เครือข่ายผู้บริโภคเผยผลวิจัยพบทีวีดิจิทัลโฆษณาเกินเวลา แนะกสทช.เข้มงวด

เครือข่ายผู้บริโภคเผยผลวิจัยพบทีวีดิจิทัลโฆษณาเกินเวลา แนะกสทช.เข้มงวด

20152210233749.jpg

วันนี้ (22 ต.คซ 2558) คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค นำเสนอผลการศึกษาโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายจำนวนมาก และหลายช่องมีโฆษณาเกินเวลา

20152210234413.jpg

เวลาการโฆษณาที่เกินกฎหมายกำหนด ( เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง )

สถาพร อารักษ์วทนะ เครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า ผ่านไปกว่าหนึ่งปีแล้วที่มีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล โดยจากการศึกษาโฆษณาในช่องดิจิตอลเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ได้มีการสำรวจใน 6 ช่อง คือ ทีวีดิจิทัล ช่อง 3HD, 7HD, 8, ONE HD, MONO 29 และWorkpoint พบว่า ทุกช่อง มีการโฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ยังพบการโฆษณาที่มีเนื้อหาเกินจริง อาทิ โฆษณาเครื่องสำอางต่างๆ ที่มักใช้คำว่า ผิวดูสว่างใสทันที, ผิวเนียนนุ่มทันที, ผิวดูกระจ่างใสทันที 4 เท่า, รูขุมขนดูกระชับทันที, บอกลา 8 จุด ก็หลอกอายุได้เลย ลดริ้วรอยและจุดด่างดำ เป็นต้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้ทำความสะอาดและเพิ่มความสวยงามเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสําคัญเกี่ยวกับเครื่องสําอาง 

มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 ประกอบ มาตรา 47 และ มาตรา 50 โดยมี บทลงโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนสื่อโฆษณาหรือ ผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา จะมีบทลงโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท

นอกจากนี้ยังพบ การโฆษณาที่นำเสนอรายงานผลวิจัยต่างๆ ที่กล่าวอ้างข้อมูลที่ไม่ทันสมัย ใช้งานศึกษาเมื่อ 8 – 10 ปีที่แล้ว ในส่วนนี้ก็ควรจะมีการกำกับดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นพวกโฆษณากลุ่มเครื่องสำอาง หากผู้บริโภคซื้อมาใช้อาจทำให้เสียเงินฟรี และเสี่ยงต่อการได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีการลักลอบใส่สารห้ามใช้ที่เป็นอันตราย

ชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช. กล่าวว่า ตามกฎหมายการพนันไม่ได้ห้ามการชิงโชค แต่การชิงโชคใดๆ ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งการโฆษณาชิงโชคใดหากมีการเรียกเก็บเงินค่าบริการข้อความ SMS ต้องเป็นการจ่ายตามแพคเกจของเจ้าของมือถือ โดยช่องต้องไม่เรียกเก็บเพิ่ม ซึ่งพบว่ามีโฆษณาที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ SMS เช่น เก็บค่าบริการ SMS 3 บาททุกเครือข่าย

ปัญหาอื่นๆ ที่พบอาทิ การออกอากาศรายการไม่ตรงตามผังรายการ ถือว่าเป็นความผิด เพราะตามกฎหมายช่องจะต้องส่งผังรายการและต้องออกอากาศตามผังรายการเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์พวกสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือน เช่น โลชั่นทากันยุง น้ำยาล้างห้องน้ำ แต่ใช้ภาพสื่อว่าดมแล้วมีกลิ่นหอมเช่นนี้ เห็นว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

หน่วยงานรัฐควรกำกับดูแลโฆษณาเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค คอบช. จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ในเรื่องโฆษณาเกินเวลา ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการโฆษณารายชั่วโมงอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีผู้ชมเป็นจำนวนมาก และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนควรมีมาตรการลงโทษขั้นสูงและพิจารณาปรับตามจำนวนครั้งที่โฆษณา 

2.หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ทั้ง กสทช. อย. และ สคบ. ต้องมีกลไกการตรวจสอบโฆษณาอย่างสม่ำเสมอ ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลงโทษบริษัทผู้ประกอบการที่ทำการโฆษณาผิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามจำนวนครั้งที่มีการโฆษณา ไม่ควรตีความจากจำนวนชิ้นของโฆษณาที่ผลิต เพราะถือว่าเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ

3.กรณีการโฆษณาที่มีการอ้างถึงผลงานวิชาการ ควรเป็นผลงานในช่วง 3 ปีก่อนโฆษณา โดยเฉพาะเรื่องเครื่องสำอาง

4.ให้หน่วยงานกำกับดูแลที่ออกใบอนุญาตโฆษณาต่างๆ ต้องมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาได้สะดวก เพื่อทราบถึงการโฆษณาที่อาจไม่ได้รับการอนุญาตและเป็นข้อมูลในการร้องเรียนต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ