ ของโครงการเหมืองทองแดง ซึ่งวิทยาลัยการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ที่เป็นสถาบันวิชาการก็รับทำ เพื่อบริการทางวิชาการแก่สังคม โดยบริษัทได้จ่ายเงินค่าช่วยเหลือการวิจัย
“หลักการของเวทีรับฟังความเห็นวันนี้คือนำเสนอข้อมูลแนวทางการประเมินผลกระทบฯที่บริษัทได้ออกแบบมาเพื่อที่จะสามารถเริ่มต้นกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตระหนักดีว่าต้องรับฟังข้อมูลความเห็นจากทุกส่วนและให้ลงความเห็นว่ายอมรับกระบวนการที่ว่าได้หรือไม่ แต่ไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะทำโครงการหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อชาวบ้านจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่ยอมให้ผมเข้าศึกษาในพื้นที่ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทฯ”
ดร.เกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมมีความเชียวชาญและมีประสบการณ์ทำงานสิ่งแวดล้อมมาตลอดรู้สึกเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้นหนึ่งเอ ที่จะสร้างเหมืองและคิดว่าถ้าทีมนักวิชาการที่มีความสามารถมาศึกษาก็จะมีประโยชน์มากต่อท้องถิ่น”
นพ.วิพุธ พูนเจริญ ประธานคณะกรรมการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ที่ได้เดินทางมาประชุมและดูงานในจังหวัดเลยพอดี ได้เข้าสังเกตการสถานการณ์ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) ตามหลักการประเมิลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคือการรวมความความเห็นอันเป็น “ความตระหนักและตระหนก” ของทุกส่วนของสังคมต่อโครงการใดๆ โดยเฉพาะคนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ กระบวนการจะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยกว้างขวางและมีหลายรูปแบบใช้เวลายาวนานหลายปีเพื่อรวบรวมให้ครอบคลุมความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เวทีที่จะให้ความเห็นว่าเอาหรือไม่เอาโครงการ
“การจัดเวทีแบบนี้เป็นการนำเอากลุ่มคนที่ได้ และเสียผลประโยชน์แตกต่างกันในพื้นที่มาในห้องประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(Public Scoping) ตามกฎหมาย หรือหลักการทางวิชาการ เพราะเมื่อเวทีวันนี้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์และต้องการใช้เป็นเครื่องมือให้โครงการเดินหน้าไปก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความคิดแบบนี้ก็แบ่งแยกผู้คนให้เกิดการเผชิญหน้ากัน”
นายสำรวย ทองจันทร์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ กล่าวว่าวันนี้ตนและกลุ่มฯ มาเพื่อที่จะขอเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเหมืองทองแดงฯ ที่อยากจะขุดที่ภูหินเหล็กไฟเป็นโครงการเหมืองทองแดงที่จะระเบิดเปิด “ภูหินเหล็กไฟ” ในพื้นที่ของประทานบัตรรวมกว่า 15,600 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลกว่า 40 หมู่บ้านซึ่งจะเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ผมและชาวบ้านมาขอเข้าร่วมเวที เพราะห่วงกังวลว่าถ้าจะมีเหมืองขนาดใหญ่ในท่ามกลางชุมชน แต่บริษัทกลับมีท่าทีไม่ยอมรับไม่อยากให้เข้าร่วม และมาจัดในโรงแรม ที่ไกลจากชุมชนมาก มีการใช้ตำรวจมาคุ้มครองเวทีประชุม และมีท่าทีว่าจะย้ายเวทีประชุมไปที่อื่น เพราะมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการมาอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก นั่นก็ทำให้เห็นว่าเวทีนี้ไม่จริงใจ และจัดเพื่อประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น” นายสำรวยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นมากลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักหน้าห้องประชุม ต่อมาได้มีการเจรจาต่อรองกันหลายรอบระหว่างตัวแทนบริษัทฯ ตำรวจ และฝ่ายจังหวัด ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่าจะจัดเวทีก็ต่อเมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ส่งตัวแทนเข้าไปในห้องประชุมไม่เกิน 100 คน และที่เหลือต้องอยู่นอกห้องประชุมโดยการต่อรองยืดเยื้อ จนเลยเวลาเที่ยงวัน นายธงชัย ลืออรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกมาพบผู้ชุมนุม และกล่าวยืนยันว่าได้ตกลงกับบริษัทแล้วสรุปว่าเวทีวันนี้จะยกเลิกไปแล้วและจะไม่เกิดการประชุมแล้ว
กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกเวทีการประชุมกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบครั้งนี้เพราะไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่ครอบคลุมพื้นที่เหมืองแร่ทองแดงที่ยื่นขอประทานบัตรทั้งหมด และขอให้ยุติการอนุมัติอนุญาติและดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ และให้มีการศึกษาคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติของภูหินเหล็กไฟ ที่ชุมชนได้ประโยชน์มายาวนาน โดยให้ขอมีหนังสือตอบข้อร้องเรียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน หลังจากได้ข้อสรุปว่าเวทียกเลิกแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินรณรงค์ให้ข้อมูลต่อประชาชนในจังหวัดเลยเรื่องการทำเหมืองทองแดงต่อไป
__________________________
ข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 089-6643012