อนาคตทีวีชุมชน ….. บนความปั่นป่วนของ ดิจิทัล กสทช.และรัฐบาล

อนาคตทีวีชุมชน ….. บนความปั่นป่วนของ ดิจิทัล กสทช.และรัฐบาล

ความพยายามที่จะทำให้ “ทีวีชุมชน” เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งเป็นหลักการสำคัญของสิทธิการสื่อสารและการปฏิรูปสื่อ และมีการกำหนดไว้ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัลด้วย  แต่ความคืบหน้าของเรื่องนี้ไปถึงไหน ท่ามกลางช่องทางการสื่อสารที่ดูเหมือนจะมีอยู่มากมายในขณะนี้

ถ้าจะกล่าวถึง Content  หรือเนื้อหาในการสื่อสาร ล้วนมีมากมายผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์  ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะตอบสนองผู้ชมในวงกว้างระดับประเทศ  อย่างไรก็ตามยังมีคนทำสื่อในชุมชนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่เชื่อในหลักการสื่อสารของชุมชน และเชื่อว่าคลื่นความถี่เป็นของสาธารณะ รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสื่อพลเมืองทำงานต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารเรื่องราวให้ตอบสนองคนในชุมชน ภายใต้แนวคิด “ทีวีชุมชน” นั่นคือประชาชนมีสิทธิจะตั้งสถานีโทรทัศน์ได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่

ที่ผ่านมาภาคประชาชนที่สนใจยื่นเรื่องทดลองก่อตั้ง “ทีวีชุนชน” ขึ้น 3 พื้นที่และได้รับงนประมาณสนับสนุนจาก กทปส หรือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่ทำร่องทดลองทำและบริหารงานทีวีชุมชนในช่วงปี 2559 –  2562 ก่อนจะพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ  

ภาคเหนือ   คือ “พะเยาทีวีชุมชน ” ดำเนินการโดยสถาบันปวงผญาพยาว และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ภาคอีสาน  คือ ทีวีชุมชนอุบลราชธานี ดำเนินการภายใต้มูลนิธิสื่อสร้างสุข และคณะกรรมการทีวีชุมชนในพื้นที่ และในพื้นที่ภาคใต้   คือ ทีวีอันดามันมั่นคง  ดำเนินการร่วมกันใน 3 พื้นที่ คือ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา เพื่อสื่อสารเรื่องราวในชุมชน โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยพิบัติ  ทั้งหมดนี้เป็นการทดลองดำเนินงานและยังต้องใช้ช่องทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก

พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจเรื่องการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ และออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ขึ้น ใน  3 ประเภท คือ บริการสาธารณะ บริการธุรกิจ  และบริการชุมชน   ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการกำหนดวิธีการพิจารณาอนุญาต หลักเกณฑ์ และวิธีการขออนุญาตของทั้ง 3 ประเภทไว้แล้ว แต่การออกใบอนุญาตในประเภทบริการชุมชนนั้น ยังไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แม้จะได้ทดลองดำเนินการผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม  

ในช่วงการสนทนาในรายการ นักข่าวพลเมือง C-Site ประจำวัน 24 กันยายน 2563 ทางช่องไทยพีบีเอส นำเสนอเนื้อหาตอน “คืบหน้า…คลื่นความถี่และทีวีชุมชน?” “ฟักแฟง” วิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ดำเนินรายการได้ร่วมพูดคุยกับ ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา  และคุณสุชัย เจริญมุขยนันท ที่ปรึกษาทีวีชุมชนอุบลราชธานีถึงความคืบหน้า และความเป็นไปได้ผ่านโครงการนำร่อง “ทีวีชุมชน” 

คุณสุชัยคะ ทีวีชุมชนอุบลราชธานีเป็น 1 ใน 3 พื้นที่นำร่องทีวีชุมชนที่ทำงานหนักมาโดยตลอด ณ ชั่วโมงนี้ วิธีการทำงาน อุปสรรค ในการทำงานของทีวีชุมชนที่นำร่องกันมีอะไรบ้าง 

สุชัย เจริญมุขยนันท : จากที่ได้เป็นทีวีชุมชนนำร่อง ในส่วนของภาคอีสาน เราได้ทำงานเชื่อมโยงกับทางอันดามัน (ภาคใต้) และเชื่องโยงกับทางพะเยา(ภาคเหนือ) ได้มีชุมชนต่าง ๆ ได้ฝึกอบรม มีการสื่อสารต่าง ๆ จนกระทั่งหลังจากหมดโครงการของ กสทช. แต่ละพื้นที่ก็ยังคงทำงานเพื่อชุมชนอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างที่ผ่านมามีช่วงโควิด-19 มีช่วงเตรียมรับมือพายุโนอึลต่าง ๆ  ทีวีชุมชนหรือในพื้นที่อุบลราชธานี เพจเฟซบุ๊ก Ubon Connect  รวมถึงเครือข่ายทีวีชุมชนที่เคยได้รับการอบรมกับเรา ก็ได้เชื่อมโยงกัน ในการทำงานต่อเพราะฉะนั้น เหมือนกันว่าเป็นชีวิต เลือดเนื้อ เป็นจิตใจที่ตัวแทนเข้ามาทำงานตรงนี้ เพื่อให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสื่อสารขับเคลื่อนกันต่อ 

แม้ว่าไม่ง่าย อุปสรรคก็มีเยอะ ในช่วงการนำร่อง ที่กสทช. ให้นำร่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2562 แต่ตอนนี้ ปี พ.ศ. 2563 ในพื้นที่ยังมีการทำงานกันอยู่ 

สุชัย เจริญมุขยนันท : ใช่ครับ ยังคงมีการทำงานกันอยู่ ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ วันก่อนก็ได้คุยกัน เป็นเครือข่ายทีวีชุมชนประเทศไทย ยังคงมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จะมากบ้าง น้อยบ้าง แต่เวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชุมชนนั้น ทีวีชุมชนก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยกันแก้ปัญหาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับทางชุมชนกันอยู่เสมอ

ตอนนี้มี 1 ท่าน ที่ร่วมพูดคุยกับเราในรายการวันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อาจารย์เป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ณ วันนี้ทีวีชุมชนมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนกับสังคมไทย? 

ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ : ก็ต้องชื่นชมทีวีชุมชนนำร่อง 3 พื้นที่ ที่ได้ทำงานไป แต่เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้น มันเป็นงานวิจัย ซึ่งได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพราะฉะนั้นจะว่าเป็นงานของ กสทช. หรือไม่นั้น ดิฉันไม่แน่ใจ คือ หน่วยงาน กสทช.เข้ามาดูแล อันนี้ต้องชื่นชมฝ่ายที่ทำให้มีโครงการนี้ขึ้นมา

ส่วนการตอบคำถามว่ายังจำเป็นไหม ดิฉันต้องถามกลับว่า แล้วการส่งเสียง หรือการมีช่องทางการสื่อสารของคนในชุมชนยังจำเป็นอยู่ไหม? เราต้องการสังคมแบบไหน?  เราต้องการสังคมที่ทุกคน เพ่งดูหน้าจอที่ต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง แบ่งปันวาระและเนื้อหาให้กับชุมชน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งทำอย่างไรก็ไม่พอ และ 24 ชั่วโมง คนไม่ได้นั่งดูทีวีตลอด มันจะมีเวลาที่คนดูร่วมกันไม่เท่าไร 

เพราะฉะนั้นถามเรื่องความจำเป็น โดยส่วนตัวดิฉันมองว่า มีความจำเป็น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีคิด ถ้าวิธีคิดแบบว่าตัดเสื้อ ขนาดเดียวและใส่กันทั้งประเทศ ก็เป็นอีกชุด แต่สำหรับดิฉันฉันเชื่อในเรื่องที่ชุมชนต่าง ๆ เขามีวาระเรื่องราวของเขาเอง

แปลว่าในเชิงประเด็นมันมีภาวะ หรือสถานการณ์วิกฤต ระดับชุมชนที่ชุมชนให้ความสำคัญซึ่งมันแตกต่างจากความเป็นสื่อ ถูกต้องไหมคะ 

ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ : ไม่ต้องวิกฤตก็ได้นะ ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ในชุมชน คนเราจะอยู่ที่ไหน เราต้องรู้ว่าเรา คือ ใคร ถ้าเราอยู่ในบ้านของเรา และเรามีความรู้สึกว่านี่ฉันอยู่ไหน ตรงนี้คือใคร ตรงนั้นคือใคร เราไม่รู้จักเลย เป็นไปไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่ามันมีเรื่องราวของชุมชน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ นอกจากกสทช.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระ คือ ต่ออายุกันจนจะเป็น 2 เท่าแล้ว กลับไม่ทำอะไรกับสิทธิของสื่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หรือ โทรทัศน์

ที่น่าเป็นห่วงไปมากกว่านั้น คือ ไม่ออกใบอนุญาตสื่อสาธารณะ ใบอนุญาตของไทยพีบีเอส ช่อง 5 ช่อง 11 เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมที่ปฏิบัติอยู่ จนบัดนี้ กสทช.ไม่ทำอะไรเลยกับทีวีหรือวิทยุในกลุ่มที่เรียกว่า เพื่อบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้นภาคประชาชนทำเรื่อง การปฏิรูปสื่อ มาเพื่อจะล้มเลิก ระบบที่รัฐผูกขาด ระบบสัมปทาน มาเป็นระบบใบอนุญาต

หรือว่ากสทช. ให้ความสนใจกับทุนหรือฝ่ายเอกชนเท่านั้น แล้วกฎหมายที่ผ่านเมื่อต้นปีและกำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยังลดขนาดจำนวนทีวีชุมชนและทีวีสาธารณะลงอีกด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าวาระเรื่องราวแบบนี้ ต้องเป็นวาระระดับประเทศ บางทีคนชุมชนหรือคนทำสื่อชุมชนอาจจะต้องมาเดินบนถนนบ้างก็ได้ 

ร้อนแรงค่ะ ควรเป็นวาระระดับประเทศ นี่เป็นวาระที่ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ได้สะท้อนมา เชื่อว่านาทีนี้มีอีก 1 คำถาม ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ มันกว้างมาก ๆ ทุกคนเข้าถึงได้ เร็วและง่าย  คุณสุชัย เจริญมุขยนันท มีคุณผู้ชมถามมาบอกว่า “ในยุคที่โซเชียลมีเดียรุ่งเรืองขนาดนี้ ทีวีชุมชนยังคงจำเป็นสำหรับท้องถิ่น” แล้วคุณสุชัย เจริญมุขยนันท มีข้อเสนออย่างไร ในการพัฒนาทีวีชุมชนหลังจากนี้ 

สุชัย เจริญมุขยนันท : ในนามเครือข่ายของทีวีชุมชนแห่งประเทศไทย วันก่อนก็ได้มีโอกาสคุยกันครับ อาจารย์เอื้อจิตบอกว่า เราอาจจะต้องเดินในท้องถนน ต้องไปชูนิ้วไม่รู้กี่นิ้ว เมื่อให้โอกาสผม ผมขออนุญาตนำเสนอ คือ ทีวีชุมชน 3 แห่ง ที่เดินหน้าอยู่ตอนนี้ ได้รับทุนจาก กทปส. ต้องขอนำเรียนอย่างนี้ครับ ทั้ง 3 แห่ง ยังไม่ได้รับเงินงวดสุดท้าย เลยกำหนดผ่านมาปีกว่าแล้ว เพราะทางคณะกรรมการ หลังจากปิดโครงการไปแล้ว ยังไม่ได้เงินงวดสุดท้ายกันทั้ง 3 แห่ง เพราะว่าเขาเน้นตัวหนังสือในการสรุปมากกว่าการปฏิบัติจริง เพราะฉะนั้นตัวหนังสือในการสรุป เราเป็นคนทำงานในพื้นที่ ที่อยู่บ้านนอก บางทีเราอาจจะสรุปไม่ตรงใจคณะกรรมการ 

ในนามทีวีชุมชนก็เดินหน้าตลอดไม่มีถอยหลัง ทั้งอันดามัน พะเยา อุบลราชธานี อาจใช้ในนามอื่น แต่ก็เป็นการรวมอาสาสมัครเพื่อชุมชนอยู่ ก็เหลือแต่ความชัดเจนในเชิงระบบ เชิงนโยบาย ที่อาจารย์เอื้อจิตได้พูดถึง เมื่อไรจะออกมาอย่างชัดเจน 

กสทช. จริงจังไหม ที่จะทำ ทดลองมา มีงานวิจัยมาเยอะในตอนนี้ ข้อมูลเยอะมาก แล้วสรุปอย่างไรบ้าง แล้วแนวทางที่ได้ ยังไม่เห็นกำหนดสักที ประชุมกันบ่อย ๆ ก็ประชุมเรื่องเดิม ยังไม่เห็นกำหนดแนวทางออกมา ฝากว่าควรจะชัดเจน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม 

หลายเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี บอกว่า ให้ฟังเสียงของประชาชนในการดำเนินการบริหารประเทศ ทีวีชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนเรื่องของชุมชนอย่างเป็นระบบ ก็มีคนส่วนกลางคอยดูแล เชื่อมประสานงาน จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้รัฐบาลนั้น ฟังเสียงประชาชน และสามารถที่จะดำเนินการตามที่ประชาชนต้องการได้

 ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ : ทีมทดลองเขาทำทีวีที่ชมทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการหาช่องทางพิเศษแต่ไม่ใช่ช่องทางตามสิทธิ์ที่ได้ สิทธิ์ที่ได้ คือ ต้องเป็นทีวีภาคพื้นดิน ที่คนสามารถเปิดทีวีและจ่ายค่าไฟอย่างเดียว ตอนนี้ยังต้องอาศัยตัวค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการชม ซึ่งการเข้าถึงมันต่างกัน เพราะฉะนั้นที่จะพูดหมายถึง ทีวีภาคพื้นดิน 

อาจารย์เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์คะ โครงการนำร่องทีวีชุมชนไปแล้ว แต่ว่าสำหรับก้าวต่อไป หัวใจสำคัญที่จะทำให้ทีวีชุมชนเกิดขึ้นได้จริง ๆ และอย่างจริงใจ อาจารย์เอื้อจิต มองว่าต้องทำอะไรก่อน 

ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ : ต้องตั้งกลุ่มกันและต้องถามกสทช. และถามนโยบายของรัฐบาล ดิฉันคิดว่า ถึงเวลาแล้ว ที่คนทำสื่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนชุมชน คนผลิต หรือว่านักวิชาการ หรือแม้กระทั่งนักวิชาชีพสื่อ ที่เห็นความสำคัญของสิทธิและช่องทางการสื่อสารนี้ ต้องสื่อสารกับฝ่ายนิติบัญญติและก็ต้องสื่อสารกับกรรมาธิการที่ดูแลองค์กรอิสระ ชุดเดียวกับที่เขาไปร้องเรื่องที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ถาม กสทช.ชุดแรก ที่กำลังจะหมดวาระ และชุดต่อไปที่น่าเป็นห่วงมาก

ในสายขับเคลื่อนอย่างมีความเชื่อว่า กสทช.ชุดต่อไปจะเป็นการจัดตั้งเพื่อการกลับเข้ามาของภาคที่ครองประโยชน์เดิมในสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะฉะนั้นดิฉันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบ่นแล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องบุกเข้าไปถาม

คำถามสุดท้ายขอถามไปที่คุณสุชัย ยังมีกำลังใจทำต่อไหมคะ ดูมีอุปสรรคอีกเยอะเลย สำหรับทีวีชุมชน ที่สำคัญเป็นอุปสรรคที่มันเกี่ยวกับภาครัฐและทุนอยู่ด้วย

สุชัย เจริญมุขยนันท : ผมว่าเราอยู่ในชุมชนไม่ว่าจะเป็นพะเยา กับอันดามัน (ภาคใต้) เราอยู่ในชุมชนอยู่แล้วครับ สิ่งที่เราทำจะขับเคลื่อนได้น้อยขับเคลื่อนได้มาก เราก็ขับเคลื่อน ก่อนพายุโนอึลเข้าประเทศไทย ทางอุบลราชธานีเองก็ทำกลุ่ม Line Open chat ที่ทุกคนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีการจัดการความรู้กันในนั้น ผมก็ตื่นเช้าขึ้นมา เพื่อมาดูว่าวันนี้ฝนจะตกไหม ตอนนี้น้ำในแต่ละที่เป็นอย่างไร มาสอนชาวบ้านให้รู้จักการดูน้ำ น้ำมาจากทิศทางไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นงานอาสาสมัครทั้งหมดเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและอยู่ในพื้นที่ของเรา

เราก็มีหัวใจพร้อมกับชุมชนที่จะร่วมทำ มีกำลังใจไม่มีกำลังใจก็สู้กันต่อไป เพื่อสิทธิการสื่อสารชุมชน เรื่องนี้สำคัญมาก อยากให้ทางรัฐบาลได้เห็นว่าการร่วมคิดร่วมทำร่วมสร้างของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ต้องให้เขาไปเดินชูนิ้วกันกลางถนนในทุกกลุ่มอีกต่อไป

คลิกชมรายการย้อนหลัง :

ทีวีชุมชนนำร่องทั้ง 3 พื้นที่ ได้ทดลองดำเนินการเมื่อปี 2559 – 2562 เป็นการยืนยันถึงเจตจำนง…

Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Thursday, 24 September 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ